เมื่อสัปดาห์ก่อนหน้านี้ คาดว่าทุกท่านคงจะได้อ่านบทความของคุณณัฐภัทร เนียวกุล ที่เขียนถึงความพยายามในการแก้ไขปัญหาการทุจริตในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ที่กล่าวถึงการนำมาตรฐาน “สัญญาแบบเปิด” หรือ Open Contracting Data Standard: OCDS ขององค์กรประชาสังคมระหว่างประเทศ Open Contracting Partnership หรือที่เราเรียกย่อๆ กันว่า OCP มาใช้ วันนี้ผู้เขียนจึงขอหยิบความร่วมมือ ความสำเร็จ ความท้าทาย และประเด็นต่อยอดในการยกระดับการจัดซื้อจัดจ้างแบบเปิดของกรุงเทพมหานคร มาเป็นกรณีศึกษาและเล่าให้ทุกท่านได้รับทราบและร่วมแสดงความเห็น รวมถึงร่วมส่งกำลังใจให้คณะทำงานกันค่ะ
ช่วงปีที่ผ่านมา (ตุลาคม 2565 – มีนาคม 2566) กระทรวงการต่างประเทศและการพัฒนา (Foreign, Commonwealth and Development Office) สถานเอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ได้ร่วมมือกับ OCP ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของ ASEAN Economic Reform Programme ในการสำรวจศักยภาพการดำเนินการทำสัญญาแบบเปิดในประเทศไทย จึงร่วมกับกรุงเทพมหานคร และ HAND Social Enterprise องค์กรของผู้เขียนในบทบาทของผู้ประสานโครงการ ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูล ฐานข้อมูล การเชื่อมโยงข้อมูล และระบบที่เกี่ยวข้องในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง เปรียบเทียบกับมาตรฐานสากล (Open Contracting Data Standard) ภายใต้นโยบาย Open Bangkok ขับเคลื่อนโครงการ Open Contracting in Thailand เพื่อระบุความเป็นไปได้ในการพัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการจัดซื้อจัดจ้างให้มีประสิทธิภาพผ่านข้อมูลเปิด และดำเนินการจัดการประชุมร่วมกับคณะทำงานจากหน่วยงานภายใน กทม. ที่เกี่ยวข้องหลายสำนักฯ ในการวิเคราะห์ปัญหา กำหนดขอบเขตและออกแบบกรณีที่ต้องการใช้ประโยชน์จากข้อมูลเพื่อยกระดับการจัดซื้อจัดจ้างของกรุงเทพมหานครให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมุ่งเน้นการพัฒนาใน 3 กรณี คือ
1)พัฒนาการแข่งขันและโอกาสทางการตลาด เพื่อป้องกันการแข่งขันน้อยราย การไม่มีผู้รับจ้างรายใหม่ หรือลดช่องว่างที่เปิดโอกาสให้ผู้รับจ้างหน้าเดิมได้งานอยู่ตลอดเวลา ซึ่งอาจเกิดจากปัจจัยในด้านความรู้ความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ของหน่วยงานจัดซื้อจัดจ้าง/เจ้าหน้าที่ในการเขียนทีโออาร์ การประชาสัมพันธ์ที่อาจยังไม่ทั่วถึง ความสามารถในการจัดเตรียมการเสนอราคาของผู้รับจ้างที่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไข ขั้นตอนการทำงานของระบบราชการที่มีจำนวนมากและซับซ้อน และบางครั้งอาจเกิดจากช่องว่างของระเบียบที่กำหนดว่าต้องทำสัญญากับผู้รับจ้างที่เสนอราคาต่ำสุดเสมอ ซึ่งอาจทำให้คุณภาพหรือมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างลดลง หรือเกิดการทิ้งงานของผู้รับจ้างตามมาได้
2)พัฒนาคุณภาพของสินค้า งานบริการ และการดำเนินงานอื่นๆ ที่อาจจะยังขาดกลยุทธ์หรือการวางแผนการจัดซื้อจัดจ้างที่ครอบคลุมผลกระทบด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมในระยะยาว และในขณะเดียวกันหน่วยงานยังต้องการฐานข้อมูลและความสามารถในการเข้าถึงข้อมูลเกี่ยวกับผู้รับจ้าง และความคิดเห็นจากผู้รับบริการหรือประชาชน เพื่อศึกษาความต้องการของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย วิเคราะห์ประสิทธิภาพของตลาด รับรองการให้บริการและมีการประเมินที่มีประสิทธิภาพ เพื่อตอบสนองความต้องการและผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน ลดจำนวนงบประมาณที่ใช้ไปกับการซ่อมแซมหรือบำรุงรักษา รวมถึงลดความถี่ในการเปลี่ยนสินค้าจากการยืดอายุการใช้งานด้วย
3)พัฒนาผลประโยชน์ด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม จากการเชื่อมโยงชุดข้อมูลกับแผนพัฒนาเมืองด้านต่างๆ เพื่อชี้ให้เห็นว่าส่วนงานพัฒนานั้นมีการใช้จ่ายไปกับด้านอะไร เท่าไรบ้าง การจัดซื้อจัดจ้างที่เกี่ยวข้องสามารถสร้างผลลัพธ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ/คุ้มค่ามากน้อยแค่ไหน อันจะนำไปสู่ความโปร่งใสและการสร้างการรับรู้และมีส่วนร่วมกับภาคประชาชนจากการสื่อสารและแบ่งปันข้อมูลร่วมกัน
จากการดำเนินงานกว่า 6 เดือน เพื่อมุ่งไปสู่การยกระดับการจัดซื้อจ้าง กรุงเทพมหานครยังได้ร่วมวิเคราะห์แนวทางการใช้ข้อมูลเป็นฐานในการทำสัญญาแบบเปิดร่วมกับ OCP และพบว่ากรุงเทพมหานครสามารถเข้าถึงข้อมูลจำนวนมากที่สำคัญต่อการเปิดเผยข้อมูลตามมาตรฐาน OCDS ซึ่งจากการตรวจสอบตัวบ่งชี้ 71 รายการ พบข้อมูลที่สามารถพัฒนาไปสู่การเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณะตามมาตรฐาน OCDS ได้ทั้งสิ้น 63 รายการ เป็นข้อมูลที่สามารถพัฒนาโอกาสทางการตลาด ประสิทธิภาพการดำเนินงานภายในได้ครบทุกรายการ แต่อาจยังต้องเก็บรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับรองรับการเปิดเผยข้อมูลเพื่อพัฒนาด้านความคุ้มค่าของเงิน การส่งมอบบริการ และส่งเสริมความซื่อสัตย์สุจริตของภาครัฐ ในอีกมุมหนึ่งชุดข้อมูลที่สำคัญนี้ยังสามารถใช้คำนวณสัญญาณเตือนอันตราย/ความเสี่ยงในกระบวนการจัดซื้อจ้าง (Red flags indicators)ตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผน การประกวดราคา การประกาศผู้ชนะ การทำสัญญา ตลอดจนการควบคุมประสิทธิภาพการดำเนินงานได้แต่เนื่องจากอำนาจในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและต้นฉบับข้อมูลทั้งหมดยังอยู่ที่กรมบัญชีกลาง ตามที่คุณณัฐภัทรได้เล่าถึงในบทความที่แล้ว จึงอาจจะทำให้การเผยแพร่ข้อมูลตามมาตรฐาน OCDS เพื่อคำนวณสัญญาณเตือนอันตรายของกรุงเทพมหานครยังไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ โดยพบว่ากรุงเทพมหานครมีข้อมูลภายใต้ตัวบ่งชี้จากขั้นการประกวดราคาและการประกาศผู้ชนะรวมเพียง 22 รายการ จากทั้งหมด 71 รายการ ที่สามารถคำนวณได้
เพื่อขับเคลื่อนโครงการในระยะต่อไป และผลักดันให้กรุงเทพมหานครสามารถวิเคราะห์และประเมินกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อพัฒนาการทำสัญญาแบบเปิดได้อย่างอิสระโดยไม่ต้องอาศัยข้อมูลหรือการสนับสนุนจากหน่วยงานอื่น กรุงเทพมหานครจึงได้กำหนดเป้าหมายเพื่อพัฒนาโครงสร้างและความเป็นไปได้ใน “การใช้งานข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อยกระดับการจัดการปัญหาน้ำท่วม” เป็นโจทย์ในการต่อยอดโครงการ และเข้าร่วมแข่งขัน Lift Program ของทาง Open Contracting Partnership โดยได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 10 ทีมทั่วโลก และ 1 ใน 2 ทีมจากภูมิภาคเอเชีย จากผู้สมัครทั้งหมด 170 ทีม จาก 60 ประเทศทั่วโลก เพื่อรับการสนับสนุนการดำเนินโครงการเพื่อยกระดับโครงสร้างการจัดซื้อจัดจ้างอย่างเป็นระบบเป็นระยะเวลา 18 เดือน (สิงหาคม 2566 – กุมภาพันธ์ 2568)
ในวันที่ 25 – 27 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา Open Contracting Partnership จึงจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ Lift-off เพื่อร่วมออกแบบแผนการทำงานและสร้างแผนงานการติดตาม ประเมินผล และการเรียนรู้ (Monitoring Evaluation and Learning : MEL) ร่วมกับกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วยตัวแทนจากสำนักยุทธศาสตร์และการประเมินผล สำนักการระบายน้ำ สำนักการต่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร โดยค้นพบแนวทางปฏิบัติเพื่อยกระดับการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อจัดการปัญหาน้ำท่วมทั้งหมด 7 ประการคือ 1)การพัฒนาการจัดซื้อจัดจ้างแบบเปิด พัฒนาข้อมูลเปิด ตัวชี้วัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ ความคุ้มค่าเงิน และเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนการปฏิบัติงานภายในองค์กร 2)การบูรณาการเทคโนโลยีระบบที่ใช้กับการจัดซื้อจัดจ้าง และระบบพอร์ทัลอื่นๆ ของกรุงเทพมหานคร ให้เชื่อมโยงถึงกัน เพื่อลดขั้นตอนกระบวนงานของเจ้าหน้าที่ ลดความซ้ำซ้อน และลดความไม่สะอาดของข้อมูล ตลอดจนเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่สามารถใช้ในการวิเคราะห์การเปิดเผยข้อมูลตามมาตรฐานสากลได้ 3)การวางแผนงาน (Master Plan) ทั้งระยะสั้นและระยะยาว ในการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมรวมถึงจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นระบบ 4)การขยายโอกาส การเข้าถึงตลาด และการส่งเสริมหรือสนับสนุนการมีส่วนร่วมของผู้ประมูลและการสร้างนวัตกรรม 5)การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในองค์กรกรุงเทพมหานคร ให้มีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการทำสัญญาแบบเปิด ว่ามิใช่การตรวจสอบ จับผิดหรือกล่าวโทษ แต่เป็นการส่งเสริมความโปร่งใสและประสิทธิภาพของการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม ทั้งคณะทำงานและประชาชน 6)การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชน ให้ร่วมกันเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม จากรากสาเหตุที่อาจเกิดการกำจัดของเสียที่ยังไม่ถูกหลัก เช่น การทิ้งขยะลงในแม่น้ำ ลำคลอง การปล่อยน้ำเสียจากการอุปโภค-บริโภคลงสู่แหล่งน้ำสาธารณะ เพื่อลดต้นทุนของภาครัฐในการขจัดสิ่งอุดตันในท่อระบายน้ำที่มาจากการกระทำของคน และ 7)การทำให้อุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ใช้ในการจัดการปัญหาน้ำท่วมมีประสิทธิภาพและสามารถทำงานได้อย่างเต็มที่เพื่อลดระยะเวลาในการแก้ไขปัญหาและการจัดการที่ดีขึ้น โดยกรุงเทพมหานครตั้งเป้าหมายสูงสุดเพื่อลดผลกระทบของน้ำท่วมที่มีต่อประชาชน จากการนำแผนปฏิบัติทั้งหมดนี้มาปรับใช้ เพื่อเพิ่มการแข่งขันในการวางแผนและการจัดซื้อจัดจ้างเกี่ยวกับน้ำท่วมให้ได้รับสินค้า การบริการ และงานก่อสร้างที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการได้รับความคุ้มค่าทางการเงินจากการจัดซื้อจัดจ้าง อันจะนำไปสู่การส่งเสริมความโปร่งใส ความซื่อสัตย์ และการได้รับความไว้วางใจจากประชาชนต่อการจัดการปัญหาน้ำท่วม
เห็นแผนงานที่ค่อนข้างรัดกุมและมีเป้าหมายที่ชัดเจนเช่นนี้ผู้เขียนจึงมุ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่ากรุงเทพมหานครจะสามารถนำแนวทางปฏิบัติที่เป็นข้อสรุปจากการประชุมเชิงปฏิบัติการตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น มาปรับใช้ดำเนินการและทำให้การจัดซื้อจัดจ้างเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จริง และขอเชิญชวนผู้อ่านทุกท่านทั้งที่เป็นคนกรุงเทพฯ หรือในท้องถิ่นอื่นๆ ร่วมส่งกำลังใจให้กับคณะทำงานฯ เพราะความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นมิใช่เพียงผลงานของกรุงเทพมหานคร แต่จะเป็นผลประโยชน์ต่อสังคม ประชาชน และเป็นกรณีศึกษาในการพัฒนาการทำสัญญาแบบเปิดของประเทศไทย รวมถึงเป็นผลสะท้อนและหลักฐานที่ทำให้เห็นว่าการใช้ข้อมูลเปิดนั้นเป็นพลังสำคัญในการส่งเสริมความโปร่งใสด้วย
ศุทธิรัตน์ พัชรวุฒิพันธุ์
หัวข้อ
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : โอปป้า เพื่อระบบที่ดีสร้างสังคมยั่งยืน
โอปป้าจ๋าช่วยด้วยยยย ! ทำไมคอร์รัปชันยังไม่หมดไปสักที หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่า ทำไมเราถึงอยากปฏิรูปการศึกษาก็ทำไม่ได้ อยากป้องกันทรัพยากรธรรมชาติก็ทำได้ยากเพราะมีคนแย่งหาผลประโยชน์กันเต็มไปหมด หรือแม้แต่การสร้างสวัสดิการที่ดีให้กับประชาชนก็ดันไม่ถึงมือประชาชนอีก ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากการคอร์รัปชันที่ยังไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปได้นั่นเอง
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เวทีต้านโกงระดับโลก เขาพูดคุยอะไรกัน
4 ประเด็นน่าสนใจจาก “Summit for Democracy 2023” การประชุมระดับโลกเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา HAND Social Enterprise HANDSocialEnterprise ได้รับเชิญจากรัฐบาลเกาหลีใต้ให้ไปร่วมเสวนาในงาน Summit for Democracy 2023 หัวข้อหลักงานปีนี้คือ “การต่อต้านคอร์รัปชัน” เชื่อมโยงคำอธิบายว่า การคอร์รัปชันบ่อนทำลายประชาธิปไตย ในทางกลับกันประเทศที่ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งจะทำให้คอร์รัปชันสูงขึ้น
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เมื่อผมเรียนรู้การต้านคอร์รัปชัน จากร้านซักผ้า
หรือนี่คือช่างเชื่อมตัวจริง ? เมื่ออาจารย์ต่อภัสสร์พาคุณไปเรียนรู้การต่อต้านคอร์รัปชันจากการตามหาร้านซักผ้าในสหรัฐอเมริกา !