Ghostly Corruption: รู้จัก ‘ผีขี้โกง’ ในสังคมไทย

👻 KRAC ขอเปิดซีรีส์ผี ๆ กับการคอร์รัปชันในสังคมไทย ให้เข้ากับช่วงเทศกาลฮาโลวีน🎃 ที่นอกจากจะมีผีที่หลอกให้เรากลัวจนขวัญผวาเเล้ว ยังมีผีการคอร์รัปชันที่คอยหลอกหลอนสังคมให้เเย่ลงทุกวี่ทุกวัน เป็นผีที่เราต้องช่วยกันสาดน้ำมนต์ไล่พวกมันออกไปจากสังคมเราเสียที 

เรากำลังอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีผีหลอกแบบไม่ทันรู้ตัวอยู่รึเปล่า? 

 
วันนี้ KRAC ขอเปิดซีรีส์ผี ๆ กับการคอร์รัปชันในสังคมไทย ให้เข้ากับช่วงเทศกาลฮาโลวีน ที่นอกจากจะมีผีที่หลอกให้เรากลัวจนขวัญผวาแล้ว ยังมีผีของการคอร์รัปชันที่คอยหลอกหลอนสังคมให้แย่ลงทุกวี่ทุกวัน เป็นผีที่เราทุกคนต้องช่วยกันสาดน้ำมนต์ไล่พวกมันออกไปจากสังคมเราเสียที
 
อ่านมาถึงตรงนี้ก็อย่าพึ่งงงไปก่อนว่า เรื่องผี ๆ มันเกี่ยวยังไงกับการคอร์รัปชัน จริง ๆ มันไม่ได้มีอะไรซับซ้อนขนาดนั้น เราก็แค่เปรียบเปรยพฤติกรรมการคอร์รัปชันในรูปแบบต่าง ๆ ว่ามีลักษณะคล้ายผีอะไรบ้างที่หลอกให้เรากลัวจนขวัญผวาเท่านั้นเอง
 
ที่ยกเรื่องผี ๆ ขึ้นมา เพราะหลายคนชอบพูดกันว่าตั้งแต่เกิดมายังไม่เคยเห็นผีเลยสักครั้ง แต่ถ้าผีคือการคอร์รัปชันละ เราอาจเห็นผีกันจนชินตา เห็นกันทุกวี่ทุกวัน จนเราไม่ได้คิดว่ามันเป็นผีไปแล้ว แต่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลกมนุษย์
 
เอาเข้าจริงแล้วในสังคมไทยมีผีคอร์รัปชันหลากหลายรูปแบบที่เราอาจพบเจอ ทั้งที่ประสบกับตัวเองในที่ทำงาน พบเจอจากการติดต่อราชการ รับฟังจากการบอกเล่า หรือฟังผู้ประกาศข่าวรายงาน ฉะนั้นผีคอร์รัปชันอาจใกล้ตัวพวกเรามากกว่าผีที่ทำให้เราขวัญผวาเสียด้วยซ้ำ
 
จากความพยายามสรุปและรวบรวมการศึกษาเกี่ยวกับการคอร์รัปชันประเภทต่าง ๆ ในประเทศไทย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ได้มีการแบ่งประเภทของผีขี้โกงในสังคมออกเป็น 6 ผีสำคัญ 👻 ประกอบด้วย (1) ผีแม่ชี  (2) ผีดูดเลือด (3) ผีเข้าผีออก (4) ผีป(ล)อบ (5) ผีซอมบี้ และ (6) ผี THE SHOCK RADIO
 
ซึ่งแน่นอนว่าผีแต่ละประเภทมีพฤติกรรมการขี้โกงที่แตกต่างกัน และมีความถี่ในการหลอกหลอนสังคมไทยไม่เท่ากัน
 

แล้วแต่ละผีขี้โกงแตกต่างกันยังไง สังคมไทยเจอผีเหล่านี้หลอกหลอนอย่างไรบ้าง ติดตามเรื่องเล่าผี ๆ กับการหลอกหลอนสังคมไทย ในซีรีส์ KRAC ฮาโลวีนด้านล่างนี้ได้เลย

01 – ดีเเต่โกงฉบับ  ‘ผีเเม่ชี’

ทำบาปหลังทำบุญแบบนี้ ยังแปลว่าคุณเป็นคนดีอยู่จริงหรือ ? 

 

กิจกรรมที่พบเห็นได้บ่อยครั้งในประเทศของเราที่ถูกเรียกว่าเป็นเมืองแห่งน้ำใจ คือ การทำบุญและบริจาคเงินให้กับบุคคลหรือสถานที่ต่าง ๆ โดยเฉพาะกับองค์กรศาสนา  ซึ่งมักจะมาพร้อมกับคำว่าให้บริจาค ‘ตามกำลังศรัทธา’ ที่อาจจะตีความได้ในอีกรูปแบบหนึ่งว่า ‘ศรัทธาเท่าไหร่ ให้ใส่เงินไปเท่านั้น’

การทำบุญด้วยแรงศรัทธาบนฐานของการใช้เงินเป็นสะพานเชื่อมนี้เอง จึงเป็นที่มาของการมีผีขี้โกงที่เกิดขึ้นในคราบนักบุญอย่าง ‘ผีแม่ชี’ ที่เรามักจะเห็นการนำความเชื่อและกิจกรรมทางศาสนา มาใช้เป็นช่องทางในการหยิบฉวยโอกาสหรือหาผลประโยชน์จากความศรัทธาของผู้คน

ปรากฏการณ์เหล่านี้ได้ถูกเรียกว่าเป็น ‘ใบอนุญาตทางศีลธรรม’ (Moral licensing) ที่มองว่าการหักล้างความชั่วที่คนเหล่านี้ได้ทำไป สามารถทำได้ด้วยการใช้ความดีที่เคยทำในอดีตมาทดแทน ซึ่งจะเห็นได้บ่อยครั้งจากเหตุการณ์รอบตัวเรา เช่น กรณีของ ‘เงินทอนวัด’ ที่เกิดขึ้นในวัดหลายแห่งเกี่ยวกับการยักยอกเงินที่ได้จากการทำบุญของบรรดาลูกศิษย์ที่ช่วยดูแลวัดและคอยเป็นธุระให้กับพระสงฆ์ในทางโลก

ความเสียหายที่ส่งผลต่อสังคมบนการฉาบหน้าด้วยการบอกว่าฉันเป็นคนดี (ที่หวังผลตอบแทนเพียงเล็กน้อย) เหล่านี้ มักถูกใช้กล่าวอ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำผิดของคนโกง และเปลี่ยนผิดให้เป็นชอบ  ซึ่งอาจได้ผลในเชิงการปลอบประโลมจิตใจของผู้กระทำว่า ‘ฉันไม่ผิด’ แต่ไม่อาจเปลี่ยนแปลงความเป็นจริงที่เกิดขึ้นให้กลายเป็นว่า ‘ฉันไม่ได้โกง’ ได้แต่อย่างใด

วัฏจักรเวียนว่ายของการโกงที่เกิดขึ้น และยังคงตั้งอยู่ แต่ไม่ยอมดับสูญไป เพราะการมีใบอนุญาตทางศีลธรรมให้ทำความผิดได้นี้ จึงเป็นความน่ากลัวที่ ‘ผีแม่ชี’ ได้สร้างขึ้นและพร้อมที่จะหลอกหลอนผู้คนในสังคมต่อไป 

 
เรื่อง: เจษฎา จงสิริจตุพร
ภาพประกอบ: ธนากาญจน์ กันทอง

02 –  ‘ผีดูดเลือด’ ในที่ทำงาน

ผีดูดเลือดในที่ทำงาน บุคคลที่ดูดกลืนจิตวิญญาณคนอื่นทีละเล็กทีละน้อย 

KRAC ซีรีส์ฮาโลวีนวันนี้ขอนำเสนอเรื่องผี ๆ กับความขี้โกงของคนในที่ทำงาน ที่นอกจากจะสร้างความเสียหายทางการเงินให้กับบริษัทแล้ว บางครั้งมันก็ทำลายจิตวิญญาณของเพื่อนร่วมองค์การอีกด้วย

ผีขี้โกงตัวหนึ่งที่เราอยากนำเสนอ เพราะเราสามารถพบเห็นมันได้บ่อย ๆ ในที่ทำงานคือ “ผีดูดเลือด” หรือ “แวมไพร์” ผีขี้โกงตัวนี้มีพฤติกรรมโกงเล็กโกงน้อย และรู้สึกว่าการโกงเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่เป็นอะไร ไม่ส่งผลต่อภาพใหญ่ขององค์การ แต่เมื่อทำติดเป็นนิสัยการโกงก็ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จนองค์การเสียหายได้

พฤติกรรมการโกงแบบนี้ เหมือนกับแวมไพร์ ที่กินเลือดคนนู้นที คนนี้ที ทีละเล็ก ละน้อย เพื่อให้อยู่รอดไปแต่ละวัน แต่พฤตกรรมแบบนี้เมื่อสะสมไปเรื่อย ๆ ก็อาจลืมตัวจนดูดเลือดคนจนเสียชีวิต 

บางคนอาจบอกว่าผีดูดเลือด เป็นผีเมืองนอก ไม่มีอยู่จริงในสังคมไทย ฉะนั้นคนไทยไม่มีทางได้เจอแวมไพร์หรอก แต่ถ้าลองมองว่าแวมไพร์เป็นผีขี้โกงตัวหนึ่ง เชื่อเลยครับว่า ใครหลายคนที่อ่านมาถึงจุดนี้อาจกำลังโดนดูดเลือดอยู่ไม่มากก็น้อย

เพราะนอกจากผีดูดเลือดจะโกงเงินเล็กน้อยขององค์การแล้ว บางครั้งผีพวกนี้ก็โกงเวลาทำงานขององค์การด้วย เช่น เข้างานช้า แต่ออกงานเร็ว โดยที่ไม่ได้ตกลงกับหัวหน้างาน หรือเพื่อนร่วมงานไว้ก่อน พฤติกรรมเหล่านี้ก็คือการโกงเช่นเดียวกัน 

ผีดูดเลือดบางตัวก็มาในรูปการสูบจิตวิญญาณของเพื่อนร่วมงาน โดยเฉพาะการดูดเอาความดีความชอบ และผลงานของคนในทีมไปเป็นของตัวเอง ทั้งที่ตัวเองไม่ได้ทำงานชิ้นนี้เลยด้วยซ้ำ นั่นแหละคือฝีมือของแวมไพร์ดูดผลงาน 

พฤติกรรมผีดูดเลือดในที่ทำงานที่เรายกตัวอย่างมานี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของพฤติกรรมผีขี้โกง ที่เราเชื่อว่าหลายคนที่อ่านมาถึง ณ จุดนี้ต้องพบเจอกับผีตัวนี้ในที่ทำงานแน่ ๆ ดังนั้นเรามาทำให้เดือนฮาโลวีนนี้ไม่ใช่แค่การแต่งผีและแจกขนมหวานกันอย่างเดียว แต่ร่วมกันเปิดโปงและพูดถึง “แวมไพร์ในที่ทำงาน” กันเถอะ

มาร่วมแชร์ประสบการณ์เจอผีดูดเลือดกัน—เคยเจอพฤติกรรมทุจริตแบบนี้หรือเปล่า? แล้วจัดการกับมันอย่างไร? มาร่วมกันทำให้สิ่งนี้สว่างขึ้นและสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ยุติธรรมและโปร่งใสมากขึ้นสำหรับทุกคน!


เรื่อง: ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก
ภาพประกอบ: ธนากาญจน์ กันทอง

03 – ‘ผีเข้าผีออก’  ผีขี้โกงที่ผลุบ ๆ โผล่ ๆ ตามช่องโหว่ทางกฎหมาย

ผีเข้าผีออก ผีขี้โกงที่ผลุบๆ โผล่ ๆ ตามช่องโหว่ทางกฎหมาย 


หนึ่งในกิจกรรมที่นิยมทำกันในช่วงเทศกาลฮาโลวีน คงหนีไม่พ้นการนำเรื่องผีที่แต่ละคนเคยพบเคยเจอมาเล่าให้ฟังในกลุ่มเพื่อน  KRAC เองก็ถือโอกาสนี้มาเล่าเรื่องผีขี้โกงให้ทุกคนได้ฟังกัน ผีที่อยากหยิบมาเล่าในวันนี้ เป็นผีที่หลายคนอาจเคยเจอมาแล้วโดยไม่รู้ตัว นั่นคือ “ผีเข้าผีออก”

“ผีเข้าผีออก” เป็นผีประเภทที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ เลยไม่สามารถรู้ได้ชัดว่าจะหลอกเราในเวลาหรือสถานที่ไหน แต่ผีตัวนี้สามารถหลอกเราแบบเนียน ๆ ได้ทุกคน ผีประเภทนี้มีลักษณะเป็นผีที่ชอบใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายที่ไม่มีการห้าม หรือระบุความผิดไว้อย่างชัดเจน มาเป็นโอกาสในการหลอก (การหาผลประโยชน์เข้าตัวเองและพวกพ้อง)

หลายคนอาจเคยเจอ หรือได้ยินข่าวการออกอาละวาดของผีตัวนี้ ไม่ว่าจะเป็นการหลอกพวกเราด้วยการแต่งตั้งคนใกล้ชิด หรือญาติของตัวเองเข้ารับตำแหน่งสำคัญที่กินเงินภาษีโดยไม่พิจารณาความสามารถหรือความเหมาะสม ซึ่งอาจทำให้ส่งผลเสียต่อกระบวนการทำงาน

ผีบางตัวถึงขั้นแต่งตั้งคนของตัวเองเพื่อรับเงินเดือนโดยที่ไม่ได้ทำงานด้วยซ้ำ เมื่อผีเข้าผีออกมาอยู่รวมกัน ก็จะยิ่งเอื้อให้เกิดการคอร์รัปชันได้ง่าย เพราะเมื่อมีผีเป็นกลุ่มก็จะยิ่งช่วยกันหลอกและเอาผลประโยชน์มาแบ่งกัน ส่งผลสังคมไม่ได้คนมีคุณภาพเข้าไปในระบบงานทั้งภาครัฐ และเอกชน

ผีเข้าผีออกบางประเภทมีวิธีการหลอกด้วยการเปิดให้มีการจัดซื้อจัดจ้าง แต่มีการกำหนดขอบเขตงาน (TOR) ที่เฉพาะเจาะจงทำให้สามารถจำกัดคนเข้ามาประมูลจัดซื้อจัดจ้างเป็นคนของตัวเองได้ 

ผีบางตัวก็ใช้ประโยชน์จากช่องว่างทางกฎหมายที่สามารถกำหนดการจัดซื้อจัดจ้างที่เฉพาะเจาะจงได้ในกรณีที่งบประมาณโครงการไม่เกิน 500,000 บาท มาใช้ในการเอื้อผลประโยชน์กับพรรคพวกหรือญาติของตน 

ผีเหล่านี้เมื่อหลอกบ่อย ๆ เข้าก็จะทำให้บริษัทหรือหน่วยงานที่ผีสิงอยู่มีต้นทุนในการบริหารที่เพิ่มขึ้น เพราะมักจะได้สินค้าหรือบริการที่ราคาแพงกว่าคุณภาพของสินค้าที่ได้ แล้วยังมีต้นทุนที่เกิดจากการซ่อมบำรุงอีกด้วย

หลังจากฟังเรื่องผีตัวนี้แล้ว เพื่อน ๆ คิดว่าตัวเองเคยเจอผีประเภทนี้ในที่ทำงาน หรือในชีวิตประจำวันของตัวเองบ้างหรือเปล่า มาร่วมแชร์ประสบการณ์และติดแฮชแท็กกับ KRAC เพื่อรวบรวมและแลกเปลี่ยนเรื่องผีขี้โกงที่แต่ละคนเคยเจอมาให้สังคมได้รับรู้กัน 


เรื่อง: ศุภชัย เสถียรหมั่น
ภาพประกอบ: ธนากาญจน์ กันทอง

04 –  ฟอกสีแบบ ‘ผีป(ล)อบ’ 

ผีป(ล)อบ ทำเลวมาทั้งชีวิต ขอทำดีหวังไปสวรรค์สักครั้งได้ไหม? 


สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการทำบุญ เพราะทุกคนต่างอยากทำดีเพื่อสะสมบุญบารมี การบริจาคจึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของบ้านเราไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  แต่ใครจะรู้ล่ะว่าบรรดานักบุญ นักบริจาคทั้งหลาย พวกเขาเหล่านั้นอาจเป็นหนึ่งในผีขี้โกง อย่าง “ผีป(ล)อบ” อยู่ก็เป็นได้

“ผีป(ล)อบ” ที่ว่านี้ไม่ได้วิ่งไล่คนลงโอ่งเหมือนในภาพยนตร์ แต่เป็นผีขี้โกงที่พยายามปลอบประโลมจิตใจของตัวเองหลังจากทำความผิด หรือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการคอร์รัปชัน  โดยบรรดาผีป(ล)อบ มักมีหลากหลายวิธีในการปลอบใจตัวเอง หนึ่งในนั้นก็คือนำเงินที่ไม่ถูกต้องไปบริจาค

พฤติกรรมเหล่านี้เป็นเพียงการทำให้ผีตัวนี้รู้สึกสบายใจขึ้น แต่ถ้าถามว่าการคอร์รัปชันที่ผีเหล่านี้ได้กระทำไปนั้นได้หายไปหรือเปล่า  คำตอบก็คือ “ไม่” และเผลอ ๆ อาจจะหนักกว่าเดิม เพราะพวกเขารู้สึกว่าเขาไม่ได้โกงให้ตัวเองอย่างเดียว แต่ยังแบ่งปันให้สังคมด้วย

ในชีวิตใครหลายคน เราเชื่อเหลือเกินว่าคงได้พบเจอผีป(ล)อบตัวนี้หลอกหลอนอยู่ไม่ใช่น้อย เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ระบบการรับบริจาคของประเทศไทยยังไม่มีการตรวจสอบที่ไปที่มาของเงิน  และที่แย่ไปกว่านั้นคือบางครั้งการบริจาคเหล่านี้กลายเป็นการฟอกเงิน และฟอกความผิดของคนโกงไปด้วยในตัว

นอกจากเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ แล้ว ผีป(ล)อบบางตัวที่ทำผิด คดโกง หรือคอร์รัปชัน เมื่อเจอปัญหาหรือจวนตัว บางครั้งก็เอาศาสนามาบังหน้าเพื่อล้างบาปให้ตัวเองผ่านการบวช  ซึ่งการเอาผ้าเหลืองมาห่มกายนี้ก็ถือเป็นการปลอบจิตใจอย่างหนึ่งที่ผีตัวนี้นิยมทำเหลือเกิน

เห็นหรือยังครับว่า ผีป(ล)อบนี้ใกล้ตัวเรากว่าที่คิด และที่น่าตกใจคือ เราเห็นมันจนชินตา หรือใครหลายคนก็อาจหลงไปเยินยอผีเหล่านี้แบบไม่ทันรู้ตัว เพราะเราก็ไม่เคยตรวจสอบที่มาของเงินพวกเขาเวลาไปบริจาค เหมือนกรณีที่พึ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้


ฮาโลวีนนี้เรามาช่วยกันเปิดโปง “ผีป(ล)อบ” กันเถอะ ร่วมแชร์ประสบการณ์พบเจอผีป(ล)อบ หรือชี้เป้าผีป(ล)อบ ที่คุณคิดว่ามีพฤติกรรมน่าสงสัย เพื่อสร้างสังคมไทยไร้ผีขี้โกงไปด้วยกัน


เรื่อง: ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก
ภาพประกอบ: ธนากาญจน์ กันทอง

05 – ‘ผีซอมบี้’ ครองเมือง

“ส่องดูเรื่องโกง ๆ ด้วยข้ออ้างที่ว่าใคร ๆ เขาก็ทำกัน” 

หลายคนคงเคยคุ้นเคยกับภาพฝูงซอมบี้ที่หิวกระหายในบรรยากาศวันสิ้นโลกบนจอภาพยนตร์ การนำเสนอภาพของสภาพร่างกายที่เน่าเฟะ ดวงตาขุ่นมัวไร้ชีวิตชีวา และการเดินลากขาไปมาพร้อมอ้าปากพะงาบ ๆ กันเป็นโขยง แทบจะเป็นภาพจำของผีซอมบี้ ที่ไม่ว่าหนังกี่เรื่อง ๆ ก็ล้วนเป็นแพตเทิร์นเช่นนี้ทั้งสิ้น 

ดังนั้น “ผีซอมบี้” หนึ่งในผีขี้โกง จึงหมายถึง ผีที่อยู่กันเป็นฝูง มีพรรคพวกมากมายที่ทำตัวเหมือน ๆ กัน  ภายใต้แนวคิดที่ว่าใคร ๆ ก็โกงกันทั้งนั้น ในเมื่อคนอื่นทำได้ แล้วทำไมเราจะทำไม่ได้?

แนวคิดนี้ถือเป็นการทำสิ่งที่ไม่ปกติให้กลายเป็นสิ่งปกติ และหากคนทั้งสังคมสมาทานแนวคิดดังกล่าวแล้วร่วมใจพากันโกง จนการโกงกลายเป็น new normal สังคมนั้นก็คงโกลาหลไม่ต่างจากการล่มสลายของโลกในภาพยนตร์ซอมบี้อย่างแน่นอน 

แพตเทิร์นการโกงของผีซอมบี้ที่มีให้เห็นดาษดื่นในสังคมไทย ได้แก่ การละเมิดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ในยุคออนไลน์” ที่การกระทำเหล่านี้สามารถทำได้ง่ายกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นการดาวน์โหลดหรือลักลอบเข้าชมภาพยนตร์ ซีรีส์ เพลง หรือเกมบนเว็บไซต์เถื่อน หรือแม้กระทั่งการใช้ซอฟต์แวร์ปลอม โปรแกรมเถื่อน ก็นับรวมว่าเป็นพฤติกรรมโกงของผีซอมบี้ทั้งนั้น

แม้ว่าปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญาอาจเป็นปัญหาที่หลายคนมองว่าเล็กน้อย แต่จริง ๆ แล้วปัญหาที่ว่านี้ นอกจากจะทำให้ผู้ผลิตหมดแรงใจในการรังสรรค์ผลงานแล้ว ยังสามารถขยายไปสู่ปัญหาอื่น ๆ อีกนับไม่ถ้วน โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนที่สามารถเข้าถึงสื่อที่ไม่ได้รับการจัดเรตที่เหมาะสมกับช่วงวัย จนอาจนำไปสู่ปัญหาความรุนแรง ปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรม หรือปัญหาต่าง ๆ อีกมากมาย

นอกจากนี้ การละเมิดลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญายังอาจมีส่วนเอื้อให้เกิด “วัฒนธรรมก๊อปปี้” ที่คนในสังคมพากันลอกแบบ เลียนตาม จนขาดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และหากเป็นเช่นนี้ต่อไป สังคมอาจก็เข้าสู่ยุคมืดที่ไม่อาจพบเจอแสงสว่างทางปัญญาได้อีกเลย 


สุดท้ายแล้ว วิธีหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสผีซอมบี้จึงอาจเริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยการที่คนในสังคมตระหนักได้ว่าการโกงไม่ใช่เรื่องปกติ และต้องไม่ทำเลียนแบบกันอย่างผิด ๆ โดยขาดวิจารณญาณ เพราะในเมื่อการโกงไม่ใช่เทรนด์ จึงไม่ใช่สิ่งจำเป็นต้องทำตาม! 


เรื่อง: ธนากาญจน์ กันทอง
ภาพประกอบ: ธนากาญจน์ กันทอง

06 –  เรื่อง ‘ผีขี้โกง’มันมีอยู่ว่า

เราจะไปที่สายสุดท้ายของค่ำคืนนี้ คุณปราบโกงมาพร้อมกับเรื่องเล่าขานของ ‘ผีนักเล่า’ ลาสบอสที่พร้อมจะลากคนขวัญอ่อนลงหลุมแห่งความตายไปด้วยกัน บรู๊ววววววว!

 

“เรื่องมันเป็นอย่างนี้ครับพี่แจ็ค” …ถ้าใครติดตามซีรีส์ Ghostly Corruption ผีขี้โกงในสังคมไทยจะเห็นว่าผีขี้โกงแต่ละตัวมันร้ายมาก ทั้ง ‘ผีดูดเลือด’ ที่คอยกินเลือดคนนู้นที คนนี้ที ‘ผีเข้าผีออก’ ที่ผลุบๆ โผล่ ๆ หาจังหวะโกงจากช่องโหว่ทางกฎหมาย ฝูง ‘ผีซอมบี้’ ที่ยกโขยงมาโกงกินสังคมแบบจุก ๆ และเหล่าบรรดา ‘ผีป(ล)อบ’ กับ ‘ผีแม่ชี’ ที่ชอบเอาเงินบาปมาทำบุญ เทียวไปทำบุญวัดนั้นวัดโน้น เพื่อลบล้างความผิดที่ทำระหว่างทาง แต่พอหักลบกลบหนี้ก็ยังรู้สึกว่าความชั่วมันยังเยอะอยู่ เลยรู้สึกไม่สบายใจแปลก ๆ กลัวพญายมราชจะลากคอไปลงนรก ทีนี้ได้อดโกงไปชั่วกัปชั่วกัลป์ จึงเปิดฉากปลุกลาสบอสให้มาล้มกระดานโกง ก่อนจะนับหนึ่งทำชั่วใหม่อีกครั้ง

“เฮ้ยยยยยยย” …ลาสบอสตัวนี้มันชื่อว่า ‘ผีนักเล่า’ ครับพี่แจ็ค มันจะออกมาต่อเมื่อคนในสังคมเริ่มรู้ทันกลโกงจากผีบริวารทั้ง 5 ตัวแล้ว มันจะลุกขึ้นจากหลุมมาตีหน้าเศร้าทำพิธี ‘สารภาพบาป’ (Confession) ระบายความชั่วร้ายที่ไปคดโกงคนอื่น หากเป็นคนทั่วไปการสารภาพย่อมเป็นเส้นทางสู่การไถ่ถอนบาปในใจ ร่วมรับผิดเยียวยาความเสียหาย และไม่กลับไปทำใหม่ แต่ถ้าเป็นผีร้ายตัวนี้ มันกลับใช้คำสารภาพเพื่อหลอกล่อให้คนเชื่อว่ามันสำนึกผิด แต่จริง ๆ มันวางแผนเลือกสารภาพความผิดเพียงบางส่วนเท่านั้น เพราะลึก ๆ ก็ไม่อยากเผชิญกับผลกรรมที่ตนเองทำไว้ทั้งหมด และก็ไม่คิดจะกลับตัวกลับใจด้วย

“ขนเริ่มลุกแล้ว”…ซึ่งบ่อยครั้ง ‘ผีนักเล่า’ พวกนี้กลับได้รับความเห็นอกเห็นใจจากคนในสังคม ประหนึ่งว่าเป็นผู้กล้าออกมาแฉความผิด แต่ความจริงคือ สร้างสตอรี่ลากไส้คนนั้น คนนี้มาแฉพอเป็นพิธี เพื่อตัดตอนก่อนที่จะสาวถึงบอสใหญ่ได้ คดีทุจริตบางเรื่องมันเลยจับได้แต่ผีตัวเล็กตัวน้อยที่ออกมาสารภาพ แต่ไปไม่ถึงตัวเป้ง ๆ ในขบวนการที่ชักใยอยู่เบื้องหลัง พอสารภาพผิดก็อาจจะได้รับโทษน้อยลง ผีนักเล่าหลายรายเลยยอมติดคุก แล้วรอรับโปรโมชันลดโทษจากราชทัณฑ์ อย่างคดีแม่ชม้อยที่ฉ้อโกงกว่าสี่พันล้าน สุดท้ายติดคุกแค่ 7 ปี ก็ได้ออกมาใช้เงินแล้ว แถมบางรายพอพ้นโทษก็พร้อมกลับมาโกงคนอื่นต่อด้วยเลเวลการโกงที่อัปเกรดขึ้นกว่าเดิม

“พอจะยกตัวอย่างได้ไหมคุณปราบโกง แต่อย่าหลุดชื่อสถานที่นะ”… ได้ครับพี่แจ็ค อย่างเหตุการณ์ที่ปลัดกระทรวงถูกโจรปล้นบ้าน พบเงินพันล้าน แต่กลับไม่มีการสืบเส้นทางการเงินต่อว่ามาจากใคร จะเอาไปให้ใครหรือทำอะไรต่อ แต่กลับรับจบที่ ‘ร่ำรวยผิดปกติ’ แล้วปิดคดีเลย ชาวบ้านอย่างผมก็งงสิพี่ เงินไม่ใช่น้อย ๆ หรือคดีจำพวกส่วยตำรวจ ส่วยทางหลวง ซึ่งเราก็รู้ดีว่ามันมีเครือข่ายเป็นขบวนการ แต่พอเกิดเรื่องทีไร ก็จะมีคนออกหน้ารับสารภาพ แถมช่วยดันหลังเข้าสู่กระบวนการดำเนินคดีแบบเงียบ ๆ มันก็อดคิดไม่ได้ว่า ‘การสารภาพ’ ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการต่อรองโดยที่คนสารภาพไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองทำผิดจริง ๆ ซ้ำร้ายอาจเป็นฉากบังหน้าเพื่อไม่ให้เกิดการเปิดโปงเครือข่ายการทุจริตก็เป็นได้…เรื่องมันก็ประมาณนี้ครับพี่แจ็ค

“ไม่ประมาณนี้นะครับ!” …เฮ้ย มันร้ายจริง สมกับเป็นลาสบอส เพราะมันยอมสารภาพรับจบเพื่อตัดตอนไม่ลากผีขี้โกงตัวอื่น ๆ  ไปลงนรกด้วย สังคมเราเลยเจอผีพวกนี้หลอกกันจนชินชา ต้องขอขอบคุณคุณปราบโกงที่เอาเรื่องนี้มาถ่ายทอดให้พวกเราได้ฟังกันนะครับ และหวังว่าผู้ฟังทางบ้านจะไม่ทนกับผีขี้โกง และช่วยกันสอดส่อง เจอที่ไหน ก็สาดน้ำมนต์ไล่ให้มันไปผุดไปเกิดเสียที

 

เรื่อง: สุภัจจา อังค์สุวรรณ
ภาพประกอบ: ธนากาญจน์ กันทอง

ส่งท้าย – ยันต์กันโกง ของขลังป้องกัน 6 ผีขี้โกงในสังคมไทย

ตำนานผีขี้โกง 6 ตัวนี้ ไม่ได้เป็นเพียงเเค่เรื่องเล่า เเต่เป็นภาพสะท้อนของการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย

ไม่สำคัญว่าเราจะเจอผีขี้โกงตัวไหนในชีวิตประจำวัน แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ เราจะกล้าพอที่จะปฏิเสธและยับยั้งการโกงทุกรูปแบบหรือเปล่า เพราะถ้าเราไม่ยอมให้ผีขี้โกงพวกนี้มีที่ยืน เท่ากับว่าเรากำลังสร้างสังคมที่ดีกว่าสำหรับเราเเละคนรุ่นต่อไป 

หากใครที่กำลังเจอผีขี้โกง เเละสงสัยว่าเราจะใช้อาวุธอะไรในการปราบผีขี้โกง  สามารถคลิกเข้าไปทำความรู้จักกับอาวุธต้านโกงได้ที่ ค้นหาวิธีต่อต้านคอร์รัปชันที่เหมาะกับคุณ หรือ ดาวน์โหลด Wallpaper กันผีขี้โกง เพื่อเป็นยันต์ป้องกันได้ที่ 👻 ghost_wallpaper.png – Google ไดรฟ์👻

มาร่วมแสดงให้ผีร้ายเห็นว่า “ฉันไม่ใช่เหยื่อที่เเกจะมาหลอกหลอนได้อีกต่อไป” โอม เพี้ยงงง

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2567
ผู้แต่ง
  • ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก
  • เจษฎา จงสิริจตุพร
  • ศุภชัย เสถียรหมั่น
  • ธนากาญจน์ กันทอง
  • สุภัจจา อังค์สุวรรณ 
หน่วยงานสนับสนุน
05_โลโก้ KRAC
หัวข้อ
Related Content

เปลี่ยน Trainees เป็น Rookies ตัวท็อปของวงการ : ชวนอ่าน Anti-Corruption 101 เพื่อปูพื้นฐานการต่อต้านคอร์รัปชัน

ชวนอ่าน Anti-Corruption 101 ที่จะช่วยปูพื้นฐานความรู้ในเรื่องการคอร์รัปชัน ผ่านแนวคิดทางวิชาการ และเรียนรู้แนวทางการต่อต้านคอร์รัปชันที่มีเนื้อหาเข้าใจง่ายสำหรับทุกคน

คัดสรรงานวิจัยไทยต่อต้านคอร์รัปชัน ที่คุณอาจไม่รู้ (จัก) มาก่อน : ชวนอ่านสรุปงานวิจัยไทย 24 ชิ้น เพื่อทำความเข้าใจการต่อต้านคอร์รัปชัน

ชวนอ่านสรุปงานวิจัยไทยที่ KRAC คัดสรรมาให้คุณ เพื่อจะทำให้คุณเข้าใจปัญหา และวิธีการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันภายใต้บริบทของประเทศไทย

You might also like...

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | ท้องถิ่นอาจช้ำ เมื่อความเหลื่อมล้ำถูกซ้ำด้วยการจัดสรรงบประมาณที่ไม่มีประสิทธิภาพ

รู้หรือไม่ ? การจัดสรรเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลางที่ไม่เป็นธรรม ไม่โปร่งใส และขาดเป้าหมายชัดเจน อาจกลายเป็นการเพิ่มปัญหาความเหลื่อมล้ำในท้องถิ่น แทนที่จะช่วยลดช่องว่างทางเศรษฐกิจ แล้วเราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร ?

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | โควิด-19 ส่งผลอย่างไรต่อสถานการณ์คอร์รัปชันและธรรมาภิบาล ?

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่สุขภาพและเศรษฐกิจ แต่ยังทำให้การต่อต้านคอร์รัปชันและธรรมาภิบาลเผชิญความท้าทายใหม่ ๆ เช่น การใช้อำนาจพิเศษของรัฐ ความไม่เท่าเทียมที่เพิ่มขึ้น และการจัดซื้อจัดจ้างแบบฉุกเฉินที่เสี่ยงต่อการทุจริต แล้วเราจะฟื้นฟูผลกระทบเหล่านี้ได้อย่างไร ?

KRAC The Experience | EP 8: Networks is in every way, Offline and Online Against Corruption

“การทำงานเป็นเครือข่ายจะช่วยเสริมสร้างการทำงานต่อต้านคอร์รัปชันอย่างไร ?” เรามีคำตอบมาให้จากแนวทางการขับเคลื่อนการต่อต้านคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในระดับโลก🌏 ร่วมไขข้อสงสัยได้ที่ KRAC The Experience ตอน Networks is in every way, Offline and Online Against Corruption