ผู้จัดการศูนย์ KRAC ร่วมงานประชุมประจำปี TI Indo-Pacific Regional Meeting 2024

คุณศุภวิชญ์ แก้วคูนอก ผู้จัดการศูนย์ฯ ได้เข้าร่วมการประชุมประจำปี TI Indo-Pacific Regional Meeting 2024 ในระหว่างวันที่ 28-29 พฤศจิกายน 2567 

 

โดยงานในครั้งนี้มีเป้าหมายและวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันถึงความก้าวหน้าในการทำงานของภาคีเครือข่ายของ Transparency International ในภูมิภาคอินโดแปซิฟิก ซึ่งมีตัวแทนผู้เข้าร่วมงานจากหลากหลายประเทศ โดยมุ่งเน้นที่การนำเสนอทั้งความสำเร็จ และความท้าทายของภาคีในการทำงานเรื่องความโปร่งใสในประเทศตัวเอง ในขณะเดียวการจัดประชุมยังรวมถึงการพยายามแสวงหาแผนงานร่วมกันเพื่อผลักดันนโยบายในระดับภูมิภาคเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันโดยเฉพาะประเด็นปัญหาการฟอกเงินข้ามพรมแดน

 

กิจกรรมของงานประชุมประจำปีในวันแรกแบ่งออกเป็นสองช่วงสำคัญ คือ กิจกรรมเสวนา ซึ่งมีด้วยกันสองประเด็น โดยประเด็นแรกเป็นเสวนาเกี่ยวกับการสร้างภาคีความร่วมมือเพื่อความเข้มแข็งในการสร้างความโปร่งใสภายในภูมิภาคโดยมีวิทยากรทั้งจากภายในและภายนอกภูมิภาค ในขณะที่งานเสวนาในประเด็นที่สองเกี่ยวกับข้องกับการติดตามสถานการณ์ปัญหาเงินทุจริตภายในภูมิภาคที่ผู้กระทำผิดมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ในการฟอกเงินมากยิ่งขึ้น กิจกรรมในภาคบ่ายของวันแรกนั้นมุ่งเน้นไปที่การนำเสนอกิจกรรมและการเข้าไปมีบทบาทในการส่งเสริมการสร้างความโปร่งใสภายในประเทศต่าง ๆ ที่ Transparency International เข้าไปดำเนินการ

 

โดยแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มประเทศสำคัญ คือ 1) กลุ่มประเทศแปซิฟิก 2) กลุ่มประเทศเอเชียใต้ และ 3) กลุ่มประเทศเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้มีส่วนในการเรียนรู้นวัตกรรมการทำงานมากมายจากกิจกรรมนี้

 

สำหรับกิจกรรมในวันที่สองช่วงเช้าเป็นการหารือเกี่ยวกับแผนการระดมความสนับสนุนจากทั้งในและนอกภูมิภาคในการขับเคลื่อนประเด็นความโปร่งใสร่วมกัน ซึ่งที่ประชุมตกผลึกกันว่าประเด็นที่ควรถูกหยิบขึ้นมาดำเนินการคือเรื่อง ความโปร่งใสทางการเมือง และการเคลื่อนไหวทางการเงินที่ผิดปกติ โดยทั้งสองประเด็นถูกมองว่าเป็นความท้าทายสำคัญภายในภูมิภาคในปัจจุบัน ทั้งนี้ คุณศุภวิชญ์ แก้วคูนอก ผู้จัดการศูนย์ฯ ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ และถกเถียงในประเด็นเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเงินที่ผิดปกติ ซึ่งทั้งภาคเช้าและบ่าย เป็นการระดมสมองเพื่อแสวงหาภาคีความร่วม รวมถึงแผนการดำเนินการเบื้องต้นเพื่อแก้ไขปัญหา ดังกล่าว โดยผู้แทนจากหลายประเทศเห็นตรงกันว่าหน่วยงานด้านการเงินการครั้งทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศต้องมีการประสานข้อมูลกันมากขึ้น

 

ประเทศในกลุ่มกำลังพัฒนาจำนวนมากมองว่าหน่วยงานอย่าง IMF และธนาคารโลก ควรเพิ่มมาตรการกำกับดูแลประเทสผู้ขอรับเงินสนับสนุนเกี่ยวกับประเด็นการฟอกเงินให้มากยิ่งขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตจากโครงการภายใต้การสนับสนุนขององค์การระหว่างประเทศด้านการเงินดังกล่าว ซึ่งถือเป็นรายได้สำคัญในการพัฒนาประเทศกำลังพัฒนาเหล่านั้น ในวงยังมีการนำเสนอเกี่ยวกับการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานตรวจสอบทางการเงินระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอาเซียน ซึ่งสามารถขับเคลื่อนเรื่องพวกนี้ได้มากขึ้น เพราะนอกจากปัญหาการฟอกเงินจะเกิดจากการทุจริตแล้ว ยังส่งผลกระทบถึงปัญหาการค้ายาเสพติดภายในภูมิภาคด้วย ซึ่งการประสานการทำงานระหว่างหน่วยงานตรวจสอบการเงินภายในอาเซียนสามารถขับเคลื่อนได้ทันทีผ่านช่องทางที่อาเซียนมีอยู่แล้ว

 

บทสรุปของการหารือในวงนี้นำมาซึ่งการร่างแผนมาตรการเพื่อการทำงานของภาคประชาสังคมเพื่อส่งสัญญาณไปยังรัฐบาล รวมถึงองค์การความร่วมมือระดับภูมิภาคเกี่ยวกับมาตรการป้องกันและปราบปรามการเคลื่อนไหวทางการเงินที่ผิดปกติ เช่นการให้ประชาคมระหว่างประเทศเข้ามากดดันการทำงาน การพยายามทำวิจัยเพื่อเสริมฐานข้อมูลในเรื่องนี้ให้มากขึ้น เป็นต้น

 

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ทางคุณศุภวิชญ์ แก้วคูนอก ผู้จัดการศูนย์ฯ ได้มีโอกาสพบปะหารือกับประธาน Transparency International ตลอดจนภาคีเกี่ยวกับความร่วมมือที่อาจทำร่วมกันได้ในอนาคต รวมถึงการพูดคุยเบื้องต้นเกี่ยวกับการรื้อฟื้นสาขา Transparency International ประจำประเทศไทยด้วย

You might also like...