คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : ถ้าไม่มีเงินใส่ซองจะคลอดลูกได้ไหม? คำถามจุกอกของคนเป็นแม่

สวัสดีเดือนแห่งวันแม่ค่ะ เนื่องจากผู้เขียนเองก็เป็นแม่ลูกหนึ่งวัยกำลังซน ดังนั้น ความสนใจในช่วงนี้คงจะหนีไม่พ้นหัวข้อเกี่ยวกับลูกค่ะ ทำให้ตัวผู้เขียนเองสามารถฝังตัวอยู่ในคอมมูนิตี้ออนไลน์ของกลุ่มแม่ๆ ได้เป็นวัน ซึ่งในยุคนี้กลุ่มคอมมูนิตี้ออนไลน์ของแม่ๆ นั้น มีอิทธิพลอย่างมากต่อการตัดสินใจของแม่ เห็นได้จากผลสำรวจพฤติกรรมของแม่จำนวน 5,000 คน โดย The Asianparent ในปี 2564 ที่ระบุว่าแม่กว่า 76% หากมีปัญหา หรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับลูก ส่วนใหญ่จะเข้าไปโพสต์ถามเพื่อขอคำปรึกษาผ่านทางเว็บไซต์สำหรับครอบครัว

โดยเฉพาะข้อมูลที่มาจากกลุ่มคอมมูนิตี้ของแม่ จะได้รับความน่าเชื่อถือเป็นพิเศษ เพราะใครจะไปเข้าใจหัวอกแม่ได้เท่ากับคนเป็นแม่เหมือนกันใช่ไหมคะ ส่งผลให้กลุ่มคอมมูนิตี้ของแม่มีความคึกคักอยู่เสมอ เพราะแม่ๆ มักเข้ามาแชร์ประสบการณ์ให้แก่กันอยู่เสมอ ซึ่งทำให้ผู้เขียนได้เห็น ได้ยินในเรื่องที่ถ้าไม่ได้เป็นแม่คนเองก็คงไม่รู้ หรือถ้ารู้ก็อาจจะรู้เพียงผิวเผิน ไม่ได้สนใจใคร่รู้ว่าต้นตอของเรื่องราวนี้มาจากไหนหนึ่งในเรื่องนั้น คือ “เงินใส่ซองก่อนคลอดลูก หรือเงินฝากพิเศษ” ซึ่งเป็นหัวข้อยอดฮิตที่จะต้องมีแม่ๆ มาโพสต์ถามความเห็นอยู่เป็นประจำ

ก่อนที่จะลงลึกถึงเรื่องที่จะเล่า ขออธิบายสั้นๆ ให้ผู้อ่านเข้าใจก่อนว่า เงินใส่ซองในกรณีที่แม่มักจะโพสต์ถามนั้น หมายถึงเงินที่จ่ายพิเศษแยกต่างหากจากค่าฝากครรภ์ และค่าคลอดลูกที่สามารถใช้สิทธิได้ตามสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิบัตรทอง ซึ่งเป็นการจ่ายเงินให้หมอเจ้าของไข้ตามที่ตกลงกันไว้ ซึ่งอาจจะจ่ายก่อน หรือหลังคลอดลูกก็ได้ เพื่อฝากฝังให้หมอดูแลเป็นพิเศษ รวมถึงจับจองตัวหมอให้เป็นผู้ทำคลอดให้

โดยข้อมูลจาก วรรณโชค ไชยสะอาด (2560) ได้ระบุว่ากรณีการใส่ซองค่าทำคลอดมักเกิดขึ้นในโรงพยาบาลรัฐ โดยแม่จะเลือกไปหาคลินิกที่หมอรับงานนอกเวลาไว้ เพื่อขอให้รับเป็นเจ้าของไข้ และทำหนังสือส่งมอบตัวมาที่โรงพยาบาล ซึ่งรวดเร็วกว่าการเข้าคิวปกติที่โรงพยาบาล อีกทั้งถ้าแม่ต้องการผ่าคลอดโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ก็สามารถใส่ซองให้หมอแลกกับการผ่าตัดที่โรงพยาบาล โดยที่ไม่ต้องเสียค่าผ่าคลอดให้โรงพยาบาล จึงเป็นที่รู้กันดีในกลุ่มแม่ว่าการจ่ายเงินใส่ซองให้กับหมอนั้น เป็นอันตกลงกันว่าหมอท่านนั้นจะดูแลแม่ตลอดการตั้งครรภ์นั่นเอง ด้วยเหตุนี้ เงินใส่ซอง จึงกลายเป็นใบเบิกทางให้แม่ได้รับสิทธิพิเศษที่ไปเบียดเบียนคนอื่นโดยไม่รู้ตัว

ผู้เขียนจำได้ว่ามีแม่มือใหม่ท่านหนึ่งโพสต์ถามเข้ามาในกลุ่มเรื่องการเตรียมตัวก่อนคลอดลูก ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะแนะนำเป็นพวกผ้าอ้อม แพมเพิร์ส ของใช้เด็ก หรือเครื่องปั๊มนม แต่ที่สะดุดตาผู้เขียน คือคอมเมนต์ที่ระบุว่า “อย่าลืมเงินใส่ซองด้วยนะคะ” หลังจากนั้นก็มีแม่หลายท่านเข้ามาตอบใต้โพสต์จำนวนมาก บางท่านก็สงสัยว่าเงินใส่ซองคืออะไร? บางท่านที่มีประสบการณ์ก็มาแบ่งปันตัวเลขที่เคยใส่ซองให้หมอ ซึ่งผู้เขียนพอจะสรุปตัวเลขได้คร่าวๆ จากในกลุ่มที่เข้ามาตอบกว่าพันคน พบว่า ค่าใส่ซองสำหรับฝากพิเศษจะอยู่ที่ขั้นต่ำประมาณ 4,000 ถึง 6,000 บาท และอาจจะสูงถึง 10,000 บาทในกรณีที่แม่ฝากครรภ์ และเจาะจงทำคลอดกับหมอที่เป็นที่นิยมโพสต์ลักษณะนี้ สร้างความกังวลใจให้กับแม่หลายท่าน จนถึงกับตั้งคำถามว่า “ถ้าไม่มีเงินใส่ซองจะคลอดลูกได้ไหม?”

เมื่อพิจารณาจำนวนเงินที่ใส่ซองที่มากกว่า 3,000 บาทและเจตนาของการให้เงินก็เพื่อให้หมอเอื้อประโยชน์ให้กับคนไข้โดยมิชอบ ย่อมเข้าข่ายความผิดฐานเจ้าพนักงานเรียกรับสินบนตาม ป.อาญา มาตรา 149 เรียกรับหรือรับทรัพย์ แปลว่า การกระทำนี้เป็นการจ่ายสินบนให้แก่เจ้าหน้าที่ และเป็นความผิดชัดเจน ไม่ใช่เพียงสินน้ำใจอย่างที่แม่หลายท่านเข้าใจ ซึ่งก็ตรงกับข้อมูลที่มีการเผยแพร่เป็นข่าวดังในช่วงปี 2560 ที่มีแม่ท่านหนึ่งร้องเรียนไปที่ศูนย์ดำรงธรรมว่าถูกหมอเรียกรับค่าฝากครรภ์พิเศษ ซึ่งทำให้ผู้อำนวยการจากโรงพยาบาลดังกล่าวทำจดหมายแจ้งขอความร่วมมือไม่ให้หมอรับเงินใส่ซอง

ด้วยความสงสัยของผู้เขียนในฐานะที่เป็นแม่ที่ทำงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชันด้วย จึงถือโอกาสเข้าไปร่วมวงสนทนา เพื่อสอบถามถึงเหตุผลที่แม่หลายท่านตัดสินใจใส่ซองให้กับหมอ โดยในกลุ่มได้เปิดโหวตสอบถามว่าแม่ได้ใส่ซองให้หมอทำคลอดหรือไม่? ผลการโหวตจากแม่กว่าหมื่นคน พบว่า มีเพียงแค่ 23% เท่านั้นที่ใส่ซอง โดยให้เหตุผลว่าเป็นการตอบแทนน้ำใจของหมอที่ดูแลเป็นอย่างดี บ้างก็ว่าเป็นการให้ไว้ก่อนเพื่อความอุ่นใจว่าหมอจะดูแลเป็นพิเศษ บ้างก็ว่าจำเป็นต้องให้เพราะหมอ หรือพยาบาลมาบอกกันตรงๆ ให้จ่าย แถมบางคนก็ถึงขั้นตำหนิผู้เขียนว่า สิ่งนี้เขาเรียกว่าสินน้ำใจ เพราะเราเต็มใจจะให้เอง และย้อนถามว่าถ้าจ่ายเงินเพิ่มนิดเดียว แลกกับชีวิตลูกที่สู้อุ้มท้องมา แม่จะไม่จ่ายเลยหรอคะ? เจอเหตุผลแบบนี้ไปนานวันเข้าแม่ที่ไม่อยากจ่าย ก็เริ่มหวั่นไหวละค่ะ

ชวนมาดูฝั่งแม่ 77% ที่ไม่จ่ายกันบ้าง ส่วนใหญ่ให้เหตุผลสั้นๆ ว่ามันคือ การให้สินบนอย่างหนึ่งนั่นแหละ เป็นการทุจริตเอาทรัพยากรส่วนรวมมาใช้เพื่อประโยชน์ของตัวเอง และทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนมีเงินกับคนไม่มีเงินในการเข้าถึงการทำคลอด ซึ่งก็มีหมอหลายท่านที่ไม่เห็นด้วยกับการใส่ซองเพื่อฝากพิเศษ ได้ให้ข้อมูลถึงผลกระทบจากการฝากพิเศษที่ทำให้เสียระบบในการดูแลคนไข้ในภาพรวมอย่างเท่าเทียมกัน และสร้างภาระแก่เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในห้องคลอด รวมถึงเป็นการส่งต่อค่านิยมที่ไม่ถูกต้องให้กับคนไข้และหมอด้วย

ข้อถกเถียงที่น่าสนใจจากแม่ๆ คือในกลุ่มแม่ที่มีเงินจ่ายสินบน ทำไมถึงไม่ไปฝากท้องที่โรงพยาบาลเอกชน จะได้เลือกผ่าคลอดได้ ก็มีแม่หลายคนเข้ามาตอบว่า การใช้สิทธิบัตรทอง รวมถึงการคลอดที่โรงพยาบาลรัฐมันควบคุมค่าใช้จ่ายได้ ก็คือแม่สามารถฝากครรภ์และคลอดโดยใช้สิทธิบัตรทองจ่าย 30 บาท ถ้านอนห้องรวมไม่เสียเงิน แต่ถ้านอนห้องพิเศษก็จ่ายในราคาราวๆ พันบาท และถ้าหากอยากได้รับการดูแลที่ดีเหมือนเอกชน รวมถึงผ่าคลอดได้ ก็เลือกฝากพิเศษแทน โดยจ่ายเพิ่มแค่เพียง 4,000 บาท ไม่เหมือนโรงพยาบาลเอกชนที่อย่างน้อย แม่ต้องเตรียมเงินขั้นต่ำที่ 70,000 บาทในการผ่าคลอด

ด้วยเหตุนี้ การจ่ายสินบนให้กับหมอในการทำคลอด จึงเรียกได้ว่าคุ้มเสียยิ่งกว่าคุ้ม เพราะประหยัดค่าใช้จ่ายในการผ่าคลอดลงไปได้เกือบเท่าตัว ซึ่งแท้จริงแล้วการผ่าคลอดในโรงพยาบาลรัฐนั้น ต้องเสียเงินอยู่ที่ประมาณ 15,000 บาท แต่เงินจำนวนนี้กลับถูกแทนที่ด้วยเงินใส่ซอง ซึ่งไม่ได้ตกไปที่โรงพยาบาลรัฐ ในขณะที่การผ่าคลอดนั้นต้องอาศัยบุคลากรทางการแพทย์หลายฝ่ายในการดูแลมากกว่ากรณีแม่ที่คลอดตามปกติ นั่นแปลว่าเรากำลังเอาเปรียบคนอื่นอยู่หรือเปล่า? ส่วนวิธีที่ตรงไปตรงมา คือแม่ใช้สิทธิบัตรทองฝากครรภ์เข้าระบบปกติ และหากมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ หมอก็จะทำการผ่าท้องคลอดให้ ซึ่งจะได้รับการคุ้มครองโดยไม่มีค่าใช้จ่าย แต่ถ้าเป็นความต้องการของแม่เอง จะต้องจ่ายเงินเอง ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับแม่ว่าจะตัดสินใจเลือกเดินทางตรง หรือจะเดินแบบซิกแซกเพื่อให้ได้ในสิ่งที่ต้องการ

สิ่งหนึ่งผู้เขียนสังเกตจากการพูดคุยในกลุ่มแม่หลายกลุ่ม คือการลดทอนความรุนแรงของการให้สินบน เป็นเพียงแค่สินน้ำใจ และใช้เหตุผลของความรักลูกเพื่อเป็นเกราะป้องกันความรู้สึกผิดที่เกิดขึ้น ซึ่งกระบวนการคิดนี้เรียกว่า Self-Concept Maintenance หรือกระบวนการรักษาสมดุลของค่ามาตรฐานความดีของตัวเอง โดย ธานี ชัยวัฒน์ (2560) ได้นำกระบวนการนี้มาใช้อธิบายระบบคิดในหัวของคนที่ตัดสินใจจะโกง ด้วยการทำให้ตัวเองรู้สึกว่า มันเป็นแค่การโกงแค่นิดหน่อย ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อนเพื่อทำให้ตัวเองรู้สึกผิดน้อยลง (Self-Serving) หรือการที่มันไม่มีกฎระเบียบเขียนห้ามไว้ชัดเจน ก็ทำให้เราตัดสินใจโกงได้ง่ายขึ้น เพราะไม่มีความชัดเจนว่าสิ่งที่ทำมันผิดหรือถูก และเมื่อโกงสำเร็จแล้ว ก็จะปิดท้ายด้วยการบอก (หลอก) ตัวเองว่า ใครๆ ก็ทำกัน จึงทำให้เกิดความสบายใจ ทั้งๆ ที่เพิ่งทำผิดมา

ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า กระบวนการนี้สะท้อนถึงการตัดสินใจในการให้สินบนของแม่ได้อย่างชัดเจน เนื่องจากแม่ส่วนใหญ่มองว่า ไม่ได้เป็นการบังคับให้จ่าย ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน และเหนือสิ่งอื่นใด คือเหตุผลเพราะรักลูกนั้นเอง สินบนในมุมมองแม่ จึงกลายเป็นความจำเป็นที่ยอมรับได้ เป็นสิทธิที่ใครพอใจจ่ายก็จ่าย ส่วนใครไม่มีเงินก็รับการรักษาแบบปกติ และไม่ใช่เรื่องผิดด้วย เพราะใครๆ ในกลุ่มแม่ก็ทำกัน เห็นได้จากทุกวันนี้ เราสามารถหารีวิวการฝากพิเศษได้จากอินฟลูเอนเซอร์แม่และเด็ก หรือขอคำแนะนำโดยตรงจากบุคลากรทางการแพทย์ได้ด้วยซ้ำ

แล้วจะทำอย่างไรให้สินบน ไม่ใช่เรื่องที่แม่ยินดีจ่าย หมอยินดีรับอย่างที่เคยเป็นมา ในมุมมองของผู้เขียนเห็นว่า ควรลดแรงจูงใจของทั้งแม่และหมอเพราะ pain point หลักของแม่ คือกังวลเรื่องความปลอดภัยของลูกซึ่งหากแม่ได้รับการฝากครรภ์ตั้งแต่สามเดือนแรก ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของลูกได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ และสามารถป้องกันความผิดปกติได้ตั้งแต่เนิ่นๆซึ่งถ้าพูดกันตามเหตุผลนี้ การผ่าคลอดโดยไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ต่างหาก ที่ทำให้แม่มีความเสี่ยงในการให้กำเนิดลูก อ้างอิงจากองค์การอนามัยโลก (WHO) และราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยที่ระบุว่า การผ่าท้องคลอดควรเป็นทางเลือกสำหรับแม่ที่มีความจำเป็นเท่านั้น และหากแม่ที่ฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่นๆ พบกรณีผิดปกติ หมอเองก็ต้องดูแลอย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว

ส่วนในฝั่งของหมอนั้น ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ (2560) ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์ฯ ให้สัมภาษณ์ไว้ในคอลัมน์ “ผ่าท้องคลอดไม่ใช่
คำตอบสุดท้าย” โดย The 101. World เสนอว่า ต้องลดแรงจูงใจด้านรายได้และการจัดการของโรงพยาบาล เช่น การกำหนดมาตรการควบคุมทางอ้อมด้วยการปรับค่าตอบแทนหมอทำคลอดแบบปกติกับการผ่าท้องคลอดให้เป็นอัตราเดียวกัน หมอจะได้ไม่มีแรงจูงใจในการเลือกผ่าท้องคลอด หรือในประเทศโปรตุเกสได้ตั้งกฎว่า โรงพยาบาลไหนผ่าท้องคลอดเกิน 25% ปีจะถูกตัดงบประมาณในปีต่อมา ซึ่งมันจะกลับไปที่การปฏิรูประบบของโรงพยาบาลนั้นๆ รวมถึงการปรับปรุงการให้บริการต่างๆ ให้ดีขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดช่องว่างในการเสนอจ่าย หรือเรียกสินบนเพื่อแลกกับการดูแลพิเศษ หรือขอให้ผ่าคลอดได้

ถ้าหากเราปล่อยให้การให้สินบนเป็นเรื่องปกติ อนาคตข้างหน้า มันอาจจะไม่ใช่ทางเลือกแล้ว แต่จะเป็นการถูกบังคับให้จ่ายสินบน เพื่อให้หมอทำคลอดลูกให้อย่างปลอดภัยก็ได้ ดังเช่นรายงานผลการสำรวจเรื่องการจ่ายสินบนในกลุ่มแม่ตั้งครรภ์ ของ Transparency International (2562) ที่ชี้ว่าแม่จากอินเดีย เนปาล เคนยา และซิมบับเว จำนวนมาก ต้องเสียโอกาสในการให้กำเนิดลูกที่ฟูมฟักมากว่า 9 เดือนเพียงเพราะไม่มีเงินมาจ่ายสินบน

ในฐานะแม่ ผู้เขียนจึงอยากชวนแม่ทุกท่านให้ฉุกคิดถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการจ่ายสินบนในการฝากครรภ์และการทำคลอด ด้วยการช่วยกัน
เป็นตัวแทนของแม่ที่ไม่จ่ายสินบน ร่วมกันส่งเสียงในกลุ่มคอมมูนิตี้ของตัวเองว่ามันไม่ใช่แค่เรื่อง Win-Win ของแม่และหมอเท่านั้น แต่มันเป็นการสร้างความเหลื่อมล้ำให้เกิดขึ้นในระบบบริการทางการแพทย์ ทำให้สิทธิสวัสดิการคลอดลูกของรัฐที่ควรจะเข้าถึง

 

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2566
ผู้แต่ง

สุภัจจา อังค์สุวรรณ

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อยากแก้ปัญหาปากท้องก่อน แต่ถ้าไม่ปฏิรูปตำรวจ ก็แก้ยาก !

ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน มืดเทา อาจเป็นคำนิยามวงการตำรวจไทยในปัจจุบัน ? หากเราพูดถึงวงการตำรวจ หลาย ๆ คนคงจะนึกถึงเรื่องที่ตำรวจดันไปเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมกับการทุจริต ไม่ว่าจะเป็นกรณีหมูเถื่อน กำนันนก ทุนจีนสีเทา หรือข่าวอาชญากรรมต่าง ๆ แทนที่จะมองว่า ตำรวจคือผู้ที่รักษาความสงบให้บ้านเมือง และคุ้มครองประชาชนให้รู้สึกปลอดภัย

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : สติ๊กเกอร์ส่วย…แก้ได้ ?

จะแก้ปัญหาอย่างไรให้ชีวิตปลอดภัยจากผลกระทบของสินบน ? ประเด็นร้อนทุจริตเร็ว ๆ นี้คงหนีไม่พ้นเรื่อง “ส่วยสติกเกอร์” หลังว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ออกมาแฉตั้งแต่กลไกไปจนถึงราคาอย่างที่หลายคนคงได้ยินมาบ้างแล้ว แต่ที่สำคัญกว่านั้น รู้หรือไม่ว่าเรื่องของส่วยรถบรรทุกที่ดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว จริง ๆ แล้วใกล้ตัวกว่าที่เราคิด

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : วิจัยพบถ้าตำรวจโกง ต่อต้านคอร์รัปชันพังเลย

การตรวจจับที่ดีกับการเพิ่มโทษทางกฎหมาย คนโกงกลัวอะไรมากกว่ากัน ? นี่เป็นคำถามที่ถกเถียงกันมานานในสังคม แม้กฎหมายการลงโทษที่รุนแรงดูเหมือนจะได้ผลมากกว่า แต่ถ้าหากไม่สามารถตรวจจับคนผิดมาลงโทษได้ การเพิ่มโทษก็คงไร้ความหมาย ในขณะเดียวกัน หลายครั้งกระบวนการตรวจจับก็มีขั้นตอนที่ชักช้า อย่างเช่นคดีคอร์รัปชันบางคดีที่กว่าจะตัดสินได้ก็ใช้เวลานานกว่าสิบปี เราจึงเห็นได้ว่าทั้งสองแนวทางมีข้อดีและข้อเสียที่ต่างกัน

You might also like...

บทความวิจัย : ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเสริมสร้างความร่วมมือและการควบคุมคอร์รัปชันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเพชรบุรี

เมื่อการกระจายอำนาจกลับกลายเป็นการกระจายการทุจริตสู่ท้องถิ่น เพื่อยับยั้งปัญหาคอร์รัปชันในท้องถิ่น จึงต้องส่งเสริมการปกครองตามหลักธรรมาภิบาล (กรณีศึกษา จังหวัดเพชรบุรี)

KRAC Around เล่าข่าวคอร์รัปชันจากทั่วโลก I UNODC จับมือไนจีเรียจัดทำรายงานการทุจริตในไนจีเรีย ชี้ “การติดสินบนได้รับการยอมรับน้อยลง”

รายงานฉบับนี้มีชื่อว่า “การทุจริตในไนจีเรีย: รูปแบบและทิศทาง (Corruption in Nigeria: Patterns and Trends)” เป็นการสำรวจเกี่ยวกับการรับรู้การทุจริตของประชาชนในประเทศไนจีเรียจากประสบการณ์ของประชาชน นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์แนวโน้มการทุจริต ประสิทธิภาพของกลยุทธ์ และแนวทางการต่อต้านการทุจริตอีกด้วย

คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : โกง (เรื่อง) กิน ฉ่ำๆ หม่ำๆ แบดกาย แบดกายหม่ำๆ

เมื่อวันแม่ที่ผ่านมาหลายๆ ท่านคงพาคุณแม่ไปทานข้าว หรืออาจกลับบ้านไปทานข้าวกับคุณแม่และครอบครัว เพราะสำหรับคนไทยแล้ว “อาหารเป็นเรื่องสำคัญ” ดังนั้นในวันสำคัญการนัดรวมตัวกันกินข้าวจึงเป็นเรื่องจำเป็น