KRAC Hot News I สิทธิและสวัสดิการเเรงงาน หัวใจของการขับเคลื่อน ESG ในโลกธุรกิจที่มีธรรมาภิบาล

วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี เรามักจะเห็นภาพของการให้เกียรติกลุ่มผู้ใช้แรงงาน และคำกล่าวขานที่ยกย่องว่าแรงงานคือ “ผู้สร้างชาติ” หรือ “กระดูกสันหลังของเศรษฐกิจไทย” แต่เบื้องหลังของคำสรรเสริญเหล่านี้ ยังคงมีเสียงของแรงงานที่ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมจำนวนไม่น้อยที่ถูกทำให้เงียบงัน 

 

แม้ประเทศไทยจะมีการพัฒนากฎหมายแรงงานมาอย่างต่อเนื่อง แต่ความเป็นจริงแล้วในหลายมิติยังคงเต็มไปด้วยปัญหา ทั้งความไม่มั่นคงในอาชีพ การขาดสิทธิขั้นพื้นฐาน และการเข้าถึงสวัสดิการที่ยังจำกัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มแรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ และแรงงานที่ตกอยู่ในสถานการณ์จ้างงานแบบไม่เป็นธรรม
 
ที่ผ่านมา แรงงานมักถูกมองว่าเป็น “ต้นทุน” ขององค์กร เป็นภาระที่ควรถูกลดให้น้อยที่สุด ทำให้หลายบริษัทพยายามลดทอนสิทธิหรือจัดให้มีสวัสดิการเพียงแค่ตามที่กฎหมายกำหนด หรือแย่ไปกว่านั้น คือ การใช้ช่องว่างทางกฎหมายหรือความไม่รู้ของแรงงานมาเป็นเครื่องมือในการเอารัดเอาเปรียบ
 
แต่กระแสของโลกธุรกิจในวันนี้ได้เปลี่ยนไป องค์กรที่มองการณ์ไกลเริ่มเห็นว่า แรงงานไม่ใช่แค่ต้นทุน แต่คือ “สินทรัพย์” ที่สำคัญ แนวคิด ESG — ที่ประกอบด้วยสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) — กำลังกลายเป็นแนวทางหลักในการวัดความยั่งยืนของธุรกิจ ที่ไม่ใช่แค่กำไรในบัญชี แต่คือคุณค่าในใจของคนทั้งภายในและภายนอกองค์กร
 
หลายคนยังเข้าใจผิดว่า ESG คือเรื่องของการปลูกต้นไม้ ลดขยะ หรือการไม่คอร์รัปชัน แต่แท้จริงแล้ว “คน” คือศูนย์กลางของแนวคิดนี้ โดยเฉพาะองค์ประกอบด้าน “S” หรือสังคม ซึ่งมีสิทธิและสวัสดิการของแรงงานที่เป็นหัวใจสำคัญ
 
โดยงานของ Kaunain Rahman (2024) เรื่อง ESG and Anti-Corruption ได้ชี้ให้เห็นว่า การดำเนินงานด้าน ESG ที่ครอบคลุม “แรงงานและบุคคลในองค์กร” สามารถเสริมสร้างความโปร่งใสในองค์กร ลดความเสี่ยงด้านการคอร์รัปชัน และเพิ่มความไว้วางใจจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงช่วยสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เป็นธรรมและปลอดภัยสำหรับคนในองค์กร ซึ่งทั้งหมดนี้มีบทบาทสำคัญในการสร้างความยั่งยืนและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันขององค์กรในระยะยาว 
 
สิทธิแรงงานจึงไม่ใช่แค่ค่าแรงขั้นต่ำหรือชั่วโมงการทำงานที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ยังครอบคลุมไปถึงสิทธิในการได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม ความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน โอกาสในการพัฒนาตนเอง และเสรีภาพในการรวมกลุ่มเพื่อเรียกร้องในสิ่งที่ควรจะได้อย่างชอบธรรม
 
ในยุคที่ความโปร่งใสคือทุนทางสังคม บริษัทที่ละเมิดสิทธิแรงงานไม่ได้เพียงแค่ละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ แต่กำลังเสี่ยงต่อการสูญเสียความเชื่อมั่นจากนักลงทุน ลูกค้า และสังคม การที่องค์กรถูกประณามหรือคว่ำบาตรจากผู้บริโภคในโลกออนไลน์เพียงครั้งเดียว อาจส่งผลกระทบที่รุนแรงมากกว่าการสูญเสียรายได้หลายเท่า
 
ในทางกลับกัน องค์กรที่ให้ความสำคัญกับสิทธิและสวัสดิภาพของแรงงานอย่างจริงจัง — ไม่ว่าจะเป็นการจัดให้มีสวัสดิการที่เหมาะสม การเปิดโอกาสให้แรงงานมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ หรือการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มีความเสมอภาคกัน จะทำให้องค์กรเหล่านั้นได้รับความไว้วางใจอย่างล้นหลาม ไม่เพียงเฉพาะแค่จากพนักงาน แต่เป็นจากทุกภาคส่วนในสังคม
 
เพราะ ESG ไม่ได้เป็นแค่แนวคิดเพื่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่มันคือกรอบการพัฒนาองค์กรทั้งระบบให้มีจริยธรรม มีความยั่งยืน และมีความน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น
 
และสิ่งสำคัญคือ แนวทาง ESG ไม่ได้ให้ผลตอบแทนเฉพาะแค่ในระยะยาวเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อประสิทธิภาพการทำงานในระยะสั้นด้วย เพราะพนักงานที่รู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรม มีคุณค่า และได้รับการดูแลอย่างจริงใจ ก็ย่อมที่จะทุ่มเทให้กับองค์กรอย่างเต็มที่่
 
ในประเทศไทย ยังมีความท้าทายอีกมากมาย จากแรงงานนอกระบบที่ไร้หลักประกัน การขัดขวางเสรีภาพในการรวมกลุ่มของแรงงาน ไปจนถึงแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีสิทธิมีเสียง ถูกเอารัดเอาเปรียบและถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
 
ดังเช่นงานศึกษาของ ศิริมา ทองสว่าง และคณะ (2562) ที่ศึกษาการทุจริตคอร์รัปชันของขบวนการเครือข่ายนายหน้าข้ามชาติในอุตสาหกรรมประมงไทย ที่ยังคงพบปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้แรงงานบังคับ
 
แต่หากเรามุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อน ESG อย่างแท้จริง เราจะต้องกล้าเผชิญหน้ากับความเป็นจริง และเริ่มลงมือเปลี่ยนแปลงกันอย่างจริงจัง ไม่ใช่เพื่อคะแนน ESG ที่เพิ่มขึ้น ไม่ใช่เพื่อภาพลักษณ์ที่ดูดีในรายงานประจำปี แต่เพื่อเป็นการยืนยันว่าองค์กรของเรานั้นยังคงให้คุณค่ากับ “มนุษย์” ผู้เป็นหัวใจของทุกความสำเร็จ
 
เพราะธุรกิจไม่ใช่แค่เรื่องของตัวเลขและกำไร แต่หมายรวมถึงระบบที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อมนุษย์ และในยุคที่ทั้งโลกกำลังถามหา “ความหมาย” ที่มากกว่าตัวเงิน บริษัทที่ให้ความใส่ใจในแรงงานอย่างจริงใจ จะไม่เพียงได้แค่แรงงานที่ขยันขันแข็ง แต่จะได้ “หัวใจ” ที่พร้อมร่วมเดินทางไปด้วยกันอย่างยั่งยืน
 

ในเส้นทางของ ESG นี้ สิทธิและสวัสดิการแรงงาน จึงไม่ใช่เพียงแค่ “เงื่อนไข” ที่องค์กรต้องมี แต่มันคือ “หัวใจ” ที่ขาดไม่ได้เลย

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2568
ผู้แต่ง

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก
ผู้จัดการ ศูนย์ KRAC 

หน่วยงานสนับสนุน
05_โลโก้ KRAC
โลโก้คณะเศรษฐศาสตร์ (ภาษาไทย)

หัวข้อ
Related Content

มาแล้ว !! โอกาสพัฒนาความรู้สู่การต่อต้านคอร์รัปชันอย่างมีประสิทธิภาพ

KRAC ชวนทุกคนมาเรียน “หลักสูตรการส่งเสริมธรรมาภิบาลและการต่อต้านคอร์รัปชันร่วมสมัย” ที่จะพาผู้เรียนมาทำความเข้าใจกับการต่อต้านคอร์รัปชันที่มีเนื้อหาประยุกต์ไปกับหลายศาสตร์หลากมุมมองและมีตัวอย่างกรณีศึกษาให้เรียนรู้ สอดแทรกไปกับองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่สอดคล้องกับองค์กรที่ทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันในปัจจุบัน

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | ไขแนวคิด พิชิตความสำเร็จของหน่วยงานรัฐ ในการสร้างธรรมาภิบาล ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

สร้างความสำเร็จในหน่วยงานด้วย “หลักธรรมาภิบาล” ตามแผน ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมีตัวอย่าง 6 หน่วยงานรัฐไทยที่ไขแนวคิด พิชิตความสำเร็จในการสร้างธรรมาภิบาล…ปัจจัยความสำเร็จเหล่านี้เป็นอย่างไรบ้าง ? และผลลัพธ์ของการมีธรรมาภิบาลจะเป็นเช่นไร ? มาร่วมหาคำตอบไปพร้อมกัน

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | โควิด-19 ส่งผลอย่างไรต่อสถานการณ์คอร์รัปชันและธรรมาภิบาล ?

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่สุขภาพและเศรษฐกิจ แต่ยังทำให้การต่อต้านคอร์รัปชันและธรรมาภิบาลเผชิญความท้าทายใหม่ ๆ เช่น การใช้อำนาจพิเศษของรัฐ ความไม่เท่าเทียมที่เพิ่มขึ้น และการจัดซื้อจัดจ้างแบบฉุกเฉินที่เสี่ยงต่อการทุจริต แล้วเราจะฟื้นฟูผลกระทบเหล่านี้ได้อย่างไร ?

You might also like...

ยุุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตในโครงการพัฒนาของรัฐระดับชุมชน

จากการวิเคราะห์ TOWS Matrix 4 ของโครงการต่าง ๆ ของรัฐ สามารถพัฒนาเป็นโมเดลยุทธศาสตร์ เพื่อช่วยลดปัญหาคอร์รัปชันในโครงการพัฒนาของรัฐระดับชุมชนได้

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เมื่อ ‘งบก่อสร้าง’ ไม่ได้สร้างแค่ถนน แต่สร้างรายได้พิเศษให้บางคนด้วย

จากที่ผมได้รับเกียรติให้เข้าร่วมเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2569 ในนามนักวิชาการอิสระที่ไม่สังกัดพรรคการเมืองใด ผมถือว่าหน้าที่นี้คือโอกาสสำคัญที่จะได้ตรวจสอบการใช้งบประมาณแผ่นดินให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และทรัพยากรของประเทศมีอยู่อย่างจำกัด

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | การต่อต้านการทุจริต อาจต้องเริ่มที่ความเข้าใจของประชาชน

ผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับสิทธิการรับรู้ข่าวสารของสำนักงาน ป.ป.ช. จำนวน 1,041 คน ในปี 2562 ชี้คนไทยครึ่งประเทศไม่รู้ว่า ตัวเองมีสิทธิเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของสำนักงาน ป.ป.ช.