คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : ของขวัญหรือสินบน? เส้นบางๆ ของการให้ในเทศกาลแห่งการเฉลิมฉลองและการแบ่งปัน

“สวัสดีฤดูหนาว สวัสดีสายลม และสวัสดีคุณผู้อ่านทุกท่านครับ”

เมื่อถึงเดือนธันวาคม หลายคนน่าจะนึกถึงเทศกาลแห่งการให้ของขวัญ ความสุข และความอบอุ่นหัวใจ หรือที่เรารู้จักกันในชื่อ “เทศกาลคริสต์มาส” ช่วงนี้เราจะสัมผัสได้ถึงบรรยากาศของความอบอุ่น ความสัมพันธ์ และความสุขเริ่มปรากฏในแทบทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้าและพื้นที่สาธารณะที่ตกแต่งเต็มไปด้วยแสงไฟระยิบระยับ ต้นคริสต์มาสและดนตรีชวนเคลิ้ม หรือในโรงเรียนที่มีการจัดงานฉลองกินเลี้ยงและกิจกรรมแลกเปลี่ยนของขวัญ สำหรับหลายครอบครัวก็คงจะมีการฉลองคริสต์มาสแบบไทยๆ การทำอาหารเย็นร่วมกัน และเด็กๆ จะแขวนถุงเท้าไว้รอของขวัญจาก “ซานตาคลอส” หรือ “ซานต้า” ที่อาจถูกสวมบทบาทด้วยพ่อแม่หรือคนในครอบครัว

ซานตาคลอส เดือนแห่งความรักและการแบ่งปัน (ผลประโยชน์ร่วมกัน) ?

ซานตาคลอสและเทศกาลคริสต์มาส ถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ความปรารถนาดี ความเมตตา และการให้โดยไม่หวังผลตอบแทน ดังเช่นเรื่องเล่าที่ซานต้าจะเดินทางมอบของขวัญให้เด็กๆ ทั่วโลกเพื่อสร้างรอยยิ้มและความสุข อย่างไรก็ตาม การให้ของขวัญในชีวิตจริงอาจมีมิติที่ซับซ้อนและแตกต่างออกไป โดยเฉพาะในบริบทแวดวงธุรกิจและราชการหรือหน่วยงานของสังคมไทย บางครั้งการให้อาจแฝงไปด้วยการแบ่งปันผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม จนนำไปสู่การทับซ้อนผลประโยชน์และความขัดแย้งทางผลประโยชน์ (Conflict of Interest) และกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่นำไปสู่การคอร์รัปชันในที่สุด

จากของขวัญสู่ “สินบน” ใต้เงาของวัฒนธรรมการให้

“การให้” ในบริบทของสังคมไทยถือเป็นส่วนสำคัญของวัฒนธรรมและประเพณีที่สะท้อนถึงการแสดงความเคารพ ความปรารถนาดี และการสร้างความสัมพันธ์อันดีหรือในบางโอกาสถือเป็นการแสดงออกของมารยาททางสังคม แต่เมื่อการให้กลับถูกนำมาเป็นข้ออ้างในแวดวงราชการและธุรกิจ และมักจะถูกแอบแฝงด้วยผลประโยชน์ส่วนตัวและการจูงใจ เพื่อให้ผู้รับทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่อาจไม่ถูกต้องเป็นการตอบแทน เช่น การให้ของขวัญที่มีมูลค่าสูงเกินไปแก่เจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้มีอำนาจ เพื่อแลกกับให้สิทธิประโยชน์หรือการตัดสินใจที่เป็นประโยชน์ส่วนบุคคล และอาจส่งผลกระทบต่อประโยชน์ส่วนรวมอีกด้วย

การให้ที่แอบแฝงด้วยผลประโยชน์มักโผล่มาในรูปแบบสิทธิพิเศษต่างๆ ที่ยากต่อกระบวนการตรวจสอบ เช่น ค่าที่พัก ค่าเดินทางไปสัมมนาวิชาการยังต่างประเทศซึ่งมีโปรแกรมการท่องเที่ยวแฝงอยู่ (ดูงานแฝงเที่ยว) หรือแม้แต่การให้ในรูปแบบเงินสด บัตรกำนัล สินค้าและบริการ ซึ่งลักษณะการให้เหล่านี้เข้าข่าย “ค่ารับรองและของขวัญ” และถือเป็นการทุจริตประเภท “สินบน” ตาม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทุจริต 2561 มาตรา 128 วรรคแรก และหากกระทำการให้-รับสินบน มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149 ต้องระวางโทษจำคุก 5-20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 100,000-400,000 บาทหรือประหารชีวิต

“อย่างไรก็ตาม การให้ที่แอบแฝงผลประโยชน์ แม้จะนำไปสู่การคอร์รัปชันเล็กๆ น้อยๆ แต่ถ้าไม่กระทบถึงตัวเราก็ยอมได้”

ผู้อ่านคิดเห็นอย่างไรกับคำกล่าวนี้บ้างครับ…หากยังไม่มีคำตอบ ลองพิจารณาสถานการณ์เหล่านี้ที่เกิดขึ้นจริงในประเทศที่ถูกขนานนามว่า สยามเมืองยิ้ม แล้วลองตอบในใจอีกครั้งก็ได้ครับว่าเห็นด้วยหรือไม่

ยิ้มที่ 1 การขออนุญาตก่อสร้างที่ดูยุ่งยากซับซ้อน กลับสามารถจบได้อย่างง่ายดายเพียงส่ง “ซองขาวพร้อมแบงก์เทา” ให้กับเจ้าหน้าที่ เพื่อเร่งรัดให้ได้สิทธิที่ควรได้รับตามกฎหมายอยู่แล้ว

ยิ้มที่ 2 บริษัททางการแพทย์สนับสนุนสัมมนาและท่องเที่ยวให้ผู้บริหาร/บุคลากรโรงพยาบาล แลกกับการสั่งซื้อยาและอุปกรณ์ราคาแพงแต่คุณภาพไม่ได้มาตรฐาน ส่งผลให้คนไข้ต้องจ่ายแพงเกินความจำเป็นและไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสม

ยิ้มที่ 3 บริษัทก่อสร้างมอบกระเช้าพิเศษบรรจุแบงก์เทานับไม่ถ้วนให้เจ้าหน้าที่ เพื่อแลกกับการละเว้นมาตรฐานการตรวจสอบ ส่งผลให้ถนนหรืออาคารพังไวกว่าปกติจากการใช้วัสดุไม่ได้มาตรฐาน จนอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุร้ายแรง

แล้วจะทำอย่างไรให้การให้นั้นโปร่งใสไร้คอร์รัปชัน?

ในมุมมองของผู้เขียน การลดโอกาส “การให้”ที่อาจนำไปสู่การติดสินบนสามารถทำได้โดยการที่ภาครัฐกำหนดกฎหมายและมาตรการที่เข้มงวด ควบคู่ไปกับการสนับสนุนช่องทางที่ปลอดภัยสำหรับการแจ้งเบาะแส รวมถึงการออกกฎหมายที่คุ้มครองผู้แจ้งเบาะแสที่ไม่ต้องการเปิดเผยตัวตน นอกจากนี้ ผู้เขียนเห็นว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเสริมสร้างวัฒนธรรมความโปร่งใสในทุกระดับของสังคม ผ่านการปลูกฝังค่านิยมและวัฒนธรรมการให้ที่ไม่หวังผลประโยชน์ตอบแทน แทนที่จะมองการให้เป็นการแลกเปลี่ยนเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัว

อีกทั้ง สังคมควรร่วมกันสร้างความตระหนักถึงอันตรายของการให้ที่แฝงด้วยผลประโยชน์ ซึ่งเป็นบ่อนทำลายวัฒนธรรมและประเพณีอันดีงามของสังคมไทย ทั้งนี้เพื่อให้การเสริมสร้างระบบนิเวศการต่อต้านการคอร์รัปชันมีประสิทธิภาพสูงสุดจำเป็นต้องเกิดการบูรณาการและสร้างความร่วมมือกันในทุกภาคส่วน เพื่อปลูกฝังให้ประชาชนเคารพและเชื่อมั่นในกฎหมาย รวมถึงมีพฤติกรรมที่ไม่ทำและไม่ทนต่อการคอร์รัปชันทุกรูปแบบ

และท้ายสุดนี้ ในค่ำคืนวันคริสต์มาสอีฟที่กำลังจะมาถึง ผู้เขียนตั้งใจจะแขวนถุงเท้าไว้ พร้อมขอของขวัญจากซานต้าเป็น สยามเมืองยิ้มที่ไร้คอร์รัปชัน…ในสักวัน “Wishing you a Merry Christmas and a Happy New Year สวัสดีครับ”

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2567
ผู้แต่ง

รักษ์ป่า อู่สุวรรณ

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : โอกาสและความสำคัญของการกลับคืนเป็นภาคี TI Thailand

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับภูมิภาคของ Transparency International (TI) การเลือกประเทศไทยเป็นสถานที่จัดงานครั้งนี้มีนัยสำคัญ แม้ปัจจุบันไทยจะไม่มีภาคีประจำประเทศอย่างเป็นทางการ …

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อัปเดตประชุมวิชาการโลกเรื่องคอร์รัปชัน

เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค Co-Founder บริษัท HAND Social Enterprise ได้รับเชิญไปบรรยายในงานประชุมทางวิชาการ Cambridge Economic Crime ที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 40 แล้ว ซึ่งงานนี้ถือได้ว่าเป็นงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องคอร์รัปชันที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่ง โดยผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ได้เข้าร่วมบรรยายเกี่ยวกับผลงานวิจัยเรื่องประสิทธิภาพที่แท้จริงของความโปร่งใสในการต่อต้านคอร์รัปชัน ผ่านการศึกษาผลกระทบจากโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Infrastructure Transparency: CoST)

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อยากแก้ปัญหาปากท้องก่อน แต่ถ้าไม่ปฏิรูปตำรวจ ก็แก้ยาก !

ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน มืดเทา อาจเป็นคำนิยามวงการตำรวจไทยในปัจจุบัน ? หากเราพูดถึงวงการตำรวจ หลาย ๆ คนคงจะนึกถึงเรื่องที่ตำรวจดันไปเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมกับการทุจริต ไม่ว่าจะเป็นกรณีหมูเถื่อน กำนันนก ทุนจีนสีเทา หรือข่าวอาชญากรรมต่าง ๆ แทนที่จะมองว่า ตำรวจคือผู้ที่รักษาความสงบให้บ้านเมือง และคุ้มครองประชาชนให้รู้สึกปลอดภัย

You might also like...

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | ท้องถิ่นอาจช้ำ เมื่อความเหลื่อมล้ำถูกซ้ำด้วยการจัดสรรงบประมาณที่ไม่มีประสิทธิภาพ

รู้หรือไม่ ? การจัดสรรเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลางที่ไม่เป็นธรรม ไม่โปร่งใส และขาดเป้าหมายชัดเจน อาจกลายเป็นการเพิ่มปัญหาความเหลื่อมล้ำในท้องถิ่น แทนที่จะช่วยลดช่องว่างทางเศรษฐกิจ แล้วเราจะแก้ปัญหานี้ได้อย่างไร ?

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | โควิด-19 ส่งผลอย่างไรต่อสถานการณ์คอร์รัปชันและธรรมาภิบาล ?

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบแค่สุขภาพและเศรษฐกิจ แต่ยังทำให้การต่อต้านคอร์รัปชันและธรรมาภิบาลเผชิญความท้าทายใหม่ ๆ เช่น การใช้อำนาจพิเศษของรัฐ ความไม่เท่าเทียมที่เพิ่มขึ้น และการจัดซื้อจัดจ้างแบบฉุกเฉินที่เสี่ยงต่อการทุจริต แล้วเราจะฟื้นฟูผลกระทบเหล่านี้ได้อย่างไร ?

KRAC The Experience | EP 8: Networks is in every way, Offline and Online Against Corruption

“การทำงานเป็นเครือข่ายจะช่วยเสริมสร้างการทำงานต่อต้านคอร์รัปชันอย่างไร ?” เรามีคำตอบมาให้จากแนวทางการขับเคลื่อนการต่อต้านคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในระดับโลก🌏 ร่วมไขข้อสงสัยได้ที่ KRAC The Experience ตอน Networks is in every way, Offline and Online Against Corruption