คอร์รัปชันนั้นเขาวัดกันยังไง

การออกแบบ หรือสร้างวิธีการเพื่อวัดระดับการคอร์รัปชันที่มีอยู่อย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการวัดจากมุมมองภาพลักษณ์ การวัดจากการถามประสบการณ์ตรงและจากหลักฐานที่มี รวมถึงการวัดจากการเปรียบเทียบค่าที่ต่างกันในช่วงเวลาที่เปลี่ยนไป ต่างก็มีจุดเด่นและมีข้อจำกัดที่แตกต่างกัน ซึ่งการทำความเข้าใจถึงรูปแบบและวิธีการของการวัดระดับคอร์รัปชันเหล่านี้ จะนำไปสู่การออกแบบมาตรการ และนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันที่มีประสิทธิภาพ และมีประสิทธิผลในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันอย่างยั่งยืน

เนื่องจากการคอร์รัปชันส่งผลกระทบทางลบต่อการพัฒนาของประเทศอย่างชัดเจน จึงมีความพยายามในการพัฒนาวิธีการวัดระดับการคอร์รัปชันขึ้น เพื่อประเมินผลกระทบของการคอร์รัปชัน และประสิทธิผลของการแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชัน ซึ่ง Olken (2017) ได้แบ่งดัชนีชี้วัดระดับการคอร์รัปชันต่าง ๆ ออกเป็น 3 ประเภท ได้เเก่ การวัดจากมุมมองภาพลักษณ์ การวัดจากการถามประสบการณ์ตรงและจากหลักฐานที่มี และการวัดจากการเปรียบเทียบค่าที่ต่างกันในช่วงเวลาที่เปลี่ยนไป

ดัชนีชี้วัดประเภทแรก คือ การวัดจากมุมมองภาพลักษณ์ ซึ่งถือเป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในวงการวิชาการ และการสื่อสารกับประชาชนทั่วไป เพราะเป็นการสะท้อนสถานการณ์คอร์รัปชันให้เห็นผ่านการสอบถามความเห็น และมุมมองจากคนในสังคมนั้น ๆ เช่น นักลงทุนที่ทำธุรกิจ หรือนักวิชาการที่ทำการศึกษาเรื่องคอร์รัปชัน โดยตัวอย่างของดัชนีที่ใช้การวัดจากมุมมองภาพลักษณ์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ Corruption Perceptions Index (CPI) โดย Transparency International (TI) ที่วัดสถานการณ์คอร์รัปชันผ่านมุมมองและความรับรู้ต่อการคอร์รัปชัน ด้วยการสำรวจประสบการณ์และความคิดเห็นจากกลุ่มนักธุรกิจ และผู้เชี่ยวชาญของประเทศเกี่ยวกับระดับการทุจริตในภาครัฐ ผ่านดัชนีย่อยต่าง ๆ และนอกจากนี้ ยังมีดัชนีอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น Corruption Situation Index (CSI) โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ Global Corruption Barometer (GCB) โดย Transparency International (TI)

ดัชนีชี้วัดประเภทที่สอง คือ การวัดจากการถามประสบการณ์ตรงและจากหลักฐานที่มี ซึ่งเป็นการสอบถามจากประสบการณ์ของผู้เกี่ยวข้อง หรือคนที่อยู่ในสังคมนั้น ๆ ว่าเคยมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชัน เช่น เคยจ่ายสินบนหรือไม่ หรือจ่ายสินบนไปเท่าไร เป็นต้น ตัวอย่างของดัชนีประเภทนี้ ได้แก่ Bribe Payers Index (BPI) ที่สอบถามถึงการจ่ายสินบนของนักธุรกิจที่เข้ามาทำธุรกิจในประเทศนั้น ๆ หรือในประเทศไทยเองที่มีการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ (ITA) โดยสำนักประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อประเมินคุณธรรม และความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐทั่วประเทศ นอกจากนี้ ดัชนีประเภทนี้ยังรวมถึงฐานข้อมูลในการรับเรื่องร้องเรียนปัญหาการคอร์รัปชันจากคนจำนวนมาก (Crowdsourcing Platform)  เช่น เพจเฟซบุ๊กปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน หรือเพจเฟซบุ๊กต้องแฉ เป็นต้น

ดัชนีชี้วัดประเภทที่สาม คือ การวัดจากการเปรียบเทียบค่าที่ต่างกันในช่วงเวลาที่เปลี่ยนไป โดยเป็นการวัดเปรียบเทียบค่าที่ต่างกันระหว่างเป้าหมายของโครงการกับที่ได้รับจริงในช่วงเวลาที่เปลี่ยนไป โดยวัดค่าใดค่าหนึ่งที่ต้นทาง แล้วไปวัดค่านั้นที่ปลายทางอีกครั้ง แล้วจึงนำมาเทียบกันว่าค่าทั้งสองนั้นเท่ากันหรือหายไปหรือไม่ เช่น ในงานวิจัยของ Olken (2006) ที่ศึกษาโครงการของรัฐบาลที่มอบข้าวสารเพื่อช่วยเหลือคนยากจนในประเทศอินโดนีเซีย โดยใช้วิธีการคำนวณปริมาณข้าวสารรวมที่ต้นทางก่อนที่รัฐจะแจกจ่ายออกไป และได้สำรวจปริมาณข้าวสารจากโครงการที่คนยากจนได้รับจริงตามพื้นที่ต่าง ๆ ที่รัฐประกาศว่าจะนำไปมอบให้ โดยพบว่ามีข้าวสารที่หายไประหว่างกระบวนการแจกจ่ายนี้ถึงร้อยละ 18 ซึ่งวิธีการวัดประเมินในลักษณะดังกล่าวนี้ แม้จะสามารถสะท้อนระดับการคอร์รัปชันได้อย่างชัดเจนจากการวัดประเมินโดยตรงว่าเงินที่จ่ายกับเงินที่ได้รับนั้นเท่ากันหรือไม่ แต่ก็มีข้อจำกัดที่เป็นการชี้วัดอย่างเฉพาะเจาะจงเป็นรายกรณีที่ต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมากเพื่อทำการศึกษา และในบางกรณีก็ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าค่าที่หายไปทั้งหมดเกิดจากการคอร์รัปชันหรือไม่ด้วยเช่นเดียวกัน

จากประเภทของดัชนีวัดระดับการคอร์รัปชันทั้งสามรูปแบบนั้น อาจกล่าวได้ว่า ไม่มีดัชนีใดที่ดีที่สุด เนื่องจากทุกดัชนีมีข้อเด่นและข้อจำกัดในตัวเอง ดังนั้น การทำความเข้าใจข้อเด่น และข้อจำกัดต่าง ๆ ของดัชนีเหล่านี้ก่อนจะตีความสถานการณ์คอร์รัปชันของแต่ละประเทศ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการนำไปสู่การออกแบบมาตรการ และนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันที่ถูกจุด ให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันอย่างยั่งยืน

เอกสารอ้างอิง
รูปแบบ APA

ต่อภัสสร์ ยมนาค และสุภัจจา อังค์สุวรรณ. (2566). (ต่อต้าน) คอร์รัปชัน 101 ((Anti) Corruption 101). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
กุมภาพันธ์ 2567
ผู้แต่ง
  • ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค

หน่วยงานสนับสนุน
05_โลโก้ KRAC
หัวข้อ
Related Content

แล้วอะไรคือคอร์รัปชัน

การศึกษานิยามของคำว่า “คอร์รัปชัน” มีต้นกำเนิดและความหมายที่ถูกอธิบายผ่านองค์ความรู้ในการมองเรื่องของการคอร์รัปชันที่แตกต่างหลายหลาย แต่จุดร่วมที่สำคัญประการหนึ่งของการให้คำนิยามการคอร์รัปชัน คือ…

หันมองสถาบันและการคอร์รัปชันที่เป็นอยู่

แนวคิดเกี่ยวกับ “สถาบัน” เป็นแนวคิดที่สามารถใช้อธิบายถึงปรากฏการณ์คอร์รัปชันที่มีความซับซ้อน
และเกี่ยวข้องกับมิติทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม …

รู้จัก CPI เพื่อเข้าใจสถานการณ์คอร์รัปชัน

ในปัจจุบัน ดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชัน หรือ Corruption Perceptions Index (CPI) นับว่าเป็นดัชนีที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดจากรัฐบาล ภาควิชาการ และนักลงทุนทั่วโลก …

You might also like...

KRAC Extract | คอร์รัปชันหลังเเผ่นดินไหว: โอกาสแห่งการฟื้นตัวหรือประตูสู่การทุจริต

คอร์รัปชันหลังแผ่นดินไหว…เมื่อเงินฟื้นฟูหลั่งไหล แต่ความโปร่งใสกลับหายไป! กรณีศึกษาจากตุรกี ที่เผยให้เห็นว่าภัยพิบัติอาจเปิดช่องให้การทุจริตแทรกซึมได้ทุกขั้นตอนของกระบวนการจัดการหลังภัยพิบัติ บทเรียนนี้ไม่ใช่แค่ของต่างประเทศ แต่คือสัญญาณเตือนที่ไทยก็ต้องระวังเช่นกัน!

KRAC Hot News I การท่องเที่ยวไทยสูญเสียอะไรให้กับการคอร์รัปชัน?

ในช่วงสงกรานต์ที่หลายคนออกเดินทางท่องเที่ยวหรือกลับบ้าน เราอยากชวนคุณมามอง “การท่องเที่ยวไทย” ในมุมที่อาจไม่ค่อยถูกพูดถึง นั่นคือ การคอร์รัปชัน ด้วยข้อมูลวิจัยและกรณีศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่าปัญหาการคอร์รัปชันมีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไทยมากกว่าที่คิด

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | การใช้ e-bidding เพื่อแก้ปัญหาคอร์รัปชันในโครงการจัดซื้อจัดจ้าง มีประสิทธิภาพมากแค่ไหน ?

ชวนสำรวจ e-bidding : เทคโนโลยีการจัดซื้อจ้างออนไลน์ลดคอร์รัปชัน โดยจะพาไปดูผลการใช้งานระบบจริงจากทั้ง 3 กรมว่าเป็นอย่างไร ? แล้วเราจะทำอย่างไรให้ระบบ e-bidding มีประสิทธิภาพมากขึ้น