ผมเองเป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบการดูภาพยนตร์จากต่างประเทศก็พอรับทราบมาบ้างว่ามีภาพยนตร์มาถ่ายทำที่บ้านเราอยู่หลายเรื่อง เช่น เรื่อง Mortal Kombat ภาค1, 007 หรือเจมส์ บอนด์ ภาค Tomorrow Never Dies, The Hangover ภาค 2, The Beach ที่มีนักแสดงอย่างลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ นำแสดง,Fast & Furious ภาค 9 หรือจะเป็นภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์อย่าง Star Wars: Revenge of the Sith และด้วยความอยากรู้จึงได้ลองค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมว่ามีเรื่องอื่นๆ อีกหรือไม่ ก็ได้พบข้อมูลสถิติที่น่าสนใจที่ไม่เคยทราบมาก่อนจากกองกิจการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ต่างประเทศ กรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (Thailand Film Office) ที่เปิดเผยไว้ว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของพ.ศ. 2566 มีคณะถ่ายทำต่างประเทศเข้ามาถ่ายทำภาพยนตร์ ซีรี่ส์ ละครและรายการโทรทัศน์ ถึงจำนวน 246 เรื่อง! จาก 32 ประเทศทั่วโลก และมีงบประมาณการลงทุนถ่ายทำในประเทศมากกว่า 2,334 ล้านบาท!
ที่น่าประหลาดใจกว่านั้นคือ กว่าจะเป็นหนัง ซีรี่ส์ ละครและรายการโทรทัศน์มาให้เราได้รับชมตามช่องทางต่างๆ นั้นผมก็พอเข้าใจว่าจะต้องผ่านหลายกระบวนการครับ ตั้งแต่การเขียนบท การคัดเลือกตัวแสดงหรือผู้นำเสนอ การคัดเลือกสถานที่ถ่ายทำการถ่ายทำ การตัดต่อ ฯลฯ แต่ต้องยอมรับว่าไม่เคยทราบมาก่อนครับว่าในกระบวนการผลิตนั้นมีคอร์รัปชันเกี่ยวข้องอยู่ด้วยในกระบวนการ และไม่ได้เกิดที่ไหนไกลครับ เกิดที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย ผมเองเมื่อได้รับทราบข่าวนี้มาก็เห็นว่าเป็นเรื่องน่าสนใจและที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือแนวทางหรือกระบวนการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น จึงขอนำเรื่องราวมาบอกเล่าเก้าสิบมาแต่พอสังเขปดังนี้ครับ
เมื่อช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา นายจาตุรนต์ ภักดีวานิช อธิบดีกรมการท่องเที่ยว ได้เข้าหารือกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย เนื่องจากอธิบดีฯ ได้รับทราบข้อมูลมาว่า การประสานงานเพื่อติดต่อขอถ่ายทำภาพยนตร์ในที่สาธารณะทำได้ยาก มีอุปสรรคมาก เช่น มีขั้นตอนการขออนุญาตไม่ชัดเจน มีการใช้ดุลพินิจในการอนุญาตที่อาจก่อให้เกิดการทุจริต ทีมงานกองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศยังถูกสำนักงานเขตรีดไถเงินและจับปรับ
ผู้ว่าฯ กทม. จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อเท็จจริง และในส่วนการประสานงานเพื่อติดต่อขอถ่ายทำภาพยนตร์ในที่สาธารณะนั้นผู้ว่าฯ ได้มอบหมายให้ปลัด กทม. ทำหนังสือแจ้งถึงผู้อำนวยการเขตทั้ง 50 เขต และสำนักเทศกิจ ในการพิจารณาอนุญาตให้ทีมงานกองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศสามารถใช้พื้นที่สาธารณะได้ภายใน 3 วัน โดยไม่ต้องเก็บค่าธรรมเนียม แต่สามารถเก็บค่าปรับได้ หากผู้ขออนุญาตฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อกำหนดของพื้นที่ ส่วนสวนสาธารณะทั้ง 51 แห่ง ที่อยู่ในความดูแลของสำนักสิ่งแวดล้อม ให้พิจารณาอนุญาตภายใน 7 วัน
ในส่วนการใช้พื้นที่สวนสาธารณะของ กทม. รวมทั้งสนามหลวง ทีมงานกองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศต้องเสียค่าธรรมเนียมด้วยในอัตราค่าบริการแนบท้ายระเบียบกรุงเทพมหานคร ว่าด้วยอัตราค่าบริการและหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการยกเว้นหรือลดหย่อนค่าบริการ พ.ศ.2544
นอกจากนั้น กรุงเทพมหานครจะเปิดศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับทีมงานกองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ ที่ศูนย์ส่งเสริมการท่องเที่ยว สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยว (สวท.) ใต้สะพานพระปิ่นเกล้า โดยทีมงานกองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศสามารถยื่นขออนุญาตได้ที่ศูนย์ดังกล่าว โดยศูนย์จะประสานงานไปยังเขตนั้นๆ เพื่อพิจารณาอนุญาตใช้พื้นที่ในการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ
ผมยังได้เข้าไปที่หน้าเพจ TFO Thailand Film Office (กองกิจการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ต่างประเทศ กรมการท่องเที่ยว) เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมก็ได้พบว่าทางกองกิจการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ต่างประเทศเพิ่งจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ (Workshop) สำหรับการจัดทำเอกสารขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 17-18 สิงหาคม 2566 ณ โรงแรมเซ็นทราบาย เซ็นทารา ศูนย์ราชการฯ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ ไปโดยการ Workshop ดังกล่าว มุ่งเน้นให้ผู้ประสานงานการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทยได้รับทราบข้อมูลและแนวทางการจัดทำเอกสารขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในทุกประเภท ทั้งภาพยนตร์เรื่องยาว ซีรี่ส์ ละครโทรทัศน์ รายการเรียลิตี้ โฆษณา สารคดี MV รายการโทรทัศน์ต่างประเทศ เป็นต้น
จากการได้เห็นกระบวนการแก้ปัญหาของทั้งสององค์กร สามารถสรุปกระบวนการแก้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันที่อาจขยายผลนำไปใช้ในการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันได้ในพื้นที่อื่นๆ หรือประเด็นอื่นๆ ได้ ดังนี้ครับ
1) ยอมรับว่ามีปัญหา ข้อนี้ผมคิดว่าเป็นข้อที่สำคัญที่สุด หลายหน่วยงานภาครัฐเองมักไม่ค่อยยอมรับว่าเกิดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันขึ้นในหน่วยงานหรือกระบวนงานที่ตนเองเกี่ยวข้องอาจจะเพราะการทุจริตคอร์รัปชันดังกล่าวเป็นมรดกตกทอดทำกันมานานในหน่วยงานจนเป็นระบบโกง และยังไม่มีแนวทางแก้ไข หรือเข้ามารับตำแหน่งในช่วงบั้นปลายก็ไม่อยากค้นพบปัญหา เพราะสังคมจะหาว่าเกิดปัญหาในยุคที่ตนเองเป็นผู้บริหาร เมื่อไม่ยอมรับว่ามีปัญหาก็จึงไม่เกิดกระบวนการการแก้ปัญหาครับซึ่งสำหรับในกรณีนี้คือ การที่ทางกรมการท่องเที่ยวรับทราบข้อมูลและไม่นิ่งเฉย เมื่อ กทม. ทราบข้อมูลแล้วก็ไม่นิ่งเฉยทำว่าไม่มีปัญหาอะไร
2) บูรณาการการแก้ปัญหา เมื่อยอมรับว่ามีปัญหาหรือมีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการทุจริตคอร์รัปชันแล้ว ก็ไม่นิ่งเฉย หากมองว่าประชาชนทุกคนเป็นผู้ที่มีส่วนช่วยแก้ปัญหาแล้วก็ต้องชื่นชมผู้ที่กล้าให้ข้อมูลกับกรมการท่องเที่ยว และชื่นชมกรมการท่องเที่ยวที่เป็นตัวแทนผู้ที่ให้ข้อมูลเดินหน้าเข้าพบหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และบูรณาการการทำงานร่วมกันในการแก้ปัญหากับกรุงเทพมหานคร กรุงเทพมหานครเองก็มีการบูรณาการกันเองระหว่างหน่วยงานภายในเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาให้ประชาชน ในข้อนี้มีความสำคัญเพราะในอดีตที่ผ่านมาการทำงานของหลายหน่วยงานรัฐเองมักทำในรูปแบบองค์กรเดี่ยว การบูรณาการมักทำเป็นครั้งคราว ซึ่งในการแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อน เกี่ยวข้องกับกฎระเบียบของหลายหน่วยงานจำเป็นต้องมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันต่อเนื่องในระยะยาว จึงมีข้อแนะนำเพิ่มเติมว่าควรมีการสะท้อนกลับข้อมูลว่าหลังจากการจัดการของ ผู้ว่าฯ กทม.แล้ว กรมการท่องเที่ยวได้รับเสียงสะท้อนจากกองถ่ายต่างประเทศอย่างไรบ้าง และนำข้อมูลสะท้อนกลับนี้เข้าหารือกับกทม.ว่าที่ร่วมกันทำงานได้ผลเป็นอย่างไร
3) แก้ปัญหาด้วยความชัดเจน ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันส่วนใหญ่มักจะเกิดจากความคลุมเครือไม่ชัดเจนในข้อปฏิบัติของกฎระเบียบ ซึ่งผู้ว่า ฯ กทม. ก็ได้ออกมาเน้นย้ำแนวทางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และอำนวยความสะดวกโดยได้ตั้งศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จเพื่อให้บริการ ในส่วนกรมการท่องเที่ยวก็ได้มีการจัดการให้ความรู้แนวทางการจัดทำเอกสารขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในทุกประเภทซึ่งเป็นการสร้างความชัดเจนให้กับกองถ่ายว่าจะต้องทำอย่างไร ลดความเสี่ยงที่กองถ่ายจะถูกเจ้าหน้าที่ที่ประพฤติมิชอบรีดไถเอาเงินและทำให้ต้องจ่ายเงินคอร์รัปชัน ทั้งยังสื่อสารให้สังคมได้ทราบ ว่าได้รับทราบปัญหาเกิดขึ้นแล้ว สื่อสารว่ามีการบูรณาการแก้ปัญหา สื่อสารถึงความชัดเจนในการแก้ปัญหา เป็นการสร้างความมั่นใจ สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนและเป็นการป้องปรามเจ้าหน้าที่ที่หาผลประโยชน์โดยมิชอบ ผมหวังว่าเนื้อข่าวที่กรมการท่องเที่ยวร่วมกับ กทม. ในการอำนวยความสะดวกและป้องกันการโกงที่จะเกิดขึ้นกับกองถ่ายต่างประเทศในครั้งนี้จะไปถึงผู้ที่สนใจจะบินข้ามน้ำข้ามทะเลมาถ่ายทำสื่อในบ้านเรา
ผมไม่ทราบว่าในจังหวัดอื่นๆ มีโอกาสได้พบเจอเรื่องแบบนี้หรือไม่ แต่คงเป็นเรื่องน่าเสียดาย หากเกิดขึ้นแล้ว ไม่มีใครทราบปัญหา ไม่มีการแก้ปัญหา ปล่อยให้ประเทศและคนในชาติเสียโอกาส และเป็นการทำลายภาพลักษณ์ของประเทศชาติในระดับสากล ต้องขอขอบคุณกรมการท่องเที่ยวและกรุงเทพมหานครที่ร่วมกันช่วยกันแก้ปัญหา หวังว่าจะมีการตรวจสอบเอาผิดผู้ที่เรียกรับผลประโยชน์โดยมิชอบต่อไป และขอเป็นกำลังใจให้ประสบความสำเร็จในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันและให้เกิดความสะดวกขึ้นในกระบวนการอนุญาตครับ มิเช่นนั้น กองถ่ายจากต่างประเทศก็คงไม่กลับมาถ่ายทำที่ประเทศไทยอีกแล้วครับ เข็ด!
สุภอรรถ โบสุวรรณ
หัวข้อ
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อยากแก้ปัญหาปากท้องก่อน แต่ถ้าไม่ปฏิรูปตำรวจ ก็แก้ยาก !
ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน มืดเทา อาจเป็นคำนิยามวงการตำรวจไทยในปัจจุบัน ? หากเราพูดถึงวงการตำรวจ หลาย ๆ คนคงจะนึกถึงเรื่องที่ตำรวจดันไปเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมกับการทุจริต ไม่ว่าจะเป็นกรณีหมูเถื่อน กำนันนก ทุนจีนสีเทา หรือข่าวอาชญากรรมต่าง ๆ แทนที่จะมองว่า ตำรวจคือผู้ที่รักษาความสงบให้บ้านเมือง และคุ้มครองประชาชนให้รู้สึกปลอดภัย
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : สติ๊กเกอร์ส่วย…แก้ได้ ?
จะแก้ปัญหาอย่างไรให้ชีวิตปลอดภัยจากผลกระทบของสินบน ? ประเด็นร้อนทุจริตเร็ว ๆ นี้คงหนีไม่พ้นเรื่อง “ส่วยสติกเกอร์” หลังว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ออกมาแฉตั้งแต่กลไกไปจนถึงราคาอย่างที่หลายคนคงได้ยินมาบ้างแล้ว แต่ที่สำคัญกว่านั้น รู้หรือไม่ว่าเรื่องของส่วยรถบรรทุกที่ดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว จริง ๆ แล้วใกล้ตัวกว่าที่เราคิด
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : วิจัยพบถ้าตำรวจโกง ต่อต้านคอร์รัปชันพังเลย
การตรวจจับที่ดีกับการเพิ่มโทษทางกฎหมาย คนโกงกลัวอะไรมากกว่ากัน ? นี่เป็นคำถามที่ถกเถียงกันมานานในสังคม แม้กฎหมายการลงโทษที่รุนแรงดูเหมือนจะได้ผลมากกว่า แต่ถ้าหากไม่สามารถตรวจจับคนผิดมาลงโทษได้ การเพิ่มโทษก็คงไร้ความหมาย ในขณะเดียวกัน หลายครั้งกระบวนการตรวจจับก็มีขั้นตอนที่ชักช้า อย่างเช่นคดีคอร์รัปชันบางคดีที่กว่าจะตัดสินได้ก็ใช้เวลานานกว่าสิบปี เราจึงเห็นได้ว่าทั้งสองแนวทางมีข้อดีและข้อเสียที่ต่างกัน