KRAC The Experience | EP 3: Tales of Transparency: Lesson learns from Georgia

เปิดเผยข้อมูลแบบโปร่งใสอย่างสุดโต่ง คืออะไร ? วันนี้เรามีเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับข้อมูลเปิด (Open Data) มาเล่าให้คุณฟังกับ KRAC The Experience ตอน “Tales of Transparency : Lesson learns from Georgia”

การเดินทางของ ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้อำนวยการศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค (KRAC) จากการได้รับทุน Eisenhower Fellowships 2024 ไม่เพียงแค่ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องการใช้ข้อมูลเปิด (Open Data) ในสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่ทำให้ได้เรียนรู้เรื่องการใช้ข้อมูลเปิดจากหลายประเทศ ซึ่งหนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจคือ “ประเทศจอร์เจีย (Georgia)”


จอร์เจียเป็นหนึ่งในประเทศที่ใช้ข้อมูลเปิดเพื่อต่อต้านการทุจริตอย่างมีประสิทธิภาพ โดยมุ่งเน้นที่การนำข้อมูลเปิดมาใช้ในการปฏิรูปประเทศตามแนวปฏิบัติของ “ความโปร่งใสอย่างสุดโต่ง (Radical Transparency)” ที่จะเปิดเผยข้อมูลอย่างละเอียด ชัดเจน และสามารถเข้าถึงได้ ทั้งการใช้จ่ายงบประมาณ ข้อมูลโครงการของรัฐ ไปจนถึงการทำสัญญากับภาคเอกชน ซึ่งไม่ได้เปิดเผยเพียงแค่ข้อมูลพื้นฐานเท่านั้น แต่ครอบคลุมไปถึงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐในทุกระดับ โดยให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างเสรี ส่งผลให้การบริหารราชการเป็นไปอย่างโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ เพราะรัฐบาลเล็งเห็นว่าการเปิดเผยข้อมูลเป็นกุญแจสำคัญในการต่อต้านการทุจริต โดยแนวทางดังกล่าวได้สร้างความเชื่อมั่นให้แก่รัฐบาลได้อย่างมีนัยสำคัญ จากการปฏิรูปความโปร่งใสในจอร์เจียที่ทำให้เกิดความสำเร็จจากการเพิ่มความโปร่งใสของงบประมาณการใช้จ่ายของภาครัฐ ซึ่งทำให้มีอัตราการฟื้นตัวของจอร์เจียเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 1 ของปี 2023 อยู่ที่ 96% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศทั่วโลก โดยอยู่ที่ 80%

โดยระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐในจอร์เจียเป็นที่รู้จักว่าเป็นหนึ่งในระบบที่โปร่งใสที่สุดในโลก จากความพยายามของรัฐบาลจอร์เจียที่มุ่งมั่นในการพัฒนาข้อมูลเปิด ด้วยการใช้แพลตฟอร์มและเครื่องมือดิจิทัลที่ทำให้ข้อมูลภาครัฐสามารถเข้าถึงได้อย่างง่าย เพื่อสร้างความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (Public Procurement Transparency) เช่น e-Government Portals (https://services.georgia.gov/gta/zoho/) และ Open Data Portals (http://www.opendata.ge) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐที่จะถูกเปิดเผยต่อสาธารณะในรูปแบบที่สามารถตรวจสอบได้ทันทีและทำให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูลดังกล่าวได้ง่ายมากขึ้น

นอกจากนี้ จอร์เจียยังมีการบัญญัติกฎหมายที่สนับสนุนการเปิดเผยข้อมูล เช่น กฎหมายว่าด้วยข้อมูลสาธารณะ (Freedom of Information Act: FOIA Laws) ที่กำหนดให้หน่วยงานภาครัฐต้องเปิดเผยข้อมูลตามคำขอ ทำให้ข้อมูลเกี่ยวกับงบประมาณ การจัดซื้อจัดจ้าง และการดำเนินงานของภาครัฐโปร่งใสมากขึ้น กฎหมายนี้สนับสนุนให้เกิดการสร้างเครื่องมือดิจิทัลอย่าง e-Government Portals และ Open Data Portals ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น ซึ่งช่วยให้ประชาชนองค์กรภาคเอกชนและภาคประชาสังคมสามารถเข้าถึงและวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ เพื่อค้นหาสัญญาณของการทุจริต และทำให้เกิดการรับผิดชอบที่ดีขึ้นจากหน่วยงานรัฐ​

แนวทางการเปิดเผยข้อมูลในลักษณะดังกล่าวของประเทศจอร์เจียถือเป็นความท้าทายในการก้าวข้ามความแตกต่างทางการเมืองและสังคม ด้วยการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ส่งผลให้รัฐบาลสามารถสร้างความเชื่อมั่นจากประชาชนและลดช่องว่างระหว่างภาครัฐกับประชาชนได้ ซึ่งการที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการใช้จ่ายและนโยบายของรัฐอย่างจริงจังทำให้รัฐบาล หน่วยงานรัฐและเจ้าหน้าที่รัฐมีความรับผิดชอบต่อการทำงานในทุกระดับมากยิ่งขึ้น

ในทางกลับกัน แนวทางการเปิดเผยข้อมูลของประเทศไทยกลับมีความแตกต่างออกไป เพราะในจอร์เจียดำเนินงานในลักษณะของความโปร่งใสอย่างสุดโต่ง แต่รัฐไทยยังคงดำเนินงานในลักษณะของการประนีประนอมระหว่างการเปิดเผยข้อมูลและการรักษาความมั่นคงของชาติ จึงทำให้ข้อมูลบางประเภทยังคงถูกจำกัดไว้ เนื่องจากรัฐต้องการป้องกันให้ไม่เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ส่งผลให้ขาดความเป็นประชาธิปไตยเรื่องสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลของประชาชน และการเปิดเผยข้อมูลทำได้ไม่เต็มที่เหมือนประเทศจอร์เจีย

อย่างไรก็ตาม รัฐไทยสามารถที่จะศึกษาแนวทางการใช้ข้อมูลเปิดของจอร์เจียเพื่อต่อต้านการทุจริตเพื่อนำมาปรับใช้ในประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะการใช้เครื่องมือดิจิทัล เช่น ระบบ E-Procurement ในการเผยแพร่ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างให้ประชาชนตรวจสอบได้ ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยก็มีความพยายามในการสร้างเครื่องมือที่คล้ายกันโดยภาคประชาสังคมและภาคประชาชน เช่น ACT Ai (https://actai.co/) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่พัฒนาโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ร่วมกับ HAND Social Enterprise เพื่อลดข้อจำกัดด้านการเข้าถึงฐานข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะแพลตฟอร์มการสืบค้นระบบการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐของกรมบัญชีกลางที่มีเงื่อนไขการสืบค้นที่ซับซ้อน ACT Ai จะมาพร้อมกับระบบ Ai แจ้งเตือนความเสี่ยงเมื่อพบความปกติในการจัดซื้อจัดจ้าง อย่างไรก็ตามความพยายามดังกล่าวอาจยังขาดการสนับสนุนจากภาครัฐในระดับที่เพียงพอ ทำให้การเปิดเผยข้อมูลในบางข้อมูลยังไม่สามารถเข้าถึงได้อย่างเต็มที่ ซึ่งการเปิดเผยข้อมูลจากหน่วยงานรัฐ หรือภาคส่วนที่เป็นเจ้าของชุดข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้การเปิดเผยข้อมูลมีประสิทธิภาพและเข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น

ทั้งนี้หากประเทศไทยสามารถนำแนวคิดการเปิดเผยข้อมูลของจอร์เจียมาใช้ได้ เช่น การบังคับใช้กฎหมายการเปิดเผยข้อมูลอย่างเข้มงวด และการสร้างระบบข้อมูลเปิดที่ให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างสะดวกและครบถ้วน ยิ่งไปกว่านั้นภาครัฐควรสนับสนุนเครื่องมือที่พัฒนาขึ้นโดยภาคประชาสังคมอย่าง ACT Ai ก็จะช่วยผลักดันให้เกิดความร่วมมือในการต่อต้านการทุจริตที่เป็นระบบ และเสริมสร้างความโปร่งใสในภาครัฐมากยิ่งขึ้น



ในครั้งนี้ อาจารย์ต่อภัสสร์ได้เรียนรู้เกี่ยวกับข้อมูลเปิด (Open Data) และการนำไปปรับใช้ในลักษณะของความโปร่งใสอย่างสุดโต่ง (Radical Transparency) ที่ต่างจากแนวทางของประเทศไทย แล้วมีกรณีศึกษาหรือการดำเนินงานในต่างประเทศที่เหมือนประเทศไทยหรือไม่ ? ติดตามตอนต่อไปได้ใน “KRAC The Experience” ที่ KRAC Corruption เพื่อร่วมเรียนรู้การนำข้อมูลเปิดมาใช้ในการต่อต้านคอร์รัปชันไปด้วยกัน

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
25 ตุลาคม 2567
ผู้แต่ง

ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค

หน่วยงานสนับสนุน
05_โลโก้ KRAC
โลโก้คณะเศรษฐศาสตร์ (ภาษาไทย)

หัวข้อ
Related Content

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | ตัดจบปัญหาคอร์รัปชัน ผ่านการสร้าง Big Data

Big Data มีความสำคัญอย่างมากในการต่อต้านคอร์รัปชัน เพราะสามารถนำข้อมูลการใช้จ่ายของรัฐที่ถูกจัดเก็บไว้มาวิเคราะห์หาความเสี่ยงในการคอร์รัปชันได้ หากใช้งานข้อมูลให้เป็น จะช่วยอุดช่องโหว่ความเสี่ยงคอร์รัปชันได้

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | 3 มุมมองจากผู้รู้ สู่การแก้โกงจากการใช้ดุลยพินิจของรัฐ

เมื่อดุลยพินิจมากเกินไป แก้อย่างไรถึงจะเห็นผล ? ในการกำหนดนโยบายและการดำเนินกิจการต่าง ๆ ของรัฐต่างก็ต้องมีคนที่เข้ามาทำหน้าที่บริหารจัดการ โดยสามารถใช้ดุลยพินิจของตนเพื่อตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ ได้ แต่หลายครั้งการวินิจฉัยกลับไม่เป็นไปอย่างเที่ยงธรรม หรือเป็นการวินิจฉัยที่เบี่ยงเบนไปตามความพึงพอใจ อคติ หรือเพื่อผลประโยชน์บางอย่าง จนเกิดเป็นการ “ทุจริต”

KRAC The Experience | เรียนรู้เรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันผ่านโครงการ Eisenhower Fellowships

“KRAC The Experience” คอนเทนต์ใหม่แกะกล่องของ KRAC ! ที่จะพาทุกคนมาเรียนรู้เรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันผ่านการเดินทางไปที่สหรัฐอเมริกา ในโครงการ Eisenhower Fellowships 🌎✈️

You might also like...

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | “รังนก” ก็โกงได้ : ตรวจสอบช่องโหว่กลไกการให้สัมปทานรังนกไทย

ส่องกลไกสัมปทาน เมื่อการทุจริตรังนกอาจทำให้งบรั่วไหล หากไม่มีกลไกการตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ แล้วเราจะป้องกันปัญหานี้ได้อย่างไร ? โดย KRAC สรุปมาให้เเล้วจากงานวิจัยเรื่อง “กระบวนการและการตรวจสอบการให้สัมปทานรังนกในภาคใต้ของประเทศไทย” (2562)

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | คอร์รัปชันในอุตสาหกรรมประมงไทย : ปัญหาที่กระทบเศรษฐกิจ สิทธิมนุษยชน และภาพลักษณ์ประเทศ

จะแก้อย่างไรถ้าอุตสาหกรรมประมงไทยคอร์รัปชัน ? ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมประมงระดับโลกของไทยอีกด้วย โดย KRAC สรุปมาให้เเล้วจากงานวิจัยเรื่อง “การศึกษาวิเคราะห์การทุจริตคอร์รัปชันขบวนการเครือข่ายนายหน้าแรงงานข้ามชาติเมียนมาในอุตสาหกรรมประมงต่อเนื่องของประเทศไทย” (2562)

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | เบื้องหลังการทุจริตภาษีศุลกากร: เมื่อบริษัทปลอมกลายเป็นเครื่องมือเลี่ยงภาษี

บริษัทปลอม vs ศุลกากร : หนีภาษีเขาทำกันอย่างไร ? วิธีป้องกันบริษัทปลอม แหล่งหนีภาษาศุลกากรหลักหมื่นล้าน !! กระบวนการเหล่านี้จะเป็นอย่างไร ? แต่ละตัวละครทำหน้าที่อะไร สรุปมาให้เเล้วจากงานวิจัยเรื่อง “การศึกษากลุ่มอิทธิพลซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบ: กรณีศึกษาการทุจริตภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีศุลกากรในประเทศไทย” (2561)