“It’s a Match” จับคู่สำเร็จแล้ว! ระหว่างผู้ทำงานต่อต้านคอร์รัปชันกับเว็บไซต์ KRAC Corruption พร้อมต่อยอดการทำงานต่อต้านคอร์รัปชันจากเว็บไซต์ และสร้างความร่วมมือกับสำนักงาน ป.ป.ช. โดยใช้ความรู้เป็นฐาน
เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2567 ณ ห้องประชุมนนทบุรี 2 อาคาร 4 สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) ได้มีการจัดงาน “Matching Date Event : จับคู่ Feature ที่ชอบตอบโจทย์การทำงาน (ต่อต้านคอร์รัปชัน) ที่ใช่” โดยศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค (KRAC) คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.)
ก่อนเริ่มงานได้รับเกียรติจาก ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้อำนวยการศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค หรือศูนย์ KRAC คุณจันจิรา จิตรชื่น เลขาธิการสำนักงาน ป.ป.ช. และดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ วช. ร่วมกล่าวเปิดงาน โดยทั้งสามท่านต่างก็กล่าวถึงประโยชน์และความสำคัญของเว็บไซต์ KRAC Corruption ที่เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันและส่งเสริมการต่อต้านคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างสังคมที่ปราศจากการทุจริต
ภายในงานได้มีการเปิดตัวเว็บไซต์ KRAC Corruption (https://kraccorruption.com) ซึ่งได้รับเกียรติจากคุณสุภัจจา อังค์สุวรรณ นักวิจัยอาวุโส และคุณศุภวิชญ์ แก้วคูนอก ผู้จัดการศูนย์ KRAC ที่ได้มาช่วยเจาะลึกการใช้งานของทุก Feature สุดล้ำบนเว็บไซต์ KRAC Corruption ซึ่งเหมาะกับ “ทุกคน” ที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านคอร์รัปชัน ทั้งผู้ที่ทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน นักวิชาการ นักศึกษา และผู้ที่สนใจที่สามารถเลือกใช้ Feature ต่าง ๆ ได้ตามต้องการ ได้แก่ KRAC Knowledge, KRAC Network, Learn with KRAC และ KRAC News & Updates ไปจนถึงฟังก์ชัน Let’s KRAC Corruption ที่เป็นจุดเชื่อมให้ทุกคนสามารถมาค้นหาวิธีการต่อต้านคอร์รัปชันที่เหมาะสมกับตนเอง และช่วยเชื่อมโยงจับคู่การทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันระหว่างภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และประชาชน ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ภายในงานยังมีการแชร์ประสบการณ์การต่อต้านคอร์รัปชันระดับสากลโดยอาจารย์ต่อภัสสร์ ผู้อำนวยการศูนย์ KRAC จากการเข้าร่วมโครงการ Eisenhower Fellowships ที่สะท้อนให้เห็นว่าปัญหาคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่ทุกประเทศกำลังเผชิญ และเป็นประเด็นสำคัญที่กำลังผลักดันทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ โดยบทเรียนที่น่าสนใจของการทำงานด้านนี้คือ “ความผิดพลาด” ไม่ใช่ความล้มเหลว แต่จะทำให้เห็นถึงข้อบกพร่องที่สามารถนำมาพัฒนาปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้นได้ ซึ่งในประเทศที่มีการทำงานต่อต้านคอร์รัปชันที่ดี ในขั้นแรกคือการมีหน่วยงาน และกฎหมายมากำกับดูแลการคอร์รัปชัน แต่พอถึงจุดหนึ่งจะนำไปสู่การมีกฎหมายที่มากเกินไป และสร้างภาระให้ผู้ปฏิบัติงาน จึงเกิดการเปลี่ยนวิธีมองการต่อต้านคอร์รัปชันจาก “การกำกับควบคุมโดยรัฐสู่การสร้างความโปร่งใสผ่านการเปิดเผยข้อมูล” และการเปลี่ยนวิธีการทำงานต่อต้านคอร์รัปชันจากการ “ทำงานแบบแบ่งส่วนสู่การร่วมกันทำงาน” ซึ่งจะเป็นเหมือนฟันเฟืองหนึ่งในการขับเคลื่อนการต่อต้านคอร์รัปชันในสังคมอย่างเป็นระบบที่จะช่วยให้เกิดการตรวจสอบการคอรร์รัปชันอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งการมีเว็บไซต์ KRAC Corruption ถือเป็นตัวช่วยให้ทุกคนทำงานได้ง่ายขึ้น และทำงานต่อต้านคอร์รัปชันได้มีเกิดประสิทธิผลมากขึ้น
โดยไฮไลต์ของงานคือการเสวนาเรื่อง “การต่อยอดเว็บไซต์ KRAC Corruption และการสร้างความร่วมมือด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน ร่วมกับสำนักงาน ป.ป.ช. โดยใช้ความรู้เป็นฐาน” โดยอาจารย์ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้อำนวยการศูนย์ KRAC ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต รองผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) depa Thailand และคุณวันชัย สีขาว ผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการด้านป้องกันและปราบปรามการทุจริต สำนักงาน ป.ป.ช.
ดร.รัฐศาสตร์ กรสูต ได้กล่าวถึงการทำงานของ DEPA เพื่อการต่อต้านคอร์รัปชันผ่านการนำข้อมูลมาจัดทำให้เป็นสาธารณะ พร้อมทั้งชี้ให้เห็นว่าข้อมูลเปิด (Open Data) เป็นองค์ประกอบของการต่อต้านคอร์รัปชัน โดยจะต้องมีความถูกต้อง มีความโปร่งใส สามารถเข้าถึงและส่งต่อได้ โดยทาง DEPA เล็งเห็นว่า “การคอร์รัปชันเป็นปัญหาแบบองค์รวม” เพราะมีความเกี่ยวข้องกับกฎหมาย เศรษฐศาสตร์ การเมือง สังคมศาสตร์ พฤติกรรมศาสตร์ และประเด็นอื่น ๆ ดังนั้นการทำงานป้องกันและปราบปราม จึงต้องอาศัยการเข้าใจผ่านองค์ความรู้ต่าง ๆ มาอยู่ร่วมกัน และเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างกันเพื่อช่วยให้การทำงานเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมชี้ให้เห็นว่า “ข้อมูล (Data)” จะเป็นสิ่งหนึ่งที่สามารถช่วยได้เพราะนอกจากจะเป็นสิ่งที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันแล้ว ยังเป็นสิ่งที่สามารถใช้เพื่อคาดการณ์สถานการณ์ทางสังคมเกิดขึ้นในอนาคตได้อีกด้วย
ในขณะที่คุณวันชัย สีขาว ได้กล่าวถึง “ความน่ากลัวของคอร์รัปชัน” โดยเปรียบเทียบว่าเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุดยิ่งกว่าความรักและความตายเสียอีก เพราะคอร์รัปชันจะส่งผลกระทบต่อสังคมและรัฐในภาพรวม ซึ่งในปัจจุบันสำนักงาน ป.ป.ช. เน้นไปที่การทำงานเชิงบูรณาการเป็นสำคัญ ทั้งการบูรณาการเชิงวิชาการผ่านการวิจัยและนำเสนอข้อเสนอเชิงนโยบายร่วมกับสถาบันการศึกษา และการบูรณาการการใช้ข้อมูลกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายบนฐานขององค์ความรู้และเครื่องมือที่มีอยู่ เช่น การเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานยุติธรรม ซึ่งในปัจจุบันปัญหาที่เกิดขึ้นข้อมูลแต่ละหน่วยงานถูกจัดเก็บและมีมาตรฐานการจัดเก็บที่แตกต่างกัน จึงมีความพยายามในการศึกษาร่วมกับภาคการศึกษา เช่น การใช้ AI ตรวจสอบรับคำกล่าวหาร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า และการใช้งานเว็บไซต์ KRAC Corruption ของหน่วยงานรัฐเพื่อใช้ประโยชน์ในการต่อต้านคอร์รัปชัน
โดยทั้งสองท่านได้กล่าวถึงความสำคัญของ “ข้อมูล” ในการต่อต้านคอร์รัปชัน รวมถึง “การใช้งานและการคำนวณผลของข้อมูล” ซึ่งสามารถที่จะบูรณาการกับเทคโนโลยีตลอดจนปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) แต่ก็มีข้อกังวลกับความเสี่ยงเนื่องด้วย การใช้ AI จะต้องมีการดูว่าข้อมูลพื้นฐานที่ให้ AI มีอคติหรือความผิดพลาดหรือข้อมูลปลอมหรือไม่ ซึ่ง DEPA พยายามส่งเสริมการทำงานของภาครัฐและผู้ประกอบการภาคเอกชนรุ่นใหม่ในการพัฒนา AI ของประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีการเน้นย้ำถึง “การมีส่วนร่วมของประชาชนในการต่อต้านคอร์รัปชัน” โดยสำนักงาน ป.ป.ช. ได้ส่งเสริมการมีส่วนร่วมด้วยการเปิดพื้นที่ในการให้ประชาชนสามารถให้ข้อมูลและแจ้งเบาะแสกับหน่วยงานผ่านช่องทางที่มีอยู่ โดยจะมีการปกปิดข้อมูลตัวตนของผู้แจ้งเบาะแส พร้อมทั้งมีมาตรการในการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส ของสำนักงาน ป.ป.ช.
“Matching Date Event” จึงเป็นเหมือนพื้นที่ของคนที่ไม่ทนต่อการคอร์รัปชัน ทั้งผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้สนใจในการร่วมแก้ปัญหา เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ พร้อมต่อยอดการทำงานแบบระบบนิเวศ (Ecosystem) ผ่านกิจกรรมและเทคโนโลยีอย่างเว็บไซต์ KRAC Corruption (https://kraccorruption.com) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเข้าถึงข้อมูลและสร้างสังคมไทยที่โปร่งใสปราศจากคอร์รัปชัน
ถึงแม้ว่างานนี้จะจบลง แต่ศูนย์ KRAC จะยังคงเดินหน้าพัฒนาทั้งเว็บไซต์และผลงานเพื่อร่วมกันผลักดันการทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันในสังคมไทยต่อไป สำหรับใครที่อยากเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อต้านคอร์รัปชัน หรืออยากติดตามข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านคอร์รัปชัน ก็สามารถติดตามได้ที่ Facebook KRAC Corruption ต่อไปได้เลย !
หัวข้อ
- Anti-Corruption, Open Data For Anti-Corruption
วันที่เผยแพร่
10 ตุลาคม 2567
Related Topic