KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | ถ้าสื่อไทยมีเสรีภาพมากขึ้น จะช่วยลดการคอร์รัปชันได้หรือไม่ ?

สื่อเสรีไม่เพียงทําหน้าที่เป็นช่องทางการแสดงออกเท่านั้น แต่ยังเป็นที่มาของข้อมูลข่าวสาร บนพื้นฐานความรับผิดชอบ

“สื่อเสรีไม่เพียงทําหน้าที่เป็นช่องทางการแสดงออกเท่านั้น แต่ยังเป็นที่มาของข้อมูลข่าวสาร บนพื้นฐานความรับผิดชอบ เป็นเครื่องมือสําหรับการมีส่วนร่วมของพลเมือง และเป็นกลไกช่วยตรวจสอบ การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้สื่อเสรียังช่วยให้สถาบันต่าง ๆ ทํางานได้อย่างมี ประสิทธิภาพและแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น”

 

คำกล่าวข้างต้น เป็นประโยคของอดีตประธานธนาคารโลก (World Bank) ที่เคยได้กล่าวไว้ในวันเสรีภาพสื่อมวลชน (World Press Freedom Day) ในปี 2004 ซึ่งสะท้อนถึงบทบาทของสื่อมวลชนที่ไม่ได้มีหน้าที่เพียงแค่การรายงานข่าว แต่ยังสามารถร่วมแก้ไขปัญหาสังคมและปัญหาการคอร์รัปชันผ่านการเปิดโปงการกระทำผิดของหน่วยงานรัฐได้ สอดคล้องกับผลสํารวจดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย (2560) ที่จัดทำโดยมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

 

โดยพบว่าประชาชนส่วนหนึ่งเสนอให้ “สื่อมวลชน” เข้ามาทําหน้าที่ช่วยตีแผ่ข้อเท็จจริง และตรวจสอบการคอร์รัปชันให้มากขึ้น ในฐานะกลไกหนึ่งของการพัฒนาประเทศ อีกทั้งงานวิชาการหลายชิ้นยังพบข้อสรุปที่น่าสนใจว่า ยิ่งสื่อมีเสรีภาพมากเท่าไร ก็จะช่วยแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้มาก แต่แนวคิดนี้ถูกต้องจริงหรือ ? 

 

KRAC จึงอยากชวนทุกคนมาหาคำตอบจากงานวิจัยเรื่อง “อิทธิพลของเสรีภาพสื่อมวลชนต่อการคอร์รัปชันในสังคมไทย” (2564) จัดทำโดย วัชระ จิรฐิติกาลกิจ โดยมีจุดประสงค์เพื่อศึกษาว่า เสรีภาพสื่อมวลชนไทยส่งผลต่อระดับคอร์รัปชันในสังคมไทยอย่างไร งานวิจัยนี้ใช้วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสารวิชาการที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพสื่อในการต่อต้านคอร์รัปชัน และสัมภาษณ์ความเห็นจากนักวิชาการ และนักวิชาชีพสื่อมวลชนทั้งหมด 6 คน

ผลการศึกษาหลายชิ้น ชี้ว่า เสรีภาพสื่อมีผลต่อการลดคอร์รัปชันได้

จากการศึกษา งานวิจัย พบว่า มีงานวิชาการอื่น ๆ ที่ระบุว่าเสรีภาพสื่อมีผลต่อการลดคอร์รัปชันได้ ตัวอย่างเช่น Brunetti และ Weder (2003) ค้นพบว่าสื่อมวลชนที่เป็นอิสระมีส่วนช่วยในการลดคอร์รัปชันในประเทศกำลังพัฒนา เช่นเดียวกับงานของ Adsera Boix และ Payne (2003) ที่พบว่าเสรีภาพสื่อมีความสัมพันธ์เชิงลบกับการคอร์รัปชัน ซึ่งงานวิชาการเหล่านี้สนับสนุนทฤษฎีเสรีนิยม (Libertarianism) ที่มองว่าสื่อมวลชนเปรียบเสมือน “สุนัขเฝ้าบ้าน (Watchdog)” ที่คอยตรวจสอบ และเปิดโปงการคอร์รัปชัน เมื่อสื่อมวลชนมีเสรีภาพในการทำหน้าที่ ก็จะสามารถรายงานข่าวได้อย่างตรงไปตรงมา และปราศจากการแทรกแซง สิ่งนี้จะช่วยสร้างความโปร่งใสในสังคม และทำให้ผู้ที่คิดจะคอร์รัปชันเกิดความเกรงกลัว

 

แต่เมื่อพิจารณาในบริบทของสังคมไทยกลับได้ผลลัพธ์ที่แตกต่าง โดยผลการศึกษาของงานวิจัยเรื่องอิทธิพลของเสรีภาพสื่อมวลชนต่อการคอร์รัปชันในสังคมไทย ที่ได้ทำการทดลองโดยใช้เสรีภาพสื่อมวลชนไทยเป็นตัวแปรต้น และระดับคอร์รัปชันในสังคมไทยเป็นตัวแปรตาม โดยใช้ทฤษฎีการคำนวณด้วยค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน โปรดักท์ โมเมนท์ (Pearson Product Moment Correlation) งานศึกษาชิ้นนี้ค้นพบว่า ยิ่งสื่อมวลชนมีเสรีภาพมากขึ้น ระดับคอร์รัปชันในสังคมไทยก็มีแนวโน้มที่จะสูงขึ้นตามไปด้วย

“สื่อมวลชนไทยอาจขาดความรับผิดชอบในการนำเสนอข่าว”  ?

จากผลลัพธ์ที่ไม่เป็นอย่างที่คาดหวัง นักวิจัยให้เหตุผลไว้ว่าอาจเป็นเพราะ “สื่อมวลชนไทยอาจขาดความรับผิดชอบในการนำเสนอข่าว” แม้ว่าสื่อมวลชนไทยจะมีเสรีภาพ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องมีความรับผิดชอบต่อหน้าที่สูงตามไปด้วย เพราะทั้งสองประเด็นคือคนละตัวแปรแม้จะมีความเกี่ยวข้องกัน ตัวอย่างเช่น การศึกษาในปี พ.ศ. 2542-2545 ที่เป็นช่วงที่สื่อมวลชนไทยมีเสรีภาพมากแต่กลับพบว่า บทบาทของสื่อในการรับผิดชอบตรวจคอร์รัปชันนั้นไม่ต่างจากช่วงเวลาอื่น

  

นักวิจัยยังได้ไปสอบถามนักวิชาการและนักสื่อสารมวลชนเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลลัพธ์ของงานวิจัย ซึ่งให้ความเห็นว่า การทำหน้าที่ของสื่อ นำเสนอหรือให้พื้นที่กับความบันเทิง หรือข่าวที่เสพด้านความบันเทิงเพื่อเรียกเรตติงมากกว่าการให้ความสำคัญกับข่าวการเมืองและการตรวจสอบคอร์รัปชันที่เป็นประโยชน์ ประกอบกับการขาดความรู้ในการทำข่าวเชิงสืบสวนอย่างแท้จริง จนทำให้การมีเสรีภาพของสื่อมวลชนจึงไม่มีผลใด ๆ ต่อการคอร์รัปชันในสังคมไทย นอกจากนี้ยังมีความเห็นที่มองว่าการไม่ทำหน้าที่ของสื่อมวลชนเองถึงแม้จะมีเสรีภาพสื่อก็เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสให้เกิดการคอร์รัปชันในสังคมได้สูงมากขึ้น

สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการมีสื่อที่มีจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม

งานวิจัยนี้ ชี้ให้เห็นว่าการมีสื่อที่อิสระเป็นสิ่งสำคัญ แต่ไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่จะแก้ปัญหาคอร์รัปชันได้ สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือการมีสื่อที่มีจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม อุปสรรคหนึ่งของการแก้ปัญหาคอร์รัปชันในสังคมไทยจึงอาจไม่ใช่เรื่องการขาดเสรีภาพของสื่อ แต่เป็นการไม่ใช้เสรีภาพของสื่อมวลชนมากกว่า ซึ่งเป็นปัญหาภายในตัวสื่อมวลชนเอง สื่อมวลชนไทยจึงต้องใช้เสรีภาพที่มีเพื่อทําหน้าที่เป็นสุนัขเฝ้าบ้านอย่างรับผิดชอบโดยไม่ลังเลที่จะปกป้องผลประโยชน์ของส่วนรวมเพื่อให้สอดคล้องกับปณิธาน รวมถึงจุดเริ่มต้นของความเชื่อใจและความคาดหวังของประชาชน

 

ทั้งนี้ถ้าสื่อมวลชนไทยสามารถทําได้จริง ก็น่าจะเป็นทางออกหนึ่งที่เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชันในสังคมไทยให้ลดลงไปได้ และสังคมเองก็สามารถร่วมกันสร้างวัฒนธรรมสื่อที่ให้ความสำคัญกับความถูกต้องและความเป็นธรรม ส่งเสริมจริยธรรมและความรับผิดชอบในวงการสื่อมวลชน และสนับสนุนสื่อที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการทุจริตอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้สื่อมวลชนช่วยสร้างสังคมที่โปร่งใส เป็นธรรมมากขึ้น และสามารถทำหน้าที่เป็นสุนัขเฝ้าบ้านได้อย่างแท้จริง

 

งานวิจัยเรื่อง “อิทธิพลของเสรีภาพสื่อมวลชนต่อการคอร์รัปชันในสังคมไทย” (2564) โดย วัชระ จิรฐิติกาลกิจ ยังมีข้อค้นพบจากการศึกษางานวิชาการอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับเสรีภาพสื่อและการต่อต้านคอร์รัปชัน โดยสามารถอ่านสรุปประเด็นสำคัญของงานวิจัยได้ที่ลิงก์ด้านล่าง

คอลัมน์ “KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย” เป็นบทความเล่างานวิจัยไทยด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน ที่หยิบยกหนึ่งในประเด็นของงานวิจัยในมุมมองของผู้ปฏิบัติการ เพื่อปูพื้นฐานความรู้และความเข้าใจเรื่องการคอร์รัปชัน และการต่อต้านคอร์รัปชันในมิติต่าง ๆ ภายใต้บริบทของประเทศไทย

ที่มา

วัชระ จิรฐิติกาลกิจ. (2564). อิทธิพลของเสรีภาพสื่อมวลชนต่อการคอร์รัปชันในสังคมไทย. มหาวิทยาลัยศิลปากร:นนทบุรี.

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2568
ผู้แต่ง
  • ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค
หน่วยงานสนับสนุน
05_โลโก้ KRAC
โลโก้คณะเศรษฐศาสตร์ (ภาษาไทย)

หัวข้อ
Related Content

เปลี่ยน Trainees เป็น Rookies ตัวท็อปของวงการ : ชวนอ่าน Anti-Corruption 101 เพื่อปูพื้นฐานการต่อต้านคอร์รัปชัน

ชวนอ่าน Anti-Corruption 101 ที่จะช่วยปูพื้นฐานความรู้ในเรื่องการคอร์รัปชัน ผ่านแนวคิดทางวิชาการ และเรียนรู้แนวทางการต่อต้านคอร์รัปชันที่มีเนื้อหาเข้าใจง่ายสำหรับทุกคน

คัดสรรงานวิจัยไทยต่อต้านคอร์รัปชัน ที่คุณอาจไม่รู้ (จัก) มาก่อน : ชวนอ่านสรุปงานวิจัยไทย 24 ชิ้น เพื่อทำความเข้าใจการต่อต้านคอร์รัปชัน

ชวนอ่านสรุปงานวิจัยไทยที่ KRAC คัดสรรมาให้คุณ เพื่อจะทำให้คุณเข้าใจปัญหา และวิธีการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันภายใต้บริบทของประเทศไทย

You might also like...

KRAC Hot News I อุบัติเหตุการก่อสร้างตามแนวถนนพระราม 2: ภาพสะท้อนปัญหาธรรมาภิบาลโครงการก่อสร้างภาครัฐไทย

อุบัติเหตุซ้ำซากบนถนนพระราม 2 ถึงเวลาปฏิรูป! ระบบจัดซื้อจัดจ้างต้องโปร่งใส ประชาชนต้องเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย และต้องมีมาตรการป้องกันและลงโทษที่จริงจังกันเสียที

KRAC Hot News I ผู้หญิงไม่เพียงแต่ถูกเรียกสินบน… แต่ยังถูกขอเรื่องเซ็กส์ด้วย

งานวิจัยจาก Transparency International เผยว่า “เพศ” ส่งผลต่อรูปแบบการเผชิญกับคอร์รัปชัน! เพราะผู้หญิงอาจถูกบังคับให้จ่ายสินบนทางเพศ หรือถูกละเมิดโดยเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจในทางมิชอบ

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | ปิดช่องโหว่ดุลพินิจ ปิดช่องทางทุจริตในไทย

“ดุลพินิจ” อำนาจรัฐ หรือช่องว่างที่ทำให้เกิดการทุจริต ? KRAC ชวนถอดบทเรียนการแก้ปัญหาโกงจากการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐจากกงานวิจัยเรื่อง การแสวงหาผลประโยชน์ จากการอนุญาตโดยใช้อำนาจรัฐ (2560)