ศึกษาการรั่วไหลของงบประมาณแผ่นดินในการศึกษาภาคบังคับ และวิเคราะห์ผลกระทบของอัตราการรั่วไหลต่อประสิทธิภาพการบริการของโรงเรียน
การศึกษาเรื่องนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการรั่วไหลของงบประมาณแผ่นดินในการศึกษาภาคบังคับ และวิเคราะห์ผลกระทบของอัตราการรั่วไหลต่อประสิทธิภาพการบริการของโรงเรียน สำหรับขอบเขตของการวิจัย ใช้โรงเรียนขยายโอกาสทางการศึกษาในจังหวัดนครราชสีมา และอำนาจเจริญเป็นกลุ่มตัวอย่าง โดยช่วงเวลาที่เก็บข้อมูล คือ ระหว่างเดือนตุลาคม 2551 ถึง มีนาคม 2552
สรุปประเด็นจากงานวิจัย
ผลการศึกษาการรั่วไหลของงบประมาณ พบว่างบประมาณในการดำเนินงานของโรงเรียนประเภทเงินอุดหนุนค่าใช้จ่ายรายหัว และเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียนยากจนในปีงบประมาณ 2549 พบความแตกต่างระหว่างข้อมูลงบประมาณราว 3.5 -7.0 และปีงบประมาณ 2550 มีความแตกต่างราวร้อยละ 3.5 – 7.6 เมื่อคำนวณความแตกต่างของงบประมาณทั้ง 2 ชนิด ในปีการศึกษา 2549 จะมีความแตกต่างราวร้อยละ 3.8 – 7.4 ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาในประเทศอื่น ๆ ที่ระบุว่าเงินที่จัดสรรตามการพิจารณา จะมีแนวโน้มรั่วไหลมากกว่าเงินที่มีกฎระเบียบการเบิกจ่ายที่ชัดเจน และยังสอดคล้องกับข้อมูลจากผู้บริหารของหน่วยงานระดับเขต ซึ่งพบว่างบประมาณ 2 ประเภทนี้ บางส่วนค้างอยู่ที่หน่วยงานระดับเขต ซึ่งในที่สุดก็มีโอกาสที่จะถูกนำไปใช้นอกวัตถุประสงค์ และไปไม่ถึงโรงเรียน อีกทั้ง การจะนำเงินที่ได้รับจากส่วนกลางไปใช้ ต้องมีกระบวนการจัดตั้งคณะกรรมการชุดต่าง ๆ ขึ้นมาพิจารณา ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่เเน่นอนในการบริหารงบประมาณ เเละส่งผลต่อคุณภาพการให้บริการโดยรวมได้
ผลการศึกษาในส่วนของการบริหารงานในโรงเรียนและการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง พบว่าครูมีอัตราการขาดงานไม่มากนัก โดยมีอัตราการขาดงานเท่ากับร้อยละ 6 ซึ่งการขาดงานเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ความเจ็บป่วย การฝึกอบรม การลาศึกษาต่อ และทำผลงานทางวิชาการ นอกจากนี้ ปัจจัยที่ทำให้อัตราการขาดงานเพิ่มขึ้น มาจากการขาดแคลนบุคลากรในโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนขยายโอกาสที่มีความห่างไกลมากกว่า จะมีการอัตราการขาดแคลนครูมากกว่า และพบว่าในกลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาราวร้อยละ 12 รอการบรรจุ และราวครึ่งหนึ่งขาดแคลนครูมากกว่าหนึ่งภาคเรียน และโรงเรียนเหล่านี้ มีเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ธุรการโดยเฉพาะน้อยมาก
ผลการศึกษาในส่วนของการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองในการบริหารโรงเรียน พบว่ามีผู้ปกครองที่ได้พบกับผู้ตรวจโรงเรียน ราวร้อยละ 43 และมีผู้ปกครองที่ได้อ่านรายงานการตรวจเยี่ยม ราวร้อยละ 23 ซึ่งอาจจะไม่มากพอในการสร้างความสัมพันธ์ของความรับผิดชอบต่อหน้าที่ของผู้ให้บริการ อีกทั้งมีครูราวร้อยละ 3 ที่ไม่เคยเข้าไปเยี่ยมผู้ปกครองในชุมชนเลย อย่างไรก็ดี การวิเคราะห์ผล พบว่าการที่ครูเข้าไปเยี่ยมชุมชน จะช่วยลดการรั่วไหลของงบประมาณได้
ผลการศึกษาในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างผู้กำหนดนโยบาย และผู้ให้บริการ พบว่าการรั่วไหลของเงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐาน มีอัตราการรั่วไหลมากกว่าเงินค่าใช้จ่ายรายหัวกว่าเท่าตัว ซึ่งเงินค่าใช้จ่ายรายหัวจะโอนตรงมาจากส่วนกลาง ในขณะที่เงินอุดหนุนปัจจัยพื้นฐาน จะออกมาพักไว้ที่หน่วยงานระดับเขตก่อน ซึ่งเป็นรูปแบบของการมอบหมายอำนาจ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน งบประมาณส่วนใหญ่ได้เปลี่ยนระบบเป็นการโอนโดยตรงจากส่วนกลาง ซึ่งนอกจากจะเป็นการแก้ปัญหาความล่าช้าแล้ว ยังแก้ปัญหาการรั่วไหลของงบประมาณด้วย
ผลการศึกษาในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างผู้รับบริการ และผู้กำหนดนโยบาย พบว่ามีความไม่แน่นอนในนโยบายสูง ซึ่งส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมทางการเมือง เช่น การกำหนดนโยบายการสนับสนุนการศึกษาโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย ซึ่งอาจจะทำให้ความสัมพันธ์ของความรับผิดชอบระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการไม่เข้มแข็ง อย่างไรก็ดี หากมีการตรวจเยี่ยมจากหน่วยงานบังคับบัญชา จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริการให้เพิ่มขึ้นได้
คณะผู้วิจัย ได้จัดทำข้อเสนอแนะทางนโยบายในการลดปัญหาดังกล่าว ตัวอย่างเช่น ในกลุ่มโรงเรียนในนครราชสีมา หากต้องการให้เงินค่าใช้จ่ายรายหัวมีการรั่วไหลลดลง รัฐต้องสร้างระบบการจ่ายค่าตอบแทนอื่นที่ไม่ใช่เงินเดือนให้ตรงเวลา ลดความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณ และการเพิ่มจำนวนการตรวจเยี่ยมของหน่วยงานบังคับบัญชา หากการสร้างระบบการจ่ายค่าตอบแทนอื่น ๆ ตรงเวลา การขาดงานของครูก็จะลดลง ในขณะเดียวกัน หากต้องการให้เงินอุดหนุนในปัจจัยพื้นฐานสำหรับนักเรียนยากจน มีการรั่วไหลลดลง รัฐต้องเพิ่มการมีส่วนร่วมของครูต่อชุมชน และเพิ่มจำนวนครั้งของการประชุมคณะกรรมการสถานศึกษา ซึ่งจะทำให้อำนาจผู้รับบริการเข้มแข็ง อย่างไรก็ตาม รัฐควรจัดสรรทรัพยากรให้โรงเรียนอย่างเพียงพอ เพราะช่วยลดการขาดงานของครูได้อย่างมีนัยยะสำคัญ เป็นต้น
จิระเดช ทัศยาพันธุ์. (2553). การศึกษาการรั่วไหลของงบประมาณแผ่นดินในการศึกษาภาคบังคับ. สํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ.
จิระเดช ทัศยาพันธุ์
หัวข้อ
ประชาสังคมกับการเสริมสร้างธรรมาภิบาลท้องถิ่นเพื่อพัฒนาระบบและกลไกในการป้องกันการทุจริต คอร์รัปชัน กรณีศึกษาจังหวัดนครราชสีมา
ศึกษาสถานการณ์ธรรมาภิบาล และแสวงหาความร่วมมือในการพัฒนาระบบกลไกเสริมสร้างธรรมาภิบาลในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาคการศึกษา และภาคประชาสังคมใน จ.นครราชสีมา
การศึกษาเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลซึ่งนำไปสู่การทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบของภาคการศึกษา กรณีศึกษาโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมเขตที่ 24, 25, 26 (กาฬสินธุ์ ขอนแก่น มหาสารคาม)
ทำความเข้าใจรูปแบบการทุจริตคอร์รัปชันอย่างเป็นระบบในภาคการศึกษา ระหว่างเครือข่ายกลุ่มอิทธิพลกับเจ้าหน้าที่รัฐที่เป็นข้าราชการและนักการเมือง เพื่อเสนอแนะมาตรการป้องกันความร่วมมือระหว่างเครือข่าย
การศึกษาการรั่วไหลของงบประมาณแผ่นดินในการศึกษาภาคบังคับ
ศึกษาการรั่วไหลของงบประมาณแผ่นดินในการศึกษาภาคบังคับ และวิเคราะห์ผลกระทบของอัตราการรั่วไหลต่อประสิทธิภาพการบริการของโรงเรียน