พัฒนาเครื่องมือสำหรับการประเมินสถานการณ์เกี่ยวกับการคอร์รัปชันในประเทศไทย โดยใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ (Evidence-based) เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอเบื้องต้นเกี่ยวกับตัวชี้วัดของไทย
งานวิจัยเรื่องนี้ ใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ (Evidence-based) เพิ่มเติมจากข้อมูลที่หลายหน่วยงานได้รายงานไว้แล้วในรูปแบบข้อมูลเชิงทัศนคติ หรือการรับรู้ (Perception-based) เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอเบื้องต้นเกี่ยวกับตัวชี้วัดของไทย
สรุปประเด็นจากงานวิจัย
- ผลจากการศึกษา ทำให้คณะผู้วิจัยได้เครื่องมือประเมินที่มีตัวชี้วัดทั้งหมด จำนวน 59 ตัวชี้วัด ในการนี้ คณะผู้วิจัย ได้แยกตัวชี้วัด 22 ตัวชี้วัด ที่หน่วยงานภาครัฐได้เก็บรวบรวมข้อมูลไว้แล้ว และสามารถนำมาใช้ประเมินได้ทันที ส่วนที่เหลืออีก 37 ตัวชี้วัด ยังไม่มีการเก็บรวบรวมข้อมูลมาก่อน จึงควรเลือกมาใช้เป็นตัวชี้วัดในอนาคตต่อไป โดยตัวชี้วัด 22 ตัว ที่นำมาประเมินได้ทันที แบ่งออกเป็น 10 หมวดได้แก่
- หมวดสถานการณ์คอร์รัปชันในภาพรวม
- หมวดสถานการณ์คอร์รัปชันจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ ประกอบด้วยหมวดย่อย ได้เเก่ การเก็บภาษีและการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และการบริหารงบประมาณ (เจตนาและความเสี่ยง)
- หมวดเหตุปัจจัยภายในประเทศ
- หมวดเหตุปัจจัยภายนอกประเทศ ประกอบด้วยหมวดย่อย ได้เเก่ แรงงานผิดกฎหมาย และสินค้าผิดกฎหมาย
- หมวดการใช้อิทธิพล ขบวนการ และเครือข่าย
- หมวดการมีกฎระเบียบการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ประกอบด้วยหมวดย่อย ได้เเก่ กฎระเบียบที่สามารถปฏิบัติได้ผลกับกระบวนการปัญหา กลุ่มเป้าหมายที่มีอิทธิพล และพฤติกรรมการใช้อิทธิพลของผู้ทุจริต และผลของการปฎิบัติตามกฎหมาย
- หมวดการมีองค์กรป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชันที่เข้มแข็ง และมีสมรรถนะ ประกอบด้วยหมวดย่อย ได้เเก่ ความพร้อมด้านบุคลากร ความพร้อมด้านงบประมาณ ความพร้อมด้านฐานข้อมูลและเครือข่าย ประสิทธิภาพการดำเนินงานของหน่วยงานหลัก ความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐในการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชัน และความพร้อมด้านการพัฒนา
- หมวดการสร้างและใช้เครือข่ายต่อต้านการคอร์รัปชัน
- หมวดผลสัมฤทธิ์ของการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชัน
- หมวดความเชื่อมั่นของสาธารณชน ต่อการแก้ปัญหาคอร์รัปชันของสังคม
- การประมวลผลเป็นค่าดัชนีชี้วัดคอร์รัปชันของประเทศไทย พบว่า สามารถคำนวณได้จากคะแนนของตัวชี้วัดย่อยในแต่ละด้าน ซึ่งจะนำมารวมกัน เพื่อให้เห็นภาพของแต่ละด้าน ได้แก่ คะแนนด้านเพิ่มความรุนแรงของคอร์รัปชัน 67 คะแนน และด้านคะแนนลดความรุนแรงคอร์รัปชัน 33 คะแนน จากนั้นจะนำคะแนนทั้ง 2 ด้านมารวมกัน เพื่อดูภาพรวมว่ามีคะแนนเป็นเท่าใด และนำตัวเลขที่ได้มาจากระดับคอร์รัปชัน ซึ่งจะมีค่าระหว่าง 0 ถึง 100 คะแนน ผลรวมคะแนนตัวชี้วัดคอร์รัปชันของประเทศไทยจะปรับเป็นค่าร้อยละ เพื่อให้เกิดความสะดวกในการพิจารณา และแปลผลตามการจัดอันดับคอร์รัปชันต่อไป
- ข้อเสนอแนะในการนำตัวชี้วัดไปประยุกต์ใช้ คือ สำนักงาน ป.ป.ช. ควรตั้งคณะกรรมการ หรือคณะทำงานพิจารณาดำเนินการให้มีการนำเกณฑ์มาตรฐานไปสู่การปฏิบัติร่วมกันในกลุ่มหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ สำนักงาน ป.ป.ช. สำนักงาน ป.ป.ท. สำนักงาน สตง. และสำนักงาน ปปง. รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ และเครือข่าย เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการวางแผนจัดเก็บรวบรวมข้อมูลที่จะนำมาใช้ต่อไป นอกจากนี้ ควรนำเกณฑ์มาตรฐานไปใช้เป็นเครื่องมือประกอบแผนยุทธศาสตร์การป้องกันปราบปรามและแก้ไขการคอร์รัปชัน เพื่อจัดทำเป็น KPI และเกณฑ์การประเมินผลสำหรับปฏิบัติต่อไป สำหรับกลุ่มบุคคลฝ่ายการเมืองและประชาชน ซึ่งไม่ได้มีแผนยุทธศาสตร์เหมือนฝ่ายปฏิบัติ ควรมีการนำเสนอผลต่อสาธารณะ เพื่อให้ทราบคะแนนผลการประเมินด้านคอร์รัปชันในกลุ่มที่เกี่ยวข้อง
วิชัย รูปขำดี. (2557). การจัดทำ Benchmark ด้านคอร์รัปชันสำหรับประเทศไทย. วารสารวิชาการ ป.ป.ช., 7(2), 100-119.
วิชัย รูปขำดี
หัวข้อ
โครงการศึกษาพรมแดนและช่องว่างความรู้เรื่องคอร์รัปชันและธรรมาภิบาล เพื่อสนับสนุนการจัดทำแผนบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ปี พ.ศ. 2566-2570
ศึกษาพัฒนาการของงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันและธรรมาภิบาลในประเทศไทย เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะต่อแนวทางการสนับสนุนการพัฒนางานวิจัยในประเด็นคอร์รัปชัน และธรรมาภิบาลในอนาคต
โครงการวิจัยและประสานงานเพื่อสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน
เพื่อออกแบบงานวิจัยสำหรับแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันบนฐานการมีส่วนร่วมของประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ รวมถึงพัฒนาระบบและเครื่องมือใหม่ในการป้องกันและลดคอร์รัปชันในระดับพื้นที่
โครงการวิจัยเพื่อสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน ระยะที่ 2
จัดทำข้อเสนอการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อต่อต้านการคอร์รัปชัน โดยเน้นแนวทางการวิจัยเพื่อทำความเข้าใจปัญหาคอร์รัปชันจากมุมมองของประชาชน ด้วยกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม (PAR) และกระบวนการ Design Thinking เต็มรูปแบบ
โครงการวิจัยการสังเคราะห์รูปแบบ กลไกและแนวทางการปลูกฝังเจตคติและวัฒนธรรมสุจริตเพื่อการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
ศึกษาพัฒนาการของรูปแบบ กลไก และแนวทางการปลูกฝังเจตคติ และวัฒนธรรมสุจริตที่มีผลต่อการป้องกันการทุจริตของไทย และศึกษากรณีของต่างประเทศ เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอแนะต่อไป