แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : โอปป้า เพื่อระบบที่ดีสร้างสังคมยั่งยืน

เมื่อวันที่ 31 สิงหาคมที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสไปนำเสนอ trend ใหม่ของปี 2024 ในเรื่อง Governance หรือ ธรรมาภิบาล ในเวทีงาน “Sustrends 2024 : 50 เทรนด์ด์ความยั่งยืนที่กำลังเปลี่ยนโลก” ณ พิพิธภัณฑ์สวนป่าเบญจกิติ ในหัวข้อ “ข้อมูลเปิดเพื่อสร้างระบบนิเวศน์ธรรมาภิบาล(Open Data: How to create Governance Ecosystem)” ผมเลยขอนำเนื้อหาที่ผมเล่าบนเวทีมาเขียนในบทความนี้ให้ทุกท่านได้อ่านกันนะครับ

ถ้าพูดถึงความยั่งยืน จะไม่พูดถึง Governance หรือที่ภาษาไทยเรียกว่า ธรรมาภิบาล ไม่ได้เลยครับ เพราะเราได้เห็นชัดเจนกันอยู่แล้วว่าที่ผ่านมา อยากปฏิรูปการศึกษาก็ทำไม่ได้ เพราะหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องความขาดประสิทธิภาพ อยากอนุรักษ์ป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติก็ทำได้ยากเพราะมีคนแย่งหาผลประโยชน์กันเต็มไปหมด หรือแม้แต่อยากสร้างโครงสร้างสวัสดิการที่ดีให้แก่ประชาชนก็ไม่ถึงมือประชาชนจริงๆ สาเหตุสำคัญก็มาจากการคอร์รัปชัน และที่คอร์รัปชันเกิดขึ้นได้ง่ายเหลือเกินในประเทศนี้ก็เพราะมันขาดระบบการกำกับดูแลที่ดี หรือ ขาดธรรมาภิบาลนี่เองครับ

อย่างไรก็ตามผมไม่ได้หมายความว่าที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยมีความพยายามป้องกันแก้ไขปัญหานี้มาก่อนเลยนะครับ เราทำและทำเยอะมาก ไม่อย่างนั้นเราไม่มีกฎหมายถึง 15 ฉบับเพื่อแก้คอร์รัปชันอย่างเดียว มีองค์กรรัฐขนาดใหญ่มากมาย เช่น ป.ป.ช. ป.ป.ท. สตง. และคณะกรรมการอื่นๆ อีกมากมาย แต่ทั้งหมดนี้ก็ดูเหมือนจะไม่ได้ช่วยให้ระบบมันดีขึ้น หรือ ยั่งยืนได้เลย

เหตุผลหนึ่งคือ แนวทางการต่อต้านคอร์รัปชันแบบนี้มันเป็นเทรนด์ในอดีตมาก สัก20-30 ปีแล้ว ที่เน้นการใช้อำนาจรัฐปราบปราม ตั้งองค์กรอิสระ และใช้กฎหมายที่เข้มงวด ซึ่งแม้เคยจะประสบความสำเร็จมาในหลายที่ เช่น ฮ่องกง หรือ สิงคโปร์ แต่เมื่อไทยรับมาแค่รูปแบบ โดยไม่ได้เอารายละเอียดมาประยุกต์กับบริบทของประเทศอย่างครอบคลุมและลึกซึ้ง จึงทำให้เรายังไปได้ไม่ถึงไหน

อีกเทรนด์ ในอดีตที่เราเคยใช้และยังใช้อยู่คือการปลุกพลังและจิตสำนึกของประชาชนให้ลุกขึ้นต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งสำคัญและจำเป็นมาก แต่ปัญหาคือ ตอนนี้คนลุกขึ้นมาพร้อมต้านโกงแล้ว แต่ไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อ ต้านยังไง เอาอะไรไปต้านคนโกงที่มีอำนาจและอิทธิพลมากเหลือเกิน ดังนั้น ในวันนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังว่า แล้วเทรนด์ในการสร้างระบบที่ดี ที่ไทยจะกระโดดขึ้นรถไฟขบวนนี้ไปได้ทัน เพื่อไปสู่ความฝันในการสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเนื่องจาก trend นี้ได้พิสูจน์ให้เห็นผลสำเร็จในหลายๆ ประเทศแล้ว เช่น เกาหลีใต้ ผมเลยขอเรียกเทรนด์นี้ง่ายว่า“โอปป้า” หรือ “OPPA” ครับ

เทรนด์แรกคือ OP มาจาก Open Data หรือการเปิดข้อมูลครับ คือการติดอาวุธให้ประชาชนที่ลุกขึ้นมาพร้อมร่วมต้านโกงแล้วด้วยข้อมูล เพราะถ้าไม่รู้ ไม่เห็นอะไรเลย แล้วจะติดตามตรวจสอบได้อย่างไร การเปิดเผยข้อมูลนี้จะช่วยมากกว่าแค่ติดตามการใช้งบประมาณต่างๆ เท่านั้น แต่ติดตามการทำงานของหน่วยงานต้านโกงต่างๆ ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้ด้วย เป็นการฟื้นเทรนด์ในอดีตให้กลับมาเป็นประโยชน์อีกครั้งได้ด้วย ผมยกตัวอย่าง www.openspending.org ของอังกฤษ ที่เปิดข้อมูลรัฐทั้งหมดอย่างเป็นมาตรฐาน พร้อมให้ประชาชนเอาไปใช้งานได้ทันที นั่นหมายความว่า ทุกวันนี้มีมาตรฐานการเปิดข้อมูลที่เราสามารถนำมาใช้ได้เลยด้วยไม่ต้องคิดใหม่เองเลย

ส่วนในไทย เราก็มีความพยายามต่างๆ จากภาครัฐบ้าง เช่น ภาษีไปไหน โดยสำนักงานรัฐบาลดิจิทัล และจากภาคประชาชนอย่าง ACT Ai โดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน ที่นำไปสู่การเปิดโปงกรณีดังๆ อย่างเสาไฟฟ้ากินรีไงครับ ที่ชาวบ้านคนนึงเข้าไปดูข้อมูลจัดซื้อเสาไฟฟ้าจาก ACT Ai เห็นว่าแพงผิดปกติ เลยเอาไปแฉ และร้องเรียน จนเกิดเป็น กระแส นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอย่างที่เราเห็น อย่างไรก็ตามปัญหาคือยังมีอุปสรรคอยู่มาก หน่วยงานรัฐหลายหน่วยยังหวงข้อมูล ปากบอกอยากโปร่งใส แต่ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูล ดูตัวอย่าง ป.ป.ช. ซึ่งมีหน้าที่โดยตรงในการสร้างความโปร่งใสในสังคม แต่ข้อมูลชุดสำคัญที่หน่วยงานถืออยู่อย่างทรัพย์สินนักการเมือง กลับเปิดเผยเพียง 180 วันแล้วปิดระบบเลย แถมยังปิดไม่ให้ download ข้อมูลด้วย ถ้าอยากเก็บข้อมูลไว้ ต้องไปถ่ายรูปหน้าจอคอมพิวเตอร์ทีละภาพๆ เป็นต้นทุนอย่างมหาศาล

เทรนด์ที่สองคือ P มาจาก Participation หรือ การสร้างความร่วมมือจากประชาชนอย่างทั่วถึงครับ ซึ่งมันมีความต่อเนื่องมากจากเทรนด์แรก เพราะเมื่อเปิดเผยข้อมูลอย่างครอบคลุมและมีมาตรฐานแล้ว ต้องผลักดันให้นำข้อมูลนั้นไปใช้ประโยชน์ให้ได้ด้วยการนำข้อมูลมาประมวลผลให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจ และสร้างช่องทางต่อเนื่องในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลนั้น

ยกตัวอย่างใกล้ๆ บ้านเราเลยอย่าง www.opentender.net ที่นอกจากจะเอาข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมาเปิดเผยแล้ว ยังใช้ระบบวิเคราะห์ความเสี่ยงการคอร์รัปชันให้เห็นเป็นเปอร์เซ็นต์ได้เลย นอกจากนี้ระบบที่ดี มันต้องไม่ใช่แค่มีข้อมูลไปไล่จับคนโกง แต่ต้องป้องกันไม่ให้โกงได้ตั้งแต่ต้น ผมขอยกตัวอย่างเมืองปอร์โต อัลเลเกร (Porto Alegre) ในบราซิลที่ประชาชนมีความตื่นตัวและมีส่วนร่วมในการใช้งบประมาณของรัฐมาก เพราะนอกจากเขาจะเปิดเผยข้อมูลงบประมาณรัฐบาลเมืองแล้ว เขายังเปิดให้ประชาชนร่วมออกแบบงบประมาณเองอีกด้วย หรือที่เราเรียกว่า participatory budgeting ทำให้สวัสดิภาพชีวิตของคนในเมืองดีขึ้นอย่างมาก ประเทศไทยเองก็มีความพยายามอยู่บ้าง ซึ่งส่วนใหญ่พัฒนาโดยประชาชนเอง ที่ใช้คำว่าบ้าง เพราะจุดแรกคือข้อมูลเปิด (open data) มันยังไม่เกิดไงครับความมีส่วนร่วมอย่างเป็นระบบ (participation) มันเลยเกิดยาก

เทรนด์สุดท้ายคือ A มาจาก Accountability หรือความรับผิดรับชอบ ซึ่งเป็นเป้าหมายปลายทางจริงๆ ที่เราอยากให้เกิดขึ้นกับระบบที่ดีเลย เพราะมันจะทำให้ใครก็โกงยาก และคนที่ทำดีก็จะเจริญเติบโตในระบบนี้ได้อย่างดีด้วย ทำให้ที่ผ่านมารัฐบาลหลายรัฐบาลชอบกระโดดมาที่การสร้างความรับผิดรับชอบเลย ด้วยการใช้อำนาจรัฐปราบปราม บังคับใช้กฎหมาย โดยไม่สร้างการเปิดเผยข้อมูลและการมีส่วนร่วมจากประชาชนอย่างเป็นระบบและเข้มแข็งก่อน มันเลยเกิดยาก หรือถึงมีก็ไม่ยั่งยืน บางทีการปราบปรามนั้นเลยกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองไปเลยด้วยซ้ำ เราเคยได้เห็นตัวอย่างความเปลี่ยนแปลงในหลายๆ ประเทศ เกาหลีใต้เองขนาดประธานาธิบดียังโดนสั่งจำคุกเพราะคดีคอร์รัปชันได้ นั่นเพราะประชาชนสามารถติดตามข้อมูลสาธารณะได้สะดวก และส่งข้อเรียกร้องได้อย่างปลอดภัย นำไปสู่การสร้างกลไกความรับผิดชอบที่มีประสิทธิผล

แต่อย่าเพิ่งหมดหวังครับ เพราะในวันนี้เรามีโครงสร้างพื้นฐานเชิงเทคโนโลยีที่พร้อมขึ้นมาก เรามีตัวอย่างความสำเร็จของ trend นี้ในหลายๆ ประเทศทั่วโลกแล้ว และที่สำคัญเรามีประชาชนจำนวนมากที่ตื่นรู้พร้อมสู้โกงแล้วด้วยจำนวนมาก ดังนั้นยังไม่ช้าเกินไปที่เราจะสร้างระบบที่ดีด้วย OPPA หรือการเปิดเผยข้อมูล (Open Data) Participation (การมีส่วนร่วมของประชาชน) และ Accountability หรือการมีกลไกการรับผิดรับชอบได้ครับ

ด้วยการก้าวตามเทรนด์นี้ เราจะสามารถสร้างระบบนิเวศน์ของการป้องกันการคอร์รัปชันได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล เอื้อให้การแก้ไขปัญหาอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา ความเหลื่อมล้ำ สิ่งแวดล้อม ประสบความสำเร็จได้มากขึ้นนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนได้อย่างแท้จริงครับ

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2566
ผู้แต่ง
  • รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค
  • ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค
หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : โอปป้า เพื่อระบบที่ดีสร้างสังคมยั่งยืน

โอปป้าจ๋าช่วยด้วยยยย ! ทำไมคอร์รัปชันยังไม่หมดไปสักที หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่า ทำไมเราถึงอยากปฏิรูปการศึกษาก็ทำไม่ได้ อยากป้องกันทรัพยากรธรรมชาติก็ทำได้ยากเพราะมีคนแย่งหาผลประโยชน์กันเต็มไปหมด หรือแม้แต่การสร้างสวัสดิการที่ดีให้กับประชาชนก็ดันไม่ถึงมือประชาชนอีก ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากการคอร์รัปชันที่ยังไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปได้นั่นเอง

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เวทีต้านโกงระดับโลก เขาพูดคุยอะไรกัน

4 ประเด็นน่าสนใจจาก “Summit for Democracy 2023” การประชุมระดับโลกเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา HAND Social Enterprise HANDSocialEnterprise ได้รับเชิญจากรัฐบาลเกาหลีใต้ให้ไปร่วมเสวนาในงาน Summit for Democracy 2023 หัวข้อหลักงานปีนี้คือ “การต่อต้านคอร์รัปชัน” เชื่อมโยงคำอธิบายว่า การคอร์รัปชันบ่อนทำลายประชาธิปไตย ในทางกลับกันประเทศที่ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งจะทำให้คอร์รัปชันสูงขึ้น

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เรามีคนโกงเพิ่มขึ้น หรือ เราจับคนโกงได้มากขึ้น

แจ้งไม่เยอะแน่นะวิ ! ปี 65 พบการแจ้งเรื่องทุจริตเกือบ 10,000 เรื่องในไทย เคยสงสัยกันบ้างไหมว่าทั้งๆ ที่มีหน่วยงานปราบโกงที่มีอำนาจทางกฎหมายล้นเหลืออยู่หลายหน่วยงาน ทำไมระดับการคอร์รัปชันของไทยยังดูจะแย่ลงเรื่อยๆ

You might also like...

บทความวิจัย : นโยบายต่อต้านคอร์รัปชันและการให้สินบน

การศึกษาสาเหตุของปัญหาคอร์รัปชันและการให้สินบน พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหา คือ การปรับทัศนคติของสังคม และโครงสร้างทางอำนาจของรัฐ

บทความวิจัย : การแก้ปัญหาคอรัปชันในยุคดิจิทัลตามแนวพุทธจริยธรรม

หิริโอตตัปปะ ฆราวาสธรรม และทิศ 6 หลักธรรมที่ควรนำมาประยุกต์เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาคอรัปชันในยุคดิจิทัล เพราะการแก้ปัญหาอาจต้องย้อนกลับไปแก้ไขที่รากเหง้า คือ การสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจ

บทความวิจัย : กบฏโพกผ้าเหลือง กับเสถียรภาพทางการเมืองในวรรณกรรมสามก๊ก

“กบฎโพกผ้าเหลือง” สะท้อนให้เห็นว่าการฉ้อราษฎร์บังหลวงในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจนำมาสู่การล่มสลายของราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ดังนั้น เพื่อเสถียรภาพทางการเมือง รัฐจะต้องมีมาตรการป้องกันการทุจริตคอรัปชัน ควบคู่ไปกับการดูแลประชาชนให้อยู่ดีกินดี