การศึกษาสถานการณ์เรื่องการเรียกรับและให้สินบนของภาคธุรกิจในประเทศไทย แนวทางการดำเนินการของสำนักงาน ป.ป.ช. ในการจัดการปัญหา พร้อมทั้งถอดบทเรียน Best Practice จากต่างประเทศ ทั้งนี้ เพื่อหาแนวทางการยกระดับคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) ของประเทศไทย
จากการจัดทำดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) โดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติได้สำรวจประเด็นการทุจริตแบ่งได้เป็น 5 ประเด็น ได้แก่ การจ่ายสินบนให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐ การใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ส่วนตน ความโปร่งใสในกระบวนการจัดสรรงบประมาณของประเทศ สถานการณ์การทุจริตและการบังคับใช้กฎหมายและการทุจริตทางการเมือง โดยมีกลุ่มเป้าหมายที่ทำการสำรวจ คือ นักธุรกิจ นักวิเคราะห์ความเสี่ยง และผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งประเด็นการทุจริตที่แหล่งข้อมูลส่วนใหญ่ทำการสำรวจ คือ การจ่ายสินบนให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐ
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่ประเทศไทยเข้าร่วมการประเมิน CPI คะแนนของประเทศไทยยังคงมีอยู่ในระดับคงที่มาตลอด ดังนั้น การวิจัยฉบับนี้ จะมุ่งศึกษาดัชนีการรับรู้การทุจริตในแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐ สถานการณ์และการรับรู้ การเรียกรับ และการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐของบรรษัทข้ามชาติ นักธุรกิจต่างชาติและนักลงทุนชาวไทยที่ลงทุนและประกอบธุรกิจในประเทศไทย และแนวทาง มาตรการ การดำเนินการของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาการเรียกรับและการให้สินบนของเจ้าหน้าที่รัฐและมีค่าคะแนน CPI สูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาและป้องกันการเรียกรับและการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ อันส่งผลต่อการยกระดับ CPI ของประเทศไทย และทำให้ประเทศไทยมีภาพลักษณ์ของการดำเนินงานที่โปร่งใสมากขึ้นในสายตานานาประเทศ
จากสาเหตุดังกล่าว จึงนำมาสู่วัตถุประสงค์ของการศึกษาในครั้งนี้ คือ
- เพื่อศึกษาสถานการณ์และการรับรู้การเรียกรับและการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐของบรรษัทข้ามชาตินักธุรกิจต่างชาติและนักลงทุนชาวไทยที่ลงทุนและประกอบธุรกิจในประเทศไทย
- เพื่อศึกษาแนวทาง มาตรการ และการดำเนินการของสำนักงาน ป.ป.ช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขและป้องกันการเรียกรับและการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐของบรรษัทข้ามชาติและนักลงทุนที่เข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทย
- เพื่อศึกษาแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ของประเทศที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาการเรียกรับและการให้สินบนของเจ้าหน้าที่รัฐและมีค่าคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (CPI) สูงอย่างต่อเนื่อง
- เพื่อเสนอแนะแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเรียกรับและการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐของบรรษัทข้ามชาติและนักธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย
ผลการศึกษา พบว่า ประเทศไทยยังคงมีการให้และเรียกรับสินบนในกระบวนการลงทุนและการประกอบธุรกิจที่มีความรุนแรงอยู่ในระดับปานกลาง สาเหตุหลักของการติดสินบนในกระบวนการลงทุนและการประกอบธุรกิจ ได้แก่ ความรวดเร็วในการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่รัฐ การให้เจ้าหน้าที่รัฐปิดหูปิดตาอนุมัติอนุญาตให้สิ่งที่ภาคธุรกิจสามารถดำเนินการบางสิ่งที่ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด และการจ่ายสินบนเพื่อให้ได้รับว่าจ้างจากหน่วยงานภาครัฐหรือชนะการประมูลงาน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผู้ประกอบการจะประสบกับการเสนอให้และถูกเรียกรับสินบนจากเจ้าหน้าที่รัฐ แต่ผู้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่ร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสการทุจริต เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจมีความเห็นว่าแม้ว่าประเทศไทยจะมีการบังคับใช้กฎหมายต่อต้านการทุจริตและการติดสินบนไม่มีประสิทธิภาพจึงมีความกังวลว่าหากดำเนินการร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแสการทุจริต ข้อมูลส่วนตัวและข้อมูลการแจ้งเบาะแสต่าง ๆ จะไม่ถูกปกปิดเป็นความลับแล้วจะส่งผลต่อการประกอบธุรกิจและการติดต่อกับหน่วยงานภาครัฐต่อไปในอนาคต
สรุปประเด็นสำคัญของงานวิจัย
- ผลจากการศึกษา สถานการณ์การเรียกรับและการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐในกระบวนการลงทุนและประกอบธุรกิจในประเทศไทย พบว่ากระบวนการที่ผู้ประกอบธุรกิจมีประสบการณ์การติดสินบนมากที่สุด คือ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐหรือการประมูลงานภาครัฐ รองลงมาเป็นการขออนุญาตก่อสร้างอาคาร โรงงาน การขออนุญาตประกอบธุรกิจ กระบวนการศุลกากร และกระบวนการทางภาษี ตามลําดับ โดยภาคธุรกิจที่มีประสบการณ์การติดสินบนสูงที่สุด คือ ภาคธุรกิจก่อสร้าง รองลงมาเป็นภาคธุรกิจการผลิต และภาคธุรกิจบริการ
- ผลการศึกษาการดําเนินการของสํานักงาน ป.ป.ช. และหน่วยงานภาครัฐในการแก้ไขและป้องกันการเรียกรับและการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐในกระบวนการลงทุนและประกอบธุรกิจในประเทศไทย พบว่า หน่วยงานต่าง ๆ มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาและป้องกันการให้และเรียกรับสินบนโดยการกำหนดขั้นตอนการทํางานและกรอบระยะเวลาการดําเนินงานของหน่วยงานภาครัฐที่ชัดเจน มีการการนําระบบอิเล็กทรอนิกส์/ระบบออนไลน์ มาใช้ในการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐ และการจัดโครงการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้แก่บุคลากรในหน่วยงานภาครัฐด้วย
- ผลการศึกษาการดําเนินการขององค์กรต่อต้านการทุจริตในประเทศที่มีแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practice) ในการแก้ไขปัญหาและป้องกันการเรียกรับและการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐในกระบวนการลงทุนและประกอบธุรกิจพบว่า หน่วยงานภาครัฐของประเทศที่มีการบริหารจัดการที่โปร่งใสสําหรับนักลงทุนและผู้ประกอบธุรกิจมากที่สุดในทวีปเอเชีย คือ สาธารณรัฐสิงคโปร์ (ร้อยละ 53.15) รองลงมาเป็นเขตบริหารพิเศษฮ่องกง (ร้อยละ 28.32) สาธารณรัฐเกาหลี (ร้อยละ 12.59) และอื่น ๆ (ร้อยละ 5.94) เช่น ประเทศญี่ปุ่น
สรุปข้อเสนอแนะจากงานวิจัย
- ข้อเสนอแนะต่อสำนักงาน ป.ป.ช. ให้สร้างเครือข่ายภาคธุรกิจเอกชนและร่วมกันกําหนดนโยบายและแนวปฏิบัติในการต่อต้านการทุจริตและการติดสินบนในกระบวนการลงทุนและการประกอบธุรกิจในประเทศไทยที่มีความชัดเจนเป็นรูปธรรม
- ควรมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดจริงจังและดําเนินการสืบสวนสอบสวนเชิงลึกเพื่อนําไปสู่การลงโทษคดีสินบน ควบคู่ไปกับการมีบัญญัติกฎหมายว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (Conflict of Interest: COI) พร้อมทั้งการกำหนดบทลงโทษที่ชัดเจน
- ควรมีการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการสืบสวนสอบสวนคดีสินบนข้ามชาติการติดตามทรัพย์สินคืน และการชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากการติดสินบนข้ามชาติ
- สำนักงาน ป.ป.ช. ควรเพิ่มการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น การพัฒนากระบวนการแจ้งเบาะแส หรือการกําหนดให้มีบุคคลที่สาม (Third party) เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการตรวจสอบการดําเนินโครงการของหน่วยงานภาครัฐ
- สำนักงาน ป.ป.ช. ควรร่วมมือหรือประสานงานกับหน่วยงานหรือภาคส่วนอื่น ๆ ในการดําเนินโครงการป้องกันการทุจริตในภาคธุรกิจเอกชน เช่น การจัดประชุมกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อติดตามข้อมูลความเสี่ยงการทุจริตในกระบวนการดําเนินงานและแสวงหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาและป้องกันการทุจริตร่วมกัน การบูรณาการกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนและประกอบธุรกิจในประเทศไทยเพื่อร่วมกันกําหนดนโยบายป้องกันการทุจริตตั้งแต่ขั้นตอนเริ่มต้นของการจัดตั้งธุรกิจ การเข้าร่วมเป็นภาคีเครือข่ายองค์กรระหว่างประเทศด้านการต่อต้านการทุจริต
- หน่วยงานภาครัฐควรมีการปฏิรูปกฎหมายเพื่อลดการใช้อํานาจดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐ และปรับปรุงกระบวนการทํางานของหน่วยงานภาครัฐ โดยการนําระบบดิจิทัล (Digital system) มาใช้ในกระบวนการทํางานอย่างเต็มรูปแบบ การให้บริการแบบ One Stop Service พร้อมทั้งพัฒนาระบบเปิดเผยข้อมูลข่าวสารภาครัฐ (Open data) ควบคู่ไปด้วย
- ในภาคเอกชนควรมีการจัดทําจรรยาบรรณทางธุรกิจ (Business Code of Conduct) การแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง และการจัดอบรมพนักงานเพื่อสื่อสารแนวปฏิบัติต่อต้านการติดสินบน
ฉันท์ชนก เจนณรงค์, อนัญญา แม้นโชติ และเสาวณีย์ ทิพอุต. (2566). การจ่ายสินบนให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐของบรรษัทข้ามชาติ และนักลงทุนที่ ประกอบธุรกิจและลงทุนในประเทศไทย. สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ.
- ฉันท์ชนก เจนณรงค์
- อนัญญา แม้นโชติ
- เสาวณีย์ ทิพอุต
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค
หัวข้อ
โครงการศึกษาความเหมาะสมและความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าเป็นภาคีในอนุสัญญาขององค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ ค.ศ.1997 ว่าด้วยการต่อต้านการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศในการทำธุรกรรมทางธุรกิจระหว่างประเทศ
ศึกษาความพร้อมของไทยในการเข้าเป็นภาคีตามอนุสัญญาองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ ค.ศ.1997 ว่าด้วยการต่อต้านการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศในการทำธุรกรรมทางธุรกิจระหว่างประเทศ
แนวโน้มการฟอกเงินในประเทศไทย: ศึกษาเฉพาะกรณีการฟอกเงินผ่านนิติบุคคล และธุรกิจบังหน้า ทนายความและนักบัญชี บริษัทนำเที่ยว ทรัสต์ต่างประเทศที่ดำเนินการในประเทศไทย การเล่นแชร์ที่มีการฉ้อโกงและการฟอกเงินผ่านองค์กรไม่แสวงหากำไร
เมื่อการฟอกเงินเป็นปัญหาร้ายแรงที่ยังคงแพร่หลายในสังคมไทย การแก้ไขปัญหาจึงต้องลองศึกษาแนวทางที่ประสบความสำเร็จจากต่างประเทศ เพื่อนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทประเทศไทยในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
แนวทางป้องกันและแก้ปัญหาการทุจริต : ศึกษากรณีรถบรรทุกน้ำหนักเกินพิกัดที่กฎหมายกำหนด
วิเคราะห์โอกาสและความเสี่ยงต่อการทุจริตของกระบวนการควบคุมน้ำหนักของหน่วยงานรัฐ เเละเสนอมาตรการควบคุมน้ำหนักรถบรรทุกที่มีประสิทธิภาพ พร้อมแนวปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม