การแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชันที่ฝังรากลึกตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาในสังคมไทย จำเป็นที่จะต้องมีการสร้าง “วัฒนธรรมต้านคอร์รัปชัน” ให้เกิดขึ้นได้จริงในสังคม เพื่อการต่อต้านและจัดการกับปัญหาคอร์รัปชันที่มีประสิทธิผล ดังนั้น จึงมีงานวิจัยที่มุ่งเน้นถึงการศึกษาและพัฒนาระบบและเครื่องมือที่จำเป็นในการป้องกันและต่อต้านคอร์รัปชัน โดยเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจกลไกที่สำคัญ 2 ประการในระดับพื้นที่ ได้แก่ ระดับชุมชน และระดับโรงเรียน เพื่อนำไปสู่การออกแบบข้อเสนอแนะที่จะเป็นทางออกของประเทศไทยในการป้องกันและการต่อต้านการคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพในอนาคต
ในปัจจุบัน สังคมไทยได้มีความพยายามเป็นอย่างมากในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่ฝังรากลึกตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เพราะทุกฝ่ายต่างก็ทราบว่าปัญหาคอร์รัปชันเป็นปัญหาใหญ่ที่ฉุดรั้งการพัฒนาประเทศให้หยุดอยู่กับที่มาเป็นระยะเวลานาน ทำให้ทั้งภาคประชาชน ภาคเอกชน ภาควิชาการ หรือแม้แต่ภาครัฐเอง ต่างก็มีความพยายามในการให้ความสนับสนุนและร่วมลงมือต่อต้านคอร์รัปชันกันอย่างจริงจัง และในปัจจุบันสังคมไทยก็มีเครื่องมือ นโยบาย และกฎหมายเป็นจำนวนมากที่ทำหน้าที่ในการต่อต้านการคอร์รัปชัน และสร้างความตระหนักรู้ และเผยแพร่ความเข้าใจต่อประชาชนเรื่องการสร้างธรรมาภิบาลและการป้องกันคอร์รัปชัน แต่ก็ยังประสบปัญหาในเรื่องของช่องว่างและการขาดการสนับสนุนจากประชาชนธรรมดาทั่วไปที่จะมีพลังมากพอในการที่จะสร้าง “วัฒนธรรมต้านคอร์รัปชัน” ให้เกิดขึ้นได้จริงในสังคม
ดังนั้น ในการศึกษาเพื่อหาแนวทางในการสร้างวัฒนธรรมต้านคอร์รัปชัน และแก้ปัญหาคอร์รัปชันอย่างมีประสิทธิภาพ จึงมีงานวิจัยที่มีการออกแบบการวิจัยและกิจกรรมบนฐานคิดที่เปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้เข้าใจความหมายของคอร์รัปชัน เข้าถึงข้อมูลและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ดังเช่น งานของ ธานี ชัยวัฒน์ และคณะ (2563) เรื่อง โครงการวิจัยเพื่อสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน ระยะที่ 2 เพื่อพัฒนาระบบและเครื่องมือใหม่ในการป้องกันและต่อต้านคอร์รัปชัน ที่จะช่วยสร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต หาแนวทางสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบาย พัฒนาระบบป้องกันการทุจริตเชิงรุก รวมถึงปฏิรูปกลไกและกระบวนการปราบปรามการทุจริต โดยอาศัยกระบวนการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) เพื่อสร้างเครื่องมือหรือกลไกต้นแบบด้านการต่อต้านการคอร์รัปชัน (Prototype) และร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งในภาควิชาการและภาคปฏิบัติ ที่จะนำไปสู่ข้อเสนอแนะต่อทางออกของประเทศไทยในเรื่องคอร์รัปชันที่สามารถนำไปใช้ได้จริง ซึ่งจะต้องเริ่มต้นจากกลไกที่สำคัญ 2 ประการในระดับพื้นที่ ได้แก่
หนึ่ง ทางออกระดับชุมชน โดยจากการศึกษา พบว่า ปัญหาสำคัญของประชาชนในพื้นที่ที่ทำให้การต่อต้านการคอร์รัปชันไม่มีประสิทธิภาพ คือ รูปแบบการติดต่อกับหน่วยงานราชการมีความเป็นทางการสูง ทำให้ประชาชนในพื้นที่เข้าถึงได้ยาก ดูเป็นเรื่องไกลตัว และทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนในพื้นที่กับหน่วยงานภาครัฐมีความไว้เนื้อเชื่อใจ (Trust) ระหว่างกันต่ำ จึงก่อให้เกิดความไม่เข้าใจซึ่งกันและกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐกับประชาชนในพื้นที่ และไม่ทำให้เกิดความร่วมมือในการพัฒนาพื้นที่เท่าที่ควร ซึ่งงานวิจัยได้มีการสร้างเครื่องมือต้นแบบเพื่อทดลองใช้งานร่วมกับประชาชนและภาครัฐในพื้นที่ และนำผลการศึกษามาสรุปเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สำคัญ ประกอบด้วย
(1) การเริ่มต้นสร้างการมีส่วนร่วมด้วยสถานการณ์เชิงบวก เช่น การพัฒนาวิสาหกิจชุมชน การจัดสรรการใช้ทรัพยากรร่วมกัน ก่อนที่จะพัฒนาไปสู่กลไก/เครื่องมือการป้องกัน/ต่อต้านการคอร์รัปชันในภายหลัง (2) การพัฒนาเครื่องมือ/กลไกที่ช่วยให้ประชาชนในพื้นที่เข้าถึงระบบราชการได้ง่ายขึ้น เช่น การมีฟังก์ชันสร้างเอกสารราชการอัตโนมัติ หรือการติดตามเอกสารราชการ เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนในพื้นที่กับภาครัฐที่จะนำไปสู่การทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ (3) การสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ในการออกแบบเครื่องมือ/กลไก เพื่อทำให้เสียงของประชาชนในพื้นที่มีความหมาย (4) เครื่องมือที่ออกแบบควรเป็นเครื่องมือที่ใช้ง่าย และมีการออกแบบ UX/UI (User Interface) ของหน้าตาเครื่องมือที่ถูกกำหนดจากประชาชนในพื้นที่ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมที่ดีขึ้นให้กับประชาชนในพื้นที่ และ (5) การสร้างเครื่องมือ/กลไกที่เริ่มต้นจากข้อมูลที่ประชาชนในพื้นที่ให้ความสนใจ เช่น การจัดการทรัพยากร หรือการแบ่งปันสินค้าสาธารณะในชุมชน ที่จะต่อยอดและนำไปสู่การป้องกันและต่อต้านการคอร์รัปชันในอนาคต
สอง ทางออกระดับโรงเรียน โดยจากการศึกษา พบว่า ปัญหาสำคัญของนักเรียนที่ทำให้การต่อต้านการคอร์รัปชันไม่มีประสิทธิภาพ คือ โครงสร้างการทำงานของระบบโรงเรียนที่ส่วนใหญ่ไม่เปิดโอกาสให้โรงเรียนรับความคิดเห็น (Feedback) จากนักเรียนเพื่อการพัฒนาโรงเรียนได้ และทำให้นักเรียนไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบกระบวนการการทำงานของโรงเรียนได้อย่างเต็มที่ ดังนั้น งานวิจัยจึงได้มีการสร้างเครื่องมือต้นแบบเพื่อทดลองใช้งานร่วมกับนักเรียน คุณครู และผู้บริหารโรงเรียน และนำผลการศึกษามาสรุปเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สำคัญ ประกอบด้วย
(1) การสร้างการมีส่วนร่วมของนักเรียนในการประเมินเชิงคุณภาพของครุภัณฑ์และอุปกรณ์การศึกษา เพิ่มเติมจากการประเมินเชิงปริมาณที่มีการดำเนินการอยู่แล้วโดยหน่วยงานภาครัฐ เพื่อสร้างจิตสำนึกการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบภาครัฐด้วยการลงมือทำอย่างเป็นรูปธรรมให้กับนักเรียนในอนาคต (2) การเปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการพัฒนาโรงเรียน เพื่อสร้างความตระหนักรู้ต่อการกำกับดูแลสังคมที่ตนเองอยู่ให้ดีขึ้นในอนาคต โดยมีพื้นฐานเริ่มต้นจากการกำกับดูแลโรงเรียนของตนเอง และ (3) การสร้างความร่วมมือ หรือการเปิดโอกาสของโรงเรียน คุณครู และผู้บริหารโรงเรียน ให้นักเรียนมีส่วนร่วมกำกับดูแลโรงเรียน จะเป็นกลไกที่ทำให้เกิดการสร้างจิตสำนึกของการมีส่วนร่วมของนักเรียนในการร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น
จะเห็นได้ว่า ในกระบวนการของการสร้าง “วัฒนธรรมต้านคอร์รัปชัน” ให้เกิดขึ้นจริงทั้งในระดับชุมชน และระดับโรงเรียน มีส่วนที่สำคัญ คือ การสร้างความมีส่วนร่วมที่เริ่มต้นจากคนในพื้นที่ โดยในระดับชุมชนคือประชาชนในพื้นที่ และในระดับโรงเรียนคือนักเรียน คุณครู และผู้บริหารโรงเรียน เพื่อสร้างจิตสำนึกของการมีส่วนร่วมที่ยึดโยงอยู่กับบริบทของคนในแต่ละกลุ่มและพื้นที่ ที่จะนำไปสู่การป้องกันและการต่อต้านการคอร์รัปชันในระดับสังคมที่มีประสิทธิภาพต่อไปในอนาคต โดยเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจผู้คนและพื้นที่ที่แตกต่างกันในสังคม
ต่อภัสสร์ ยมนาค และสุภัจจา อังค์สุวรรณ. (2566). (ต่อต้าน) คอร์รัปชัน 101 ((Anti) Corruption 101). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค
- Anti-Corruption 101
แล้วอะไรคือคอร์รัปชัน
การศึกษานิยามของคำว่า “คอร์รัปชัน” มีต้นกำเนิดและความหมายที่ถูกอธิบายผ่านองค์ความรู้ในการมองเรื่องของการคอร์รัปชันที่แตกต่างหลายหลาย แต่จุดร่วมที่สำคัญประการหนึ่งของการให้คำนิยามการคอร์รัปชัน คือ…
หันมองสถาบันและการคอร์รัปชันที่เป็นอยู่
แนวคิดเกี่ยวกับ “สถาบัน” เป็นแนวคิดที่สามารถใช้อธิบายถึงปรากฏการณ์คอร์รัปชันที่มีความซับซ้อน และเกี่ยวข้องกับมิติทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม …
รู้จัก CPI เพื่อเข้าใจสถานการณ์คอร์รัปชัน
ในปัจจุบัน ดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชัน หรือ Corruption Perceptions Index (CPI) นับว่าเป็นดัชนีที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดจากรัฐบาล ภาควิชาการ และนักลงทุนทั่วโลก …