สรุปการเสวนาหัวข้อ การประเมินและแก้ไขปัจจัยเสี่ยงการคอร์รัปชันในกระบวนการนิติบัญญัติ (Assessing and Addressing Corruption Risk Factors in Legislation) ภายใต้การประชุมเชิงวิชาการด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 1 (International Conference on Anti-Corruption Innovations in Southeast Asia)
ผู้ดำเนินรายการ : Matthew C. Stephenson Professor of Law at Harvard Law School, Visiting scholar at the Faculty of Law, Chulalongkorn University จากประเทศสหรัฐอเมริกา
ผู้ร่วมเสวนา:
- คุณ Jungoh Son ผู้อำนวยการ Public Funds Recovery Division, Anti-Corruption and Civil right Commission (ACRC) of the Republic of Korea จากสาธารณรัฐเกาหลี
- รศ. ดร.สิริลักษณา คอมันตร์ รองประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล (PPGG) จากประเทศไทย
- คุณ Lidya Suryani Widayati Head of the Legislative Drafting Centre in Indonesia’s Parliamentary Secretariat จากประเทศอินโดนีเซีย
สรุปประเด็นการนำเสนอของ คุณ Jungoh Son ผู้อำนวยการ Public Funds Recovery Division, Anti-Corruption and Civil right Commission (ACRC) of the Republic of Korea จากสาธารณรัฐเกาหลี
คุณ Jungoh Son ได้เล่าถึงโครงสร้างการทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันในสาธารณรัฐเกาหลี พร้อมแลกเปลี่ยนกลไกการป้องกันคอร์รัปชันที่อาจมาจากช่องว่างของกฎหมาย หรือที่เรียกว่า กระบวนการ Corruption Proofing
โดยโครงสร้างการทำงานด้านต่อต้านการคอร์รัปชันในสาธารณรัฐเกาหลี มีด้วยกัน 8 ด้าน ดังนี้
- กิจกรรมต่อต้านการคอร์รัปชันที่ชัดเจน (Explicit anti-corruption activity) เช่น การมีจรรยาบรรณในการทำงาน การแจกแจงบัญชีทรัพย์สิน การปกป้องผู้แจ้งเบาะแส และการแจ้งเหตุร้องเรียน
- งานด้านการต่อต้านการคอร์รัปชัน ได้แก่ การประเมินความเสี่ยง และการทบทวนกฎหมายที่มีความเกี่ยวข้อง
- การอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการคอร์รัปชัน
- การทำสื่อประชาสัมพันธ์สู่สาธารณะ
- การเป็นรัฐบาลดิจิทัล
- การมีธรรมาภิบาลต่อต้านคอร์รัปชัน
- การมีกลไกประสานงานระหว่างหน่วยงานภาครัฐด้านการต่อต้านการคอร์รัปชัน
- การมีกลไกการสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน
นอกจากนี้ ยังมีการตรวจสอบ และการประเมินผลการบริหารงานของภาครัฐแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้เเก่ การประเมินความโปร่งใสและความสุจริต และการเตรียมความพร้อมเพื่อติดตามการคอร์รัปชัน
สำหรับ กระบวนการ Corruption Proofing ถือเป็นกลไกสำคัญในการต่อต้านการคอร์รัปชันในสาธารณรัฐเกาหลี เนื่องจากเป็นกระบวนการตรวจสอบกฎหมายเพื่อไม่ให้มีช่องว่างที่เอื้อให้เกิดการคอร์รัปชัน ทั้งในระดับกระทรวงและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งกระบวนการ Corruption Proofing เป็นกระบวนการที่ใช้งบประมาณในการดำเนินการต่ำ เเต่มีประสิทธิภาพในการเสริมสร้างความตระหนักรู้ด้านการต่อต้านคอร์รัปชันเป็นอย่างมาก เเละยังช่วยสร้างหลักประกันตามหลักนิติธรรม ช่วยควบคุมดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ และเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในการติดตามการทำงานของภาครัฐได้อีกด้วย
โดยปัจจุบันองค์กร Anti-Corruption and Civil right Commission (ACRC) ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบการทำกระบวนการ Corruption Proofing มีผู้เชี่ยวชาญทำหน้าที่ทั้งหมด 13 ท่าน ซึ่งกระบวนการ Corruption Proofing ทำได้ทั้งในช่วงของขั้นตอนการร่างกฎหมายใหม่ และขั้นตอนในการตรวจสอบกฎหมายที่มีอยู่แล้ว เช่น กระทรวงพาณิชย์ ทำหน้าที่รับผิดชอบการร่างกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้าง โดยก่อนที่จะดำเนินการขั้นต่อไป กระทรวงพาณิชย์ต้องส่งร่างกฎหมายดังกล่าวมาให้คณะกรรมการต่อต้านการคอร์รัปชันและสิทธิพลเมืองแห่งเกาหลีใต้ (ACRC) ตรวจสอบความเสี่ยงที่อาจเป็นช่องว่างในการคอร์รัปชันจากการออกกฎหมายดังกล่าวก่อน ถ้าหากตรวจพบว่ามีประเด็นที่น่ากังวล ทางคณะกรรมการ ACRC จะทำรายงานข้อเสนอแนะ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาประเมินร่างกฎหมายอีกครั้ง ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สรุปประเด็นการนำเสนอของ คุณ Lidya Suryani Widayati, Head of the Legislative Drafting Centre in Indonesia’s Parliamentary Secretariat จากประเทศอินโดนีเซีย
คุณ Lidya Suryani Widayati จากประเทศอินโดนีเซีย เล่าถึงกระบวนการวิเคราะห์ความเสี่ยงทางกฎหมายอย่างครอบคลุม เพื่อนำไปสู่การลดช่องว่างของการคอร์รัปชัน และแนวทางที่จะช่วยให้การออกกฎหมายมีความรัดกุมมากขึ้น
เริ่มจากขั้นตอนการวิเคราะห์ความเสี่ยงทางกฎหมาย ซึ่งเป็นจุดตั้งต้นที่สำคัญในการป้องกันและลดปัญหาการคอร์รัปชัน โดยในประเทศอินโดนีเซีย มีระบบใหม่ในการร่างกฎหมายที่รัดกุมมากยิ่งขึ้น โดยเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐสภาและรัฐบาล และมีหน่วยงานย่อยที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนทางด้านข้อมูล และเอกสารที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ศูนย์ด้านการศึกษางบประมาณ ศูนย์ศึกษาความรับผิดชอบทางการเงินและการคลัง ศูนย์การตรวจตราการบังคับใช้กฎหมาย ศูนย์การวางแผนทางตุลาการ ศูนย์การวิเคราะห์ของสภา ศูนย์การร่างกฎหมาย เป็นต้น เนื่องจากการร่างกฎหมายเป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก จึงจำเป็นต้องมีทีมศึกษาวิจัยและทำเอกสารทางวิชาการให้เรียบร้อยก่อน จึงจะนำเสนอขึ้นสู่กระบวนการนิติบัญญัติและรัฐสภาต่อไป
ในส่วนของการตีความกฎหมาย ก็มีความสำคัญไม่เเพ้กัน เพราะหากตีความกฎหมายไม่ถูกต้อง จะนำไปสู่การตีความเพื่อเอื้อต่อการคอร์รัปชันได้ เนื่องจาก การออกกฎหมายส่งผลกระทบต่อการบริหารงาน การเมือง และการศึกษา ดังนั้น การร่างกฎหมาย จึงต้องคำนึงถึงความต้องการของสาธารณะ และความครอบคลุมของผู้ที่ได้รับประโยชน์ เพื่อไม่ให้เกิดการนำไปสู่การบิดเบือนกฎหมาย หรือกฎระเบียบได้
ข้อเสนอแนะต่อการลดความเสี่ยงการคอร์รัปชันในการออกกฎหมาย ต้องคำนึงถึงหลักการสำคัญ 4 ข้อ ได้เเก่
- ประเมินความเสี่ยงในการเกิดคอร์รัปชันในการออกกฎหมายฉบับดังกล่าว
- การวิเคราะห์ค่าใช้จ่าย และสิทธิประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากกฎหมายฉบับดังกล่าว
- การประเมินถึงผลกระทบของกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง
- การประเมินผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากกฎหมายฉบับดังกล่าว
ปัจจุบัน รัฐสภาของอินโดนีเซียได้จัดทำแนวปฏิบัติในการร่างกฎหมาย ซึ่งประกอบด้วยมิติและตัวชี้วัด จำนวน 27 ด้าน เช่น มิติของระยะเวลา โดยในการร่างกฎหมายจะต้องมีการระบุระยะเวลาในการร่างและประกาศบังคับใช้กฎหมายอย่างชัดเจน หรือหากกฎหมายมีการกล่าวถึงการกระทำผิดทางอาญาก็ต้องระบุถึงรูปแบบของพฤติกรรมการกระทำผิด และระบุการลงโทษไว้อย่างชัดเจน เพื่อใช้ควบคุมหรือจำกัดการกระทำที่ผิดกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ทันท่วงที
สรุปประเด็นการนำเสนอของ รศ. ดร.สิริลักษณา คอมันตร์ รองประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล (PPGG) จากประเทศไทย
รศ. ดร.สิริลักษณา คอมันตร์ นำเสนอกรณีศึกษาการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นกับสหกรณ์คลองจั่น โดยชี้ให้เห็นถึงปัญหาการคอร์รัปชันที่มาจากช่องว่างทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ ซึ่งเเนวทางการเเก้ไขที่สำคัญ คือ การลดช่องว่างของกฎหมาย เพื่อป้องกันการคอร์รัปชันในสหกรณ์ออมทรัพย์
ปัญหาการคอร์รัปชันจากกรณีศึกษาสหกรณ์คลองจั่น สะท้อนให้เห็นบทบาทและแนวทางการมีส่วนร่วมขององค์กรภาคประชาสังคมในการตรวจสอบและติดตามกระบวนการทางกฎหมาย หลังจากที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องได้ถูกบังคับใช้แล้ว เนื่องจากรูปแบบของสหกรณ์เกิดจากการรวมตัวกันของสมาชิกที่ทำงานในองค์กรเดียวกันและก่อตั้งเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ขึ้น ถ้าสมาชิกที่ทำการกู้ยืมเงินแต่ไม่ยอมจ่ายเงินก็จะสามารถหักเงินจากรายได้ของสมาชิกได้ ซึ่งดูผิวเผินเหมือนจะทำให้สหกรณ์นั้นดูมีความมั่นคง แต่ในความจริงแล้วกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะกลายเป็นช่องทางในการคอร์รัปชันได้ด้วย ซึ่งสาเหตุของการคอร์รัปชัน ส่วนหนึ่งมาจากการขาดระเบียบที่เหมาะสม และการขาดการกำกับดูแลที่ดี เช่น กฎหมายควบคุมดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีความคลุมเครือ มีข้อกำหนดไม่ชัดเจน และขาดการกำหนดกลไกความรับผิดชอบของผู้บริหาร
จากกรณีศึกษาของสหกรณ์คลองจั่นที่ประธานบริหารนำเงิน ประมาณ 12,000 ล้านบาทไปใช้ในโครงการส่วนตัวของตนเอง ซึ่งถูกพิพากษาจำคุก 12 ปี เหตุการณ์ดังกล่าว นำไปสู่ความกังวลของสาธารณะเกี่ยวกับความโปร่งใสในระบบการเงินของไทย โดยจากกรณีศึกษานี้ สามารถแตกประเด็นปัญหาออกเป็น 3 เรื่อง ได้เเก่
- ปัญหาด้านการขาดทักษะของผู้บริหารในการจัดการ เนื่องจากสหกรณ์ออมทรัพย์ ยังคงมีช่องโหว่ทางด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคัดเลือกผู้บริหารของสหกรณ์ ที่ไม่ได้มีการระบุคุณสมบัติของผู้บริหาร ทำให้บางครั้งผู้ที่เข้ามาบริหารก็ไม่ได้สนใจเรื่องการบริหารที่ยึดผลประโยชน์สูงสุดของสหกรณ์และสมาชิก
- ปัญหาการใช้เงินทุนผิดวัตถุประสงค์ สืบเนื่องจากช่องโหว่ของการคัดเลือกผู้บริหารของสหกรณ์ ทำให้บางครั้งการเลือกผู้บริหาร จึงเป็นการเลือกพรรคพวกของตนเองเข้าไปในนั่งในตำแหน่งผู้บริหาร เพื่อนำเงินทุนของสหกรณ์ดังกล่าว มาใช้ประโยชน์ส่วนตัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการบัญญัติเป็นข้อกฎหมาย
- ปัญหาเรื่องการกำกับดูแลที่ยังไม่ดีพอ แม้สหกรณ์ออมทรัพย์ของประเทศไทยเป็นสถาบันทางการเงินโดยรัฐ แต่กลับขึ้นอยู่กับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แทนที่จะอยู่ภายใต้การกำกับของกระทรวงการคลัง หรือธนาคารแห่งประเทศไทย ทำให้ขาดผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงินคอยกำกับดูแล เเละควรมีการพิจารณาสนับสนุนการกำกับดูแลจากหน่วยงานที่เชี่ยวชาญเพิ่มเติมด้วย
สำหรับบทบาทของมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล ได้พยายามกำจัดช่องโหว่ทางกฎหมายและการบริหารจัดการในกรณีศึกษาของสหกรณ์ออมทรัพย์ โดยเสนอให้ผู้ที่มีความเชี่ยวชาญทางการเงิน เข้ามาช่วยกำกับดูแลการบริหารสหกรณ์ ซึ่งในส่วนของมูลนิธิฯ เอง ได้เข้ามาดำเนินการช่วยเหลือให้คำแนะนำเพื่อแก้ไขกฎหมาย และทำหน้าที่เป็นคนกลางระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญด้านการเงินมาพูดคุยกับทางธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อหาวิธีการจัดการร่วมกัน
สำหรับผลลัพธ์ของการดำเนินงานของมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล รศ. ดร.สิริลักษณา ได้สรุปผลลัพธ์การดำเนินงานออกเป็น 2 ส่วน ได้เเก่
- การแก้ไขปัญหาระยะสั้น : เกิดความร่วมมือในการแก้ไขกฎหมาย โดยที่สถาบันทางการเงินมีส่วนร่วมกับการร่างและแก้ไขกฎหมาย การเปลี่ยนกรอบการทำงาน และคุณสมบัติของผู้ที่เป็นคณะกรรมบริหาร เพื่อส่งเสริมการกำกับดูแลที่ดี
- การแก้ไขปัญหาระยะยาว : เสนอให้รัฐบาลเข้าร่วมกับเครือข่าย International Credit Union Regulators’ Network (ICURN) โดยมีตัวอย่างของกฎระเบียบที่น่านำมาปรับใช้ เช่น การกำหนดกฎระเบียบที่ระบุว่าคณะกรรมการบริหารต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนในแง่ของการกู้ยืมจากสหกรณ์เหนือกว่าสมาชิกคนอื่น ๆ ซึ่งเป็นกฎพื้นฐานของสถาบันการเงินทั่วไป รวมถึงคณะกรรมการบริหารทุกคนต้องเข้าร่วมอบรมเกี่ยวกับการเงินและการลงทุน ถึงจะสามารถดำรงตำแหน่งบริหารได้
- ทำอย่างไรจะช่วยลดการคอร์รัปชันจากช่องว่างของกฎหมาย ?
ชวนอ่านสรุป “การประชุมเชิงวิชาการด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” หัวข้อ “การประเมินและแก้ไขปัจจัยเสี่ยงการคอร์รัปชันในกระบวนการนิติบัญญัติ”
- ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค
หัวข้อ
KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | ประเทศมหาอำนาจ มีแนวทางแก้ปัญหาคอร์รัปชันท้องถิ่นอย่างไร ?
ชวนศึกษารูปแบบองค์ปกครองท้องถิ่นสหรัฐฯ หนึ่งในประเทศมหาอำนาจของโลกที่มีทั้งการเมืองที่มั่นคง เศรษฐกิจที่เข้มแข็ง รวมทั้งมีอิทธิพลต่อโลกในหลายด้าน เช่น วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี นอกจากนี้ยังสามารถจัดการคอร์รัปชันได้ดีเป็นอันดับที่ 24 ของโลกจากการจัดอันดับดัชนีการรับรู้การทุจริตขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ
KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | 4 ชาติ 4 แนวทาง หยุดทุจริตเชิงนโยบาย
เคยได้ยินชื่อของ “คดีทุจริตคลองด่าน” กันไหม ? นี่คือหนึ่งในคดีทุจริตครั้งใหญ่ของประเทศไทยที่สร้างความเสียหายเป็นเงินกว่า 1,900 ล้านบาท ซึ่งการทุจริตที่ทำกันอย่างเป็นระบบจากคนหลายฝ่าย แบบนี้เราเรียกว่าการทุจริตเชิงนโยบาย
KRAC Insight สรุปงานเสวนา | ทำอย่างไรจะช่วยลดการคอร์รัปชันจากช่องว่างของกฎหมาย?
ชวนอ่านสรุป “การประชุมเชิงวิชาการด้านการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” หัวข้อ “การประเมินและแก้ไขปัจจัยเสี่ยงการคอร์รัปชันในกระบวนการนิติบัญญัติ”