KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | มองคอร์รัปชันรอบด้าน ผ่านทฤษฎี PESTLE Analysis

108 ปัญหาคอร์รัปชันไทย มีอะไรบ้าง ?

 

PESTLE Analysis คือทฤษฎีที่ถูกต่อยอดมาจากทฤษฎี PEST ของ Francis Aguilar (1967) ใช้สำหรับวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกองค์กร โดยเน้นไปที่สภาพแวดล้อมระดับมหาภาค ประกอบไปด้วย 6 ปัจจัย คือ การเมือง (Political), เศรษฐกิจ (Economic), สังคม (Social), เทคโนโลยี (Technological ), กฎหมาย (Legal), และสิ่งแวดล้อม (Environmental) เพื่อนำข้อมูลมาใช้สำหรับการวางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาองค์กร ปัจจุบันทฤษฎีนี้นิยมใช้ในการวิเคราะห์ตลาดในวงการธุรกิจ และการวางแผนในการพัฒนาจุดแข็งของประเทศ อย่างบริษัท Coca-Cola ก็ใช้ทฤษฎี PESTLE Analysis ในการวิเคราะห์นโยบายการเมืองที่อาจส่งผลกระทบต่อการตลาด หรือรัฐบาลสิงคโปร์ที่ใช้ทฤษฎีดังกล่าวในการวางแผนพัฒนาเทคโนโลยีและโครงสร้างเมือง 

ด้วยความสามารถของทฤษฎี PESTLE Analysis ที่ทำให้มององค์ประกอบขององค์กรได้อย่างครอบคลุม KRAC จึงชวนทุกคนมามองคอร์รัปชันผ่านทฤษฎีดังกล่าว จากงานวิจัยเรื่อง “การศึกษาข้อเสนอจากผู้ปฏิบัติสู่การปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชันในสังคมไทยโดยถอดบทเรียนการปฏิบัติงานต้านคอร์รัปชันของภาคประชาชน” โดย วีระ สมความคิด (2558) ที่ศึกษาแนวทางแก้ปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทย โดยนำข้อมูลมาจากประชาชน 160 คน ที่เคยทำงานด้านต่อต้านคอร์รัปชันอย่างน้อย 8 ปี มาวิเคราะห์สถานการณ์คอร์รัปชันประเทศไทยทั้ง 6 ปัจจัยตามทฤษฎี ดังนี้

ปัจจัยด้านการเมือง (Political) :

ตลอดหลายปีที่ผ่านมา โครงสร้างทางการเมืองของไทยเป็นลักษณะรวมศูนย์และผูกขาดอำนาจโดยพรรคการเมืองใหญ่ของนายทุนนักธุรกิจ ซึ่งนำไปสู่การให้ผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสิทธิ์ขายเสียง การคอร์รัปชันเชิงนโยบาย โดยรัฐเองก็มีความพยายามในการแก้ปัญหา เช่น การจัดตั้งการตั้งศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) หรือใช้อำนาจพิเศษสั่งการโยกย้าย พักงาน ตัดเงินเดือนข้าราชการที่ตกเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีคอร์รัปชัน อีกทั้งสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแจ้งเบาะแสทุจริต อย่างไรก็ตาม ความพยายามดังกล่าวยังคงไม่มีประสิทธิภาพมากพอ

ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ (Economic) :

การคอร์รัปชันในปัจจุบันทำให้งบประมาณของประเทศไทยเสียหายปีละหลายแสนล้านบาท หลายครั้งรัฐต้องสูญเสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์เพราะคอร์รัปชันในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างทำให้หลายโครงการไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้จริง เกิดเป็นความเสียหายทางเศรษฐกิจ หากลดปัญหาคอร์รัปชันลงได้สักครึ่งหนึ่งเราจะมีงบประมาณกลับมาใช้ในการพัฒนาประเทศ และคุณภาพชีวิตของประชาชน นอกจากนี้หากเศรษฐกิจดีก็จะทำให้งบในการและส่งเสริมองค์กรป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชันจะเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ปัจจัยด้านสังคม (Social) :

การคอร์รัปชันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในสังคมเพราะหลายคนมองว่าคอร์รัปชันเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ และหลายคนไม่เกรงกลัว โดยมองว่ามีโอกาสถูกจับได้น้อย ไม่มีการเอาจริงในการจับและยังมองว่ากระบวนการยุติธรรมสามารถซื้อได้ด้วยเงิน ในขณะเดียวกันคนที่รักความยุติธรรมหลายคนต่างก็ท้อแท้สิ้นหวังต่อกระบวนการยุติธรรมและการแก้ปัญหาคอร์รัปชันของรัฐบาล หากสังคมละเลย เมินเฉย หรือสิ้นหวังต่อปัญหาและไม่ร่วมมือกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง อาจทำให้สังคมไม่สามารถหลุดพ้นจากการคอร์รัปชันได้

ปัจจัยด้านเทคโนโลยี (Technology) :

แม้มิติอื่น ๆ จะไปในทิศทางลบ แต่เทคโนโลยีในปัจจุบันกำลังสร้างผลกระทบในด้านบวก เพราะเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยแก้ปัญหาคอร์รัปชัน ตัวอย่างเช่น การมีอินเทอร์เน็ตทำให้ข่าวสารต่าง ๆ สามารถเผยแพร่และแลกเปลี่ยนไปได้อย่างรวดเร็ว การเปิดโปงคอร์รัปชันทำให้สังคมตื่นตัว ต่อต้าน กดดัน จนผู้มีอำนาจต้องยกเลิกโครงการที่อาจคอร์รัปชันได้ นอกจากนี้เทคโนโลยียังสามารถพัฒนาระบบงานทะเบียน การสื่อสาร เชื่อมโยงข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อเปิดข้อมูลให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและตรวจสอบ เพื่อป้องกันคอร์รัปชันได้

ปัจจัยด้านกฎหมาย (Legal) :

แม้ว่าปัจจัยด้านเทคโนโลยีจะสร้างผลกระทบด้านบวก แต่เมื่อมองกลับมาที่เรื่องกฎหมายไทยเรายังมีบางอย่างต้องปรับปรุง เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายในประเทศไทยยังไม่เข้มแข็ง มีการเลือกปฏิบัติ และยังมีการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม นอกจากนี้กฎหมายบางประการยังไม่ทันต่อยุคสมัยกลายเป็นช่องว่างให้เกิดการคอร์รัปชัน เช่น มาตรา 75 ระบุว่าการเอาผิดต่อผู้ที่คอร์รัปชันต้องเป็นคนที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่รัฐไม่เกิน 2 ปี ทั้งที่จริงแล้ว ระยะเวลาควรครอบคลุมมากกว่านี้ หรือคดีคอร์รัปชันไม่ควรหมดอายุความด้วยซ้ำ

ปัจจัยด้านสภาพแวดล้อม (Ecological) :

สังคมไทยต้องการการส่งเสริมสภาพแวดล้อมให้ประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งจะต้องได้รับแรงสนับสนุนจากสถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษาที่มีบทบาทสำคัญในการปลูกฝังความซื่อสัตย์สุจริตและจิตสำนึกในการต่อต้านคอร์รัปชัน แรงสนับสนุนจากองค์กรทางสังคมที่ต้องกระตุ้นให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจและแสดงพฤติกรรมในการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชัน รวมทั้งแรงสนับสนุนจากประชาชนด้วยกันที่ต้องผนึกกำลังร่วมสร้างความยั่งยืนของจิตสำนึกในการต่อต้านคอร์รัปชัน ขับเคลื่อนเป็นกระแสสังคมเพื่อดึงดูดภาคส่วนอื่น ๆ มาร่วมแก้ปัญหาให้สำเร็จ

ทั้ง 6 ปัจจัยทำเราเห็นภาพรวมของการคอร์รัปชันในประเทศไทยซึ่งมีทั้งแนวโน้มการพัฒนาและปัญหาที่ยากจะแก้ไข งานวิจัยจึงได้เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน 3 แนวทางด้วยกัน คือ

  1. รัฐบาลควรจัดตั้งหน่วยงานต่อต้านคอร์รัปชันที่เป็นศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนและเป็นหน่วยงานที่สามารถประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ได้
  2. หน่วยงานที่มีอำนาจในการปราบปรามคอร์รัปชันในประเทศไทย นอกจากป้องกันคอร์รัปชันแล้วยังต้องมีส่วนในการป้องกันการละเมิดสิทธิมนุษยชน คุ้มครองพยาน รวมถึงสนับสนุนการพัฒนากฎหมายเพื่อไม่ให้เกิดช่องว่างการคอร์รัปชัน
  3. ภาคประชาชนต้องมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน ซึ่งต้องมีการเสริมสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการคอร์รัปชัน เพื่อป้องกันการถูกกลั่นแกล้งจากผู้มีอำนาจ

นอกจากทฤษฎี PESTLE Analysis ยังมีการศึกษาคอร์รัปชันกับทฤษฎี SWOT และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการต่อต้านคอร์รัปชัน ความรู้อื่น ๆ ซึ่งสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในงานวิจัย เรื่อง “การศึกษาข้อเสนอจากผู้ปฏิบัติสู่การปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชันในสังคมไทยโดยถอดบทเรียนการปฏิบัติงานต้านคอร์รัปชันของภาคประชาชน”  โดย วีระ สมความคิด (2558)

#คอร์รัปชัน # #จัดซื้อจัดจ้าง #PESTLE #ทฤษฎี #โครงการรัฐ #รัฐบาล #Corruption #KRAC 

——————

คอลัมน์ “KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย” เป็นบทความเล่างานวิจัยไทยด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน ที่หยิบยกหนึ่งในประเด็นของงานวิจัยในมุมมองของผู้ปฏิบัติการ เพื่อปูพื้นฐานความรู้และความเข้าใจเรื่องการคอร์รัปชัน และการต่อต้านคอร์รัปชันในมิติต่าง ๆ ภายใต้บริบทของประเทศไทย

ที่มา

วีระ สมความคิด. (2558). การศึกษาข้อเสนอจากผู้ปฏิบัติสู่การปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชันในสังคมไทย โดยถอดบทเรียนการปฏิบัติงานต้านคอร์รัปชันของภาคประชาชน. สถาบันพระปกเกล้า.

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2567
ผู้แต่ง
  • ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค
หน่วยงานสนับสนุน
05_โลโก้ KRAC
โลโก้คณะเศรษฐศาสตร์ (ภาษาไทย)

หัวข้อ
Related Content

เปลี่ยน Trainees เป็น Rookies ตัวท็อปของวงการ : ชวนอ่าน Anti-Corruption 101 เพื่อปูพื้นฐานการต่อต้านคอร์รัปชัน

ชวนอ่าน Anti-Corruption 101 ที่จะช่วยปูพื้นฐานความรู้ในเรื่องการคอร์รัปชัน ผ่านแนวคิดทางวิชาการ และเรียนรู้แนวทางการต่อต้านคอร์รัปชันที่มีเนื้อหาเข้าใจง่ายสำหรับทุกคน

คัดสรรงานวิจัยไทยต่อต้านคอร์รัปชัน ที่คุณอาจไม่รู้ (จัก) มาก่อน : ชวนอ่านสรุปงานวิจัยไทย 24 ชิ้น เพื่อทำความเข้าใจการต่อต้านคอร์รัปชัน

ชวนอ่านสรุปงานวิจัยไทยที่ KRAC คัดสรรมาให้คุณ เพื่อจะทำให้คุณเข้าใจปัญหา และวิธีการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันภายใต้บริบทของประเทศไทย

You might also like...

บทความวิจัย : ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเสริมสร้างความร่วมมือและการควบคุมคอร์รัปชันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเพชรบุรี

เมื่อการกระจายอำนาจกลับกลายเป็นการกระจายการทุจริตสู่ท้องถิ่น เพื่อยับยั้งปัญหาคอร์รัปชันในท้องถิ่น จึงต้องส่งเสริมการปกครองตามหลักธรรมาภิบาล (กรณีศึกษา จังหวัดเพชรบุรี)

KRAC Around เล่าข่าวคอร์รัปชันจากทั่วโลก I UNODC จับมือไนจีเรียจัดทำรายงานการทุจริตในไนจีเรีย ชี้ “การติดสินบนได้รับการยอมรับน้อยลง”

รายงานฉบับนี้มีชื่อว่า “การทุจริตในไนจีเรีย: รูปแบบและทิศทาง (Corruption in Nigeria: Patterns and Trends)” เป็นการสำรวจเกี่ยวกับการรับรู้การทุจริตของประชาชนในประเทศไนจีเรียจากประสบการณ์ของประชาชน นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์แนวโน้มการทุจริต ประสิทธิภาพของกลยุทธ์ และแนวทางการต่อต้านการทุจริตอีกด้วย

คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : โกง (เรื่อง) กิน ฉ่ำๆ หม่ำๆ แบดกาย แบดกายหม่ำๆ

เมื่อวันแม่ที่ผ่านมาหลายๆ ท่านคงพาคุณแม่ไปทานข้าว หรืออาจกลับบ้านไปทานข้าวกับคุณแม่และครอบครัว เพราะสำหรับคนไทยแล้ว “อาหารเป็นเรื่องสำคัญ” ดังนั้นในวันสำคัญการนัดรวมตัวกันกินข้าวจึงเป็นเรื่องจำเป็น