สร้างความร่วมมือเปิดข้อมูลให้โปร่งใส ด้วยการสร้างฐานข้อมูลนักการเมือง ในกิจกรรม “อาสาพา (PAR) กรอก” ภายใต้โครงการพัฒนาเครื่องมือฐานข้อมูลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับสูง ระยะที่ 2 (ACT Ai Politics Data)
จึงถือเป็นกิจกรรมการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชันด้วยการใช้ข้อมูลเปิด (Open Data for Anti-Corruption) ที่บูรณาการองค์ความรู้ระหว่างศาสตร์ต่าง ๆ ทั้งในเชิงวิชาการ แนวปฏิบัติ และกรณีศึกษาที่น่าสนใจเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐมาเป็นฐานในการมีส่วนร่วมต่อต้านคอร์รัปชันของภาคประชาชน ด้วยการใช้งานฐานข้อมูลเพื่อติดตามตรวจสอบการบริหารภาครัฐโปร่งใส สามารถเชื่อมโยง วิเคราะห์ข้อมูลและพัฒนานวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน ตลอดจนสอดรับกับความสนใจของคนรุ่นใหม่ในการเข้ามามีส่วนร่วมสร้างความโปร่งใสทางการเมือง (Political Transparency) อันจะนำไปสู่จุดเริ่มต้นที่สำคัญในการขับเคลื่อน “ความร่วมมือเพื่อผลักดันการเปิดเผยข้อมูลเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน” ในประเทศไทย เพื่อสร้างกลไกความรับผิดรับชอบให้กับภาครัฐ สร้างความตระหนักรู้ให้แก่ภาคประชาชนในการปกป้องสิทธิของตัวเองและผลประโยชน์ของส่วนรวมร่วมกัน ตลอดจนร่วมสร้างสังคมที่มีการเข้าถึงข้อมูลและมีส่วนร่วมในการต่อต้านคอร์รัปชันในอนาคต
วัตถุประสงค์
- เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับความสำคัญของข้อมูลเปิด และบทบาทของประชาชนในการมีส่วนร่วมสร้างความโปร่งใสทางการเมือง (Political Transparency) ผ่านการใช้ข้อมูล (Open Data)
- เพื่อกระตุ้นให้เกิดการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างความตระหนักรู้ของคนในสังคมต่อการมีส่วนร่วมต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในสังคม
ผลการดำเนินงาน
มีผู้ร่วมกิจกรรมการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน วันที่ 24 พฤศจิกายน 2566 จำนวน 13 คน แบ่งเป็น ผู้เข้าร่วม ณ ห้องเรียนอัจฉริยะ ชั้น 5 คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวน 7 คน และผู้เข้าร่วมรูปแบบออนไลน์ ผ่านระบบ Zoom Meeting จำนวน 6 คน เป็นอาสาสมัครที่ร่วมกิจกรรมกรอกข้อมูลต่อ จำนวน 9 คน และเป็นอาสาสมัครที่ร่วมกิจกรรมการเรียนรู้เพียงอย่างเดียว จำนวน 4 คน
โดยในงานได้รับเกียรติจาก รศ. ดร.สิทธิเดช พงศ์กิจวรสิน คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเปิดกิจกรรมการเรียนรู้ด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน สำหรับนิสิต นักศึกษาและบุคคลทั่วไป ภายใต้ โครงการร้อยพลังสร้างเสริมธรรมาภิบาล และโครงการพัฒนาเครื่องมือฐานข้อมูลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับสูง ระยะที่ 2 ได้กล่าวแนะนำศูนย์ฯ และจุดประสงค์ในการก่อตั้งศูนย์ฯ โดยระบุว่า ศูนย์ฯ มีเป้าหมายเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้และสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชัน
และยังได้รับเกียรติจาก คุณวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ในการกล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมและกล่าวขอบคุณผู้ให้การสนับสนุนและภาคีเครือข่ายร่วมจัดกิจกรรม โดยระบุว่า กิจกรรมการเรียนรู้เชิงปฏิบัติการด้านการต่อต้านคอร์รัปชันสำหรับนิสิต นักศึกษา และบุคคลทั่วไป ภายใต้ “โครงการร้อยพลังสร้างเสริมธรรมาภิบาล (Collaboration for Good Governance) และโครงการพัฒนาเครื่องมือฐานข้อมูลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับสูง ระยะที่ 2 (ACT Ai Politics Data) เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการปลูกฝัง สร้างการเรียนรู้ที่จะไม่ยอมรับการทุจริตทุกรูปแบบ เป็นช่องทางและการขับเคลื่อนที่สำคัญในการสร้างการมีส่วนร่วมกับภาคประชาชนให้เกิดความตระหนักและร่วมเป็นพลังสังคมในการต่อต้านคอร์รัปชัน
โดยกิจกรรมในครั้งนี้ ได้รับการสนับสนุนจาก ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันและส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค หรือ KRAC และได้รับความร่วมมือในการจัดกิจกรรมจาก 5 องค์กรสำคัญ ได้แก่ งานร้อยพลังสร้างสังคมดี มูลนิธิเพื่อคนไทย องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กลุ่มเทคโนโลยีภาคประชาชน (WeVis) บริษัท แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด บริษัท คะน้า รีเสิร์ช คิวเรเตอร์ จำกัด ตลอดจนความร่วมมือในการสื่อสารและประชาสัมพันธ์จากสื่อมวลชน นอกจากนี้ ยังได้ทิ้งท้ายไว้ว่า กิจกรรมฯ ในครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เครื่องมือกลไกให้เกิดประโยชน์ เพื่ออำนวยความสะดวกและผลักดันให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและสร้างระบบนิเวศการต่อต้านคอร์รัปชันให้เกิดขึ้นให้ได้ในสังคม
กิจกรรมเรียนรู้ด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน ภายใต้กิจกรรม “อาสาพา(PAR)กรอก” ครั้งที่ 1 แบ่งการเรียนรู้ทั้งหมดออกเป็น 3 ช่วง โดยแต่ละช่วงจะมีรูปแบบที่แตกต่างและประกอบไปด้วยวิทยากร ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและคณะทำงานด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันโดยการใช้ข้อมูลเปิด (Open Data) รายละเอียด ดังนี้
1.) ช่วงที่ 1 การเรียนรู้เชิงวิชาการและแนวปฏิบัติ รูปแบบบรรยาย ประกอบด้วยหัวข้อ โดย คุณณัฐภัทร เนียวกุล หัวหน้าฝ่ายข้อมูลเปิดเพื่อความโปร่งใส บริษัท แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด
- การใช้ข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Data)
- บทบาทของประชาชนในการมีส่วนร่วมสร้างความโปร่งใสผ่านการใช้ข้อมูล ด้วยเครื่องมือสู้โกง ACT Ai
2.) ช่วงที่ 2 การเรียนรู้จากกรณีศึกษาที่น่าสนใจ รูปแบบบรรยายในหัวข้อ ความสำคัญของมาตรฐานข้อมูลเปิด จากกรณีศึกษาการแปลงข้อมูลเอกสารบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน โดย คุณศุทธิรัตน์ พัชรวุฒิพันธุ์ ผู้จัดการโครงการข้อมูลเปิดเพื่อความโปร่งใส และคุณวสุพล ยอดเกตุ ผู้ประสานโครงการข้อมูลเปิดเพื่อความโปร่งใส บริษัท แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด
3.) ช่วงที่ 3 การเรียนรู้เชิงปฏิบัติการด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เข้าร่วม ในหัวข้อ วิธีการมีส่วนร่วมในการสร้างฐานข้อมูลด้วยการแปลงข้อมูลเป็นดิจิทัล โดย คุณศุทธิรัตน์ พัชรวุฒิพันธุ์ ผู้จัดการโครงการข้อมูลเปิดเพื่อความโปร่งใส และคุณวสุพล ยอดเกตุ ผู้ประสานโครงการข้อมูลเปิดเพื่อความโปร่งใส บริษัท แฮนด์ วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด
4.) ช่วงที่ 4 การเสวนาพิเศษ ในหัวข้อ การยื่นบัญชีทรัพย์สินของนักการเมืองและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการร่วมต่อต้านคอร์รัปชัน โดย ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้อำนวยการศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันและส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค คุณธนิสรา เรืองเดช กรรมการบริหาร บริษัท พันช์อัพ เวิลด์ จำกัด และประธานกลุ่มเทคโนโลยีภาคประชาชน (WeVis) และคุณพริษฐ์ วัชรสินธุ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
หลังจากนั้น ได้ให้ผู้เข้าร่วมทดลองกรอกข้อมูลบัญชีทรัพย์สินหนี้สิน ผ่านระบบกรอกข้อมูล (ACT Data Entry) ตามหัวข้อ (รายการบัญชีทรัพย์สินหนี้สินทั้ง 9 ส่วน) ที่สนใจ เป็นระยะเวลา 30 นาที โดยผู้เข้าร่วมได้ซักถามข้อสงสัยในการกรอกข้อมูลจากทีมวิทยากรหลังการทดลองกรอกข้อมูล (30 นาที) และมีตัวแทนผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันในห้องประชุม
- Politicians Asset Declarations, Open Data For Anti-Corruption
24 พฤศจิกายน 2566