
“ดุลพินิจ” หมายถึงอะไร ? ขอบเขตอยู่ตรงไหน ?
“ดุลพินิจ” หมายถึง อำนาจในการตัดสินใจของเจ้าหน้าที่รัฐภายใต้กรอบของกฎหมาย เพื่อให้เกิดความเหมาะสมกับสถานการณ์ อย่างไรก็ตาม การใช้ดุลพินิจต้องมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน เพราะถ้าไม่มีสิ่งเหล่านี้ การใช้ดุลพินิจก็อาจนำไปสู่การทุจริตได้
จากงานวิจัยเรื่อง “การแสวงหาผลประโยชน์จากการอนุญาตโดยใช้อำนาจรัฐ” (2560) ที่จัดทำโดย คณพล จันทน์หอม และคณะ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาดุลพินิจ การตรวจสอบดุลพินิจของฝ่ายปกครองของไทย และศึกษากฎหมายต่างประเทศเกี่ยวกับมาตรการในการป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์ในการอนุญาตของเจ้าหน้าที่รัฐ
พบว่า ปัญหาการใช้ดุลพินิจอย่างไม่เหมาะสมที่อาจนำไปสู่การทุจริตในประเทศไทยยังคงมีให้เห็นอยู่ในหลายรูปแบบที่หลายท่านอาจไม่เคยรู้ ในบทความนี้ KRAC จึงได้สรุปประเด็นจากงานวิจัยมาให้อ่านกัน
1. กรณีการออกใบอนุญาตของกรมโรงงานอุตสาหกรรม
จากการศึกษาพบว่า ผู้ประกอบการที่ต้องการประกอบกิจการโรงงาน ต้องยื่นคำขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยต้องยื่นเอกสารและหลักฐานต่าง ๆ เช่น แบบแปลนโรงงาน รายละเอียดเครื่องจักร ข้อมูลวัตถุดิบ และมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม
หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบเอกสารและพิจารณาออกใบอนุญาตหากเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด แต่กระบวนการขอใบอนุญาตกลับมีช่องว่างที่ทำให้เกิดการเสนอผลประโยชน์แก่เจ้าหน้าที่เพื่อให้เจ้าหน้าที่ออกคำสั่งอนุญาตเร็วขึ้นเนื่องจากผู้ประกอบการต้องการความรวดเร็ว หรือต้องการหลีกเลี่ยงความยุ่งยากในการติดต่อราชการ แม้ว่าจะเจ้าหน้าที่จะมีหน้าที่ออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ยื่นคำขออยู่แล้วก็ตาม
2. กรณีการออกใบอนุญาตของกรมทรัพย์สินทางปัญญา
ผู้ประกอบการที่ต้องการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าจะต้องยื่นคำขอต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยต้องยื่นเอกสารและหลักฐานต่าง ๆ เช่น แบบของเครื่องหมายการค้า รายละเอียดสินค้า หรือบริการ หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบเครื่องหมายการค้าว่าเป็นเครื่องหมายการค้าตามกฎหมายหรือไม่ และมีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ หากไม่พบข้อขัดข้อง เจ้าหน้าที่จะอนุญาตให้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้
แต่ในกระบวนการดังกล่าวกลับพบว่า มีการเสนอผลประโยชน์เพื่อให้ได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า แม้ว่าเครื่องหมายการค้านั้นจะไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งอาจเป็นเพราะผู้ประกอบการต้องการให้เครื่องหมายการค้าของตนได้รับการคุ้มครองโดยเร็ว หรือต้องการใช้เครื่องหมายการค้าที่คล้ายคลึงกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียง
3. กรณีการออกใบอนุญาตของกรมโยธาธิการและผังเมือง
ผู้ประกอบการที่ต้องการก่อสร้างอาคาร ต้องยื่นคำขอใบอนุญาตก่อสร้างต่อกรมโยธาธิการและผังเมือง โดยต้องยื่นเอกสารและหลักฐานต่าง ๆ เช่น แบบแปลนอาคาร รายละเอียดโครงสร้าง และข้อมูลวิศวกรรม หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบแบบแปลนและพิจารณาออกใบอนุญาตหากเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด เช่น ข้อกำหนดด้านความปลอดภัย การเว้นระยะห่าง และการใช้ประโยชน์ที่ดิน
แต่จากการศึกษากลับพบว่ามีการเรียกรับผลประโยชน์จากผู้ยื่นคำขออนุญาตก่อสร้างอาคาร เพื่อให้เจ้าหน้าที่รับเรื่องและดำเนินการพิจารณาต่อไป ซึ่งอาจเป็นเพราะผู้ประกอบการต้องการให้เจ้าหน้าที่เร่งรัดการพิจารณา หรือต้องการให้เจ้าหน้าที่อนุญาตให้ก่อสร้างแม้ว่าแบบแปลนจะยังไม่ถูกต้อง
นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของตัวอย่างการทุจริตจากการใช้ดุลพินิจอย่างไม่เหมาะสม งานวิจัยยังได้ศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับกฎหมายการควบคุมการใช้ดุลพินิจของประเทศอื่น ๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งจะเป็นตัวอย่างที่เรานำไปถอดบทเรียนเพื่อป้องกันช่องว่างการทุจริตได้ โดยได้สรุปแนวทางของแต่ละประเทศดังนี้
ถอดบทเรียนกฎหมายการควบคุมการใช้ดุลพินิจของ 3 ประเทศ
สหราชอาณาจักร : สหราชอาณาจักรมีระบบกฎหมายที่มุ่งเน้นการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน โดยมี “พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้สินบน ค.ศ. 2010” (The Bribery Act 2010) เป็นกฎหมายหลัก ซึ่งมีบทบัญญัติสำคัญ เช่น การกำหนดความผิดฐานองค์กรพาณิชย์ล้มเหลวในการป้องกันการให้สินบนเพื่อกระตุ้นให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วมในการป้องกันการทุจริต หรือการกำหนดโทษจำคุกและโทษปรับ โดยโทษปรับสำหรับองค์กรพาณิชย์ไม่มีเพดานสูงสุด นอกจากนี้สหราชอาณาจักรยังมีหน่วยงานอิสระ เช่น Serious Fraud Office (SFO) ที่ทำหน้าที่สืบสวน สอบสวน และดำเนินคดีเกี่ยวกับการทุจริตที่มีความร้ายแรงและซับซ้อน รวมถึงคดีที่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันต่างประเทศ
เยอรมนี : เยอรมนีมีระบบกฎหมายปกครองที่เข้มแข็ง โดยมี “กฎหมายวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง” (Verwaltungsverfahrensgesetz) เป็นกฎหมายหลัก ซึ่งมีบทบัญญัติสำคัญ เช่น การกำหนดให้การอนุญาตเป็นคำสั่งทางปกครอง ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของกฎหมายปกครอง หรือการกำหนดกรอบการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ โดยต้องใช้ดุลพินิจให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกฎหมาย นอกจากนี้ยังมีการให้อำนาจศาลปกครองในการตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งในส่วนที่เป็นองค์ประกอบและผลของกฎหมาย
สิงคโปร์ : สิงคโปร์มีระบบการป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่มีประสิทธิภาพสูง โดยมีองค์กรอิสระ เช่น Corrupt Practices Investigation Bureau (CPIB) ที่ทำหน้าที่สืบสวน สอบสวน และดำเนินคดีเกี่ยวกับการทุจริตโดยขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้สิงคโปร์ยังมีกฎหมายที่เข้มงวด เช่น “พระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันการทุจริต” (The Prevention of Corruption Act) ซึ่งครอบคลุมการทุจริตทุกรูปแบบ ทั้งการให้สินบน การรับสินบน การใช้อำนาจในทางมิชอบ และการฟอกเงิน
งานวิจัยชี้ 3 แนวทางแก้ปัญหาการใช้ดุลพินิจเพื่อป้องกันการทุจริตในประเทศไทย
หนึ่ง มิติกฎหมายปกครอง
- ทบทวนกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาต: พิจารณาว่ามีกฎหมายว่าด้วยการอนุญาตฉบับใดมีเนื้อหาที่อาจก่อให้เกิดการทุจริต และทำการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
- กำหนดกรอบการใช้ดุลพินิจ: แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายโดยกำหนดกรอบการใช้ดุลพินิจในการอนุญาตของเจ้าหน้าที่รัฐให้ชัดเจน เช่น กำหนดระยะเวลา ขั้นตอน และหลักเกณฑ์ในการพิจารณาอนุญาต เพื่อป้องกันการใช้อำนาจโดยมิชอบ
- กำหนดให้องค์กรอิสระมีอำนาจในการตรวจสอบ เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( สำนักงาน ป.ป.ช.) ควรมีอำนาจในการเสนอแนะ ติดตาม และตรวจสอบ กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตเพื่อป้องกันการทุจริต
- ให้อำนาจศาลปกครองในการตรวจสอบ: ศาลปกครองควรมีอำนาจในการตรวจสอบดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งในส่วนที่เป็นองค์ประกอบและผลของกฎหมาย เพื่อให้การใช้ดุลพินิจเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
สอง มิติกฎหมายอาญาและวินัย
- การแก้ไขกฎหมายอาญา:
- กำหนดให้การให้สินบนเพื่อจูงใจเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะกระทำโดยชอบหรือไม่ชอบด้วยหน้าที่ให้เป็นความผิดทางอาญา
- ขยายขอบเขตของ “สินบน” ให้ครอบคลุมถึงประโยชน์ที่ไม่สามารถคำนวณเป็นตัวเงินได้
- กำหนดให้ผู้กระทำผิดที่ให้ข้อมูลหรือแจ้งเบาะแสเกี่ยวกับการทุจริตได้รับการลดหย่อนผ่อนโทษ
- กำหนดบทลงโทษทางวินัย: กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาต้องพิจารณาสอบสวนทางวินัย หากพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต แม้ว่าศาลจะยังไม่มีคำพิพากษา
สาม มิติเรื่องความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่ราชการ
- นำเทคโนโลยีมาใช้: เช่น ระบบการยื่นขออนุญาตออนไลน์ ฐานข้อมูลใบอนุญาต เพื่อลดการปฏิสัมพันธ์โดยตรงระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและผู้ขออนุญาต
- จัดทำคู่มือประชาชน: เพื่อให้ประชาชนเข้าใจขั้นตอน ระยะเวลา และเอกสารที่ต้องใช้ในการขออนุญาต ซึ่งจะช่วยลดโอกาสการทุจริตได้
- ส่งเสริมธรรมาภิบาล: ปลูกฝังจิตสำนึก คุณธรรม และจริยธรรม ในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน
ข้อเสนอแนะจากงานวิจัยทำให้เราได้เห็นว่าการแก้ปัญหาอาจต้องทำให้ครอบคลุมในหลายมิติ ทั้งในด้านกฎหมาย เทคโนโลยี และที่ขาดไม่ได้คือความร่วมมือจากทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ถ้าทุกคนร่วมมือกันประเทศไทยก็จะสามารถลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน และสร้างสังคมที่โปร่งใส เป็นธรรม และน่าอยู่ได้
งานวิจัยเรื่อง “การแสวงหาผลประโยชน์จากการอนุญาตโดยใช้อำนาจรัฐ” (2560) โดย คณพล จันทน์หอม และคณะ ยังมีข้อมูลอื่น ๆ เกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจ เช่น ลักษณะการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ หรือหน่วยงานที่มีอำนาจในการใช้ดุลพินิจ โดยสามารถอ่านสรุปประเด็นสำคัญของงานวิจัยได้ที่ลิงก์ด้านล่าง
คอลัมน์ “KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย” เป็นบทความเล่างานวิจัยไทยด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน ที่หยิบยกหนึ่งในประเด็นของงานวิจัยในมุมมองของผู้ปฏิบัติการ เพื่อปูพื้นฐานความรู้และความเข้าใจเรื่องการคอร์รัปชัน และการต่อต้านคอร์รัปชันในมิติต่าง ๆ ภายใต้บริบทของประเทศไทย
คณพล จันทน์หอม, โชติกา วิทยาวรากุล, ศุภศิษฏ์ ทวีแจ่มทรัพย์, กัญจน์ศักดิ์ เพชรานนท์ และปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ . (2560). โครงการศึกษาเรื่องการแสวงหาผลประโยชน์จากการอนุญาต โดยใช้อำนาจรัฐ. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ.
ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค
หัวข้อ
KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | รถบรรทุกน้ำหนักเกินพิกัด ต้นเหตุการเสียงบประมาณรัฐหลักพันล้าน
“รถบรรทุกน้ำหนักเกินพิกัด” เป็นปัญหาที่สร้างความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานของประเทศอย่างรุนแรง ซึ่งการปล่อยให้มีการบรรทุกน้ำหนักเกินพิกัดส่วนหนึ่งเกิดจากการทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐที่รับสินบนและปล่อยปละละเลยรถบรรทุกเหล่านี้
KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | ปิดช่องโหว่ดุลพินิจ ปิดช่องทางทุจริตในไทย
“ดุลพินิจ” อำนาจรัฐ หรือช่องว่างที่ทำให้เกิดการทุจริต ? KRAC ชวนถอดบทเรียนการแก้ปัญหาโกงจากการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐจากกงานวิจัยเรื่อง การแสวงหาผลประโยชน์ จากการอนุญาตโดยใช้อำนาจรัฐ (2560)
KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | CPI ไม่ใช่ทุกคำตอบของปัญหาคอร์รัปชัน
หากเราต้องการเห็นภาพรวมการทุจริตในประเทศไทยจริง ๆ การพูดคุยหรือเก็บข้อมูลจากประชาชน อาจจะเป็นคำตอบที่ถูกต้องมากกว่า ซึ่งนี่ก็เป็นวิธีการที่งานวิจัย เรื่อง “คอร์รัปชันในระบบราชการไทย การสำรวจทัศนคติ ประสบการณ์ของหัวหน้าครัวเรือน” ใช้ในการเก็บข้อมูลเพื่อให้เห็นภาพการคอร์รัปชันในไทย มุมมองและประสบการณ์ของประชาชน