คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : โกง (เรื่อง) กิน ฉ่ำๆ หม่ำๆ แบดกาย แบดกายหม่ำๆ

เมื่อวันแม่ที่ผ่านมาหลายๆ ท่านคงพาคุณแม่ไปทานข้าว หรืออาจกลับบ้านไปทานข้าวกับคุณแม่และครอบครัว เพราะสำหรับคนไทยแล้ว “อาหารเป็นเรื่องสำคัญ” ดังนั้นในวันสำคัญการนัดรวมตัวกันกินข้าวจึงเป็นเรื่องจำเป็น และหากจะให้พูดให้ชัดว่าอาหารเป็นเรื่องสำคัญของคนไทยก็คงจะต้องขอยกตัวอย่างกรณีที่มีการจัดอันดับอาหารยอดแย่ซึ่งพบว่าประเทศไทยมีเมนูยอดแย่อันดับหนึ่ง !? ได้แก่ “แกงไตปลา” ที่ทำให้คนไทยทั้งแผ่นดินได้รวมกันเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เพื่อปกป้องเกียรติและศักดิ์ศรีของอาหารไทย ! ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงความผูกพันที่ลึกซึ้งระหว่างอาหารและวิถีชีวิตของคนไทย

ใครหลายๆ คนมักกล่าวว่าประเทศไทย “เป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ” หรือ “ในน้ำมีปลาในนามีข้าว” ไปจนถึง “สถานะของความเป็นครัวโลก”แต่รู้หรือไม่ว่ามีคนไทยอีกมากที่ไม่มีสิทธิในการเข้าถึงอาหาร (Right to Food) ทั้งๆ ที่สิทธิในการเข้าถึงอาหารเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ ซึ่งได้รับการรับรองโดยปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน เพราะจากรายงาน “The State of Food Security and Nutrition in the World 2023” ขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (Food and Agriculture Organization of the United Nations: FAO)พบว่าในช่วง ค.ศ. 2020 – 2022 ประมาณร้อยละ 7.6 ของประชากรไทยประสบกับภาวะขาดแคลนอาหารในระดับปานกลางถึงรุนแรง

จากสถิติดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยกำลังเสี่ยงที่จะประสบปัญหาด้าน“ความมั่นคงทางอาหาร (Food Security)” โดยเฉพาะ “เด็ก” ในช่วงอายุที่ต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งจะพบว่า 1 ใน 10 คนกำลังเผชิญภาวะความยากจนทางอาหารขั้นรุนแรง ตามรายงาน Child Food Poverty: Nutrition Deprivationin Early Childhood ที่เผยแพร่ใน ค.ศ. 2024ของกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UnitedNations Children’s Fund: UNICEF) ซึ่งพบว่าเด็กๆ ได้รับประทานอาหารไม่เกิน 2 หมู่ต่อวัน ซึ่งอาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพและพัฒนาการโดยรวมในระยะยาว…

นอกจากนี้ จากการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทยใน ค.ศ. 2022 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติและ UNICEF ยังชี้ถึงความน่ากังวลด้านโภชนาการของเด็กไทยเช่นกัน เพราะมีเด็กในประเทศไทยร้อยละ 13 ของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ยังมีภาวะเตี้ยแคระแกร็น และร้อยละ 7 มีภาวะผอมแห้ง เนื่องจากการขาดสารอาหารอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน!โดยทั้งหมดนี้เป็นเหตุมาจาก “วิกฤตความยากจนทางอาหาร (Food Poverty Crisis)” ที่มีปัจจัยหลายประการ เช่น ระบบอาหารที่ล้มเหลวซึ่งทำให้เด็กไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่มีประโยชน์และปลอดภัยได้ และการที่ครอบครัวไม่มีกำลังซื้ออาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ รวมถึงการขาดความรู้และทักษะในการส่งเสริมโภชนาการให้กับเด็กๆ

ทุกพื้นที่มีแต่ “คอร์รัปชัน” เรื่องอาหารก็เช่นกัน…

การเข้าไม่ถึงสิทธิในการเข้าถึงอาหารที่ดีและมีคุณภาพจะนำไปสู่ปัญหาภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition) ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนไทยในรูปแบบของการขาดสารอาหาร โดยปัญหานี้ก็เป็นปัญหาที่ข้องเกี่ยวกับ “การคอร์รัปชัน” อย่างมีนัยสำคัญ ที่มักปรากฏในการทุจริตการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอาหาร เช่น การละเลยมาตรฐานและการบิดเบือนข้อมูลโภชนาการ ที่ส่งผลให้ผู้บริโภคไม่สามารถเข้าถึงอาหารที่มีคุณภาพและคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสมได้ นอกจากนี้ยังปรากฏในลักษณะของการทุจริตในโครงการอาหารเพื่อโภชนาการ เช่น อาหารกลางวันในโรงเรียนซึ่งทำให้กลุ่มเป้าหมายไม่ได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างเพียงพอส่งผลให้เกิดภาวะทุพโภชนาการในวงกว้าง โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบางทางสังคม

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการทุจริตในการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทานอาหารเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศไทย ซึ่งปัญหาการคอร์รัปชันในภาคอาหารของไทยมีหลายรูปแบบตั้งแต่การทุจริตในระดับนโยบาย การละเว้นการบังคับใช้กฎหมาย ไปจนถึงการทุจริตในระดับปฏิบัติการ อย่างในกรณีของ “การลักลอบนำเข้าหมูเถื่อน”ที่สมาชิกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรประเมินว่า ในแต่ละปีมูลค่าของหมูเถื่อนอยู่ที่ประมาณ 40,000 ล้านบาท ซึ่งถ้าคำนวณค่าความเสียหายเสียโอกาสของห่วงโซ่การเลี้ยงหมูที่ได้รับผลกระทบจากหมูเถื่อน เช่น การเพาะปลูกพืชเพื่อนำมาเป็นอาหารสัตว์ของเกษตรกรอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ร้านค้าปลีกและค้าส่ง ร้านอาหาร ที่เอาหมูเถื่อนไปทำกำไรขายให้ผู้บริโภคที่คาดการณ์ว่าเม็ดเงินที่หมุนเวียนในวงจรจะไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาท ซึ่งหมูเถื่อนนั้นไม่สามารถที่จะตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยได้ ซึ่งทำให้ผู้เขียนหวนนึกถึงกรณี“ปลาหมอคางดำ”

จากหมูเถื่อนสู่ปลาหมอคางดำ… ตอกย้ำปัญหาคอร์รัปชันในอาหารไทย

ปลาหมอคางดำ เป็นปลาในวงศ์เดียวกับปลานิลและปลาหมอเทศ ซึ่งมีด้านคุณค่าทางโภชนาการคล้ายกับปลานิล โดยเนื้อปลามีปริมาณโปรตีนสูงอยู่ในช่วง 18%-20% ไขมันประมาณ 2% ซึ่งเป็นลักษณะของปลาทั่วไปที่มีคุณภาพทางด้านโภชนาการ แต่ในทางกลับกันที่มาของปลาหมอคางดำเรียกได้ว่าเป็นการแพร่ระบาดในแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ ! เพราะปลาหมอคางดำมีการแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็วที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบนิเวศที่เป็นแหล่งอาหารของชุมชนจากการกินสัตว์น้ำที่เล็กกว่า นอกจากนี้ปลาหมอคางดำยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการประมงของไทย โดยกรมประมงรายงานว่าปลาชนิดนี้ทำลายแหล่งวางไข่และอนุบาลของปลาพื้นเมือง ส่งผลให้ปริมาณปลาในแหล่งน้ำธรรมชาติลดลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้และความมั่นคงทางอาหารของชุมชนประมงพื้นบ้าน ไปจนถึงความหลากหลายและคุณภาพของอาหารของคนไทยทั้งประเทศ…

การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติของไทยไม่เพียงส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพเท่านั้น แต่ยังสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการทุจริตและการบริหารจัดการที่บกพร่องในห่วงโซ่อุปทานอาหารของประเทศ ซึ่งสื่อมวลชนได้มีบทบาทสำคัญในการเปิดโปงและสืบสวนกรณีดังกล่าวผ่านการทำข่าวเชิงสืบสวน (Investigative Journalism) ที่รายงานเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำผ่านการลงพื้นที่สำรวจและสัมภาษณ์ชาวบ้านในจังหวัดต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งพบว่าการลักลอบนำเข้าปลาชนิดนี้อย่างผิดกฎหมายผ่านช่องทางการค้าสัตว์น้ำสวยงาม โดยมีเจ้าหน้าที่รัฐบางรายมีส่วนเกี่ยวข้องในการอำนวยความสะดวกและปกปิดข้อมูล หรือเรียกได้ว่าเป็นเครือข่ายลักลอบนำเข้าและจำหน่ายปลาหมอคางดำที่มีความเชื่อมโยงกับผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่รัฐบางราย

หน่วยงานรัฐจึงเร่งหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา จึงมีการเสนอและส่งเสริมให้ประชาชนบริโภคปลาหมอคางดำเพื่อควบคุมจำนวนประชากร ซึ่งเป็นประเด็นที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดย แนวทางดังกล่าวเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืนและอาจส่งผลเสียในระยะยาว เนื่องจากอาจเป็นการสร้างความต้องการในตลาดสำหรับปลาชนิดนี้ที่อาจนำไปสู่การเพาะเลี้ยงและแพร่กระจายมากขึ้น ทั้งนี้การส่งเสริมการบริโภคปลาหมอคางดำอาจเป็นการละเลยปัญหาต้นตอของการทุจริตและการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ แทนที่จะมุ่งเน้นการป้องกันการนำเข้าและแพร่กระจายของสายพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน รวมถึงการฟื้นฟูระบบนิเวศที่ได้รับผลกระทบ

เพราะอาหารคือเรื่องใหญ่ การแก้ไขปัญหาจึงสำคัญ แต่ต้องแก้ไขอย่างยั่งยืน!

การแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาสังคม ในการพัฒนาระบบการควบคุมและตรวจสอบการนำเข้าสัตว์น้ำที่มีประสิทธิภาพ การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด และการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนเกี่ยวกับผลกระทบของสายพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกราน ซึ่งการแก้ไขปัญหานี้ไม่เพียงเป็นการจัดการกับภัยคุกคามต่อระบบนิเวศและความมั่นคงทางอาหารเท่านั้น แต่ยังเป็นโอกาสในการปรับปรุงธรรมาภิบาลในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยอีกด้วย นอกจากนี้ควรมีการเพิ่มมาตรการในการควบคุมและตรวจสอบคุณภาพของอาหารในห่วงโซ่อุปทานอย่างเข้มงวด

ที่สำคัญคือการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังในทุกมิติที่ควรร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการตรวจสอบและดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดอย่างเด็ดขาด พร้อมทั้งสนับสนุนให้มีการพัฒนาระบบการติดตามและประเมินผล เพื่อให้สามารถปรับปรุงนโยบายและมาตรการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ซึ่งการแก้ไขปัญหาเหล่านี้จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนไทย และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป้าหมายที่ 2ว่าด้วยการขจัดความหิวโหยและบรรลุความมั่นคงทางอาหาร เพื่อให้คนไทยมีกิน มีใช้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี !

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2567
ผู้แต่ง

ธนดล เต้พันธ์

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อัปเดตประชุมวิชาการโลกเรื่องคอร์รัปชัน

เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค Co-Founder บริษัท HAND Social Enterprise ได้รับเชิญไปบรรยายในงานประชุมทางวิชาการ Cambridge Economic Crime ที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 40 แล้ว ซึ่งงานนี้ถือได้ว่าเป็นงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องคอร์รัปชันที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่ง โดยผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ได้เข้าร่วมบรรยายเกี่ยวกับผลงานวิจัยเรื่องประสิทธิภาพที่แท้จริงของความโปร่งใสในการต่อต้านคอร์รัปชัน ผ่านการศึกษาผลกระทบจากโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Infrastructure Transparency: CoST)

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อยากแก้ปัญหาปากท้องก่อน แต่ถ้าไม่ปฏิรูปตำรวจ ก็แก้ยาก !

ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน มืดเทา อาจเป็นคำนิยามวงการตำรวจไทยในปัจจุบัน ? หากเราพูดถึงวงการตำรวจ หลาย ๆ คนคงจะนึกถึงเรื่องที่ตำรวจดันไปเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมกับการทุจริต ไม่ว่าจะเป็นกรณีหมูเถื่อน กำนันนก ทุนจีนสีเทา หรือข่าวอาชญากรรมต่าง ๆ แทนที่จะมองว่า ตำรวจคือผู้ที่รักษาความสงบให้บ้านเมือง และคุ้มครองประชาชนให้รู้สึกปลอดภัย

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : สติ๊กเกอร์ส่วย…แก้ได้ ?

จะแก้ปัญหาอย่างไรให้ชีวิตปลอดภัยจากผลกระทบของสินบน ? ประเด็นร้อนทุจริตเร็ว ๆ นี้คงหนีไม่พ้นเรื่อง “ส่วยสติกเกอร์” หลังว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ออกมาแฉตั้งแต่กลไกไปจนถึงราคาอย่างที่หลายคนคงได้ยินมาบ้างแล้ว แต่ที่สำคัญกว่านั้น รู้หรือไม่ว่าเรื่องของส่วยรถบรรทุกที่ดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว จริง ๆ แล้วใกล้ตัวกว่าที่เราคิด

You might also like...

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | “ธรรมาภิบาล” หลักการที่ยืดหยุ่น พร้อมสร้างประสิทธิภาพ

เคยสงสัยไหมว่าทำไมหลักธรรมาภิบาลของแต่ละองค์กรถึงดูไม่เหมือนกัน บางองค์กรมี 6 หลัก บางองค์กรมี 8 หลัก ความจริงแล้วหลากหลายองค์กรทั่วโลกล้วนมีการวางแนวคิดเกี่ยวกับธรรมาภิบาลที่ต่างกัน โดยงานวิจัยเรื่อง “โครงการวิจัยพัฒนาฐานข้อมูล องค์ความรู้ด้านธรรมาภิบาล (ระยะที่ 2)” (2563) ได้ศึกษาเรื่องนี้เอาไว้

โครงการวิจัยพัฒนาฐานข้อมูลองค์ความรู้ด้านธรรมาภิบาล (Phase 2)

การศึกษาเพื่อสร้างตัวชี้วัดสำหรับการประเมินและติดตามการนำหลักธรรมาภิบาลไปใช้ในการบริหารจัดการขององค์กรในประเทศไทย พบว่า มีความเหมาะสมในการนำไปใช้ในระดับมาก และยังสามารถปรับปรุงดัชนีชี้วัดบางตัวเพื่อให้สอดคล้องการทำงานของแต่ละหน่วยงานได้

บทความวิจัย : การสร้างความเข้มแข็งภาคประชาสังคมกับปัญหาการทุจริตขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดภูเก็ต

การสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายประชาชนในจังหวัดภูเก็ตเพื่อให้สามารถติดตามปกป้อง ตรวจสอบการทุจริตได้ ต้องอาศัยการทำกิจกรรมร่วมกัน เพื่อให้ความรู้สึกร่วมในการต่อต้านการทุจริต