เปิดตัว KRAC ศูนย์ความรู้ต้านโกง สร้างเครือข่ายต่อต้านทุจริตระดับนานาชาติ และจะกลายเป็นศูนย์กลางการต่อต้านทุจริตระดับภูมิภาคอาเซียนในอนาคต
KRAC ศูนย์ความรู้ต้านโกง สร้างเครือข่ายต่อต้านทุจริตระดับนานาชาติ
ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการส่งเสริมและสนับสนุนทางวิชาการ “ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค” (Knowledge hub for Regional Anti-corruption and good governance Collaboration: KRAC) ทาง ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้อำนวยการศูนย์ฯ ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของศูนย์ฯ ในการเป็นศูนย์กลางความรู้ด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน และการบริหารจัดการองค์ความรู้ งานวิจัย ผลงานทางวิชาการ เครื่องมือ และสื่อให้ความรู้เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาขยายเครือข่ายการต่อต้านคอร์รัปชันของประเทศไทยกับนานาชาติที่เป็นรูปธรรม เพื่อยกระดับแนวทางการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการพัฒนาระบบสนับสนุนและส่งเสริมศักยภาพการต่อต้านคอร์รัปชันที่จะนำองค์ความรู้ นวัตกรรม ผลงานทางวิชาการ และเครื่องมือต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในศูนย์ฯ มาใช้ให้ประโยชน์สูงสุดในทางปฏิบัติ
ในการนี้ ผูศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ได้นำเสนอกลไกการดำเนินงานที่สำคัญ 4 ด้าน ของทางศูนย์ฯ เพื่อสร้างระบบนิเวศของการต่อต้านคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพ ผ่านการพัฒนาศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค ดังนี้
- ประการแรก คือ การเป็นศูนย์กลางความรู้ (Knowledge) ด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน ซึ่งจะทำหน้าที่ในการบริหารจัดการองค์ความรู้ ผลงานทางวิชาการ หลักสูตร โครงการ นวัตกรรม สื่อให้ความรู้ และเครื่องมือต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันที่นำไปใช้ได้จริง เพื่อค้นหาแนวทางและสังเคราะห์แผนการทำงานที่มีประสิทธิภาพในการต่อต้านการคอร์รัปชัน เพื่อเป็นกรณีต้นแบบสำหรับการศึกษาวิธีการรับมือกับปัญหาคอร์รัปชันให้กับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคอาเซียน
- ประการที่สอง คือ การเป็นศูนย์กลางเครือข่าย (Network) ที่จะพัฒนาและขยายเครือข่ายการต่อต้านคอร์รัปชันที่เป็นรูปธรรมสู่ระดับนานาชาติ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการทำงานร่วมกันของเครือข่ายภายใต้รูปแบบ Consortium ที่จะนำไปสู่การจัดการและการแลกเปลี่ยนทรัพยากรด้านการต่อต้านคอร์รัปชันร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากนานาประเทศ ผ่านการจัดประชุมความร่วมมือเครือข่ายทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ ที่จะทำให้เกิดความร่วมมือในการผลิตผลงานทางวิชาการ หรือโครงการเชิงปฏิบัติการที่จะช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนการทำงานในด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน
- ประการที่สาม คือ การเป็นศูนย์กลางความร่วมมือ (Join) ที่จะพัฒนาระบบสนับสนุนและส่งเสริมการต่อยอด
องค์ความรู้ให้ทางผู้ปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ ชุมชน และสังคม สามารถใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ด้านการต่อต้านคอร์รัปชันในการจัดการและแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่เชื่อมโยงกับบริบทของพื้นที่และเวลาในแต่ละสังคม - ประการที่สี่ คือ การเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ (Learn) ที่จะมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพการต่อต้านคอร์รัปชันด้วยการให้บริการกิจกรรมทางวิชาการและเผยแพร่องค์ความรู้สู่สังคม เช่น การจัดทำหลักสูตรและกิจกรรมการเรียนรู้ หรือการเป็นพื้นที่สำหรับการฝึกงานของนิสิต นักศึกษา และผู้ที่สนใจ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันของนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ และประชาชนทั่วไป รวมถึงการถ่ายทอดองค์ความรู้ในช่องทางต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับประเทศและในระดับภูมิภาค
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวถึงความสำคัญของการจัดตั้งศูนย์ฯว่า “หนึ่งในเป้าประสงค์ของการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ มุ่งแก้ไขปัญหารากเหง้าของสังคม ได้แก่ การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน การสร้างสังคมคุณธรรมและการส่งเสริมธรรมาภิบาล เพื่อสังคมไทยมีการพัฒนาอย่างยั่งยืนและเป็นสังคมคุณธรรม มีธรรมาภิบาล โดยการประยุกต์ใช้ผลงานวิจัย องค์ความรู้ นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่สอดคล้องกับทิศทางของการพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม”
ด้าน รศ. ดร.สิทธิเดช พงศ์กิจวรสิน คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความร่วมมือในการลงนามครั้งนี้ว่า “หนึ่งในประเด็นท้าทายของสังคมไทยในปัจจุบัน คือปัญหาการคอร์รัปชันที่มีความรุนแรงและสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคมให้กว้างมากขึ้น เพื่อยกระดับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์คอร์รัปชันในทางที่ดีขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงยินดีที่จะสนับสนุนด้านองค์ความรู้วิชาการ และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในงานต่อต้านคอร์รัปชันร่วมกันระหว่างสองหน่วยงาน”
ภายในงานยังมีการแสดงปาฐกถาของสองผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านคอร์รัปชันในระดับนานาชาติและระดับชาติ โดยได้รับเกียรติจาก Professor Matthew C. Stephenson, Harvard Law School, Harvard University และ ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) สรุปรายละเอียดการแสดงปาฐกถา ดังนี้
การแสดงปาฐกถาในหัวข้อ “Opportunities and Challenge for Thailand to create a Center for Excellence in Anti – Corruption Research” โดย Professor Matthew C. Stephenson ศาสตราจารย์ด้านนิติศาสตร์ ประจำ Harvard Law School, Harvard University ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านการพัฒนาและการดำเนินงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการต่อต้านคอร์รัปชันในระดับนานาชาติ และได้ให้หมุดหมายสำคัญของการที่วัตถุประสงค์และกลไกในการดำเนินงานของศูนย์ฯ จะก่อให้เกิดเครือข่าย 3 ระดับของความร่วมมือในการทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันที่จะเกิดขึ้นในภูมิภาคอาเซียน
โดยใน เครือข่ายที่หนึ่ง คือ เครือข่ายความร่วมมือระหว่างองค์ความรู้ (Knowledge) และการลงมือปฏิบัติจริง (Action) เนื่องจากปัญหาคอร์รัปชันถือเป็นปัญหาที่มีความยุ่งยากและซับซ้อนในรายละเอียด รวมถึงมีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบททางสังคมและเศรษฐกิจที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ซึ่งหากมีการทำงานในลักษณะที่ปราศจากความเชื่อมโยงกัน หรือหากมีเพียงแค่องค์ความรู้หรือการลงมือปฏิบัติจริงเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งในการทำงาน ก็อาจทำให้การทำงานต่อต้านคอร์รัปชันเป็นเรื่องที่ยากหรือทำงานได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพมากเพียงพอ ดังนั้น การมีสถาบันที่เข้ามาทำหน้าที่ช่วยในการประสานการทำงานของผู้ปฏิบัติงานจริงในแต่ละหน่วยงานเข้ากับองค์ความรู้ที่ถูกผลิตและศึกษาโดยนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญที่มีความสามารถ จะเป็นการช่วยส่งเสริมให้เกิดความก้าวหน้าในการทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน และทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่ได้ทั้งจากการศึกษาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องและการทำงานในเชิงสัมพัทธ์ระหว่างหน่วยงานที่มีความเชื่อมโยงกัน
ซึ่งจะเชื่อมต่อไปยัง เครือข่ายที่สอง คือ เครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้เชี่ยวชาญด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน (Anti-corruption experts) และประชาชนที่เป็นบุคคลทั่วไป (Ordinary people) โดยที่ผู้เชี่ยวชาญจะมีบทบาทสำคัญในฐานะของการเป็นผู้รวบรวมและพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการต่อต้าน คอร์รัปชันให้มารวมอยู่กันในพื้นที่เดียวกัน และเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจและตระหนักถึงเรื่องของการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน สามารถเข้าถึงข้อมูลความรู้ที่จำเป็นได้อย่างโปร่งใสโดยไม่มีค่าใช้จ่าย และในขณะเดียวกันประชาชนที่เป็นบุคคลทั่วไปก็สามารถที่จะทำหน้าที่เป็นแหล่งข้อมูลสำคัญในการรายงานปัญหาที่เกี่ยวกับการคอร์รัปชันที่ได้พบเห็นในที่ชีวิตประจำวันให้กับผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิจัยที่มีความสนใจที่จะศึกษาปัญหาคอร์รัปชันในฐานะที่เป็นปรากฏการณ์ทางสังคมรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้คน เพื่อที่จะนำประสบการณ์ของแต่ละปัจเจกบุคคลมาใช้ในการพัฒนาองค์ความรู้และคิดค้นเครื่องมือหรือนวัตกรรมสำหรับการต่อต้านคอร์รัปชันต่อไป
และจะขยายผลไปสู่ เครือข่ายที่สาม คือ เครือข่ายความร่วมมือในระดับสากล ไม่ว่าจะเป็นทั้งในระดับประเทศ ภูมิภาค และนานาชาติ เนื่องจากในปัจจุบันทุกประเทศทั่วโลกล้วนแล้วแต่ประสบปัญหาเกี่ยวกับการคอร์รัปชัน และในทุกพื้นที่ก็จะมีรูปแบบลักษณะของปัญหาการคอร์รัปชันที่แตกต่างกันไปตามบริบททางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น การออกแบบเครื่องมือหรือวิธีการที่จะใช้ในการแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชัน จึงไม่สามารถทำในลักษณะที่เป็นวิธีการเดียวสามารถแก้ปัญหาทั้งหมด (One size fits all) ได้ และจำเป็นต้องศึกษาถึงบริบทที่แตกต่างกันของแต่ละพื้นที่ที่มีปัญหาการคอร์รัปชัน ซึ่งการก่อตั้งศูนย์ฯ จะถือเป็นโอกาสสำคัญในการที่ศูนย์ฯ จะทำให้เกิดความร่วมมือกันในการพัฒนาเครื่องมือและเทคนิคที่เหมาะสมสำหรับการต่อต้านการคอร์รัปชันในแต่ละพื้นที่ รวมไปถึงการสร้างความรู้สึกร่วมของการสนับสนุน (Sense of support) ในการต่อต้านคอร์รัปชันให้กับหน่วยงานภาคีในเครือข่ายที่เดิมทีอาจจะเห็นว่าการแก้ปัญหาคอร์รัปชันเป็นเรื่องที่ยากและเป็นไปไม่ได้ ให้เปลี่ยนเป็นความรู้สึกว่าที่ว่าภารกิจในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่แต่ละหน่วยงานกำลังดำเนินงานอยู่นั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้จริง นอกจากนี้ การก่อตั้งศูนย์ฯ จะยังก่อให้เกิดการไหลเวียนขององค์ความรู้ (Flow of knowledge) ที่ไหลเวียนแบบข้ามภาคส่วนและข้ามพื้นที่ ที่จะช่วยให้ผู้คนได้เรียนรู้เกี่ยวกับการคอร์รัปชันแบบเจาะลึกในรายละเอียดว่าในแต่ละพื้นที่มีปัญหาการคอร์รัปชันเกิดขึ้นในรูปแบบใด และเกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่จะช่วยให้สามารถสร้างองค์ความรู้และนวัตกรรมที่เกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชันและการส่งเสริมธรรมาภิบาล
ในท้ายที่สุดแล้ว ในกระบวนการของการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทั้ง 3 ระดับที่จะเกิดขึ้นจากการก่อตั้งศูนย์ฯ นี้ จะต้องเป็นการทำงานในลักษณะที่เป็นการทำอย่างยาวนานและต่อเนื่อง โดยทุกคนในสังคมที่เกี่ยวข้องจะต้องร่วมกันช่วยเสริมสร้างองค์ความรู้ และมีความตั้งใจและความพยายามในการทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน รวมถึงเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการทำงานในการฝึกฝนและเรียนรู้ เพื่อที่จะเป็นกำลังสำคัญทั้งในด้านการลงมือปฏิบัติงานและการต่อยอดองค์ความรู้ที่จะช่วยเสริมศักยภาพในการทำงานเกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชัน และการส่งเสริมธรรมาภิบาลต่อไปในอนาคต
สำหรับการแสดงปาฐกถาหัวข้อ “สถานการณ์และพัฒนาการต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทย” โดย ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในการดำเนินงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันระดับประเทศ ได้แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์การคอร์รัปชันของประเทศไทย โดยจากการอ้างอิงจากผลการประเมินดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index) หรือ CPI จากองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International : TI) ที่แม้ว่าตลอดระยะเวลากว่าสองทศวรรษที่ผ่านมาอันดับของประเทศไทยจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก แต่ในความเป็นจริงแล้วลักษณะและพฤติกรรมของการคอร์รัปชันในสังคมไทยกลับมีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปตามสภาพทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมตามช่วงเวลา และมีปัจจัยหลายประการที่บ่งชี้ว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนี้กำลังทำให้ปัญหาคอร์รัปชันมีความซับซ้อนและควบคุมได้ยากยิ่งขึ้น และสร้างความเสียหายแก่บ้านเมืองในระดับวิกฤติ
อย่างเช่นในเรื่องของการคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้าง ซึ่งแม้ว่าจะมีกฎหมายอย่าง พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ที่เป็นตัวกำหนดแบบแผนขั้นตอนการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างของทางภาครัฐไว้ แต่ยังมีกลุ่มบุคคลบางกลุ่มที่อาศัยช่องว่างทางกฎหมายในการคอร์รัปชัน เช่น การล็อคสเปก หรือการฮั้วประมูล ซึ่งถึงแม้จะมีองค์กรที่คอยตรวจสอบและกำกับดูแลในเรื่องดังกล่าว แต่การจัดซื้อจัดจ้างทั้งในพื้นที่ต่างจังหวัด พื้นที่เมือง หรือในโครงการขนาดใหญ่ ก็ยังคงปรากฏให้เห็นถึงการคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นทั้งก่อนและหลังการดำเนินการตามขั้นตอนปฏิบัติ และก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อประชาชน
นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างนายทุนและผู้มีอิทธิพลที่ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐในการคอร์รัปชัน ดังจะเห็นได้จากกรณีของนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ที่ถูกเปิดโปงว่ามีส่วนร่วมในกระบวนการเครือข่ายที่ทำให้ลูกของคนที่มีฐานะ สามารถจ่ายเงินเพื่อซื้อตำแหน่งเข้าไปเป็นข้าราชการตำรวจได้ ซึ่งการคอร์รัปชันรูปแบบดังกล่าวยังก่อให้เกิดการสร้างเครือข่ายของขบวนการที่เชื่อมโยงกับอาชญากรรมรูปแบบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เครือข่ายการพนันออนไลน์ และทำให้ตำรวจชั้นผู้น้อยถูกบีบบังคับให้ต้องรับคำสั่งและรับเงินเพื่อทำงานที่ผิดกฎหมายตามความต้องการของผู้มีอิทธิพล เพื่อการเติบโตและโอกาสความก้าวหน้าทางอาชีพ ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงและฝังรากลึกอยู่ในระบบราชการตำรวจไทย
ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีกรณีของการคอร์รัปชันในการบริหารงบประมาณขององค์กรระดับท้องถิ่น เช่น กรณีการตบทรัพย์อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เกี่ยวข้องกับการจัดทำ พ.ร.บ. งบประมาณประจำปีของรัฐสภา ซึ่งเป็นการคอร์รัปชันทางการเมืองที่เป็นการทำตามระบบและดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่ยากจะเอาผิด หรือในกรณีของการจัดซื้อเสาไฟกินรีที่เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความดื้อแพ่งของหน่วยงานท้องถิ่นที่มีต่อองค์กรที่เป็นผู้ตรวจสอบการทุจริตอย่าง ป.ป.ช. เพราะมีความมั่นใจในเครือข่ายและการปกป้องกันเองของพวกพ้อง รวมถึงความเชื่อมั่นในฐานะของการเป็น ‘บ้านใหญ่’ ของพื้นที่จังหวัดนั้น ๆ ที่ปกป้องนักการเมืองในสังกัดอยู่
อย่างไรก็ดี ในด้านของการศึกษาและปฏิบัติการด้านการต่อต้านคอร์รัปชันของประเทศไทย พบว่ามีแนวโน้มพัฒนาการที่ดีขึ้นเช่นเดียวกัน ทั้งในด้านการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งเป็นผลมาจากกลไกภาครัฐที่เปลี่ยนแปลงไป และการก้าวเข้าสู่ความเป็นรัฐบาลดิจิทัลที่มีกฎหมายต่าง ๆ ที่ถูกบัญญัติขึ้นใหม่ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนเกี่ยวกับการทำธุรกรรมกับภาครัฐแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดความตื่นตัวขององค์กรในการสร้างความโปร่งใสในการทำงานที่เพิ่มมากขึ้น แต่ในปัจจุบันก็ยังปรากฏให้เห็นถึงข้อจำกัดในการต่อต้านคอร์รัปชันอีกจำนวนมากที่ถือเป็นความล้มเหลวของภาครัฐ เช่น มาตรการในการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชันในหน่วยงานราชการที่ไม่มีประสิทธิภาพ และระบบกระบวนการยุติธรรมที่มีการยื่นเรื่องคดีคอร์รัปชันเข้าสู่การพิจารณาของ ป.ป.ช. และมีเพียงแค่ไม่กี่คดีที่ถูกชี้มูลความผิด หรือหากเป็นคดีที่ขึ้นศาลและถูกตัดสินว่ามีความผิดก็จะมีมาตรการต่าง ๆ ที่ถูกนำมาใช้สำหรับการลดหย่อนโทษ เช่น การรอลงอาญา การลดโทษ หรือการผ่อนโทษ ซึ่งทำให้ผู้กระทำผิดไม่เกรงกลัวต่อบทลงโทษทางกฎหมาย รวมไปถึงการปกปิดข้อมูลของทางราชการที่เจ้าหน้าที่รัฐพยายามหลีกเลี่ยงการใช้อำนาจในการจัดการปัญหาคอร์รัปชัน และ ‘การคอร์รัปชันภายใต้หน้าการของการต่อต้านคอร์รัปชัน’ ที่เป็นเรื่องของระบบการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งส่งผลให้ปัญหาการคอร์รัปชันในหน่วยงานภาครัฐยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไม่สามารถถูกขจัดให้หมดไปได้ ทั้งจากเจตนาของเจ้าหน้าที่รัฐที่มีการจงใจปกปิดข้อมูลไม่ให้มีการตรวจสอบ และความไม่ใส่ใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่และบุคลากรของแต่ละองค์กรรัฐ
แต่ในอีกด้านหนึ่ง ความตื่นตัวของภาคประชาชนและคนรุ่นใหม่ที่กล้ายืดหยัดที่จะต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชัน และความร่วมมือของภาคเอกชนและธุรกิจที่ร่วมกันส่งเสริมในเรื่องของความโปร่งใสและเป็นธรรมในการดำเนินกิจการ รวมถึงการนำเทคโนโลยีมาใช้ตรวจสอบข้อมูลการทำงานของภาครัฐและภาคเอกชน เช่น การแลกเปลี่ยนข้อมูลการทุจริตคอร์รัปชันผ่านเพจ Facebook เพจต้องแฉ หรือแพลตฟอร์ม ACT Ai ที่เข้ามาช่วยในการค้นหาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ความพยายามต่าง ๆ เหล่านี้ถือเป็นส่วนสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของแต่ละภาคส่วนในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันในสังคมไทยที่เพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน
จากประเด็นที่องค์ปาฐกถาทั้งสองท่านได้กล่าวถึงในข้างต้น เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมโยงที่แม้ว่าสถานการณ์คอร์รัปชันในสังคมไทยจะมีความซับซ้อนและมีรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลา แต่ในขณะเดียวกันนั้น ความก้าวหน้าของปฏิบัติการต่อต้านคอร์รัปชันในสังคมไทยก็มีพัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น และมีความเท่าทันสอดคล้องไปกับสถานการณ์การคอร์รัปชันที่เปลี่ยนแปลงไปตามบริบทของสังคม ซึ่งการก่อตั้งศูนย์ฯ ที่จะทำให้เกิดเครือข่ายความร่วมมืือทั้ง 3 ระดับ จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการทำงานในการต่อต้านคอร์รัปชันที่มีความต่อเนื่องและเป็นระบบ รวมไปถึงเป็นการสร้างเครือข่ายในการต่อต้านคอร์รัปชันที่มีความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพในการที่จะรับมือกับโครงข่ายของการคอรร์รัปชันที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทย
และในท้ายที่สุดแล้ว เป้าหมายสูงสุดที่เป็นผลสัมฤทธิ์ของการส่งเสริมและสนับสนุนทางวิชาการของทางศูนย์ฯ ที่เกิดขึ้นในที่นี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จุดประกายความหวังของสังคมไทยในการพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรมสำหรับการต่อต้านคอร์รัปชันในรูปแบบที่หลากหลาย และสร้างเครือข่ายความร่วมมือแบบข้ามภาคส่วนในด้านการต่อต้านคอร์รัปชันในระดับภูมิภาคที่เป็นรูปธรรม รวมถึงผลิตบุคลากรที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อต้านคอร์รัปชันและการส่งเสริมธรรมาภิบาลของสังคมไทย ซึ่งจะช่วยยกระดับการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ของการจัดการปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทยให้เป็นไปในทางที่ดีขึ้น และสามารถส่งเสริมเรื่องของการสร้างธรรมาภิบาลในสังคมให้เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล และมีความยั่งยืน
- Anti-Corruption
24 เมษายน 2566