ทุจริตเชิงนโยบายคืออะไร ? KRAC มีคำตอบ
เคยได้ยินชื่อของ “คดีทุจริตคลองด่าน” กันไหม ? นี่คือหนึ่งในคดีทุจริตครั้งใหญ่ของประเทศไทยที่สร้างความเสียหายเป็นเงินกว่า 1,900 ล้านบาท โดยคดีนี้เกิดขึ้นในปี 2538 ภายใต้ความตั้งใจของรัฐที่จะสร้างระบบบำบัดน้ำเสียในจังหวัดสมุทรปราการ แต่หลังดำเนินโครงการไปได้ไม่นานกลับพบว่ารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยในตอนนั้นได้ร่วมมือกับนักการเมืองและเอกชนหลายราย ใช้อำนาจในบีบบังคับซื้อที่ดินจากชาวบ้าน เพื่อนำมาขายให้กับโครงการสร้างระบบบำบัดน้ำเสียดังกล่าว
ซึ่งการทุจริตที่ “ทำกันอย่างเป็นระบบจากคนหลายฝ่าย” แบบนี้เราเรียกว่า “ทุจริตเชิงนโยบาย” ส่วนใหญ่มาจากนักการเมือง เจ้าหน้าที่รัฐ และนักธุรกิจที่ร่วมมือกันเสนอนโยบายบางอย่างขึ้นมาโดยสอดไส้กติกาหรือเปิดช่องว่างบางอย่างไว้ เพื่อจะได้สามารถเข้าไปหาผลประโยชน์จากนโยบายนั้นในภายหลัง ตัวอย่างคดีทุจริตเชิงนโยบายอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย เช่น คดีจำนำข้าว (2554) คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้ กฤษดามหานคร (2546-2547) คดีทุจริตยากระทรวงสาธารณสุข (2529) ซึ่งแต่ละคดีเกิดความเสียหายมากกว่าพันล้าน
แล้วเราจะแก้ไขคดีทุจริตเหล่านี้ได้อย่างไร ? KRAC ชวนมาดู แนวทางป้องกันทุจริตเชิงนโยบาย จากงานวิจัย เรื่อง “การทุจริตเชิงนโยบาย : มาตรการในทางกฎหมายเพื่อควบคุม และป้องกันปัญหาการทุจริตเชิงนโยบายในประเทศไทย” โดย อุดม รัฐอมฤต และคณะ (2559) ที่ได้มีการยกตัวอย่างเกี่ยวกับ 4 แนวทางป้องกันทุจริตเชิงนโยบายของ สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส
สหรัฐอเมริกา มองว่าการทุจริต คือการที่บุคคลที่ดำรงตำแหน่งสูงทางการเมืองใช้อำนาจนั้นเพื่อผลประโยชน์ของตัวเองหรือผู้อื่น จึงป้องกันด้วยมาตรการ 3 ประการ คือ
- “การถ่วงดุลอำนาจ” โดยแบ่งอำนาจออกเป็นสามฝ่าย ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวกับกฎหมายจะเป็นหน้าที่ของรัฐสภา ถ้าเป็นเรื่องของการบริหารประเทศจะเป็นหน้าที่ของประธานาธิบดี และถ้าเป็นการใช้อำนาจตุลาการจะเป็นหน้าที่ของศาลสูงสุด โดยทั้งสามอำนาจจะคานกันไม่ให้ใครมากกว่าใคร เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการใช้อำนาจในทางที่ผิด
- “สร้างรัฐโปร่งใส” แบ่งออกเป็น 2 มาตรการ คือ 1. ความโปร่งใสในการปฏิบัติการภาครัฐ เปิดให้ประชาชนได้รับรู้การทำงานและกระบวนการตัดสินใจของรัฐ 2. ความโปร่งใสด้านข้อมูลทางการเงินของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยการออกกฎหมายให้มีการเปิดเผยข้อมูลทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ก่อนเข้าทำงานของรัฐ
- “ทำให้คนกล้าแจ้งเบาะแส” โดยการออกมาตรการคุ้มครองเจ้าหน้าที่รัฐที่แจ้งเบาะแสทุจริตและให้เงินรางวัลตอบแทน
สิงคโปร์ จัดตั้งสำนักงานสอบสวนทุจริต (Corrupt Practices Investigation Bureau : CPIB)
- ทำหน้าที่สอบสวนและนำเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริตมาลงโทษ ภายใต้กฎหมายสองฉบับ คือ The Prevention of Corruption Act 1960 (PCA) ที่ช่วยในการสอบสวนและจับกุม และ the Corruption, Drug Trafficking and Other Serious Crimes (Confiscation of Benefits) Act 1999 ที่ช่วยศาลเปิดช่องพิพากษาตามความผิดเทียบกับงบประมาณที่ทุจริต
- ช่วย CPIB ในการจับกุมและยึดทรัพย์ ซึ่งการ “มีหน่วยงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่เข้มแข็งของสิงคโปร์” จะทำให้คนกลัวและไม่กล้าทุจริต
ญี่ปุ่น ป้องกันทุจริตโดยการออกกฎหมายลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐโดยตรง แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม
- กลุ่มที่ใช้อำนาจในทางที่ผิดบีบบังคับหรือขัดขวางไม่ให้บุคคลหนึ่งได้รับสิทธิใดใด หรือผู้พิพากษา อัยการ หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้อํานาจโดย ไม่ชอบจับกุมหรือกักขังบุคคลอื่นโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
- กลุ่มที่ใช้อำนาจทำร้ายผู้ต้องหาคดีอาญา เช่น กรณีผู้พิพากษา-อัยการ หรือเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำร้ายทางกายภาพหรือทางจิตใจให้กับจำเลยในคดีอาญาหรือบุคคลอื่น รวมถึงการที่บุคคลหนึ่งมีหน้าที่คุ้มครองดูแลแต่กลับทำร้ายร่างกายหรือสร้างความหวาดกลัวให้คนที่อยู่ในการดูแล
- กลุ่มที่ใช้อำนาจในการให้หรือรับสินบน แบ่งออกเป็นหลายรูปแบบ เช่น กรณีเจ้าหน้าที่รัฐหรืออนุญาโตตุลาการเรียกสินบนโดยสัญญาว่าจะทำตามที่ตกลงไว้ หรือกรณีเจ้าหน้าที่ของรัฐรับหรือเรียกสินบน เพื่อใช้อิทธิพลของตนบีบบังคับให้เจ้าหน้าที่ของรัฐอีกคนกระทําการหรือละเว้นกระทําการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นต้น โดยการกระทำทั้งหมดจะได้รับการลงโทษตามความผิดประมวลกฎหมายอาญา และสินบนจะถูกยึด หากได้ไม่ครบจะถูกเรียกเก็บเงินตามมูลค่าที่เท่ากัน
ฝรั่งเศส มีสองรูปแบบหลักในการป้องกันการทุจริตเชิงนโยบาย ซึ่งทั้งสองรูปแบบมีไว้ เพื่อให้การสอบสวนคดีทุจริตเป็นไปอย่างเข้มงวด คือ
- ระบบแยกพิจารณาความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐหรือการระบุความผิดของเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้อำนาจในทางที่มิชอบเป็นส่วน ๆ เช่น มาตรา 432-10 เกี่ยวกับการเรียกเก็บภาษีโดยทุจริตและ มาตรา 432-14 เกี่ยวกับความผิดเจ้าหน้าที่รัฐในระบบการประมูลโครงการสาธารณะ
- ระบบการตรวจสอบเจ้าหน้าที่รัฐทุจริตโดย 3 ศาล คือ “ศาลปกครอง” มีอำนาจในการยกเลิกเพิกถอนการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมายรวมถึงการทุจริตด้วย “ศาลบัญชี” มีหน้าในการควบคุมและจัดการงบประมาณของประเทศฝรั่งเศส และตรวจสอบบัญชีรายรับรายจ่ายของรัฐบาล และ “ศาลวินัยงบประมาณและการเงิน” มีอำนาจในการลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริต
หลังจากศึกษาการทุจริตเชิงนโยบาย งานวิจัยได้มีข้อเสนอแนะเพื่อแก้ปัญหาในประเทศไทย โดยมองว่า ด้านการเมืองควรมีการปรับปรุงข้อห้ามในการใช้นโยบายหาเสียงไม่ให้มีการเสนอนโยบายหาเสียงที่อาจเกิดความเสียหายต่องบประมาณรัฐ และในด้านกฎหมายควรมีการปรับปรุงกฎหมายในปัจจุบัน และกฎหมายใหม่เพื่ออุดช่องว่างที่จะทำให้เกิดการทุจริตเชิงนโยบาย ซึ่งแบ่งออกเป็นสองส่วน คือกลไกการป้องกันและกลไกการปราบปรามเพื่อให้เกิดความครอบคลุมและมีประสิทธิภาพ รวมถึงยังมีข้อเสนอและข้อค้นพบด้านการศึกษาอีกมากมาย ซึ่งสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ในงานวิจัย เรื่อง “การทุจริตเชิงนโยบาย : มาตรการในทางกฎหมายเพื่อควบคุม และป้องกันปัญหาการทุจริตเชิงนโยบายในประเทศไทย” โดย อุดม รัฐอมฤต และคณะ (2559)
#รัฐบาล #นักการเมือง #โกง #นโยบาย #นโยบายรัฐ #คอร์รัปชัน #ทุจริต #KRAC #KRAC
——————
คอลัมน์ “KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย” เป็นบทความเล่างานวิจัยไทยด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน ที่หยิบยกหนึ่งในประเด็นของงานวิจัยในมุมมองของผู้ปฏิบัติการ เพื่อปูพื้นฐานความรู้และความเข้าใจเรื่องการคอร์รัปชัน และการต่อต้านคอร์รัปชันในมิติต่าง ๆ ภายใต้บริบทของประเทศไทย
- ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค
หัวข้อ
KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | 4 ชาติ 4 แนวทาง หยุดทุจริตเชิงนโยบาย
เคยได้ยินชื่อของ “คดีทุจริตคลองด่าน” กันไหม ? นี่คือหนึ่งในคดีทุจริตครั้งใหญ่ของประเทศไทยที่สร้างความเสียหายเป็นเงินกว่า 1,900 ล้านบาท ซึ่งการทุจริตที่ทำกันอย่างเป็นระบบจากคนหลายฝ่าย แบบนี้เราเรียกว่าการทุจริตเชิงนโยบาย
KRAC Insight สรุปงานเสวนา | ทำอย่างไรจะช่วยลดการคอร์รัปชันจากช่องว่างของกฎหมาย?
ชวนอ่านสรุป “การประชุมเชิงวิชาการด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” หัวข้อ “การประเมินและแก้ไขปัจจัยเสี่ยงการคอร์รัปชันในกระบวนการนิติบัญญัติ”
KRAC Around เล่าข่าวคอร์รัปชันจากทั่วโลก I เปิดให้โปร่งใส ต้านโกงแบบใหม่ในจอร์เจีย
เนื่องจากการดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินทางการเมืองต้องมีความโปร่งใส และเป็นสิ่งที่รัฐบาลจอร์เจียให้ความสำคัญ จึงได้ออกกฎหมายที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ดยมีคำสั่งให้พรรคการเมืองที่ดำเนินกิจการในประเทศ …