คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : ศรัทธามา เงินตราเกิด…เปิดแนวปฏิบัติดูแลวัดห่างมิจ(ฉาชีพ)

“ถ้าเรื่องนี้ผิดกฎหมายจริง…จับไหวเหรอ?”

หนึ่งในประโยคเด็ดจากซีรี่ส์เรื่อง “สาธุ” ทาง Netflix ในตอนที่วินโดนตำรวจจับข้อหา “เกาะศาสนา…กิน” (ผู้เขียนคงไม่ต้องลงรายละเอียดมากเพราะเชื่อว่าผู้อ่านคงดูซีรี่ส์เรื่องนี้กันมาแล้ว หรือถ้ายังไม่ได้ดูเชิญที่ Netflix ได้เลยนะคะ) วินจึงตั้งคำถามกลับไปว่า “ถ้าเรื่องนี้มันผิดจริง คุณตำรวจจับไหวเหรอ” ที่ฟังแล้วก็แอบหยุดคิดตามไม่ได้ว่า “อืมมม เราจับคนหากินกับวัดกันไหวจริงๆ ไหม” หรือกับคำถามที่ว่า “แล้วเรากล้าจับจริงๆ เหรอ” เพราะเราต่างก็ทราบกันดีว่า “วัด” เป็นศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนชาวไทยในดินแดนเมืองไทยเมืองพุทธแห่งนี้ ใครที่ก้าวเข้าเขตวัดจะกลายเป็นคนดีไปโดยอัตโนมัติ หรือถ้าเริ่มหย่อนเงินทำบุญเพียง 20 บาทลงตู้บริจาค ก็อาจจะเห็นแสงออร่าของการสะสมบุญขึ้นมารำไรๆ ยิ่งบริจาคมากยิ่งได้บุญใหญ่กลายเป็นคนดีของสังคมตลอดกาล

ดังนั้น วัด จึงแอบกลายเป็นแลนด์มาร์คสำหรับการฟอกตัว ฟอกเงินและเป็นแหล่งหากินของคนที่ไม่หวังดีและต้องการหาผลประโยชน์จากวัด โดยจะเห็นได้จากหลายๆ คดีที่ผู้กระทำผิดเลือกที่จะไปบวชเป็นพระก่อนที่จะมาสะสางความผิด หรือติดคุกชดใช้กรรมที่ทำไว้เสียด้วยซ้ำ วัดจึงเป็นสถานที่ฟอกตัวชั้นดีของกลุ่มคนเหล่านี้ไป ยิ่งวัดไหนมีของดีของเด็ดของขลังคนยิ่งเข้าหาวัดให้เป็นที่พึ่งทางจิตใจ กลายเป็นที่มาของ “ศรัทธามา เงินตราเกิด” เพราะการแสดงออกถึงพลังศรัทธาที่จับต้องได้ เห็นได้ชัดด้วยตาเนื้อ เงิน คือสิ่งที่ตอบโจทย์ที่สุดยิ่งทำบุญมากยิ่งแปลว่าศรัทธามาก วัดจึงไม่ได้แค่ดึงดูดคนเข้ามาทำบุญเท่านั้น แต่ยังดึงดูดคนที่จะเข้ามาตักตวงผลประโยชน์เข้าตัวเองอีกด้วย

เมื่อวัด (บางวัด) ไม่ได้เป็นเพียงสถานที่สำหรับประกอบกิจกรรมทางพุทธศาสนา แต่เป็นสถานที่ในการประกอบธุรกิจพุทธพาณิชย์ มีผลประโยชน์มากมายเข้ามาเกี่ยวข้อง ย่อมสุ่มเสี่ยงต่อความวุ่นวายในการเข้ามาตักตวงเอาผลประโยชน์ของคนกลุ่มต่างๆ ที่อาจนำไปสู่ความเสียหาย เสียชื่อเสียง และกระทบต่อความเลื่อมใสศรัทธาต่อสถาบันศาสนาได้ ดังนั้น การจัดการดูแลผลประโยชน์ของวัดอย่างเป็นระบบจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ จากการศึกษาของมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาลร่วมกับมูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพ) พบปัญหาในการบริหารจัดการวัดให้เป็นระบบ โปร่งใส ตรวจสอบได้ตามแนวทางธรรมาภิบาลอยู่ 3 เรื่องหลักๆ ได้แก่

หนึ่ง วัดขาดระบบงานที่ชัดเจนในการบริหารด้านการเงินและทรัพย์สิน ทั้งการบันทึกรายรับ รายจ่าย ระบบบัญชีการเงิน ระบบบัญชีทรัพย์สิน และการอนุมัติเบิกจ่ายเงินทำให้การบริหารเงินและทรัพย์สินของวัด มีการปฏิบัติที่หลากหลายและแตกต่างกันมากโดยเฉพาะระหว่างวัดขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ไม่เป็นมาตรฐาน รวมถึงขาดความโปร่งใส ทำให้อ่อนไหวง่ายต่อการทำผิดพลาดและการรั่วไหล

สอง การตัดสินใจในการบริหารวัดขึ้นอยู่กับเจ้าอาวาสเป็นหลักทำให้ขาดการมีส่วนร่วมของพระสงฆ์ในวัด และฆราวาสที่สามารถให้ความเห็น เพื่อแนะนำ ถ่วงดุล และปกป้องเจ้าอาวาส ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ของ เจ้าอาวาส หากปฏิบัติเพียงลำพังและไม่เป็นระบบก็อาจพลาดพลั้งหรือผิดพลาดได้แม้ไม่มีเจตนา โดยเฉพาะการทำผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่เจ้าอาวาสอาจจะขาดความรู้ความเข้าใจ

สาม เจ้าอาวาส พระสงฆ์ ไวยาวัจกร และฆราวาสที่เข้าช่วยงานวัด ส่วนใหญ่ขาดความรู้ในเรื่องการบริหาร และการปฏิบัติตามหลักธรรมาภิบาล นอกจากนี้การคัดเลือกบุคคลเข้ามาช่วยงานวัดก็ขาดกระบวนการที่เป็นระบบ โปร่งใสตรงไปตรงมา เพื่อให้ได้คนดีมีความสามารถที่ไว้วางใจได้และมีศรัทธาในพระพุทธศาสนาเข้ามาช่วยงานวัด

จากปัญหาทั้ง 3 ข้อ จึงนำมาสู่การดำเนินโครงการบริหารวัดในพระพุทธศาสนาตามหลักธรรมาภิบาล โดยได้วางแนวปฏิบัติที่ดีในการบริหารวัดในพระพุทธศาสนาตามหลักธรรมาภิบาล เพื่อแก้ไขปัญหาและทำให้วัดสามารถดูแลตนเองได้อย่างเข้มแข็ง จำนวน 9 ข้อ ไว้ดังนี้

(1) ให้การบริหารวัดมีการตัดสินใจเป็นหมู่คณะในรูปแบบกรรมการ และมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการถ่วงดุล รวมถึงแยกการบริหารออกจากการกำกับดูแลในกรณีของวัดขนาดใหญ่เพื่อให้การบริหารงานวัดมีการกำกับดูแลที่เป็นเอกภาพโดยกลุ่มบุคคลที่ไม่ใช่ผู้บริหาร

(2) กำหนดคุณสมบัติและวาระการดำรงตำแหน่งของฆราวาสที่เข้ามาทำหน้าที่กรรมการและไวยาวัจกร และมีการเสนอชื่อโดยชุมชน และ/หรือคณะศรัทธาที่เข้ามาช่วยงานวัด ก่อนที่จะครบวาระมีการประเมินผล การทำหน้าที่ของกรรมการที่เป็นฆราวาสและไวยาวัจกรเพื่อการพิจารณาต่อวาระในการทำหน้าที่

(3) เจ้าอาวาส พระสงฆ์ ไวยาวัจกร และฆราวาสที่ได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการ ควรมีโอกาสได้รับการพัฒนาและเพิ่มพูนความรู้ในเรื่องการบริหารงานวัดตามหลักพระธรรมวินัย หลักกฎหมาย และหลักธรรมาภิบาล รวมถึงควรมีโอกาสได้รับความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือใหม่ๆ ที่จะใช้ในการบริหารจัดการด้วย

(4) วัดควรกำหนดนโยบายและระเบียบที่สำคัญเป็นลายลักษณ์อักษร

(5) วัดมีระบบการเงิน ระบบบัญชี ระบบการอนุมัติเบิกจ่ายเงิน ระบบควบคุมภายใน ระบบบริหารศาสนสมบัติที่เหมาะสมและเป็นมาตรฐาน มีบุคลากรที่มีความรู้และทักษะเพียงพอจัดทำรายงานทางการเงิน และดูแลการบัญชีของวัด

(6) วัดแต่งตั้งผู้ตรวจสอบภายในที่มีความเป็นอิสระตรวจสอบการปฏิบัติตามระบบควบคุมภายในของวัด และรายงานผลการตรวจสอบตรงต่อเจ้าอาวาสหรือคณะกรรมการ

(7) วัดจัดทำรายงานทางการเงินและรายงานต่างๆ ตามระเบียบและมาตรฐานที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติกำหนด

(8) วัดมีระบบการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นกิจจะลักษณะทั้งข้อมูลการเงินและไม่ใช่การเงิน เปิดเผยอย่างทันเหตุการณ์ ไม่ล่าช้า รวมถึงมีระบบที่ตอบข้อซักถามโดยเจ้าหน้าที่วัดที่ได้รับมอบหมายในกรณีประชาชนมีข้อสงสัย

(9) คณะกรรมการวัดยึดแนวปฏิบัติที่ดีในการทำหน้าที่ตามหลักธรรมาภิบาล

สุดท้ายนี้ถ้าน้าแต๋ง และพระเอกชัย (ในเรื่องสาธุ) ใช้แนวปฏิบัติทั้ง 9 ข้อนี้บริหารวัดภุมราม ป่านนี้หลวงพี่ดลก็น่าจะได้ศาลาการเปรียญไว้แสดงธรรมเทศนาให้ชาวบ้านฟังเพื่อเผยแพร่ศาสนาตามที่ตั้งใจไว้ ไม่มีเวลาไปหวั่นไหวกับสีกาแน่ๆ ค่ะ สาธุ

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2567
ผู้แต่ง

นันท์วดี แดงอรุณ

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เวทีต้านโกงระดับโลก เขาพูดคุยอะไรกัน

4 ประเด็นน่าสนใจจาก “Summit for Democracy 2023” การประชุมระดับโลกเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา HAND Social Enterprise HANDSocialEnterprise ได้รับเชิญจากรัฐบาลเกาหลีใต้ให้ไปร่วมเสวนาในงาน Summit for Democracy 2023 หัวข้อหลักงานปีนี้คือ “การต่อต้านคอร์รัปชัน” เชื่อมโยงคำอธิบายว่า การคอร์รัปชันบ่อนทำลายประชาธิปไตย ในทางกลับกันประเทศที่ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งจะทำให้คอร์รัปชันสูงขึ้น

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เปิดตัว KRAC ศูนย์ความรู้ต้านโกง

คอร์รัปชันเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนอย่างมาก ถ้าไม่แก้ไขทุกมิติอย่างครอบคลุมผลที่ตามมาอาจกลายเป็นเพิ่มปัญหาให้สังคมได้ จึงต้องใช้วิธีที่มีประสิทธิภาพ หนึ่งในนั้นคือการใช้ความรู้ทางวิชาการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติจึงได้ร่วมมือกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดตั้ง “ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค” (Knowledge hub for Regional Anti-corruption and good governance Collaboration: KRAC) ขึ้น เมื่อ 24 เมษายนที่ผ่านมา

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : สื่อสารต้านโกงอย่างไร ถึงได้ผล

ในหลายๆ ครั้งที่ผมได้มีโอกาสไปบรรยายเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันให้กับผู้ฟังซึ่งเป็นทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ข้อแนะนำหนึ่งที่มักจะได้มาคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสื่อสาร นำเสนอเรื่องราวของผลกระทบจากการคอร์รัปชันที่รุนแรง เพื่อให้สังคมหวาดกลัวการคอร์รัปชันและรังเกียจคนคอร์รัปชัน เป็นการใช้พลังสังคมเพื่อกดดันให้ “คนโกงไม่มีที่ยืนในสังคม”

You might also like...

บทความวิจัย : ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเสริมสร้างความร่วมมือและการควบคุมคอร์รัปชันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเพชรบุรี

เมื่อการกระจายอำนาจกลับกลายเป็นการกระจายการทุจริตสู่ท้องถิ่น เพื่อยับยั้งปัญหาคอร์รัปชันในท้องถิ่น จึงต้องส่งเสริมการปกครองตามหลักธรรมาภิบาล (กรณีศึกษา จังหวัดเพชรบุรี)

KRAC Around เล่าข่าวคอร์รัปชันจากทั่วโลก I UNODC จับมือไนจีเรียจัดทำรายงานการทุจริตในไนจีเรีย ชี้ “การติดสินบนได้รับการยอมรับน้อยลง”

รายงานฉบับนี้มีชื่อว่า “การทุจริตในไนจีเรีย: รูปแบบและทิศทาง (Corruption in Nigeria: Patterns and Trends)” เป็นการสำรวจเกี่ยวกับการรับรู้การทุจริตของประชาชนในประเทศไนจีเรียจากประสบการณ์ของประชาชน นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์แนวโน้มการทุจริต ประสิทธิภาพของกลยุทธ์ และแนวทางการต่อต้านการทุจริตอีกด้วย

คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : โกง (เรื่อง) กิน ฉ่ำๆ หม่ำๆ แบดกาย แบดกายหม่ำๆ

เมื่อวันแม่ที่ผ่านมาหลายๆ ท่านคงพาคุณแม่ไปทานข้าว หรืออาจกลับบ้านไปทานข้าวกับคุณแม่และครอบครัว เพราะสำหรับคนไทยแล้ว “อาหารเป็นเรื่องสำคัญ” ดังนั้นในวันสำคัญการนัดรวมตัวกันกินข้าวจึงเป็นเรื่องจำเป็น