คอร์รัปชันมันสร้างความเสียหายอย่างไร

การศึกษาถึงความสัมพันธ์ของการคอร์รัปชันที่มีต่อการพัฒนาในอดีต มีแนวคิดที่ชี้ให้เห็นว่าการคอร์รัปชันนั้น อาจส่งผลในเชิงบวกต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการเมืองของแต่ละประเทศ แต่ในปัจจุบัน ทุกประเทศทั่วโลกต่างเห็นพ้องต้องกันว่าการคอร์รัปชันเป็นภัยต่อเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งภาคส่วนต่าง ๆ จะต้องร่วมมือกันและให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน เพื่อลดความเสียหายที่การคอร์รัปชันจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต

ในอดีตช่วงทศวรรษที่ 50 และ 60 วงการวิชาการได้มีการถกเถียงเรื่องความสัมพันธ์ของการคอร์รัปชันกับการพัฒนา ซึ่งมีแนวคิดที่เห็นว่าการคอร์รัปชันนั้นอาจส่งผลในเชิงบวกต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและการเมือง เพราะอาจทำให้เกิดการลงทุนและสะสมทุน รวมถึงช่วยลดระเบียบทางราชการที่ยุ่งยากได้ด้วย และทำให้กลไกทางตลาดทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ (Leff, 1964) นอกจากนี้ นักการเมืองและข้าราชการยังสามารถที่จะนำเงินที่ได้จากการคอร์รัปชัน มาลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่มีการใช้ปัจจัยทุนเข้มข้นเพิ่มขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน

ขณะที่ในช่วงเวลาต่อมา แนวคิดและคำอธิบายของการคอร์รัปชันกับการพัฒนาได้เปลี่ยนไปในทิศทางตรงกันข้าม โดยเน้นย้ำถึงผลกระทบของการคอร์รัปชันที่เป็นภัยคุกคามต่อประชาธิปไตย และการพัฒนาเศรษฐกิจในหลายสังคม โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา (Ackerman, 1998; Johnston 1998) ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศเหล่านั้น ทำให้เกิดรัฐทุจริต (Corrupt States) 4 ประเภท ได้แก่ โจราธิปไตย (Kleptocracies) ที่ผู้มีอำนาจสูงสุดใช้ตำแหน่งทางการเมือง เพื่อเพิ่มความมั่งคั่งส่วนตัวด้วยการยักยอกทรัพยากรของประเทศ รัฐผูกขาดทวิภาคี (Bilateral Monopoly States) ที่ถูกครอบงำโดยเอกชนรายใหญ่จำนวนไม่มากในการผูกขาดอำนาจเหนือตลาดโดยมิชอบ รัฐที่ถูกครอบงำโดยมาเฟีย (Mafia-Dominated States) ที่ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐในการทุจริตผ่านการใช้อิทธิพลเหนือรัฐ เพื่อผลประโยชน์ของตน และ รัฐที่แข่งขันกันติดสินบน (Competitive-Bribery State) ที่เจ้าหน้าที่รัฐและภาคธุรกิจเรียกร้องผลประโยชน์และการติดสินบนจากประชาชน

ทั้งนี้ ในปัจจุบันวงการวิชาการแทบจะไม่มีการยอมรับผลกระทบทางบวกของการคอร์รัปชันอีกแล้ว เนื่องจากการคอร์รัปชันถูกมองว่าเป็นสิ่งที่สร้างผลกระทบทางด้านลบให้กับเศรษฐกิจ สังคม การเมือง และขัดขวางการพัฒนาในระยะยาวของประเทศต่าง ๆ ซึ่งผลกระทบจากการคอร์รัปชันที่สะสมมาเป็นระยะเวลานาน ได้เริ่มส่งผลให้เห็นได้อย่างชัดเจนพอสมควรในปัจจุบัน เช่น เกิดความไม่ยุติธรรมในสังคม ทำให้หน่วยงานต่าง ๆ ทำงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ประชาชนขาดความไว้วางใจรัฐบาล เกิดความสูญเปล่าในทรัพยากรของประเทศ ขาดแรงจูงใจในการลงทุนจากภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศ ขาดเสถียรภาพทางการเมือง ขาดประสิทธิภาพในมาตรการควบคุมคอร์รัปชัน และเกิดข้อจำกัดจากการนำนโยบายไปใช้ (McMullan, 1961)

ดังนั้น ในปัจจุบันนักวิชาการและองค์กรระหว่างประเทศ ต่างเห็นพ้องร่วมกันว่าการคอร์รัปชันเป็นภัยต่อเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม จะต้องร่วมมือ และให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชันอย่างเร่งด่วน เพื่อลดความเสียหายที่คอร์รัปชันจะส่งผลต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต

เอกสารอ้างอิง
รูปแบบ APA

ต่อภัสสร์ ยมนาค และสุภัจจา อังค์สุวรรณ. (2566). (ต่อต้าน) คอร์รัปชัน 101 ((Anti) Corruption 101). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
กุมภาพันธ์ 2567
ผู้แต่ง
  • ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค

หน่วยงานสนับสนุน
05_โลโก้ KRAC
หัวข้อ
Related Content

แล้วอะไรคือคอร์รัปชัน

การศึกษานิยามของคำว่า “คอร์รัปชัน” มีต้นกำเนิดและความหมายที่ถูกอธิบายผ่านองค์ความรู้ในการมองเรื่องของการคอร์รัปชันที่แตกต่างหลายหลาย แต่จุดร่วมที่สำคัญประการหนึ่งของการให้คำนิยามการคอร์รัปชัน คือ…

หันมองสถาบันและการคอร์รัปชันที่เป็นอยู่

แนวคิดเกี่ยวกับ “สถาบัน” เป็นแนวคิดที่สามารถใช้อธิบายถึงปรากฏการณ์คอร์รัปชันที่มีความซับซ้อน
และเกี่ยวข้องกับมิติทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม …

รู้จัก CPI เพื่อเข้าใจสถานการณ์คอร์รัปชัน

ในปัจจุบัน ดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชัน หรือ Corruption Perceptions Index (CPI) นับว่าเป็นดัชนีที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดจากรัฐบาล ภาควิชาการ และนักลงทุนทั่วโลก …

You might also like...

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | ท้องถิ่นอาจช้ำ เมื่อความเหลื่อมล้ำถูกซ้ำด้วยการจัดสรรงบประมาณที่ไม่มีประสิทธิภาพ

รู้หรือไม่ ? การจัดสรรเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลางที่ไม่เป็นธรรม ไม่โปร่งใส และขาดเป้าหมายชัดเจน อาจกลายเป็นการเพิ่มปัญหาความเหลื่อมล้ำในท้องถิ่น แทนที่จะช่วยลดช่องว่างทางเศรษฐกิจ แล้วเราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร ?

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | โควิด-19 ส่งผลอย่างไรต่อสถานการณ์คอร์รัปชันและธรรมาภิบาล ?

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่สุขภาพและเศรษฐกิจ แต่ยังทำให้การต่อต้านคอร์รัปชันและธรรมาภิบาลเผชิญความท้าทายใหม่ ๆ เช่น การใช้อำนาจพิเศษของรัฐ ความไม่เท่าเทียมที่เพิ่มขึ้น และการจัดซื้อจัดจ้างแบบฉุกเฉินที่เสี่ยงต่อการทุจริต แล้วเราจะฟื้นฟูผลกระทบเหล่านี้ได้อย่างไร ?

KRAC The Experience | EP 8: Networks is in every way, Offline and Online Against Corruption

“การทำงานเป็นเครือข่ายจะช่วยเสริมสร้างการทำงานต่อต้านคอร์รัปชันอย่างไร ?” เรามีคำตอบมาให้จากแนวทางการขับเคลื่อนการต่อต้านคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในระดับโลก🌏 ร่วมไขข้อสงสัยได้ที่ KRAC The Experience ตอน Networks is in every way, Offline and Online Against Corruption