ระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องเปิดเผย โปร่งใส และสร้างการมีส่วนร่วมเพื่อลดโอกาสการคอร์รัปชัน
การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐซึ่งเป็นกระบวนการที่รัฐบาลจัดหาสินค้าและบริการ มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และส่งเสริมการเจริญเติบโตของประเทศ การดำเนินการอย่างตรงไปตรงมาจะช่วยสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม และคุ้มค่าต่อเงินภาษีของประชาชน แต่หากมีการคอร์รัปชัน กระบวนการนี้ก็จะกลายเป็นเครื่องมือสำหรับการเล่นพรรคเล่นพวก การรับสินบน และการใช้จ่ายที่สิ้นเปลือง
ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมีความหลากหลาย บางประเทศ เช่น สิงคโปร์มีระบบที่เข้มแข็งกับการตรวจสอบที่เข้มงวด ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ เช่น มาเลเซีย และ กัมพูชา ยังคงประสบปัญหาจากกฎหมายที่อ่อนแอ การทำสัญญาลับ และการทุจริตที่แพร่หลาย
ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชันและส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค (KRAC) ร่วมกับ ศูนย์ C4 ของประเทศมาเลเซีย ได้จัดทำรายงานการศึกษาร่วมกันเพื่อแสวงหาแนวทางที่ดีเพื่อพัฒนาต่อยอดแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่มีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันปัญหาการคอร์รัปชัน และต่อยอดการยกระดับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในระดับภูมิภาค
ถอดบทเรียนปัญหา 3 ประการเกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างการคอร์รัปชันกับการทำลายระบบการจัดซื้อจัดจ้าง
รายงานฉบับนี้สะท้อนปัญหาที่น่าสนใจ 3 ประการที่เกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างการคอร์รัปชันกับการทำลายระบบการจัดซื้อจัดจ้าง โดยถอดบทเรียนจากปัญหาประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประการแรก รายงานชิ้นนี้สะท้อนให้เห็นว่าการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของหลายประเทศเป็นลักษณะการประมูลงานที่ไม่เป็นธรรม และในหลายลักษณะเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้อง
เช่น คดีเรือรบ LCS ของมาเลเซียที่มีการใช้งบประมาณกว่า 9 พันล้านริงกิต แต่ไม่มีการส่งมอบเรือแม้แต่ลำเดียว มีเพียงเจ้าหน้าที่ของรัฐระดับล่างที่ถูกดำเนินคดี ในขณะที่ผู้มีอำนาจระดับสูงรอดพ้นจากความรับผิดชอบ หรือ กรณีช่องโหว่ “เอ็นจีโอปลอม” ในฟิลิปปินส์ โดยกฎหมายฟิลิปปินส์กำหนดให้ต้องมีภาคประชาสังคมเข้ามาตรวจสอบโครงการของรัฐ แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือ บางหน่วยงานสร้างเอ็นจีโอปลอมเพื่อเลี่ยงการตรวจสอบ เป็นต้น
ประการที่ 2 รายฉบับนี้พบว่าการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของหลายประเทศในภูมิภาคนี้ยังคงขาดความโปร่งใส
รัฐบาลหลายแห่งปกปิดรายละเอียดการจัดซื้อจัดจ้าง ทำให้ประชาชนไม่สามารถติดตามการใช้จ่ายได้ เช่น ระบบ e-procurement ของอินโดนีเซียที่ควรจะลดปัญหาการฮั้วประมูลและเลือกปฏิบัติ แต่ความเป็นจริงพบว่า 40-50% ของสัญญา เลี่ยงระบบนี้โดยใช้ข้อยกเว้น (เช่น “ความมั่นคงแห่งชาติ” หรือ “กรณีฉุกเฉิน”) หรือในกรณีของโครงการคลองเดโชของกัมพูชา มูลค่า 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งทำข้อตกลงกับจีน มีข้อมูลสาธารณะน้อยมาก ทำให้เกิดข้อสงสัยว่ามีการรับสินบน เป็นต้น
ประการที่ 3 การมีอยู่ของวิธีการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐแบบพิเศษ โดยบางครั้งรัฐบาลใช้วิธีการพิเศษเหล่านี้เพื่อเลี่ยงกฎเกณฑ์ปกติ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการทุจริต
เช่น 1) ความร่วมมือรัฐบาล-เอกชน (PPP) ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทพวกพ้อง 2) ข้อตกลงรัฐบาลต่อรัฐบาล (G2G) ที่ปกติมักไม่มีการประมูลแบบเปิด เพราะเน้นการลงนามในสัญญาให้กับบริษัทที่ได้รับการสนับสนุน 3)การจัดซื้อจัดจ้างกรณีฉุกเฉิน ซึ่งมักอาศัยการเร่งรีบในการจัดซื้อจึงสามารถรัดขั้นตอนในการตรวจสอบได้ และ 4) การใช้จ่ายนอกงบประมาณ ที่มักเป็นการค้ำประกันเงินกู้ให้กับรัฐวิสาหกิจโดยรัฐ แต่การใช้จ่ายมักไม่เปิดเผยสู่สาธารณะ เป็นต้น
แน่นอนว่ารายงานฉบับนี้ ได้พยายามถอดบทเรียนจากข้อดีข้อเสียต่าง ๆ ในระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งในรายงานค้นพบว่า แม้ประเทศที่มีประสิทธิภาพในการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินอย่างสิงคโปร์เองยังคงมีช่องว่างในเรื่องนี้ ไม่แตกต่างไปจากประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค เพียงแค่สถานการณ์การคอร์รัปชันอาจไม่หนักหน่วงเท่า
โดยแต่ละประเทศมีกรณีศึกษาที่แตกต่างกันออกไปที่สะท้อนให้เห็นการใช้ช่องว่างทางกฎหมายเพื่อคอร์รัปชัน เช่น ฟิลิปปินส์นักการเมืองท้องถิ่นนิยมแบ่งโครงการใหญ่เป็นโครงการย่อยเพื่อเลี่ยงการตรวจสอบ ใน มาเลเซีย รัฐวิสาหกิจ (SOEs) ถูกใช้เพื่อปกปิดการคอร์รัปชัน ในขณะที่ อินโดนีเซีย คณะกรรมการปราบปรามการทุจริต (KPK) ไม่มีอำนาจตรวจสอบสัญญาด้านกลาโหมและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งไม่แตกต่างไปจากกรณีของประเทศไทย แต่ที่แย่ที่สุดคงเป็นในกัมพูชา และลาว ที่ระบบการเมืองแบบปิดส่งผลให้ไม่สามารถตรวจสอบการใช้งบประมาณได้อย่างตรงไปตรงมา
ข้อเสนอ 6 ประการจากจุดแข็งของระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เพื่อให้ช่องว่างและช่องโหว่ในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่เกิดขึ้นเหล่านี้ลดลง หรือหมดไปในอนาคต รายงานศึกษาได้ออกแบบข้อเสนอที่น่าสนใจ 6 ประการ อันเป็นผลสำคัญมาจากการศึกษาจุดแข็งของระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันประกอบไปด้วย
ประการที่ 1 รายงานเสนอว่าควรมีการออกกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้างอย่างเป็นทางการ และนำไปปฏิบัติได้จริง
เพราะในหลายประเทศแนวทางการจัดซื้อจัดจ้างที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นเพียงแค่นโยบายเท่านั้น
ประการที่ 2 การสร้างความโปร่งใสเต็มรูปแบบ โดยการเผยแพร่ทุกสัญญาการจัดซื้อจัดจ้าง
เพราะเห็นได้ชัดว่าในหลายประเทศการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานความมั่นคง และรัฐวิสาหกิจไม่สามารถตรวจสอบสัญญาได้
ประการที่ 3 ควรมีมาตรการและกฎหมายที่ชัดเจนในการปกป้องผู้แจ้งเบาะแส
เพราะในหลายประเทศยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองอย่างเป็นระบบ ซึ่งทำให้การแจ้งเบาะแสการคอร์รัปชันกลายเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยง
ประการที่ 4 ควรมีการกำกับและควบคุมรัฐวิสาหกิจอย่างเป็นระบบ
เพราะในหลายประเทศรัฐวิสาหกิจกลายเป็นแหล่งคอร์รัปชันที่สำคัญของระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
ประการที่ 5 การมีส่วนร่วมของประชาชนช่วยให้โครงการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐมีประสิทธิภาพขึ้นได้หากมีแพลตฟอร์มที่ดี
เพราะประชาชนจะช่วยทำงานตรวจจับการทุจริตได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งช่วยลดกำลังคนของหน่วยงานตรวจสอบการคอร์รัปชันได้ และประการสุดท้ายการสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาค โดยเฉพาะการมีฐานข้อมูลร่วมกันเพื่อติดตามพฤติกรรมการคอร์รัปชันของนักการเมืองและนักธุรกิจในภูมิภาค
โดยสรุปอาจกล่าวได้ว่าการคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐไม่ใช่แค่เรื่องเงินที่สูญเปล่า แต่ยังเกี่ยวกับ ระบบการรักษาพยาบาลที่ด้อยประสิทธิภาพ ถนนที่พังทลาย และความเชื่อมั่นในรัฐบาลที่สูญเสียไป บางประเทศ เช่น สิงคโปร์ แสดงให้เห็นว่า ระบบที่แข็งแกร่งสามารถทำงานได้ดี และส่งเสริมให้การจัดซื้อจัดจ้างมีประสิทธิภาพ
ปัจจุบันเราจึงจำเป็นต้องมีกฎหมายที่มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่แค่แนวทาง ความโปร่งใสเต็มที่ ไม่มีการทำสัญญาลับอีกต่อไป และแรงกดดันจากสาธารณะ ประชาชนต้องเรียกร้องความรับผิดชอบ ซึ่งรายงานการศึกษาฉบับนี้ได้เสนอแนวทางที่น่าสนใจไว้มากมาย แต่คำถามก็คือรัฐบาลจะนำไปปฏิบัติหรือไม่?
ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
28 พฤษภาคม 2568
ผู้แต่ง
ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค
หน่วยงานสนับสนุน
หัวข้อ
Related Content
KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | หลังฉากความสำเร็จการพัฒนาโครงการ งบประมาณถึงมือชาวบ้านหรือมือใคร ?
ทราบหรือไม่ว่ายังมีอีกหลายโครงการที่ใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในการพัฒนาชุมชน แต่กลับสูญเปล่า หรือไม่คุ้มค่ากับที่ตั้งใจไว้ ทำให้ชาวบ้านที่ฝันไกลว่าอยากให้ชุมชนพัฒนาแค่ไหน แต่งบประมาณกลับไปไม่ถึง
KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | รู้จัก “3 พันธมิตร” ต้นตอของการคอร์รัปชันในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่
โครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของรัฐ หมายถึงโครงการก่อสร้างที่มีงบประมาณตั้งแต่ 1 พันล้านบาทขึ้นไป หรือที่เรามักได้ยินว่า “เมกะโปรเจกต์” (Mega Project) และด้วยการที่เป็นโครงการที่มีงบประมาณจำนวนมาก การทุจริตในโครงการประเภทนี้จึงสร้างความเสียหายอย่างมากให้กับงบประมาณประเทศ
KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | ทำไมบริษัทก่อสร้างไทย อาจเป็นได้แค่ผู้รับจ้างของบริษัทจีน ?
ชวนคาดการณ์การเข้ามาของจีนในอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ภายใต้กฎหมายจัดซื้อจัดจ้าง พ.ศ. 2560 โดยงานวิจัยนี้พบว่า อีก 3 ปีข้างหน้าบริษัทจากจีนอาจสร้างความปั่นป่วนให้อุตสาหกรรมก่อสร้างไทยไม่น้อยทีเดียว