KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | How to โปร่งใส : แก้ปัญหาทุจริตเชิงนโยบายสไตล์ญี่ปุ่น

“การทุจริตเชิงนโยบาย” หนึ่งในรูปแบบการทุจริตที่สร้างความเสียหายอย่างมาก

“การทุจริตเชิงนโยบาย” หนึ่งในรูปแบบการทุจริตที่สร้างความเสียหายอย่างมากให้กับประเทศ ซึ่งการทุจริตประเภทนี้เกิดจากความร่วมมือของนักการเมืองที่มีสิทธิในการอนุมัตินโยบายสาธารณะ ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และนักธุรกิจ คิดนโยบายเพื่อหาผลประโยชน์ เช่น ยักยอกเงินส่วนต่างของโครงการ หรือใช้นโยบายเพื่อสร้างผลประโยชน์ทางธุรกิจให้กับพวกพ้อง ซึ่งการทุจริตเชิงนโยบายนั้นอาจสร้างความเสียหายให้ประเทศชาติได้ถึงหลักพันล้านหรือหมื่นล้านบาท

 

เป็นที่มาของงานวิจัย เรื่อง “การสังเคราะห์การทุจริตเชิงนโยบายเพื่อการออกแบบระบบ และพัฒนากลไกสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบายของไทย”  (2563) จัดทำโดย พัชรวรรณ นุชประยูร และคณะ ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการทุจริตเชิงนโยบายระดับชาติและระดับท้องถิ่น และออกแบบระบบ มาตรการ กลไกทางกฎหมายและอื่น ๆ เพื่อสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบาย โดยใช้การวิจัยเอกสาร การสัมภาษณ์เชิงลึก และการจัดสัมมนา 

3 แนวทางที่ญี่ปุ่นใช้แก้ปัญหาการทุจริตเชิงนโยบาย

KRAC ได้หยิบยกแนวทางการป้องกันการทุจริตเชิงนโยบายของประเทศญี่ปุ่นที่มีความโปร่งใสเป็นอันดับที่ 16 ของโลกจากการจัดอันดับของ Transparency International เอามาให้อ่านกัน 

 

โดยจากการศึกษางานวิจัยเรื่องนี้ พบว่าประเทศญี่ปุ่นไม่ได้จัดการคอร์รัปชันได้ดีมาตั้งแต่แรก ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้พ่ายแพ้ในสงครามและพยายามฟื้นฟูประเทศให้กลับมาเติบโต ภาครัฐต้องอาศัยความร่วมมือจากเอกชนในการก่อสร้างบ้านเรือนและสาธารณูปโภคต่าง ๆ และด้วยสัญญาหลายฉบับที่มีขั้นตอนที่เร่งรัด ทำให้ข้อตกลงไม่ครอบคลุมและเกิดเป็นการทุจริตที่มีมากถึงหลักพันคดีต่อปี

 

รัฐบาลญี่ปุ่นจึงแก้ไขและลดคอร์รัปชันด้วย 3 แนวทาง คือ

หนึ่ง การปฏิรูประบบการบริหารราชการและการกำหนดนโยบาย

ก่อนการปฏิรูป ประเทศญี่ปุ่นมีการบริหารราชการแบบ “ล่างขึ้นบน” การร่างนโยบายต่าง ๆ จะมาจากข้าราชการที่มีความรู้ ความสามารถ ประจำกระทรวงที่เกี่ยวข้องกับนโยบายนั้น ๆ ยื่นให้กับรัฐสภา เพื่อให้รัฐสภาอนุมัติ เพราะมองว่าข้าราชการอาจมีความเข้าใจความต้องการของประชาชนมากกว่าผู้มีอำนาจ

 

ซึ่งถ้ามองผิวเผินอาจเป็นเรื่องที่ดี แต่ในความเป็นจริงกลับไม่ใช่อย่างนั้น เพราะประเทศญี่ปุ่นในช่วงเวลานั้น แม้จะมีระบอบประชาธิปไตยแต่อำนาจทางการเมืองถูกผูกขาดโดย “พรรคเสรีประชาธิปไตย” เพียงพรรคเดียว ซึ่งพรรคเสรีประชาธิปไตยเป็นพรรคการเมืองที่มีนักการเมืองจำนวนไม่น้อยที่มาจากข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ที่เกษียณแล้ว อีกทั้งพรรคยังได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มบริษัทภาคธุรกิจ รัฐบาลญี่ปุ่นในช่วงเวลานั้นจึงมีลักษณะเหมือน “สามเหลี่ยมชั่วร้าย”ที่ประกอบด้วย นักการเมือง ข้าราชการ และนักธุรกิจที่สามารถกดดันให้ข้าราชการร่างนโยบายที่ให้ผลประโยชน์กับพวกพ้อง และกดดันให้รัฐสภาอนุมัติ

 

ต่อมาในปี ในปี 1994 นายกรัฐมนตรี Hunichiro koizumi จึงได้ทำการปฏิรูประบบการเมืองใหม่ให้เป็นแบบ “บนลงล่าง” โดยเปลี่ยนอำนาจการอนุมัตินโยบายจากรัฐสภามาอยู่ที่นายกรัฐมนตรี ทำให้นายกรัฐมนตรีสามารถควบคุมและตรวจสอบนโยบายได้ และนอกจากนี้ยังได้เปลี่ยนรูปแบบการเลือกตั้ง เป็นแบบ 1 เขต 1 ที่นั่ง (Single-seat electoral) และการเลือกตั้งแบบสัดส่วน (Proportional Representation) มาใช้ ซึ่งวิธีการนี้จะทำให้ลูกพรรคมีอิสระในการหาเสียงมากขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งพาหัวหน้ากลุ่มในพรรคการเมือง และทำให้หัวหน้ากลุ่มในพรรคการเมืองมีอำนาจในการต่อรองกับหัวหน้าพรรคที่ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีน้อยลง ไม่สามารถกดดันหัวหน้าพรรคให้ตอบแทนบุญคุณที่ช่วยเป็นฐานเสียงในสภาได้

 

ยิ่งกว่านั้นวิธีนี้ยังทำให้หัวหน้าพรรคไม่จำเป็นต้องตอบแทนกลุ่มธุรกิจที่เป็นฝ่ายสนับสนุนเงินผ่านหัวหน้ากลุ่มพรรคการเมืองอีกด้วย และในปีเดียวกัน รัฐบาลญี่ปุ่นยังมีการออกกฎหมายห้ามไม่ให้พรรคการเมืองรับเงินบริจาคจากภาคเอกชนเพื่อลดปัญหาการตอบแทนผลประโยชน์ในภายหลัง ก่อนที่ช่วงหลังจะมีการปรับให้รับบริจาคได้ไม่เกิน 50 ล้านเยนต่อปี โดยต้องจ่ายผ่านช่องทางที่สามารถตรวจสอบได้เท่านั้น เนื่องจากการห้ามรับบริจาคอาจเป็นวิธีที่เข้มงวดมากเกินไป

สอง การประเมินนโยบาย 

ในปี 2002 รัฐบาลญี่ปุ่นได้มีการประกาศใช้กฎหมาย The Japanese Policy Act และ Basic Guielines for Policy Evaluation ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้หน่วยงานของรัฐจัดเตรียมข้อมูลและรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดทำนโยบาย พร้อมทั้งมีแผนการนำนโยบายไปปฏิบัติที่ชัดเจน

 

โดยนโยบายที่ได้รับการประเมินจะต้องมีความคุ้มค่าและคำนึงถึงผลกระทบทั้งด้านบวกและด้านลบ ซึ่งผู้ที่ประเมินจะเป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับโครงการนั้น ๆ เช่น หากเป็นโครงการเกี่ยวกับยารักษาโรคหัวใจจะต้องได้รับการประเมินจากบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญจากด้านยารักษาโรคโดยตรง ซึ่งกฎหมายนี้ทำให้นโยบายต่าง ๆ ถูกตรวจสอบว่าสามารถทำได้จริงและลดช่องทางการทุจริตผ่านนโยบายได้ 

สาม การดำเนินการทางกฎหมายและความรับผิดทางกฎหมายกรณีทุจริตเชิงนโยบาย

ญี่ปุ่นไม่ได้มีกฎหมายเกี่ยวกับการทุจริตบัญญัติไว้โดยเฉพาะแบบประเทศไทย แต่มีกฎหมายและแนวทางเชิงป้องกัน เช่น กฎหมาย Political Parties Subsidiaries (1994) ที่กำหนดให้พรรคการเมืองต้องแจ้งรายรับรายจ่ายของพรรค รวมถึงรายงานการตรวจสอบโดยนักบัญชี เพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ว่าการแจกจ่ายงบประมาณจากรัฐไปยังสมาชิกภายในรัฐเป็นไปอย่างถูกต้องหรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการสร้างขั้วอำนาจครอบงำนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีประจำกระทรวงผู้มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย

 

ส่วนในด้านการปราบปรามประเทศญี่ปุ่นไม่ได้มีองค์กรที่ทำหน้าที่ปราบปรามเหมือนประเทศไทย แต่การปราบปรามจะมาจากความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ ได้แก่

 

ตำรวจ มีหน้าที่ในการสืบสวนความผิดตามกฎหมายอาญาและมีบทบาทในการรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ซึ่งวัฒนธรรมญี่ปุ่นนั้น ตำรวจมีความใกล้ชิดกับประชาชน ทำให้มีความไว้ใจในการแจ้งเบาะแสและสามารถร่วมมือกันได้ง่าย 

 

พนักงานอัยการ มีหน้าที่ปราบปรามผู้ทุจริตในแง่ของคนใช้กฎหมาย โดยทำงานร่วมกับตำรวจ ซึ่งอัยการจะทำหน้าที่ตั้งแต่ฟ้องคดีไปจนถึงสิ้นสุดคดี แต่พนักงานอัยการสามารถสืบคดีเองได้โดยไม่ต้องรอการร้องเรียนเหมือนตำรวจ 

 

ประชาชน ประเทศญี่ปุ่นมีการรวมตัวของประชาชนหลายกลุ่มและรวมตัวเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่เรียก “Japan Citizen Ombudsman Network” ซึ่งมีเครือข่ายทั้งหมดกว่า 80 องค์กรและมีประชาชนมากกว่า 7,000 คน โดยกลุ่มประชาชนเหล่านี้จะร่วมกันตรวจสอบการทำงานของภาครัฐและองค์กรปกครองท้องถิ่นต่าง ๆ ซึ่งการที่ประชาชนสามารถทำแบบนี้ได้ เพราะประเทศญี่ปุ่นมีกฎหมายรองรับให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลการปฏิบัติงานราชการได้   

ทำลายจุดอ่อนแล้วเสริมจุดแข็ง: บทเรียนของญี่ปุ่น

จากแนว 3 แนวทางของประเทศญี่ปุ่นเราจะเห็นว่า ประเทศที่เคยมีการทุจริตเชิงนโยบายจำนวนมากอย่างญี่ปุ่น ฟื้นตัวกลับมาเป็นประเทศที่โปร่งใสด้วยการทำลายจุดอ่อนแล้วเสริมจุดแข็ง เช่น เมื่อเห็นว่าโครงสร้างทางการเมืองไม่สมดุลจนทำให้เกิดการทุจริต ก็มีการปฏิรูปโครงสร้างการทางการเมืองใหม่

 

นอกจากนี้ยังกำหนดให้นโยบายต่าง ๆ ต้องมีความชัดเจนและโปร่งใส คุ้มค่าต่องบประมาณที่เสียไป เสริมความเข้มแข็งประชาชนให้ประชาชนที่มีความพร้อมในการร่วมตรวจสอบ และยังให้ความสำคัญกับการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและประชาชน ทำให้การตรวจสอบการทุจริตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ซึ่งย้อนกลับมาประเทศไทยเราอาจนำบทเรียนนี้กลับมาตั้งคำถามว่า ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและประชาชนของเราในการปราบปรามการทุจริตเข้มแข็งพอหรือไม่ เรามีกฎหมายป้องกันการทุจริตที่ดีพอหรือยัง ช่องว่างที่ทำให้การเมืองไทยเกิดการทุจริตเชิงนโยบายคืออะไร เพื่อที่จะนำมาแก้ไขปรับปรุงและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

 

งานวิจัยเรื่อง “การสังเคราะห์การทุจริตเชิงนโยบายเพื่อการออกแบบระบบ และพัฒนากลไกสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบายของไทย” (2563) จัดทำโดย พัชรวรรณ นุชประยูร และคณะ ยังมีข้อมูลรายละเอียดที่น่าสนใจ เช่น แนวทางการแก้ปัญหาการทุจริตเชิงนโยบายของมาเลเซียและจีน โดยสามารถอ่านสรุปประเด็นสำคัญของงานวิจัยได้ที่ลิงก์ด้านล่าง

คอลัมน์ “KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย” เป็นบทความเล่างานวิจัยไทยด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน ที่หยิบยกหนึ่งในประเด็นของงานวิจัยในมุมมองของผู้ปฏิบัติการ เพื่อปูพื้นฐานความรู้และความเข้าใจเรื่องการคอร์รัปชัน และการต่อต้านคอร์รัปชันในมิติต่าง ๆ ภายใต้บริบทของประเทศไทย

ที่มา

พัชรวรรณ นุชประยูร, อมรรัตน์ กุลสุจริต, สุปรียา แก้วละเอียด, ศักดิ์วุฒิ วิบูลสมัย และกวินา กิจกำแหง. (2563). การสังเคราะห์การทุจริตเชิงนโยบายเพื่อการออกแบบระบบและพัฒนากลไกการสกัดกั้นการทุจริตเชิงนโยบายของไทสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ. 

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2568
ผู้แต่ง
  • ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค
หน่วยงานสนับสนุน
05_โลโก้ KRAC
โลโก้คณะเศรษฐศาสตร์ (ภาษาไทย)

หัวข้อ
Related Content

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | How to โปร่งใส : แก้ปัญหาทุจริตเชิงนโยบายสไตล์ญี่ปุ่น

“ทำลายจุดอ่อนเสริมจุดแข็ง” KRAC ชวนดูวิธีการปฏิรูประบบการบริหารราชการและการกำหนดนโยบาย รวมถึงการดำเนินการทางกฎหมายกรณีทุจริตเชิงนโยบายของประเทศญี่ปุ่น

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | 4 ชาติ 4 แนวทาง หยุดทุจริตเชิงนโยบาย

เคยได้ยินชื่อของ “คดีทุจริตคลองด่าน” กันไหม ? นี่คือหนึ่งในคดีทุจริตครั้งใหญ่ของประเทศไทยที่สร้างความเสียหายเป็นเงินกว่า 1,900 ล้านบาท ซึ่งการทุจริตที่ทำกันอย่างเป็นระบบจากคนหลายฝ่าย แบบนี้เราเรียกว่าการทุจริตเชิงนโยบาย

KRAC Around เล่าข่าวคอร์รัปชันจากทั่วโลก I รู้จัก 6 การสนับสนุนของ UNDP ที่มีต่อการต่อต้านคอร์รัปชัน

โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme: UNDP) คือหน่วยงานพัฒนาขององค์การสหประชาชาติที่ทำงานเพื่อสนับสนุนงานของต่างประเทศ ในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs …

You might also like...

KRAC Hot News I อุบัติเหตุการก่อสร้างตามแนวถนนพระราม 2: ภาพสะท้อนปัญหาธรรมาภิบาลโครงการก่อสร้างภาครัฐไทย

อุบัติเหตุซ้ำซากบนถนนพระราม 2 ถึงเวลาปฏิรูป! ระบบจัดซื้อจัดจ้างต้องโปร่งใส ประชาชนต้องเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย และต้องมีมาตรการป้องกันและลงโทษที่จริงจังกันเสียที

KRAC Hot News I ผู้หญิงไม่เพียงแต่ถูกเรียกสินบน… แต่ยังถูกขอเรื่องเซ็กส์ด้วย

งานวิจัยจาก Transparency International เผยว่า “เพศ” ส่งผลต่อรูปแบบการเผชิญกับคอร์รัปชัน! เพราะผู้หญิงอาจถูกบังคับให้จ่ายสินบนทางเพศ หรือถูกละเมิดโดยเจ้าหน้าที่ที่ใช้อำนาจในทางมิชอบ

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | ปิดช่องโหว่ดุลพินิจ ปิดช่องทางทุจริตในไทย

“ดุลพินิจ” อำนาจรัฐ หรือช่องว่างที่ทำให้เกิดการทุจริต ? KRAC ชวนถอดบทเรียนการแก้ปัญหาโกงจากการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่รัฐจากกงานวิจัยเรื่อง การแสวงหาผลประโยชน์ จากการอนุญาตโดยใช้อำนาจรัฐ (2560)