แสวงหาความรู้เกี่ยวกับโครงสร้าง ภูมิหลัง เเละพัฒนาการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และศึกษากระบวนการในการจัดซื้อจัดจ้าง สาเหตุของการทุจริต รวมทั้งเสนอมาตรการป้องกันที่เหมาะสม
งานวิจัยเรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาความรู้เกี่ยวกับโครงสร้าง ภูมิหลัง เเละพัฒนาการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตลอดจนกระบวนการและขั้นตอนในการจัดซื้อจัดจ้าง สภาพปัญหา สาเหตุของการทุจริตที่เกิดขึ้นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเเละนำเสนอมาตรการป้องกันที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาการทุจริตที่เกิดขึ้นในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศไทย
โดยมีวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล 2 วิธี ได้เเก่ การเก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสาร ผลงานวิจัย หนังสือ ตำรา บทความ รวมทั้งฐานข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตลอดจนหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องสำหรับการศึกษากรณีของต่างประเทศได้รวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ เช่น ผลงานวิจัย บทความของนักวิชาการไทยและต่างชาติที่ได้ศึกษาไว้ และการเก็บรวบรวมข้อมูลภาคสนาม โดยใช้วิธีการสัมภาษณ์ และการจัดเวทีประชุมระดมความคิดเห็นเป็นแหล่งที่มาของข้อมูล
โดยพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายในการศึกษาเชิงลึกนี้ ได้มาจากข้อมูลเอกสารของสำนักปราบปรามการทุจริตภาคการเมือง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เกี่ยวกับคดีที่มีการชี้มูลความผิดใน 4 ประเภทของการทุจริตตั้งแต่ปี พ.ศ.2547-2552 ซึ่งมีทั้งสิ้น 67 คดี หลังจากนั้น จึงนำมาทำการพิจารณาหลักเกณฑ์ และคัดเลือกพื้นที่ที่จะใช้ด้วยการเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งสิ้น 20 พื้นที่
สรุปประเด็นจากงานวิจัย
ผลการศึกษา พบว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทย ต้องดำเนินการด้านการจัดซื้อจัดจ้าง การจัดทำโครงสร้างพื้นฐาน การบริหารงานบุคคล และการออกใบอนุญาต ภายใต้กฎหมายระเบียบข้อบังคับหลายฉบับ ซึ่งมีลำดับชั้นที่แตกต่างกันไป โดยมีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่วางหลักการโดยภาพรวม จากนั้นจึงมีการบัญญัติกำหนดรายละเอียดไว้ในพระราชบัญญัติและกฎหมายลำดับรองต่าง ๆ ที่ออกโดยกระทรวงมหาดไทย หรือองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในด้านต่าง ๆ ดังกล่าว ต้องอยู่ภายใต้ระบบการตรวจสอบ ซึ่งมีอยู่หลายช่องทาง ได้แก่ การตรวจสอบโดยกลไกทางการเมือง การตรวจสอบโดยองค์กรผู้มีอำนาจกำกับดูแล การตรวจสอบโดยองค์กรที่มีบทบาทในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต การตรวจสอบโดยองค์กรภาคตุลาการ และการตรวจสอบจากภาคประชาชน
ผลการศึกษาสภาพข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศไทย พบว่าองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นหน่วยงานที่ถูกร้องเรียน และถูกชี้มูลความผิดมากที่สุด ในขณะเดียวกัน การจัดซื้อจัดจ้างและการจัดทำโครงสร้างพื้นฐาน เป็นกิจกรรมที่พบว่ามีการกระทำการทุจริตมากที่สุด อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าเมื่อพิจารณาในเชิงพื้นที่ จะพบว่าในบางพื้นที่ เช่น 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพื้นที่ที่ไม่พบการชี้มูลความผิดในกรณีการทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเลย
ผลการศึกษาสาเหตุของการทุจริต สามารถจำแนกได้เป็น 2 ส่วน คือ สาเหตุในภาพรวม ได้แก่ ระบบอุปถัมภ์ในสังคมไทย โครงสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปัจจัยทางด้านสังคมและเศรษฐกิจ ความด้อยประสิทธิภาพในการตรวจสอบการทุจริตของหน่วยงานตรวจสอบ การถือปฏิบัติโดยยึดตามบรรทัดฐานจากส่วนกลาง และคุณภาพของบุคลากร และส่วนที่สอง คือ สาเหตุเฉพาะประเภทการทุจริต ประกอบด้วย (1) การทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างและการจัดทำโครงสร้างพื้นฐาน มีสาเหตุมาจากกฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่ใช้ในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง (2) การทุจริตในเรื่องการบริหารงานบุคคล มีสาเหตุมาจากกฎเกณฑ์ที่ใช้ในการบริหารงานบุคคล ให้อำนาจในการบริหารงานบุคคลแก่ผู้บริหารขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากจนเกินไป นำมาซึ่งการทุจริตโดยการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตามมา (3) การทุจริตในเรื่องการออกใบอนุญาต มีสาเหตุมาจากกฎหมายที่มีหลายฉบับ ซึ่งเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจในการออกใบอนุญาตส่วนหนึ่งไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และมีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ระหว่างเจ้าหน้าที่ และผู้ขออนุญาต รวมทั้ง ในระบบการบริหารราชการภายในขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งที่ไม่มีประสิทธิภาพ
ผลการศึกษามาตรการในการแก้ไขปัญหาการทุจริตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พบว่ามีพื้นฐานภายใต้หลักการเดียวกัน ได้แก่ หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วมของประชาชน หลักความรับผิดชอบ และหลักการห้ามบุคคลากรเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับหน้าที่ของตน โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรนำเอาหลักการดังกล่าว มาเสริมสร้างกระบวนการในการดำเนินการของท้องถิ่น เพื่อเป็นการป้องกัน หรือลดโอกาสในการทุจริตของเจ้าหน้าที่
สมคิด เลิศไพฑูรย์, ศิรินทร์รัตน์ กาญจนกุญชร, วิไลลักษณ์ อยู่สำราญ, นิรมัย พิศแข และอัจจิมา ฉัตรแก้ว. (2555). การป้องกันและปราบปรามการทุจริตในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น. สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
สมคิด เลิศไพฑูรย์
ศิรินทร์รัตน์ กาญจนกุญชร
วิไลลักษณ์ อยู่สำราญ
นิรมัย พิศแข
อัจจิมา ฉัตรแก้ว
หัวข้อ
โครงการสำรวจการรับรู้และความเข้าใจด้านการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (Conflict of Interest) ของเจ้าหน้าที่รัฐในองค์การบริหารส่วนจังหวัดของประเทศไทย
ศึกษาและสํารวจข้อมูลระดับการรับรู้ของเจ้าหนาที่รัฐในองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่มีต่อความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับความขัดแย้งแห่งผลประโยชน์ (Conflict of Interest) เพื่อลดพฤติกรรมความขัดแย้งแห่งผลประโยชน์ในอนาคต
โครงการประสานงานวิจัยและส่งเสริมศักยภาพเครือข่ายเพื่อสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน
การออกแบบกระบวนการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันอย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล จำเป็นจะต้องเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้งจากมุมมองที่หลากหลาย และบริบทรอบด้านที่เป็นทั้งปัจจัยสนับสนุนและอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหานี้
แนวทางการเสริมสร้างธรรมาภิบาลท้องถิ่นและการเฝ้าระวังติดตามการคอร์รัปชันโดยชุมชนมีส่วนร่วม กรณีศึกษา : พื้นที่อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน
เพื่อศึกษาบริบทของชุมชน ทุนทางสังคม และสถานการณ์ธรรมาภิบาลและการคอร์รัปชันในระดับพื้นที่ รวมถึงระบบและกลไกทางสังคมต่อการจัดการ และป้องกันปัญหาโดยชุมชนมีส่วนร่วม
แนวทางการพัฒนาระบบตรวจสอบภายในกับธรรมาภิบาลในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรณีศึกษาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ 8 จังหวัด ภาคเหนือ เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา แพร่ น่าน ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน
วิเคราะห์หาแนวทางการพัฒนาระบบการตรวจสอบภายในของผู้ตรวจสอบภายใน ให้สามารถสนับสนุนการบริหารราชการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีกรณีศึกษาในพื้นที่ภาคเหนือ 8 จังหวัด