โครงการศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค (Knowledge hub for Regional Anti-corruption and good governance Collaboration : KRAC) ดำเนินงานโดยคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มีภารกิจ คือเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และเผยแพร่องค์ความรู้เชิงวิชาการและภาคปฏิบัติด้านการต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทย และพัฒนาและขยายเครือข่ายความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างเป็นรูปธรรม
ตลอดจนร่วมพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านการต่อต้านคอร์รัปชันที่สามารถนำไปแก้ไขปัญหาและสร้างการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์การคอร์รัปชันในประเทศไทยในทางที่ดีขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และยั่งยืน ภายใต้ความร่วมมือกับเครือข่ายระดับนานาชาติ ประกอบด้วยสถาบันและนักวิจัยที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศ อาทิ Professor Matthew Stepheson, Founder of the Global Anti-Corruption Lab, Harvard Law School, US Professor, Ariane Lambert-Mogiliansky, Chair Economics of Transparency and Accountability (ETA), Paris School of Economics, France, องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) องค์กรโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) และองค์กร Indonesia Corruption Watch (ICW)
ศูนย์ KRAC ดำเนินงานด้วยกลไกที่สำคัญ 4 ด้าน เพื่อสร้างระบบนิเวศของการต่อต้านการคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพ ดังนี้
- พัฒนาศูนย์กลางความรู้ด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน : ศูนย์กลางความรู้ (Knowledge)
- พัฒนาและขยายเครือข่ายการต่อต้านคอร์รัปชันกับเครือข่ายระดับนานาชาติ : ศูนย์กลางความร่วมมือ (Network)
- พัฒนาระบบสนับสนุนและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ เพื่อร่วมต่อต้านการคอร์รัปชัน : ศูนย์กลางการลงมือทำ (Join)
- พัฒนาศักยภาพการต่อต้านคอร์รัปชันด้วยการให้บริการกิจกรรมวิชาการ : ศูนย์กลางการเรียนรู้ (Learn)
เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2566 ศูนย์ KRAC ได้จัดการประชุมเชิงวิชาการด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีทั้งหมด 3 หัวข้อเสวนา คือ
- การใช้ข้อมูลเปิดเพื่อส่งเสริมธรรมาภิบาลและคุณธรรม (Using Open Data to Improve Governance and Integrity)
- โครงการริเริ่มสนับสนุนการพัฒนาการกำกับดูแลและส่งเสริมการบริหารการเงินที่โปร่งใสและมีความรับผิดชอบ (Initiatives to Promote Transparent and Accountable Financial Management)
- การประเมินและแก้ไขปัจจัยเสี่ยงการคอร์รัปชันในการกระบวนการนิติบัญญัติ (Assessing and Addressing Corruption Risk Factors in Legislation)
โดยการจัดประชุมฯ ครั้งนี้ มีผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านคอร์รัปชันจาก 5 ประเทศ เข้าร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงาน ได้แก่ ประเทศเกาหลีใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์ สหรัฐอเมริกา อินโดนีเซีย และไทย ซึ่งนับว่าเป็นอีกก้าวสำคัญของศูนย์ KRAC ในการเริ่มต้นสร้างความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันและส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับนานาชาติอย่างเป็นรูปธรรม ดำเนินการโดย ศูนย์ KRAC ร่วมกับองค์กรภาคีเครือข่าย ได้แก่ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC – United Nations Office on Drugs and Crime) สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย Faculty of Law, Chulalongkorn University และ HAND Social Enterprise จํากัด
- Anti-Corruption
13 กรกฎาคม 2566