ลงมือสู้โกง : Fight Like a Mom: เมื่อพลเมืองแม่ลุกขึ้นมาต้านโกง

เนื่องด้วยวันแม่ปีนี้ ผู้เขียนอยากเฉลิมฉลองวันแม่ด้วยการบอกเล่าเรื่องราวอันน่าทึ่งผ่านบทบาทของแม่ที่ลุกขึ้นมาสู้รบตบมือกับปัญหาสังคมอย่างห้าวหาญ เพราะแท้จริงแล้วการที่เด็กหนึ่งคนจะเติบโตมาอย่างมีคุณภาพ ไม่ได้อาศัยเพียงแค่แรงผลักดันของแม่เท่านั้น แต่ต้องอยู่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้เขาได้แสดงศักยภาพอย่างเต็มที่และอยู่ภายใต้สังคมที่มีความเท่าเทียม เพราะฉะนั้นการเลี้ยงลูกให้ดีที่สุดในบ้านตัวเอง จึงอาจไม่ใช่คำตอบที่สร้างความยั่งยืนให้กับสังคม เพราะแม่ทุกคนต่างรู้ดีว่าไม่ว่าแม่จะเลี้ยงดูลูกดีแค่ไหน สักวันหนึ่งแม่ก็ต้องจากไป แต่การส่งมอบสังคมที่ดีให้กับลูกหลานในอนาคตจะช่วยให้เขามีพื้นที่ของการเรียนรู้ในวัยเด็กและเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีได้

ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เราจึงได้เห็นความทุ่มเทของแม่ในการสร้างแรงกระเพื่อมสู่สังคมหลายเรื่องมากในฐานะของพลเมืองคนหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการต่อต้านความรุนแรง การส่งเสริมความปลอดภัยในชุมชน การดูแลสิ่งแวดล้อม การปรับปรุงบริการสาธารณะในละแวกบ้านการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ และการศึกษาที่เท่าเทียม จนถึงการผลักดันกฎหมายหรือนโยบายที่คุ้มครองสิทธิและสวัสดิภาพของเด็ก ผลงานของแม่ๆ เหล่านี้ ส่งผลให้บุตรหลานของทุกคนเข้าถึงการบริการสาธารณะที่ดีขึ้น และอยู่ในชุมชนได้อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ดีมีอีกหนึ่งความเคลื่อนไหวที่ทรงพลังไม่แพ้กันและหากแก้ไขได้จะช่วยให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมลดลง นั่นคือ การมีส่วนร่วมในการต้านโกงของพลเมืองแม่

มีผลสำรวจมากมายที่ชี้อย่างชัดเจนว่าผู้หญิงเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการคอร์รัปชัน โดยเฉพาะผู้หญิงที่เป็นแม่เพราะหน้าที่ของแม่นอกจากดูแลลูกแล้วยังต้องดูแลสมาชิกในครอบครัวด้วย หากไม่เชื่อขอให้ผู้อ่านลองนึกตามว่าใครเป็นคนพาเราไปหาหมอตอนไม่สบาย ใครเป็นคนพาเราไปสมัครเรียน ใครเป็นคนจัดการเรื่องทะเลาะเบาะแว้งที่เราไปก่อไว้ในที่ต่างๆ เรื่องราวชวนปวดหัวเหล่านี้ยกให้เป็นหน้าที่ของแม่ได้เลย ซึ่งการศึกษาขององค์กรเพื่อความโปร่งใส่นานาชาติ (Transparency International) และผลสำรวจจากดัชนี Global Corruption Barometer ที่สำรวจความเห็นของประชาชนต่อประสบการณ์การทุจริตในชีวิตประจำวันตลอดระยะเวลาห้าปีที่ผ่านมา(พ.ศ. 2559 – 2563) ต่างยืนยันว่า ผู้หญิงโดยทั่วไปและผู้หญิงที่มีบทบาทเป็นแม่มีความเกี่ยวข้องกับการถูกเรียกรับสินบนในชีวิตประจำวันมากที่สุด โดยเฉพาะการเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขและการศึกษา แม้ว่าส่วนใหญ่เป็นบริการตามสิทธิขั้นพื้นฐานที่พึงได้รับก็ตามรวมถึงการบังคับให้ผู้หญิงมีเพศสัมพันธ์เพื่อแลกกับการเข้าถึงบริการสาธารณะด้วย

เมื่อแม่ในหลายประเทศต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการถูกคุกคามจากสินบนและลูกๆ ต้องแบกรับผลกระทบของการคอร์รัปชัน เมื่อนึกถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับลูกแล้ว แม่ๆ อย่างเราจะทนไหวได้อย่างไร จึงเกิดการรวมกลุ่มของแม่นักสู้ ร่วมกับองค์กรต่างๆ เพื่อช่วยเหลือแม่ที่เป็นกลุ่มเปราะบางให้มีสิทธิ์มีเสียงในการเรียกร้องบริการทางสังคม ตลอดจนรื้อถอนโครงสร้างที่กดทับแม่เหล่านั้นด้วยการเสริมพลังให้เข้มแข็งผ่านเครื่องมือและองค์ความรู้ในการต้านโกงเพื่อให้แม่ๆ
ได้ลุกขึ้นมาสำรวจ ตรวจสอบและตั้งคำถามต่อกระบวนการที่ไม่โปร่งใส รวมถึงสร้างพื้นที่ให้กับแม่ในการเฝ้าระวังการทุจริตคอร์รัปชันอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยความหวังว่าแม่เหล่านั้นจะปกป้องลูกของตัวเองได้ ผู้เขียนจึงได้รวบรวมผลงานอันน่าทึ่งของแม่ในการต้านโกงด้วยวิธีการที่หลากหลายและในประเด็นที่พวกเขาให้ความสำคัญ เพื่อสดุดีในความทุ่มเทของบรรดาพลเมืองแม่ที่ไม่ยอมอ่อนข้อให้กับการทุจริตคอร์รัปชัน

พลเมืองแม่ที่ต่อสู้กับการเรียกรับสินบนเพื่อให้ว่าที่แม่ทุกคนได้ตั้งครรภ์อย่างมีคุณภาพ แม้แต่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม การคลอดลูกก็ยังเป็นเรื่องที่ท้าทาย แต่สำหรับแม่ที่ต้องเผชิญข้อจำกัดในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล อาจส่งผลให้การคลอดลูกกลายเป็นความเสี่ยงต่อชีวิตได้ ด้วยเหตุนี้แม่ในรัฐอัสสัม ประเทศอินเดียจึงได้ร่วมกันก่อตั้ง โครงการ End Maternal Mortality Now (EndMMNow) เพื่อรักษาชีวิตของแม่ในระหว่างตั้งครรภ์ เนื่องจากทุกขั้นตอนของการฝากครรภ์ต้องจ่ายสินบนให้กับเจ้าหน้าที่ แม้ว่าจะเป็นบริการฟรีจากรัฐ แต่ไม่มีใครกล้าปฏิเสธ เพราะหากไม่ยอมจ่ายก็จะถูกส่งต่อไปรักษายังศูนย์สุขภาพชุมชนที่ห่างไกล แม่บางรายเลือกที่จะฝากครรภ์ในช่วงสามเดือนสุดท้ายก่อนคลอด และบางรายต้องคลอดลูกที่บ้านเพราะไม่มีเงิน ด้วยเหตุนี้ทำให้รัฐอัสสัมมีอัตราการเสียชีวิตของแม่ตั้งครรภ์สูงที่สุดในประเทศ

เพื่อยุติการจ่ายสินบนและการเสียชีวิตของแม่ตั้งครรภ์โครงการ EndMMNow ได้ร่วมมือกับแม่อาสาในพื้นที่สามารถรายงานการละเมิดของเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ผ่านการส่ง SMS โดยข้อมูลที่ได้รับตลอดระยะเวลาสามปีถูกนำมาระบุเป็นแผนที่แสดงการเรียกรับสินบนของศูนย์ฯ ต่างๆ เพื่อตีแผ่การทุจริตในระบบบริการสุขภาพของรัฐอัสสัม ข้อมูลชุดนี้สร้างแรงกดดันต่อรัฐเป็นอย่างมาก ส่งผลให้มีการตรวจสอบงบประมาณดำเนินงานและปฏิรูปบริการทางสุขภาพของแม่ตั้งครรภ์ให้มีคุณภาพตามที่ได้รับรายงาน เช่น การจัดซื้อยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น อย่างไรก็ดี การที่แม่เหล่านั้นต้องใช้เวลากว่าสิบปีถึงจะสามารถเห็นพัฒนาการของลูกในท้องผ่านเครื่องอัลตราซาวนด์ได้ เป็นสิ่งที่ตอกย้ำว่าการทุจริตคอร์รัปชันทำลายโอกาสของผู้คนได้มากขนาดไหน

พลเมืองแม่ที่อาสาตรวจสอบงบประมาณและการดำเนินงานของโรงเรียน เพื่อการันตีว่าลูกทุกคนจะได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ แม่ส่วนใหญ่ต่างได้รับผลกระทบจากการทุจริตคอร์รัปชัน เช่น การทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างทำให้ต้องซื้อตำราและอุปกรณ์การเรียนที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือราคาสูงเกินท้องตลาด การทุจริตในระดับนโยบายทำให้โรงเรียนถูกลดทอนงบประมาณการศึกษาอย่างไม่เป็นธรรม ด้วยเหตุนี้ แม่และครูในประเทศอังกฤษจึงร่วมกันจัดทำข้อมูลเปิดด้านการจัดสรรงบประมาณโรงเรียนที่ถูกตัดงบในแต่ละปีเผยแพร่สู่สาธารณะ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการตัดงบอุดหนุนภายใต้โครงการ Stop School Cuts เพราะส่งผลกระทบอย่างมากต่อนักเรียนนับแสนคนที่อาจไม่ได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพดังเดิม เช่น ถูกยกเลิกหลักสูตรเฉพาะสำหรับนักเรียนที่มีความเปราะบาง ขาดแคลนสื่อการสอนที่หลากหลายและเงินซ่อมบำรุง บุคลากรถูกเลิกจ้าง และจำนวนนักเรียนต่อห้องเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ แม่ๆ ยังได้ผลักดันการเคลื่อนไหวไปอีกขั้นด้วยการประกาศจุดยืนในการเลือกตั้งผู้แทนว่า “หากไม่เพิ่มทุนให้กับโรงเรียน พวกเราก็ไม่โหวตให้คุณ” ส่งผลให้ผู้สมัครทุกรายรับเอาโครงการนี้ไปพิจารณา และได้ให้คำมั่นในการปรับปรุงงบประมาณอย่างเป็นธรรมเพื่อให้ทุกโรงเรียนมีเงินทุนเพียงพอสำหรับการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับเด็กทุกคน

สำหรับประเทศไทย เราได้เห็นพลังของแม่ที่ร่วมกันส่งเรื่องร้องเรียนให้หน่วยงานเข้าไปตรวจสอบการทุจริตในโรงเรียนหลายเรื่องผ่านเพจต้องแฉ ซึ่งเป็นสื่อกลางในการนำเสนอประเด็นการทุจริต เช่น โครงการอาหารกลางวัน และการเรียกรับแป๊ะเจี๊ยะ ความตื่นตัวของแม่ๆ ในการกำกับติดตามการทำงานส่งผลให้งบประมาณที่ถูกจัดสรรมาเพื่อการศึกษาแก่ลูกหลานถูกใช้อย่างคุ้มค่าและโปร่งใสยิ่งขึ้น

พลเมืองแม่ที่ออกมาปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกของลูกหลานต่อการเคลื่อนไหวทางสังคม หนึ่งในพื้นฐานของการสร้างรัฐบาลที่โปร่งใสและไม่คอร์รัปชัน คือ การที่ทุกคนในสังคมมีเสรีภาพที่จะเข้าถึงข้อมูลของรัฐ แลกเปลี่ยนและแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำงานของรัฐ รวมถึงชุมนุมโดยสงบเพื่อปกป้องผลประโยชน์ร่วมกันของพลเมือง โดยเชื่อว่าเสรีภาพเหล่านี้จะนำไปสู่การพัฒนาประเทศในทุกมิติได้ อย่างไรก็ดี แม้มีการรับรองสิทธิตามกฎบัตรระหว่างประเทศ แต่กลับพบการละเมิดอยู่เรื่อยๆ จึงทำให้แม่ของเยาวชนในหลายประเทศต้องเดินหน้าปกป้องเสรีภาพของลูกตนเอง เช่น กลุ่ม The Wall of Moms ที่ เมืองพอร์ทแลนด์ รัฐออริกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา รวมตัวกันเพื่อประท้วงให้ตำรวจหยุดใช้ความรุนแรงกับเยาวชนที่ออกมาชุมนุมเรียกร้อง จนทำให้เสียงร้องเพลงกล่อมเด็กและดอกทานตะวันกลายเป็นสัญลักษณ์ที่ผู้คนมองหาในการชุมนุม หรือกลุ่ม Mothers of the Front Lines ประเทศโคลอมเบียที่แม่อาสาไปเป็นด่านหน้าในการประท้วงเพื่อปกป้องเยาวชนจากความรุนแรงด้วยการใช้ร่างตัวเองโอบกอดเด็กเหล่านั้นไว้ การเคลื่อนไหวของกลุ่มแม่ทั้งสองกลุ่มนี้มีเจตนารมณ์เดียวกับกลุ่มแม่ภายใต้ชื่อ “ราษมัม” ในประเทศไทยซึ่งเป็นการแสดงออกอย่างสงบของแม่เพื่อสื่อสารให้สังคมรู้ว่าลูกของพวกเขาถูกคุมขังโดยไม่เป็นธรรมและเรียกร้องให้ศาลและผู้พิพากษาปฏิบัติหน้าที่อย่างเที่ยงตรงตามหลักกฎหมาย ด้วยเหตุผลเดียวกับแม่ที่โคลอมเบีย “ถ้าลูกของเราออกไปต่อสู้ เดินขบวนพวกเราที่เป็นแม่จะสนับสนุนพวกเขา และร่วมต่อสู้ไปด้วยกัน”

เรื่องราวของเหล่าพลเมืองแม่ที่ลุกขึ้นมาต้านโกง สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เขียนสามเรื่อง หนึ่ง แม่เหล่านั้นเป็นตัวอย่างที่น่าทึ่งที่สามารถเผื่อแผ่ความรักที่มีต่อลูกมาสู่การทำงานเพื่อสังคมได้ เพราะเชื่อว่าลูกจะเติบโตเป็นคนที่มีคุณภาพถ้าสังคมดี สอง แม่เหล่านั้นไม่ได้มองตัวเองเป็นเหยื่อของการทุจริตเท่านั้น แต่ยังมีพลังมากพอที่จะต่อสู้กับมันอย่างกล้าหาญโดยไม่คำนึงถึงอุปสรรคต่างๆ ที่อาจจะตามมาแต่กลับนึกถึงเพียงความทุกข์ที่ลูกจะได้รับหากต้องเผชิญกับความไม่เป็นธรรมในสังคม สาม พลังของแม่มาจากความรักของแม่ที่มีต่อลูกซึ่งเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ที่ทำให้คนธรรมดากลายเป็นนักสู้ เห็นได้จากผลงานที่เหล่าพลเมืองแม่ออกมาเคลื่อนไหวในสังคมอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ด้วยเหตุผลที่ว่า “เมื่อเรากอดลูกก่อนออกไป เราไม่รู้ว่ามันคือกอดสุดท้ายที่เราจะให้พวกเขาหรือไม่ แต่ถ้าออกไปสู้แล้วสร้างการเปลี่ยนแปลง ฉันยินดีทำอย่างมีความสุข” ภายใต้ประโยคบอกเล่านี้ ผู้เขียนได้ลองนึกถึงความทุ่มเทของแม่ตลอดช่วงชีวิตที่ผ่านมาและตั้งคำถามว่าแม่ได้สู้เพื่อเราไปกี่ครั้ง คำตอบที่ค้นพบคือนับไม่ถ้วน เหตุผลที่แม่ลุกขึ้นมาเถียงกับพ่อ ตีกับป้าข้างบ้าน หรืออดหลับอดนอนเพื่อดูแลเราในยามที่แม่ก็ป่วยเหมือนกัน นั่นแหละนักสู้ในชีวิตจริงของเรา…สุขสันต์วันแม่

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2564
ผู้แต่ง

สุภัจจา อังค์สุวรรณ

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เรามีคนโกงเพิ่มขึ้น หรือ เราจับคนโกงได้มากขึ้น

แจ้งไม่เยอะแน่นะวิ ! ปี 65 พบการแจ้งเรื่องทุจริตเกือบ 10,000 เรื่องในไทย เคยสงสัยกันบ้างไหมว่าทั้งๆ ที่มีหน่วยงานปราบโกงที่มีอำนาจทางกฎหมายล้นเหลืออยู่หลายหน่วยงาน ทำไมระดับการคอร์รัปชันของไทยยังดูจะแย่ลงเรื่อยๆ

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เปิดตัว KRAC ศูนย์ความรู้ต้านโกง

คอร์รัปชันเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนอย่างมาก ถ้าไม่แก้ไขทุกมิติอย่างครอบคลุมผลที่ตามมาอาจกลายเป็นเพิ่มปัญหาให้สังคมได้ จึงต้องใช้วิธีที่มีประสิทธิภาพ หนึ่งในนั้นคือการใช้ความรู้ทางวิชาการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติจึงได้ร่วมมือกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดตั้ง “ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค” (Knowledge hub for Regional Anti-corruption and good governance Collaboration: KRAC) ขึ้น เมื่อ 24 เมษายนที่ผ่านมา

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เดินทางไกลเพื่อเรียนรู้การต้านโกง

สวัสดีจากซานฟรานซิสโก คุณอยู่กับต่อภัสสร์และนี่คือแก้โกงไกลบ้าน…ชวนอ่านว่าในต่างประเทศมีการพัฒนาเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างไร ? แล้วการเปิดเผยข้อมูลมีความสำคัญอย่างไร ?

You might also like...

KRAC Hot News I ไฟฟ้าไทยแพง เพราะภาคพลังงานยังโปร่งใสไม่พอ

เพราะไฟฟ้าได้กลายเป็นปัจจัยที่ 5 ไปแล้ว แต่ที่น่ากังวล คือไฟฟ้ายังคงเป็นปัจจัยเดียวที่ราคาไม่ได้เป็นไปตามกลไกตลาด ที่สำคัญยังเหมือนจะแพงขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย…ทำไมค่าไฟฟ้าของไทยยังแพง และมีบทเรียนจากต่างประเทศอะไรบ้าง

บทความวิจัย : ปัญหาการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจำจังหวัด ในการรวบรวมพยานหลักฐานในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ในองค์การบริหารส่วนตำบล

ความล่าช้าในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด มีปัญหาหลักมาจากการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย และการดำเนินการ

บทความวิจัย : รูปแบบการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนตามแนววิถีพุทธในงานต่อต้านการทุจริต และการสร้างเครือข่ายต่อต้านการทุจริตอย่างยั่งยืน

การพัฒนากิจกรรมสำหรับต่อต้านการทุจริตควรมีการประยุกต์หลักพุทธธรรมและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมกับการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ