KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | ส่งเสริมธรรมาภิบาลให้กว้างไกลด้วยการสร้างรางวัลให้องค์กร

ส่งเสริมธรรมาภิบาลให้กว้างไกลด้วยการสร้างรางวัลให้องค์กร

“ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” สำนวนไทยที่ดูจะโบราณไปสักหน่อยแต่ยังใช้ได้เสมอ เพราะเมื่อคนทำดีก็ควรได้รับสิ่งดี ๆ ตอบแทน ซึ่งรวมถึงคนหรือองค์กรที่บริหารจัดการดี ไร้การทุจริต

KRAC จึงอยากชวนทุกคนมาศึกษาการให้รางวัลแก่องค์กรที่มีการบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นหลักการบริหารที่ช่วยลดการคอร์รัปชันได้ จากงานวิจัย เรื่อง “การสำรวจข้อมูลธรรมาภิบาลใน ประเทศไทย: Good Governance Mapping” (2562) โดย รศ. ดร.ปิยากร หวังมหาพร 

ก่อนอื่นเรามารู้จักกับ “ธรรมาภิบาล”

แนวคิดเกี่ยวกับการบริหารจัดการองค์กรที่ดีที่เผยแพร่ครั้งแรกในปี 2532 โดยธนาคารโลก (World Bank) โดยระบุว่าการบริหารองค์กรที่ดีต้องมี

  1. หลักนิติธรรม (การใช้อำนาจตามกฎหมายและกฎระเบียบด้วยความเป็นธรรม)
  2. หลักคุณธรรม (ซื่อสัตย์ ไม่ทุจริต ไม่ผิดจรรยาบรรณ)
  3. ความโปร่งใส (มีความโปร่งใส เปิดเผยข้อมูล)
  4. การมีส่วนร่วม (ผู้มีส่วนร่วมหรือประชาชนมีโอกาสแสดงความเห็น และเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ)
  5. ความรับผิดชอบ (สามารถตอบและชี้แจงได้เมื่อมีคำถาม มีความรับผิดชอบในผลงาน)
  6. ความคุ้มค่า (การใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด ลงทุนอย่างคุ้มค่า ลดระยะเวลาเพื่อความสะดวก)

จากทั้ง 6 หลักการ ทำให้เห็นว่าหลักธรรมาภิบาลจะช่วยส่งเสริมองค์กรให้มีประสิทธิภาพได้ 

ต่อมาประเทศไทยได้นำแนวคิดธรรมาภิบาลมาใช้กับหน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะช่วงหลังปี 2540 ที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้น เนื่องจากความต้องการพัฒนาและปฏิรูปภาครัฐให้มีประสิทธิภาพเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้กลับมาดีขึ้น คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติเห็นชอบออกกฎหมายที่เรียกว่า “ระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542” ซึ่งมีเนื้อหากล่าวถึงการบังคับใช้ธรรมาภิบาลทั้ง 6 หลักกับหน่วยงานของรัฐ

จากระเบียบสํานักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542 ทำให้ให้องค์กรในประเทศไทยเริ่มตื่นตัวในการนำหลักธรรมาภิบาลมาใช้ โดยเฉพาะหน่วยงานรัฐ เช่น สถาบันพระปกเกล้า สํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นอกจากนี้หลักธรรมาภิบาลยังถูกเพิ่มในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติตั้งแต่ฉบับที่ 9 (2545-2549) เป็นต้นมา เพื่อปฏิรูปทุกภาคส่วนไปสู่แนวทางการบริหารตามหลักธรรมาภิบาล

การส่งเสริมธรรมาภิบาลจากภาครัฐไทยนำมาสู่การสนับสนุนโดยการมอบรางวัลให้กับหน่วยงานที่มีการบริหารจัดการที่ดีหรือมีธรรมาภิบาล 

โดยจัดขึ้นครั้งแรกที่สถาบันพระปกเกล้าในปี 2544 จนถึงปี 2560 จากงานวิจัยพบว่ามีมากถึง 13 องค์กรที่มีการมอบรางวัลธรรมาภิบาล ได้แก่ 1. สถาบันพระปกเกล้า 2. กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ 3. สถาบันป๋วย อึ๊งภากรณ์ ร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสมาคมธนาคารไทย 4.คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 5. ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย 6. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 7. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร่วมกับคณะกรรมการธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม หอการค้าไทย และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย 8. สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ร่วมกับสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงแห่งประเทศไทย 9. การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 10. หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 11. สำนักงาน ก.พ.ร. 12. สหประชาชาติ 13. เดอะรีซอร์สอัลลิอันซ์

 โดยการศึกษาในช่วง พ.ศ. 2551-2560 พบว่ามีผู้รับรางวัลธรรมาภิบาลทั้งหมด 4,546 รางวัล เป็นองค์กร 4,456 รางวัลและบุคคล 90 รางวัล เป็นองค์กรภาคเอกชน (39.69%) รองลงมาคือองค์กรภาครัฐประเภทองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (37.40%) และองค์กรภาครัฐประเภทส่วนกลางและส่วนภูมิภาค (19.18%) ตัวอย่างรางวัลสำคัญที่มีการมอบให้และเกณฑ์พิจารณา มีดังนี้

รางวัลพระปกเกล้า จัดโดยสถาบันพระปกเกล้า มอบให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีความเป็นเลิศด้านความโปร่งใสและการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่พิจารณาจากความโปร่งใส การมีส่วนร่วมของประชาชน การบริหารการเงิน การคลัง และการงบประมาณ กระบวนการกิจการสภาท้องถิ่น การเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร และการเสริมสร้างสันติสุขและความสมานฉันท์ 

รางวัลธรรมาภิบาลธุรกิจดีเด่น จัดโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ มอบให้กับธุรกิจที่มีการดำเนินงานตามหลักธรรมาภิบาลธุรกิจ 6 ด้าน ได้แก่ หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ และหลักความคุ้มค่า 

รางวัลองค์กรโปร่งใส จัดโดยสำนักงาน ป.ป.ช. มอบให้กับหน่วยงาน องค์กร และสถาบันต่าง ๆ ที่มีความโปร่งใสในการดำเนินงาน โดยประเมินจาก 7 หมวด ได้แก่ ความรับผิดชอบต่อสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม, การยอมรับและปฏิบัติตามหลักนิติธรรม, การปฏิบัติและยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชน, การบริหารจัดการด้วยแนวทางของความโปร่งใส, การบริหารจัดการด้วยแนวทางที่อยู่บนพื้นฐานของจริยธรรม, การให้ความเคารพต่อผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการปฏิบัติตามแนวทางของสากล 

รางวัล United Nations Public Service Awards จัดโดยองค์การสหประชาชาติ มอบให้กับหน่วยงานภาครัฐที่มีผลงานดีเด่นด้านการให้บริการสาธารณะ จะประเมินจากหลักเกณฑ์ 6 ด้าน ได้แก่ การสอดคล้องกับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030, ความสำคัญ, นวัตกรรม, การถ่ายทอดความรู้, ความยั่งยืน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 

นอกจากนี้ ยังมีรางวัลอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น รางวัลเลิศรัฐ รางวัลธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย รางวัลรัฐวิสาหกิจที่มีการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ รางวัลธรรมาภิบาลดีเด่น รางวัลจรรยาบรรณดีเด่น รางวัลบรรษัทภิบาลดีเด่น และรางวัลช่อสะอาด 

จากการศึกษางานวิจัยพบว่าตั้งแต่ปี 2540 ที่รัฐบาลไทยได้มีการนำธรรมาภิบาลมาใช้อย่างจริงจัง

ส่งผลให้เกิดการส่งเสริมการมอบรางวัลให้กับหลายองค์กรที่เดินตามแนวทางของธรรมาภิบาล นับว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะนอกจากจะแสดงให้เห็นว่าองค์กรที่บริหารจัดการได้ดีควรมีรางวัลตอบแทนแล้ว ยังทำให้แนวคิดเรื่องธรรมาภิบาลแพร่หลายไปยังองค์กรอื่น ๆ ไม่ว่าจะในภาครัฐ เอกชน หรือประชาสังคม ซึ่งจะส่งเสริมให้สังคมโปร่งใสและช่วยต่อต้านการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม การเดินทางของธรรมาภิบาลในประเทศไทยยังไม่สิ้นสุด หากประเทศไทยยังมีการส่งเสริมธรรมาภิบาลด้วยการมอบรางวัลแก่องค์กรที่ทำดีแบบนี้ต่อไป ก็จะเป็นการสร้างมาตรฐาน ยกระดับคุณภาพ และจุดประกายให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารงานที่ดีและโปร่งใส เพื่อสร้างสังคมที่ไร้ทุจริตได้ในอนาคต

งานวิจัยเรื่อง “การสำรวจข้อมูลธรรมาภิบาลใน ประเทศไทย: Good Governance Mapping” (2562) โดย รศ. ดร.ปิยากร หวังมหาพร ยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับการให้รางวัลธรรมาภิบาลอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น ระดับรางวัล การวิเคราะห์รางวัล สามารถอ่านอ่านสรุปประเด็นสำคัญของวิจัยเพิ่มเติมได้ที่บทความสรุปงานวิจัยที่ลิงก์ด้านล่าง 

___________________

คอลัมน์ “KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย” เป็นบทความเล่างานวิจัยไทยด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน ที่หยิบยกหนึ่งในประเด็นของงานวิจัยในมุมมองของผู้ปฏิบัติการ เพื่อปูพื้นฐานความรู้และความเข้าใจเรื่องการคอร์รัปชัน และการต่อต้านคอร์รัปชันในมิติต่าง ๆ ภายใต้บริบทของประเทศไทย

ที่มา

ปิยากร หวังมหาพร. (2563). การสำรวจข้อมูลธรรมภิบาลในประเทศไทย : Good Governance Mapping. สถาบันพระปกเกล้า.

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2567
ผู้แต่ง
  • ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค
หน่วยงานสนับสนุน
05_โลโก้ KRAC
โลโก้คณะเศรษฐศาสตร์ (ภาษาไทย)

หัวข้อ
Related Content

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | ไขแนวคิด พิชิตความสำเร็จของหน่วยงานรัฐ ในการสร้างธรรมาภิบาล ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

สร้างความสำเร็จในหน่วยงานด้วย “หลักธรรมาภิบาล” ตามแผน ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมีตัวอย่าง 6 หน่วยงานรัฐไทยที่ไขแนวคิด พิชิตความสำเร็จในการสร้างธรรมาภิบาล…ปัจจัยความสำเร็จเหล่านี้เป็นอย่างไรบ้าง ? และผลลัพธ์ของการมีธรรมาภิบาลจะเป็นเช่นไร ? มาร่วมหาคำตอบไปพร้อมกัน

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | โควิด-19 ส่งผลอย่างไรต่อสถานการณ์คอร์รัปชันและธรรมาภิบาล ?

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่สุขภาพและเศรษฐกิจ แต่ยังทำให้การต่อต้านคอร์รัปชันและธรรมาภิบาลเผชิญความท้าทายใหม่ ๆ เช่น การใช้อำนาจพิเศษของรัฐ ความไม่เท่าเทียมที่เพิ่มขึ้น และการจัดซื้อจัดจ้างแบบฉุกเฉินที่เสี่ยงต่อการทุจริต แล้วเราจะฟื้นฟูผลกระทบเหล่านี้ได้อย่างไร ?

You might also like...

KRAC Extract | คอร์รัปชันหลังเเผ่นดินไหว: โอกาสแห่งการฟื้นตัวหรือประตูสู่การทุจริต

คอร์รัปชันหลังแผ่นดินไหว…เมื่อเงินฟื้นฟูหลั่งไหล แต่ความโปร่งใสกลับหายไป! กรณีศึกษาจากตุรกี ที่เผยให้เห็นว่าภัยพิบัติอาจเปิดช่องให้การทุจริตแทรกซึมได้ทุกขั้นตอนของกระบวนการจัดการหลังภัยพิบัติ บทเรียนนี้ไม่ใช่แค่ของต่างประเทศ แต่คือสัญญาณเตือนที่ไทยก็ต้องระวังเช่นกัน!

KRAC Hot News I การท่องเที่ยวไทยสูญเสียอะไรให้กับการคอร์รัปชัน?

ในช่วงสงกรานต์ที่หลายคนออกเดินทางท่องเที่ยวหรือกลับบ้าน เราอยากชวนคุณมามอง “การท่องเที่ยวไทย” ในมุมที่อาจไม่ค่อยถูกพูดถึง นั่นคือ การคอร์รัปชัน ด้วยข้อมูลวิจัยและกรณีศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่าปัญหาการคอร์รัปชันมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไทยมากกว่าที่คิด

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | การใช้ e-bidding เพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชันในโครงการจัดซื้อจัดจ้าง มีประสิทธิภาพมากแค่ไหน ?

ชวนสำรวจ e-bidding : เทคโนโลยีการจัดซื้อจ้างออนไลน์ลดคอร์รัปชัน โดยจะพาไปดูผลการใช้งานระบบจริงจากทั้ง 3 กรมว่าเป็นอย่างไร ? แล้วเราจะทำอย่างไรให้ระบบ e-bidding มีประสิทธิภาพมากขึ้น