คอร์รัปชันใน “มนุษย์” และ “สังคม”

พฤติกรรมของผู้คนที่มีต่อการคอร์รัปชันในสังคม ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยสำคัญสองประการ คือ บรรทัดฐานส่วนตน (Personal Norms) และบรรทัดฐานทางสังคม (Social Norms) ซึ่งมีผลต่อการแสดงออกของปัจเจกบุคคล ผ่านพฤติกรรมและทัศนคติที่มีต่อการคอร์รัปชัน ดังนั้น การทำความเข้าใจถึงบรรทัดฐานในฐานะที่เป็นเบ้าหลอมพฤติกรรมของผู้คนในสังคมที่มีความหลากหลายนี้ จะนำไปสู่การพัฒนากลไกที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม และทำให้ผู้คนในสังคมตระหนักถึงปัญหาคอร์รัปชันเพิ่มขึ้น

พฤติกรรมของการคอร์รัปชันในสังคมนั้น ล้วนได้รับผลมาจากอิทธิพลของปัจจัยหลายประการ โดยสองปัจจัยที่สำคัญ คือ บรรทัดฐานส่วนตน (Personal Norms) และ บรรทัดฐานทางสังคม (Social Norms) ที่มีผลต่อการแสดงออกซึ่งพฤติกรรมของปัจเจกบุคคลในสังคม ซึ่งนักวิชาการที่ศึกษาด้านพฤติกรรมมนุษย์ ได้อธิบายความหมายของบรรทัดฐานส่วนตนไว้ว่า “เป็นความมุ่งหวังของบุคคลที่มีต่อตนเองในการตัดสินใจ และการกระทำที่ตอบสนองต่อสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง โดยบรรทัดฐานส่วนตนสะท้อนให้เห็นเบื้องหลังคุณค่าทางด้านศีลธรรม และจริยธรรม และประสบการณ์ที่ส่งผลต่อพฤติกรรม” (Schwartz, 1973) โดยบุคคลซึ่งมีบรรทัดฐานส่วนตนที่ยอมรับการคอร์รัปชัน หรือรู้สึกว่าการคอร์รัปชันเป็นสิ่งที่ไม่ร้ายแรง จะทำให้บุคคลดังกล่าว มีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมการคอร์รัปชันสูง ในขณะที่ผู้ที่มีบรรทัดฐานส่วนตนซึ่งไม่ยอมรับการคอร์รัปชัน จะมีแนวโน้มในการคอร์รัปชันอยู่ในระดับที่ต่ำ ซึ่งการใช้กลไกในการปลูกฝังและการอบรมให้เกิดบรรทัดฐานต่อต้านการคอร์รัปชัน จะสามารถส่งผลทำให้เกิดพฤติกรรมของการต่อต้านการคอร์รัปชันในระดับปัจเจกบุคคลได้ (Peeters, Denkers & Huisman, 2020)

ทั้งนี้ พฤติกรรมของบุคคลยังได้รับแรงกระตุ้นจากบรรทัดฐานทางสังคมที่เป็นบรรทัดฐานเชิงมโนธรรม (Moral Norms) ซึ่งประกอบด้วยปัจจัยสำคัญสามประการ ได้แก่ คุณค่าที่ปัจเจกยึดถือและได้รับการยอมรับร่วมกันในสังคมวงกว้าง (Personal Values) การคำนึงถึงผลกระทบจากการกระทำของตนเองต่อบุคคลอื่นและสังคม (Awareness of Consequences) และการคำนึงถึงความสามารถในการรับผิดชอบต่อผลของการกระทำของตนเองต่อบุคคลอื่น (Ascription of Responsibility) ซึ่งปัจจัยทั้งสามประการนี้ สะท้อนให้เห็นว่าบรรทัดฐานทางสังคมนั้น มีอิทธิพลต่อการหล่อหลอมบรรทัดฐานส่วนตนด้วยเช่นกัน เนื่องจากเบื้องหลังการแสดงออกของแต่ละปัจเจกบุคคล จะมีการคำนึงถึงคุณค่าและสิ่งที่สังคมและผู้คนรอบข้างคาดหวังให้เป็น จนหล่อหลอมให้เกิดเป็นบรรทัดฐานส่วนตน ซึ่งบรรทัดฐานทางสังคม คือ มาตรฐานการปฏิบัติและความคาดหวังที่สังคมยอมรับร่วมกัน และยึดถือเป็นแนวปฏิบัติที่เหมาะสม

นอกจากนี้ บรรทัดฐานทางสังคม ยังบรรจุกลไกของแรงกดดันจากบรรทัดฐานทางสังคม (Normative Pressure) ที่ส่งผลให้สมาชิกในสังคมนั้น ๆ มีความรู้สึกว่าตนจะต้องปฏิบัติตามกลไกดังกล่าว เช่น การลงโทษทางสังคม หรือการยกย่องในสังคม ซึ่งกลไกเหล่านี้ จะผลักดันให้คนในสังคมเรียนรู้ที่จะปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติและความคาดหวังของสังคม และกระตุ้นให้ปัจเจกบุคคลเกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองที่จะหลีกเลี่ยงการกระทำที่เป็นการคอร์รัปชัน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อสังคมและต่อตนเอง

จากแนวคิดที่เกี่ยวข้องกับบรรทัดฐานส่วนตน และบรรทัดฐานทางสังคมในข้างต้น สามารถสะท้อนให้เห็นว่าพฤติกรรมของการต่อต้านการคอร์รัปชันนั้น เกิดขึ้นจากกระบวนการหล่อหลอมของความคาดหวังและคุณค่าที่แต่ละสังคมยึดถือแตกต่างกัน ซึ่งจะส่งผลต่อพฤติกรรมและทัศนคติของปัจเจกบุคคลในเรื่องการคอร์รัปชันที่แตกต่างกันด้วยเช่นกัน ดังนั้น การออกแบบกลไกที่ใช้ในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันนั้นจึงไม่มีรูปแบบที่ตายตัว แต่จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึงบรรทัดฐานทางสังคมที่หล่อหลอมรูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างรัฐและสังคม และความเข้าใจของประชาชนต่อการคอร์รัปชัน รวมถึงสภาพทางเศรษฐกิจ และสังคมที่แตกต่างกันแต่ละพื้นที่ เพื่อนำไปสู่การเข้าใจถึงบรรทัดฐานส่วนตนและบรรทัดฐานของสังคมที่มีความแตกต่างหลากหลาย และสามารถสร้างกลไกที่จะส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการต่อต้านคอร์รัปชันของผู้คนในแต่ละสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เอกสารอ้างอิง
รูปแบบ APA

ต่อภัสสร์ ยมนาค และสุภัจจา อังค์สุวรรณ. (2566). (ต่อต้าน) คอร์รัปชัน 101 ((Anti) Corruption 101). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
กุมภาพันธ์ 2567
ผู้แต่ง
  • ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค

หน่วยงานสนับสนุน
05_โลโก้ KRAC
หัวข้อ
Related Content

แล้วอะไรคือคอร์รัปชัน

การศึกษานิยามของคำว่า “คอร์รัปชัน” มีต้นกำเนิดและความหมายที่ถูกอธิบายผ่านองค์ความรู้ในการมองเรื่องของการคอร์รัปชันที่แตกต่างหลายหลาย แต่จุดร่วมที่สำคัญประการหนึ่งของการให้คำนิยามการคอร์รัปชัน คือ…

หันมองสถาบันและการคอร์รัปชันที่เป็นอยู่

แนวคิดเกี่ยวกับ “สถาบัน” เป็นแนวคิดที่สามารถใช้อธิบายถึงปรากฏการณ์คอร์รัปชันที่มีความซับซ้อน
และเกี่ยวข้องกับมิติทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม …

รู้จัก CPI เพื่อเข้าใจสถานการณ์คอร์รัปชัน

ในปัจจุบัน ดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชัน หรือ Corruption Perceptions Index (CPI) นับว่าเป็นดัชนีที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดจากรัฐบาล ภาควิชาการ และนักลงทุนทั่วโลก …

You might also like...

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | ท้องถิ่นอาจช้ำ เมื่อความเหลื่อมล้ำถูกซ้ำด้วยการจัดสรรงบประมาณที่ไม่มีประสิทธิภาพ

รู้หรือไม่ ? การจัดสรรเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลางที่ไม่เป็นธรรม ไม่โปร่งใส และขาดเป้าหมายชัดเจน อาจกลายเป็นการเพิ่มปัญหาความเหลื่อมล้ำในท้องถิ่น แทนที่จะช่วยลดช่องว่างทางเศรษฐกิจ แล้วเราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร ?

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | โควิด-19 ส่งผลอย่างไรต่อสถานการณ์คอร์รัปชันและธรรมาภิบาล ?

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่สุขภาพและเศรษฐกิจ แต่ยังทำให้การต่อต้านคอร์รัปชันและธรรมาภิบาลเผชิญความท้าทายใหม่ ๆ เช่น การใช้อำนาจพิเศษของรัฐ ความไม่เท่าเทียมที่เพิ่มขึ้น และการจัดซื้อจัดจ้างแบบฉุกเฉินที่เสี่ยงต่อการทุจริต แล้วเราจะฟื้นฟูผลกระทบเหล่านี้ได้อย่างไร ?

KRAC The Experience | EP 8: Networks is in every way, Offline and Online Against Corruption

“การทำงานเป็นเครือข่ายจะช่วยเสริมสร้างการทำงานต่อต้านคอร์รัปชันอย่างไร ?” เรามีคำตอบมาให้จากแนวทางการขับเคลื่อนการต่อต้านคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในระดับโลก🌏 ร่วมไขข้อสงสัยได้ที่ KRAC The Experience ตอน Networks is in every way, Offline and Online Against Corruption