กลไกการตรวจสอบทรัพย์สิน สำคัญอย่างไร
ในปัจจุบัน ความโปร่งใสในการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นของประชาชน และการเปิดเผยข้อมูลทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่รัฐนับเป็นหนึ่งในมาตรการที่หลายประเทศนำมาใช้เพื่อลดโอกาสการทุจริตและการใช้อำนาจโดยมิชอบ
เป็นที่มาของงานวิจัย “การพัฒนารูปแบบและวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล ของระบบตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน” (2560) โดย พัชรวรรณ นุชประยูร และคณะ ที่ได้ศึกษาระบบการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินเพื่อศึกษาทบทวนกระบวนการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน โดยวิเคราะห์ เปรียบเทียบแนวคิด หลักการ รูปแบบและวิธีการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง โดยใช้หลักฐานจากเอกสาร การสัมภาษณ์เชิงลึก และการประชุมระดมความคิด
KRAC จึงได้นำข้อมูลส่วนหนึ่งของการศึกษาจากงานวิจัยนี้ ซึ่งเป็นวิธีการเปิดเผยข้อมูลทรัพย์สินของสหรัฐอเมริกา จอร์เจีย และฮ่องกง โดยชี้ให้เห็นจุดเด่นของแต่ละระบบ พร้อมเสนอแนะแนวทางการปรับใช้ในบริบทของประเทศไทย ดังนี้
“สหรัฐอเมริกา” การเปิดเผยข้อมูลที่ครอบคลุมและเข้าถึงง่าย
ในสหรัฐอเมริกา กฎหมายกำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐที่มีตำแหน่งสำคัญและนักการเมืองต้องเปิดเผยข้อมูลทรัพย์สินประจำปี ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้สาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและตรวจสอบได้อย่างครอบคลุม กฎหมายหลักที่ใช้คือ Ethics in Government Act of 1978 ที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงต้องรายงานทรัพย์สินต่อ Office of Government Ethics (OGE) ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบและเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะ
นอกจากนี้ ยังมีการใช้ Federal Financial Disclosure ซึ่งเป็นแบบฟอร์มที่ต้องยื่นข้อมูลทรัพย์สินให้ครบถ้วนและถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งมีกระบวนการที่ชัดเจนและมีกฎเกณฑ์เป็นระบบ เช่น กำหนดให้ข้อมูลต้องประกอบด้วยทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่รัฐและครอบครัว พร้อมระบุถึงแหล่งที่มาของรายได้
การทำงานภายใต้ OGE ทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลผ่านทางเว็บไซต์อย่างง่ายดายและมีการอัปเดตข้อมูลทุกปี จุดเด่นของกระบวนการนี้คือความเข้มงวดและความเป็นปัจจุบันของข้อมูล รวมถึงการใช้กระบวนการตรวจสอบหลายขั้นตอนเพื่อลดโอกาสในการให้ข้อมูลเท็จ
“จอร์เจีย” การใช้ระบบออนไลน์ที่ทันสมัยเพื่อความโปร่งใสและรวดเร็ว
ประเทศจอร์เจียมีระบบที่พัฒนาขึ้นโดยเฉพาะเพื่อการเปิดเผยข้อมูลทรัพย์สินผ่าน Online Asset Declaration System (OADS) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองได้ตลอดเวลา
ภายใต้กฎหมายของจอร์เจีย กำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องเปิดเผยข้อมูลทรัพย์สินต่อ Civil Service Bureau (CSB) โดย CSB เป็นหน่วยงานที่จัดการการยื่นข้อมูลของเจ้าหน้าที่และเปิดเผยให้ประชาชนตรวจสอบได้ ซึ่งระบบ OADS นี้ได้ช่วยเพิ่มความสะดวกในการยื่นและตรวจสอบข้อมูล โดยมีขั้นตอนการส่งข้อมูลที่ทำได้ง่ายและรวดเร็ว เจ้าหน้าที่รัฐเพียงกรอกข้อมูลทางออนไลน์เพื่อส่งเข้าสู่ระบบ CSB ทำให้ไม่มีความล่าช้าในกระบวนการ
อีกทั้งประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทันที จุดเด่นของกระบวนการนี้คือการใช้เทคโนโลยีทำให้การเปิดเผยข้อมูลเป็นไปอย่างรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่าย นอกจากนี้การเข้าถึงผ่านระบบออนไลน์ยังช่วยให้การตรวจสอบข้อมูลเป็นไปอย่างโปร่งใส
“ฮ่องกง” การปกป้องข้อมูลและรักษาความมั่นคงของชาติ
ฮ่องกงมีระบบการเปิดเผยข้อมูลที่ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวในบางกรณี โดยมีกฎหมายที่กำหนดให้ข้อมูลบางประเภทของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีความเกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาติจะไม่ถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ ระบบนี้อยู่ภายใต้การจัดการของ Independent Commission Against Corruption (ICAC) ซึ่งทำหน้าที่ตรวจสอบและควบคุมข้อมูลตามนโยบายของรัฐบาลฮ่องกง
กระบวนการของฮ่องกงให้สิทธิประชาชนในการขอดูข้อมูลทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ แต่จะต้องเป็นไปตามขั้นตอนที่ได้รับการอนุมัติ การเปิดเผยข้อมูลในลักษณะนี้มีการควบคุมเพื่อไม่ให้กระทบต่อความมั่นคงของประเทศ
จุดเด่นของระบบนี้ คือ การรักษาสมดุลระหว่างความโปร่งใสและการปกป้องข้อมูลสำคัญในด้านความมั่นคง กระบวนการนี้เหมาะสมกับบริบทที่ข้อมูลอาจส่งผลต่อความปลอดภัยระดับประเทศ ทำให้การเปิดเผยข้อมูลมีการคุ้มครองเฉพาะบางกรณี
บทสรุปจาก บทเรียนจาก 3 ชาติ
ระบบของสหรัฐฯ จอร์เจีย และฮ่องกง มีข้อดีและข้อเสียที่แตกต่างกัน
- ระบบของสหรัฐฯ เน้นการเปิดเผยข้อมูลอย่างครอบคลุม ช่วยให้ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ทันทีและต่อเนื่อง แต่ในบางกรณีก็อาจเสี่ยงต่อความปลอดภัยของข้อมูล
- ขณะที่จอร์เจียเน้นการใช้เทคโนโลยีช่วยให้การเปิดเผยข้อมูลเป็นไปอย่างรวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่าย
- ส่วนฮ่องกงเน้นการปกป้องความมั่นคงของชาติและความเป็นส่วนตัว ซึ่งเป็นแนวทางที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศ
“ประเทศไทย” เดินหน้าอย่างไรดี
สำหรับประเทศไทยสามารถนำจุดเด่นของแต่ละประเทศมาปรับใช้เพื่อพัฒนาระบบการเปิดเผยข้อมูลทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยอาจพิจารณาใช้เทคโนโลยีในการเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างสะดวก เช่น การพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ที่สามารถตรวจสอบข้อมูลทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่รัฐได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ การกำหนดเงื่อนไขในการเปิดเผยข้อมูลบางตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงตามแบบของฮ่องกงก็อาจเป็นแนวทางที่น่าสนใจ การพัฒนาระบบการเปิดเผยข้อมูลให้สอดคล้องกับบริบทของประเทศไทยจะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนและสนับสนุนการป้องกันการทุจริตในระยะยาว
การศึกษางานวิจัยเรื่อง “การพัฒนารูปแบบและวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผล ของระบบตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน” (2560) โดย พัชรวรรณ นุชประยูร และคณะ ทำให้เราได้รู้ว่า การเปิดเผยข้อมูลทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ และเป็นส่วนหนึ่งในการเสริมสร้างความโปร่งใสของประเทศ
ชวนทดลองใช้เครื่องมือ ACT Ai Politics Data พัฒนาโดยคนไทย
การศึกษาระบบของสหรัฐฯ จอร์เจีย และฮ่องกง ทำให้เห็นถึงแนวทางที่หลากหลาย ซึ่งประเทศไทยสามารถนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและบริบทของประเทศ ระบบที่มีความโปร่งใสและเข้าถึงได้ง่ายจะช่วยให้การตรวจสอบของประชาชนมีประสิทธิภาพและเสริมสร้างความน่าเชื่อถือของภาครัฐได้
ตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์ม ACT Ai Politics Data (คลิกที่ลิงก์เพื่อทดลองใช้งาน) จาก องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) HAND Social Enterprise PUNCH UP และ Boonme Lab ที่ช่วยให้ประชาชนสามารถตรวจสอบฐานข้อมูลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับสูงที่แสดงผลในรูปแบบประวัติบุคคล (Profiling) จากการเชื่อมโยงข้อมูลเปิดภาครัฐเพื่อตรวจสอบหาความเสี่ยงการทุจริตที่อาจเกิดขึ้น
หากประเทศไทยมีแพลตฟอร์มลักษณะนี้มากขึ้น ทั้งจากภาครัฐและประชาชน ก็จะเพิ่มโอกาสการตรวจสอบที่นำไปสู่การลดปัญหาคอร์รัปชันได้อย่างยั่งยืน
คอลัมน์ “KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย” เป็นบทความเล่างานวิจัยไทยด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน ที่หยิบยกหนึ่งในประเด็นของงานวิจัยในมุมมองของผู้ปฏิบัติการ เพื่อปูพื้นฐานความรู้และความเข้าใจเรื่องการคอร์รัปชัน และการต่อต้านคอร์รัปชันในมิติต่าง ๆ ภายใต้บริบทของประเทศไทย
พัชรวรรณ นุชประยูร, อมรรัตน์ กุลสุจริต, กวินา กิจกําแหง, บรรเจิด สิงคะเนติ, กันธร สมุทวณิช และอรศิริ รังรักษศิริวร. (2560). การพัฒนารูปแบบและวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของระบบตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ.
- ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค
หัวข้อ
KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | ส่องการตรวจสอบทรัพย์สินเจ้าหน้าที่รัฐ : บทเรียนจาก 3 ชาติ
ความโปร่งใสในการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความเชื่อมั่นของประชาชน KRAC จึงอยากชวนมาดูกลไกการตรวจสอบทรัพย์สินของสหรัฐฯ จอร์เจีย และฮ่องกง พร้อมข้อเสนอแนะแนวทางการปรับใช้ในบริบทของประเทศไทย
KRAC Insight | Data Standard: การสร้างมาตรฐานข้อมูล ที่ต่อยอดสู่การต่อต้านคอร์รัปชัน
KRAC ชวนฟังทีม Open Data ในเครือข่าย SEA-AC เล่าถึงการจัดการข้อมูลให้เป็นมาตรฐาน (Data Standard) เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและสามารถต่อยอดไปสู่การเชื่อมโยงข้อมูลของบุคคลที่มีสถานภาพทางการเมือง (PEPs)
KRAC Around เล่าข่าวคอร์รัปชันจากทั่วโลก I เปิดให้โปร่งใส ต้านโกงแบบใหม่ในจอร์เจีย
เนื่องจากการดำเนินการตรวจสอบทรัพย์สินทางการเมืองต้องมีความโปร่งใส และเป็นสิ่งที่รัฐบาลจอร์เจียให้ความสำคัญ จึงได้ออกกฎหมายที่มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ดยมีคำสั่งให้พรรคการเมืองที่ดำเนินกิจการในประเทศ …