KRAC Public Lecture | เจาะลึกสถานการณ์คอร์รัปชันของไทยในปี 2567 และพลวัตของการต่อต้านคอร์รัปชัน โดย ดร.มานะ นิมิตรมงคล

ร้อยแปดปัญหาที่เกี่ยวโยงกับการคอร์รัปชันในประเทศไทยตลอดปี 2567 ที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาผู้มีอิทธิพล การบังคับใช้กฎหมายที่อ่อนแอ การละเลยหลักนิติธรรม (Rule of Law) และความไม่โปร่งใสในระบบราชการ ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงคอร์รัปชันในทุกภาคส่วน ดังที่เห็นได้จากกรณีและคดีโกงมากมายทั้งในภาครัฐ และภาคเอกชน

 
KRAC ชวนทุกคนมาติดอาวุธความรู้ เพิ่มทักษะในการต่อต้านคอร์รัปชัน ในคลาสบรรยายพิเศษ รายวิชา 2940316 เศรษฐศาสตร์ธรรมาภิบาล (ECONOMICS OF GOVERNANCE) คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ โดยได้รับเกียรติจาก ดร.มานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) มาบรรยายในหัวข้อพิเศษ “สถานการณ์คอร์รัปชันของไทยในปี2567” และ “พลวัตการต่อต้านคอร์รัปชัน”
 
 
KRAC ได้สรุปประเด็นสำคัญมาให้ทุกท่านได้เจาะลึกไปพร้อม ๆ กัน ดังนี้

เจาะลึกสถานการณ์คอร์รัปชันไทยในปี 2567 ผ่านกรณีคอร์รัปชันทั้งในภาครัฐ และภาคเอกชน 

ดร.มานะ นิมิตรมงคล ได้สรุป “สถานการณ์คอร์รัปชันของไทยในปี 2567” ผ่านกรณีคอร์รัปชันที่น่าศึกษาทั้งในภาครัฐ และภาคเอกชน ดังนี้
 

(1) กรณีลดโทษ พักโทษ มอบอภิสิทธิ์ให้นักโทษคดีโกงชาติ

 

เช่น คดีที่นักการเมืองท้องถิ่นถูกศาลตัดสินลงโทษจำคุก 130 ปีแต่ลดโทษลงกึ่งหนึ่งเหลือ 50 ปีสุดท้ายปรับและรอลงอาญา 5 ปีและยังมีหลายเคสที่ทุจริตจริงแต่ผู้กระทำผิดรับสารภาพเลยได้ “รอลงอาญา” รวมถึงกรณีนักโทษชั้น 14 ที่ไม่ต้องนอนเรือนจำ

 

ซึ่งกรณีเหล่านี้ แม้ไม่ได้เชื่อมโยงกับการทุจริตที่เป็นตัวเงิน แต่ก็สะท้อนให้เห็นถึงการที่รัฐละเลยหลักนิติธรรม และเอื้อประโยชน์ให้กับคนที่มีอำนาจ โดย ดร.มานะ ชี้ว่า เป็นประเด็นที่เวทีเสวนานานาชาติไม่ว่าจะเป็น Transparency International หรือ OECD ที่มาจัดงานที่ไทยพูดถึงและให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

 

(2) กรณีไฟไหม้รถนำเที่ยวเด็กนักเรียน สูญเสีย 22 ชีวิต

 

กรณีที่เกิดขึ้นนี้ไม่มีใครโทษเจ้าหน้าที่รัฐเลย ทั้ง ๆ ที่เจ้าหน้าที่รัฐก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับโศกนาฏกรรมนี้เช่นกัน ซึ่งกรมการขนส่งชี้แจงว่า รถคันนี้ผ่านการตรวจสอบสภาพรถยนต์ถูกต้องเรียบร้อย แต่นำไปดัดแปลงต่อเติมภายหลัง ซึ่งสะท้อนว่าเกิดจากการตรวจสภาพรถทิพย์ หรือที่เรียกว่า “เงินแลกลายเซ็น” ซึ่งมีมานานและทำเป็นกระบวนการ โดยมีนายหน้าเป็นผู้ดำเนินการแทน

 

ส่งผลให้ทุกวันนี้ มีรถผิดกฎหมายวิ่งอยู่เต็มท้องถนน และสิ่งที่ต้องแก้ไข คือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องตรวจสภาพรถจริง ๆ จะได้รู้ว่ารถคันไหนหมดสภาพแล้ว หรือนำไปดัดแปลงที่ทำให้เกิดอันตรายกับเพื่อนร่วมท้องถนน

 

(3) คดีทุจริตที่ถูกยกฟ้อง เพราะปล่อยให้คดีหมดอายุความ

 
ในกรณีนี้ อธิบายให้เห็นถึงผลกระทบจากการที่หน่วยงานที่มีอำนาจในการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษ หรือนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ปล่อยให้คดีหมดอายุความ จนทำให้ศาลต้องยกฟ้อง อย่างเช่นกรณีของนายอิทธิพล คุณปลื้ม ที่ศาลชี้ว่าผิดจริงตามที่สำนักงาน ป.ป.ช. ชี้มูลมาแต่พอมาขึ้นศาลกลับพบว่า คดีหมดอายุความแล้ว
 
และไม่ใช่แค่คดีนี้คดีเดียว แต่ยังพบเหตุการณ์ลักษณะเช่นนี้ได้ในหลายคดี จึงนำไปสู่การตั้งคำถามถึงมาตรฐานและจริยธรรมในกระบวนการดำเนินคดีว่า มีการเล่นพรรคเล่นพวก หรือมีการเอื้อประโยชน์ให้กับคดีที่เกี่ยวข้องกับนักการเมืองผู้มีอิทธิพลหรือไม่
 

(4) สัมปทานรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน

 
บริษัทผู้ชนะประมูลสัมปทานรถไฟความเร็วสูง เชื่อม 3 สนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา โดยได้สิทธิในการพัฒนาที่ดินตลอดเส้นทาง และพ่วงด้วยสิทธิบริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และที่ดินย่านมักกะสัน ซึ่งสิ่งที่น่าจับตามองในกรณีนี้ คือ แม้การประมูลจะจบไปแล้วกว่า 5 ปี แต่หน่วยงานรัฐยังเปิดให้เอกชนมีการเจรจาแก้สัญญาเรื่อย ๆ ทั้งที่ขัดต่อหลักพื้นฐานในการประมูลงานภาครัฐอย่างเป็นธรรม
 
อีกทั้ง ปัจจุบัน ยังพบว่า โครงการมีการดำเนินงานที่ล่าช้าจากแผนที่กำหนดไว้ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการก่อสร้างและการเปิดให้บริการ จนทำให้ประชาชนเสียโอกาสใช้บริการรถไฟความเร็วสูง และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ก็เสียโอกาสที่จะได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากเอกชนคู่สัญญาภายในระยะเวลาที่เหมาะสม รวมถึงอาจส่งผลกระทบต่อโครงการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) อีกด้วย
 

(5) กรณีขุด/ขนย้ายกากแร่แคดเมียม

 
ดร. มานะ ได้ชี้ให้เห็นว่า การที่ประชาชนไม่รู้เรื่องการขุด หรือขนย้ายกากแร่แคดเมียม เพราะถูกปิดบังข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่กากแร่แคดเมียมสูญหายกว่าหมื่นตัน และถูกขนย้ายไปยังจังหวัดต่าง ๆ เรากลับพบว่า มีการรับอนุญาตผ่านระบบออนไลน์จากหน่วยงานจริง ซึ่งผู้ประกอบการต้นทางไม่ได้แจ้งว่ามีกากแร่แคดเมียมในการขนย้ายด้วย
 
เหตุการณ์นี้ สะท้อนให้เห็นถึงช่องโหว่ในการขออนุญาตและการตรวจสอบที่ไม่เข้มงวด ปัจจุบัน ก็ยังไม่ปรากฏข่าวที่ว่าเจ้าหน้าที่รัฐในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถูกลงโทษจริงจัง เหตุการณ์เหล่านี้ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศในการรณรงค์เรื่องการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืน (ESG)

ตัวอย่างกรณีคดีคอร์รัปชันที่เกิดขึ้น สะท้อนภาพของคอร์รัปชันในประเทศไทยที่รุนแรงเพิ่มขึ้น

ซึ่งอาจเป็นผลมาจากปรากฎการณ์บ้านใหญ่ที่นักการเมือง ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น หรือนายทุนพรรค เช่น กลุ่มนายทุนพลังงาน กลุ่มนายทุนที่ควบคุมการสื่อสาร หรือกลุ่มนายทุนที่ควบคุมระบบการขนส่งคมนาคมหลักของประเทศ ถึงขนาดเข้าไปมีอิทธิพลในการออกกฎหมายและการกำหนดนโยบายของภาครัฐเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน หรือที่เรียกว่า “State Capture”
 
เหตุการณ์คอร์รัปชันในลักษณะนี้ มีผลพวงมาจากการที่รัฐบาลไม่ได้ใส่ใจแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันเท่าที่ควร แม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงาน ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. จะได้จัดทำข้อเสนอเพื่อยกระดับคะแนนดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชัน (Corruption Perceptions Index: CPI) แต่ปัจจุบันข้อเสนอนี้ก็ยังไม่ถูกนำเข้า ครม. ทำให้ไม่มีผลในทางปฏิบัติ
 
อีกทั้ง แผนปฏิรูปประเทศเรื่องคอร์รัปชันก็ยังไม่มีความคืบหน้า เนื่องจากรัฐบาลไม่ยอมผลักดันให้การต่อต้านคอร์รัปชันเป็นวาระระดับชาติ และยังลดทอนความเป็นเอกภาพของการต่อต้านคอร์รัปชันจากองค์กรอิสระ ดังนั้น การทำงานของรัฐบาลในเรื่องการปราบปรามการคอร์รัปชัน จึงทำให้สังคมมีข้อกังขาในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานรัฐและองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ในการปราบปราม และทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในการเข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบหรือแจ้งเบาะแส

พลวัตของการต่อต้านคอร์รัปชันในช่วงปีที่ผ่านมา 

ดร. มานะ ได้ให้ความเห็นว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2558-2559 มาตรการในการต่อต้านคอร์รัปชันของภาครัฐได้รับการยอมรับมากที่สุด เพราะคะแนนการประเมินผลด้านการต่อต้านคอร์รัปชันของประเทศไทยดีขึ้นเกือบทั้งหมด ทั้งดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชัน (CPI) ดัชนีมาตรวัดคอร์รัปชัน (Corruption Barometer) และดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย (Thai CSI) ที่มาจากการออกมาตรการและกฎหมายการป้องกันการทุจริตที่มีประสิทธิภาพ เช่น พ.ร.บ. การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558 การทบทวนความเหมาะสมของกฎหมาย การจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ และการทำให้คดีคอร์รัปชันไม่หมดอายุความ ทำให้คนในสังคมตื่นตัวและมีส่วนร่วมในการตรวจสอบมากขึ้น
 
แต่ปัจจุบัน เรากำลังเจอกับปัญหาย้อนกลับ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า กลไกที่รัฐใช้ในการปราบปรามการทุจริตนั้น อ่อนประสิทธิภาพลง และรัฐเองก็ขาดเจตนารมณ์ทางการเมืองหรือ Political Will ที่จะทำตามที่ตกลงไว้ ยกตัวอย่าง 2 กรณีน่าสนใจ 

 

กรณีสินบนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) จากกระทรวงอุตสาหกรรม

 
ซึ่งเคยเป็นประเด็นว่า มีการเรียกรับสินบนที่สูงมาก ทำให้ในปี พ.ศ. 2561 นายกฯ ได้สั่งแก้ปัญหาเรื่องใบอนุญาต รง.4 ด้วยการลดขั้นตอนที่ซับซ้อนลง และลดการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ แต่ปัจจุบันสินบนใบอนุญาต รง.4 ก็กลับกลายมาเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม ทั้งยังมีการกระจายการเรียกรับสินบนในการออกใบอนุญาตให้ไปอยู่ในมือของผู้ปฏิบัติงานในระดับสำนักเพิ่มมากขึ้น การตรวจสอบจึงยากขึ้นตามไปด้วย
 

กรณีที่มีการบังคับใช้กฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

 

เพื่อตรวจสอบธุรกรรมการเคลื่อนไหวทางการเงินของนักการเมือง ข้าราชการระดับสูง และบุคคลผู้มีความเกี่ยวข้องใกล้ชิดอำนาจรัฐ (Politically Exposed Persons: PEPs)  ซึ่งมาตรการนี้ยังไม่ได้ถูกนำมาปฏิบัติและบังคับใช้อย่างเหมาะสมกับความเสี่ยงของการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้น โดยประกาศนี้ถูกบังคับใช้มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 แต่ในปี พ.ศ. 2563 กลับมีการออกประกาศกระทรวงยกเลิกอันเก่าทั้งหมด และทำให้ในปัจจุบันไม่มีบทบังคับใด ๆ ที่บังคับให้สถาบันทางการเงินจะต้องตรวจสอบธุรกรรมที่เกี่ยวข้อง หรืออาจเกี่ยวข้องกับการทุจริตของบุคคลผู้มีสถานภาพทางการเมืองไทยอีกต่อไป ซึ่งอาจจะทำให้เกิดช่องโหว่ในกระบวนการตรวจสอบและติดตามเส้นทางธุรกรรมของบุคคลเหล่านี้

รัฐต้องเป็นผู้นำ และรื้อถอนระบบที่เอื้อต่อการคอร์รัปชัน

อย่างไรก็ดี ดร.มานะ เน้นย้ำว่า
 

“เรายังมีความหวังกับคนรุ่นใหม่ในการต่อต้านคอร์รัปชัน”

 
เพราะที่ผ่านมากลุ่มคนเหล่านี้ มีบทบาทในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการตรวจจับการคอร์รัปชัน และขับเคลื่อนสังคมที่ไม่ทนต่อการคอร์รัปชันในทุกภาคส่วน
 
ยกตัวอย่าง กรณีคุณพัสนีย์ พูนสุข ที่ออกมาเปิดโปงกระบวนการทุจริตยาใน รพ.ทหารผ่านศึก และการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานของสำนักงาน ก.พ.ร. และกรุงเทพมหานคร ที่พยายามนำเสนอเทคโนโลยีมาใช้ประเมินความเสี่ยงการคอร์รัปชันในกระบวนงานต่าง ๆ และเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมติดตามและตรวจสอบการทำงานของหน่วยงาน
 
นอกจากนี้ ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า ความพยายามของ Active Citizens ที่สู้เพื่อส่วนรวม ต้องได้รับการสนับสนุนอย่างแข็งขันจากภาครัฐเพื่อให้การทำงานสัมฤทธิ์ผล เพราะหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ดำเนินการนำคนผิดมาลงโทษ อาจส่งผลให้ประชาชนไม่กล้าร้องเรียน และควรมีการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองพยานและผู้แจ้งเบาะแส และการป้องกันการฟ้องปิดปาก (Anti-SLAPP Law) ที่จริงจัง
 
สุดท้ายนี้ ดร.มานะ ชี้ว่า สิ่งสำคัญ คือ ภาครัฐจะต้องเป็นผู้นำในการต่อต้านการคอร์รัปชัน และรื้อถอนระบบที่เอื้อต่อการคอร์รัปชัน ด้วย
 
✅ การพัฒนาระบบราชการให้โปร่งใส
✅ สร้างระบบตรวจสอบที่เข้มแข็ง
✅ มีการบังคับใช้กฎหมายที่มีประสิทธิภาพ
✅ การปรับปรุงหลักนิติธรรม (Rule of Law)
 
ซึ่งทั้งหมดนี้ จะเป็นรากฐานสำคัญในการเตรียมความพร้อมให้กับประเทศไทยเพื่อเข้าสู่การเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD ในปี พ.ศ. 2570
 
 
เรียบเรียงโดย สุภัจจา อังค์สุวรรณ 

You might also like...