กรณีศึกษาในองค์การบริหารส่วนตำบลจังหวัดลำปาง พบว่ากลไกการตรวจสอบยังไม่สามารถจะยับยั้งการทุจริตคอร์รัปชันได้ ดังนั้น จึงควรปรับปรุงมาตรการในการตรวจสอบอย่างเข้มข้น เพราะระบบการตรวจสอบที่เข้มแข็ง สามารถลดการกระทำทุจริตคอร์รัปชันได้อย่างเป็นรูปธรรม
บทความวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาระดับความสำคัญของมูลเหตุที่ก่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันในองค์การบริหารส่วนตำบลจังหวัดลำปาง 2) ศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อมูลเหตุที่ก่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันในองค์การบริหารส่วนตำบลจังหวัดลำปาง และ 3) ศึกษาแนวทางการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในองค์การบริหารส่วนตำบลจังหวัดลำปาง
โดยบทความวิจัยนี้ มีวิธีการศึกษาด้วยระเบียบวิธีวิจัยเชิงปริมาณ ด้วยการแจกแบบสอบถามผู้ดำรงตำแหน่งกำนันและผู้ใหญ่บ้าน ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลในจังหวัดลำปาง จำนวน 400 ชุด และนำมาวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และสถิติอนุมานด้วยการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณ
ผลการวิจัยพบว่า กลไกการตรวจสอบ ระบบอุปถัมภ์ และค่านิยม ล้วนส่งผลต่อการทุจริตคอร์รัปชันในองค์การบริหารส่วนตำบลจังหวัดลำปาง แสดงให้เห็นถึงกลไกการตรวจสอบว่ายังไม่สามารถยับยั้งการทุจริตคอร์รัปชันได้อย่างเต็มที่ รวมถึงระบบอุปถัมภ์และค่านิยมที่ถ่ายทอดต่อกันมาจนนำไปสู่ความเต็มใจในการกระทำทุจริต
ดังนั้น แนวทางการแก้ไขจึงควรหามาตรการในการตรวจสอบอย่างเข้มข้น โดยการเพิ่มหน่วยงานหรือบุคลากรเพื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบ ทั้งในระดับตำบล ระดับอำเภอ และระดับจังหวัดแทนหน่วยงานที่มีอยู่ในปัจจุบันที่ไม่เพียงพอต่อปริมาณงาน รวมถึงการกำหนดบทลงโทษให้รุนแรงยิ่งขึ้น เช่น การให้ยุติการปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อนภายหลังที่มีการตรวจสอบว่ามีการทุจริตคอร์รัปชัน เมื่อมีระบบการตรวจสอบที่เข้มแข็ง จะสามารถลดการกระทำทุจริตคอร์รัปชันได้อย่างเป็นรูปธรรม
รูปแบบ APA
ณัฏฐ์ดนัย ประเทืองบริบูรณ์. (2561). มูลเหตุที่ก่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันในองค์การบริหารส่วนตำบล: ความคิดเห็นของกำนันและผู้ใหญ่บ้านจังหวัดลำปาง. วารสารการบริหารการปกครอง, 7(2), 542–567.
ณัฏฐ์ดนัย ประเทืองบริบูรณ์
หัวข้อ
โครงการสำรวจการรับรู้และความเข้าใจด้านการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (Conflict of Interest) ของเจ้าหน้าที่รัฐในองค์การบริหารส่วนจังหวัดของประเทศไทย
ศึกษาและสํารวจข้อมูลระดับการรับรู้ของเจ้าหนาที่รัฐในองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่มีต่อความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับความขัดแย้งแห่งผลประโยชน์ (Conflict of Interest) เพื่อลดพฤติกรรมความขัดแย้งแห่งผลประโยชน์ในอนาคต
โครงการประสานงานวิจัยและส่งเสริมศักยภาพเครือข่ายเพื่อสังคมไทยไร้คอร์รัปชัน
การออกแบบกระบวนการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันอย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล จำเป็นจะต้องเข้าใจปัญหาอย่างลึกซึ้งจากมุมมองที่หลากหลาย และบริบทรอบด้านที่เป็นทั้งปัจจัยสนับสนุนและอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหานี้
แนวทางการเสริมสร้างธรรมาภิบาลท้องถิ่นและการเฝ้าระวังติดตามการคอร์รัปชันโดยชุมชนมีส่วนร่วม กรณีศึกษา : พื้นที่อำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน
เพื่อศึกษาบริบทของชุมชน ทุนทางสังคม และสถานการณ์ธรรมาภิบาลและการคอร์รัปชันในระดับพื้นที่ รวมถึงระบบและกลไกทางสังคมต่อการจัดการ และป้องกันปัญหาโดยชุมชนมีส่วนร่วม