KRAC Public Lecture : หัวข้อ “ปราบคอร์รัปชัน…สู้ไปก็สิ้นพวก ไม่สู้ก็สิ้นชาติ” โดย คุณบรรยง พงษ์พานิช

เรียนรู้การต่อต้านคอร์รัปชันเชิงลึกจากประสบการณ์จริงไปกับคุณบรรยง พงษ์พานิช ซึ่งจะทำให้เข้าใจบริบทของปัญหาคอร์รัปชันในภาครัฐ ภาคเอกชนได้มากขึ้น

เพราะการต่อต้านคอร์รัปชันสมัยใหม่ แค่บอกว่าเราจะไม่โกงคงไม่พอ แต่จะต้องมีข้อมูลและความรู้ รวมถึงทักษะในการลงมือทำ เราจึงอยากชวนนิสิต นักศึกษา และบุคคลทั่วไปที่สนใจมาเข้าร่วมคลาสบรรยายพิเศษในหัวข้อ “ปราบคอร์รัปชัน…สู้ไปก็สิ้นพวก: ไม่สู้ก็สิ้นชาติ” ในรายวิชา “เศรษฐศาสตร์ธรรมาภิบาล” จัดบรรยายในวันพฤหัสบดีที่ 28 มีนาคม พ.ศ.2567 เวลา 13:00-16:00 น. ณ ห้อง 415 ชั้น 4 อาคารคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ (กิจกรรมบรรยาย Onsite เท่านั้น)

ในคลาสบรรยายพิเศษนี้ทุกท่านจะได้พบกับ คุณบรรยง พงษ์พานิช ผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งปัจจุบันได้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร และกรรมการบริหาร องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โดยทุกท่านจะได้รับการถ่ายทอดประสบการณ์และมุมมองเชิงลึกของสถานการณ์คอร์รัปชันจากคุณบรรยงที่ได้ศึกษาเกี่ยวกับปัญหาคอร์รัปชันทั้งในภาครัฐ และเอกชน ซึ่งจะทำให้เข้าใจบริบทของเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมืองของประเทศไทยที่ส่งผลกระทบให้เกิดการคอร์รัปชัน และนำไปสู่การหาแนวทางในการแก้ไข รวมถึงพัฒนาแนวทางการต่อต้านคอร์รัปชันให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นได้

 

ซึ่ง KRAC ได้สรุปประเด็นสำคัญจากการบรรยายสาธารณะ มีรายละเอียด ดังนี้ 

“ประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำ โครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภคยังมีปัญหา นโยบายพัฒนาโครงสร้างสังคมยังไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่” ส่วนหนึ่งของปัญหาเหล่านี้ มีที่มาจากการ “คอร์รัปชัน” ที่ยังกัดกินประเทศ ซึ่งสุดท้ายผลกระทบก็จะเกิดขึ้นกับประชาชน เราจึงต้องร่วมมือฝ่าฟันปัญหานี้ไปด้วยกัน โดยคุณบรรยงได้เล่าถึง 3 แง่มุมสำคัญเกี่ยวกับปัญหาคอร์รัปชัน ได้แก่ สถานการณ์คอร์รัปชันไทยกับการพัฒนาประเทศ ปัญหาสถานการณ์คอร์รัปชันในไทย และข้อเสนอในการลดคอร์รัปชันทั้งในภาครัฐและเอกชน ประกอบด้วย 

 

1.  “สถานการณ์คอร์รัปชันไทยกับการพัฒนาประเทศ”

 

คุณบรรยงได้อธิบายสถานการณ์ภาพรวมการพัฒนาช่วง 5 ปีที่ผ่านมาของประเทศไทยในแง่มุมด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง โดยพิจารณาจาก 6 ปัจจัยที่ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ คือ

  • ดัชนีผลิตภัณฑ์ภายในประเทศเบื้องต้นเฉลี่ยต่อคน (GDP Per Capita)
  • ค่าสัมประสิทธิ์ความไม่เสมอภาค (Gini Coefficient)
  • ดัชนีการเป็นประชาธิปไตย (Democracy Matrix)
  • ดัชนีระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่สมบูรณ์ (Index of Economic Freedom)
  • ดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index: CPI)
  • การประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment: PISA)

 

โดยพบว่าประเทศไทยมีคะแนนในแต่ละปัจจัยอยู่ในระดับปานกลาง แต่ในด้านประชาธิปไตยมีคะแนนต่ำและมีแนวโน้มที่แย่ลง ซึ่งการพัฒนาประเทศในภาพรวมต้องอาศัยทั้ง 6 ปัจจัยเชื่อมโยงกัน และเมื่อไทยยังตกต่ำทางด้านความเป็นประชาธิปไตยและปัญหาคอร์รัปชัน ก็จะไม่สามารถพัฒนาเศรษฐกิจและประเทศได้อย่างยั่งยืน

 

ซึ่งคุณบรรยงได้ยกตัวอย่างโดยย้อนกลับไปในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตช้ากว่าค่าเฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนา ทั้งที่ประเทศรอบข้างอย่างเวียดนามหรือจีนก็แซงหน้าไทยไปไกลมาก ถึงแม้จีนจะเคยมีภาพลักษณ์ด้านคอร์รัปชันในแง่ลบ แต่ปัจจุบันก็ก้าวหน้าไปไกลหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจ รวมถึงสิงคโปร์ที่เคยถูกมองว่าพัฒนาได้ดีในทุกด้านยกเว้นประชาธิปไตย ปัจจุบันด้านประชาธิปไตยก็นำหน้าไทยไปแล้ว ในแง่ของการพัฒนาเศรษฐกิจและระบอบการปกครอง ประเทศไทยเคยมีเศรษฐกิจที่เติบโตภายใต้ระบอบเผด็จการช่วงหลังสงครามโลก แต่หลังจากนั้นก็กลายเป็นระบอบเผด็จการพวกพ้องที่แบ่งผลประโยชน์กันเฉพาะคนบางกลุ่ม (Cronyism) เช่น ในยุคของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่มีเพียงพวกพ้อง 4-5 คน ที่ครอบครองผลประโยชน์ จนมีคำเรียกว่า “วิมานสีชมพู” ที่มีพ่อค้าไม่กี่กลุ่มซึ่งได้รับผลประโยชน์จากโครงการสัมปทาน

 

2. “สู้กับคอร์รัปชัน – เรื่องเพ้อเจ้อที่ต้องเริ่มจริงจังเสียที”

 

จากสถานการณ์คอร์รัปชันที่ย่ำแย่ คุณบรรยงยังได้กล่าวถึงมายาคติในสังคมไทยที่หลายคนยังเชื่อว่าการแก้ปัญหาคอร์รัปชันเป็นเรื่อง “เพ้อเจ้อ” ที่ไม่สามารถแก้ไขได้ และมองว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ “คอร์รัปชัน” แต่อยู่ที่ “คอร์รัปชันเกินควร” รวมถึงต่อว่านักธุรกิจที่จ่ายสินบนว่าไร้คุณธรรม ทั้งที่ความจริงแล้วเป็นเรื่องของระบบที่เปิดช่องทางให้โกงได้ และไม่ควรทำให้การโกงอยู่ในทางเลือกการตัดสินใจใด ๆ ตั้งแต่ต้น  การที่ยังมีมุมมองต่อคอร์รัปชันแบบผิด ๆ นี้ ทำให้ยังมีการคอร์รัปชันอยู่ในสังคม โดยคุณบรรยงได้ยกตัวอย่าง 3 รูปแบบการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในไทย คือ

 

  • การจ่ายเพื่อซื้อความสะดวก เช่น ติดสินบนในกระบวนการยุติธรรม
  • การจ่ายเพื่อให้พ้นผิด แม้ไม่ได้กระทำผิด
  • การจ่ายเพื่อให้ได้เปรียบในการแข่งขัน เช่น ล็อกสเปก, ได้สัมปทาน

นอกจากนี้ยังมี 3 กลโกงคอร์รัปชันที่สำคัญ ซึ่งถูกที่ใช้บ่อยและใช้ได้ผลเสมอในสังคมไทย คือ

 

  • “ได้กระจุก เสียกระจาย” หมายถึง การคอร์รัปชันที่คนกลุ่มน้อยได้ผลประโยชน์ แต่คนส่วนใหญ่เสียผลประโยชน์ เช่น การโกงงบประมาณ การซื้อเสียงเลือกตั้ง
  • “ได้วันนี้เสียวันหน้า” หมายถึง การหวังประโยชน์ในปัจจุบันก่อน โดยไม่สนความเสียหายในอนาคต เช่น กรณีสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นการสร้างสนามบินที่แพงเกินความจำเป็น
  • “การคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ (systemic)” หมายถึง การคอร์รัปชันที่มีการดำเนินการเข้ากระบวนการอย่างแนบเนียน และทำให้รู้สึกว่า “เป็นของเขาหมดแล้ว” ไม่เกิดการแข่งขัน เพราะแข่งไปก็ไม่ชนะ และทำให้เกิดเป็นการผูกขาดในระบบเศรษฐกิจ อย่างเช่น การต่อยอดโครงการคอร์รัปชันเดิมโดยบรรดาพวกพ้องข้าราชการที่เอื้อกันอย่างเป็นระบบ หรือการโกงในระดับนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายสาธารณะ

 

ซึ่งการที่ประเทศไทยยังมีคอร์รัปชันเหล่านี้ ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในหลายด้าน เช่น บั่นทอนประสิทธิภาพนโยบายการคลัง ลดคุณภาพและเพิ่มต้นทุนของบริการพื้นฐาน บิดเบือนการจัดสรรทรัพยากร ทำลายศักยภาพการแข่งขัน ทวีความเหลื่อมล้ำ เช่น กรณีค่าไฟราคาแพงที่พบว่า ประเทศไทยสามารถลดราคาให้ถูกลงกว่านี้ได้อีก 20% หากทำอย่างตรงไปตรงมา ไม่ผูกขาด รวมถึงการคอร์รัปชัน ยังทำให้เกิดการลงทุนในระยะสั้น แต่ไม่ก่อประโยชน์ในระยะยาว เช่น การลงทุนโรงไฟฟ้าสำรองเกินความจำเป็น ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนสร้างผลกระทบต่อประชาชน ระบบเศรษฐกิจ และประเทศในภาพรวมทั้งสิ้น

 

3. “ข้อเสนอในการลดคอร์รัปชันทั้งในภาครัฐและเอกชน”

 

จากสถานการณ์ทั้งหมดนำมาสู่การตั้งคำถามว่า เราจะแก้ปัญหาการคอร์รัปชันในประเทศได้อย่างไร ? คุณบรรยงได้นำ “สมการคอร์รัปชัน” คือ C =M+D-A หรือ “คอร์รัปชัน (Corruption) = อำนาจผูกขาด (Monopoly) + อำนาจดุลพินิจ (Discretion) – ความรับผิดชอบ (Accountability)” มาประยุกต์เป็น มาตรา 30 ข้อในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน โดยมีรายละเอียดในเนื้อหา เช่น อำนาจผูกขาดควรมีการปฏิรูปเพื่อลดการผูกขาดอำนาจของรัฐวิสาหกิจ ด้านดุลพินิจ ควรมีการกำหนดให้การใช้ดุลพินิจของรัฐมนตรีหรืออธิบดี ฯลฯ ของหน่วยงานราชการมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนลงในเว็บไซต์ ด้านความรับผิดชอบ ควรมีการควบคุมการใช้อำนาจเงิน เช่น นำมาตรการข้อตกลงคุณธรรม (Intergrity Pact) มาใช้ในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของรัฐ เพื่อที่จะได้มีการตรวจสอบงบประมาณและความคุ้มค่าของโครงการต่าง ๆ

 

นอกจากสมการคอร์รัปชัน คุณบรรยงยังมองว่าการจะแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้ รัฐต้องเพิ่มความโปร่งใสผ่านการสร้างระบบและธรรมาภิบาลที่ดี มีกลไกควบคุมตรวจสอบ มีการปรับปรุงกฎหมายให้ครอบคลุม รัดกุมมากขึ้น หรือปฎิรูปกฎหมายด้วยกิโยตีนกฎหมาย (Regulatory Guillotine) เพื่อส่งเสริมให้เกิดความรับผิดชอบและเอาผิดได้จริง และเพิ่มเติมว่าเราไม่ควรหวังพึ่งระบบคุณธรรมหรือโครงการรณรงค์ทางด้านคุณธรรม เพราะไม่ใช่วิธีปิดช่องทางให้คนไม่โกงได้ แต่สิ่งที่สำคัญในการต่อต้านคอร์รัปชัน คือจะต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคประชาสังคมที่ควรได้รับการสนับสนุนและการคุ้มครองมากที่สุด

____________________

 

กิจกรรมการบรรยายสาธารณะนี้ เป็นส่วนหนึ่งของรายวิชาเศรษฐศาสตร์ธรรมาภิบาล จัดโดย ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค ​ซึ่งเป็นรายวิชาที่มุ่งเน้นให้นิสิตได้

 

  • เรียนรู้เรื่องการคอร์รัปชันผ่านทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์ เพื่อเชื่อมโยงความรู้ไปสู่การลงมือแก้ไขปัญหาจริง
  •  รับฟังประสบการณ์ตรงจากผู้เชี่ยวชาญที่เคยทำงานร่วมกับหลายองค์กร/หน่วยงาน
  • เข้าใจคอร์รัปชันเชิงลึกและสถานการณ์คอร์รัปชันในปัจจุบันที่สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว ความขัดแย้งทางสังคม และความไม่มีประสิทธิภาพในทางการเมือง
  • สามารถหาวิธีแก้ปัญหาที่เหมาะสมกับบริบทของไทยได้

You might also like...