ผู้อ่านทราบหรือไม่ว่าเวทีนางงามนั้น มีมายาวนานเกือบ 100 ปีแล้ว ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ไม่ว่าเวลาจะผ่านล่วงเลยไปนานเท่าไร เวทีนางงามหรือที่เราเรียกกันว่า “การประกวดความงามของผู้หญิง” นั้นยังคงได้รับความสนใจอยู่ตลอดในบ้านเรา เพราะทุกครั้งที่นางงามไทยลงประกวดในเวทีโลก ก็ได้กระแสตอบรับอย่างดีเสมอมา และยิ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากแฟนคลับชาวไทยที่ชื่นชอบการดูนางงาม ที่ไม่ได้มองแค่ว่าการประกวดนางงามคือการประกวดหาความสวยอย่างเดียว แต่คือการเฟ้นหาคนที่สามารถเป็นกระบอกเสียงในการถ่ายทอดทัศนคติ และสื่อสารเรื่องราว ปัญหาสังคม ที่ไม่ได้รับการแก้ไขและต้องการเรียกร้องให้มีการขับเคลื่อนไปข้างหน้า สะท้อนให้เห็นว่าการจะเป็นนางงามได้นั้นนอกจากจะสวยแล้ว ยังต้องมีทัศนคติมุมมองต่อสังคมที่ดีรวมไปถึงความคิดที่กล้าจะเปลี่ยนแปลง
ตัวอย่างนางงามไทยที่เห็นได้ชัดจากการเป็นกระบอกเสียงอย่างเรื่อง Real Size Beauty ของ แอนชิลี สก๊อต-เคมมิส Miss Universe Thailand ปี 2021 ที่ได้ออกมาเป็นกระบอกเสียงเรื่องการรักและภูมิใจในรูปร่างของตัวเองไม่ว่าจะเป็นแบบไหน ทำให้ผู้หญิงหลายคนภูมิใจในรูปร่างตัวเองมากขึ้น หรือนางงามอีกคนที่สร้างตำนานในเวทีใหญ่อย่าง Miss Universe ริโยะ โมริ นางงามจักรวาล ประจำปี พ.ศ. 2550 จากประเทศญี่ปุ่น ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เด็กญี่ปุ่นและคนทั่วโลกถึงการมาประกวดที่มีความมั่นใจและกล้าแสดงออก ไม่เหมือนเด็กสาวจากญี่ปุ่นทั่วไปที่ปกติต้องขี้อาย อีกทั้งการมาประกวดของ ริโยะ โมริ ยังเป็นการประกวดนางงามเวทีแรกของเธออีกด้วย เธอได้สร้างแรงบันดาลใจให้คนหลายคนว่าถ้าเรามีความมุ่งมั่นตั้งใจก็จะสามารถจะนำพาซึ่งความสำเร็จได้ซึ่งส่งผลให้ ริโยะ โมริ ถือเป็นนางงามระดับตำนานอีกคนที่ลบภาพจำเก่าๆ ว่าผู้หญิงญี่ปุ่นก็มีความมั่นใจได้
ต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่าไม่ใช่แค่ตัวนางงามคนเดียวที่จะสามารถถ่ายทอดหรือเป็นกระบอกเสียงในเรื่องต่างๆ ได้ ยังรวมถึงเวทีนางงามและกองประกวดเองที่ต้องหานางงามที่ตรงบริบทเวทีและหานางงามที่ “ดี” ทั้งหน้าตา รูปร่าง และจิตใจ แต่การจะหานางงามที่เป็นตัวแทนในการส่งเข้าประกวดเวทีใหญ่ระดับโลกได้นั้น คงไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะในบางครั้งก็มีปัญหามากมายเกิดขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการเลือกนางงามที่ไม่ถูกใจคนดู หรือในบางเวทีการประกวด คนที่ได้ที่ 1 อาจจะดูขัดใจคนดูหลายคน หรือที่มักเรียกกันว่า “ไม่สมมง”
จากใจผู้เขียนที่เป็นแฟนนางงามเช่นเดียวกันก็ได้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นนี้อยู่หลายครั้งในการดูนางงาม หรือเรื่องของกองประกวดหนึ่งที่เคยเป็นข่าวดัง ถึงปัญหาของสัญญาต่างๆ ที่นางงามกับกองประกวดต้องมีร่วมกันในการทำกิจกรรมกับทางกองประกวด รวมถึงสัญญาหลังได้รับรางวัล และมงกุฎ
โดยการแก้ปัญหาทั้งเรื่อง นางงามไม่สมมง และ สัญญาไม่เป็นธรรมเหล่านี้ เราสามารถนำเอาหลักการธรรมาภิบาลมาแก้ปัญหาได้ ซึ่งเป็นหลักการสำหรับการบริหารจัดการที่ดีที่จะช่วยให้องค์กรมีประสิทธิภาพและก้าวหน้าอย่างโปร่งใสโดยที่ทุกคนมีส่วนร่วมมากขึ้น
ผู้เขียนขอยกตัวอย่างการนำหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในการแก้ปัญหาทั้งหมด 3 ข้อ โดยหลักธรรมาภิบาลนั้นเราไม่จำเป็นต้องนำมาใช้ทุกข้อ โดยสามารถนำมาปรับใช้ได้เช่นกันแต่ต้องสอดคล้องกับบริบทและปัญหา เริ่มจาก หลักคุณธรรม เหตุผลที่นำหลักการนี้มาใช้เพราะหลักคุณธรรมคือการยึดมั่นในความถูกต้อง และการประกวดเวทีนางงามต้องให้ความสำคัญกับการซื่อสัตย์สุจริตที่จะไม่มีการซื้อตำแหน่งหรือเส้นสายต่างๆ ให้นางงามได้ตำแหน่งอย่างไม่เป็นธรรม
ต่อมาคือ หลักนิติธรรม เวทีนางงามต้องมีกฎระเบียบข้อบังคับที่ชัดเจน รวมถึงได้รับการยอมรับและตกลงร่วมกันจากทั้งตัวเจ้าของเวที นางงาม และแฟนนางงามเช่นเดียวกัน ยกตัวอย่างกฎที่แฟนนางงามและกองประกวดเห็นตรงกันคือ คนที่เข้ามาประกวดนางงามได้ต้องไม่เคยถ่ายภาพกึ่งเปลือย/โป๊หรือภาพที่เข้าข่ายอนาจารที่ขัดต่อจารีต ขนบธรรมเนียม ศีลธรรมของสังคมไทย ไม่ว่าจะได้รับการตีพิมพ์ในสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทต่างๆ หรือแพร่ภาพผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์มาก่อนหรือปรากฏภายหลัง เพราะนางงามต้องมีภาพลักษณ์ที่ดีและเป็นตัวอย่างของสังคมได้
สุดท้ายคือ หลักความโปร่งใส ที่ว่าด้วยเรื่องความสุจริตไม่คดโกง โดยกองประกวดต้องมีการสื่อสารที่ดี การตัดสินอย่างโปร่งใส และมีการบริหารความเสี่ยงเรื่องการคอร์รัปชันที่รัดกุม และควรมีระบบตรวจสอบการทำงานทุกอย่าง เพื่อให้แน่ใจว่าทุกอย่างดำเนินไปตามแผนที่วางไว้ ในเรื่องของสัญญาที่กองประกวดต้องสื่อสารกับตัวนางงามอย่างชัดเจนก่อนจะเข้าประกวด เช่น สัญญาเรื่องเงินรางวัลรวมไปถึงการทำงานให้กองหลังการประกวดเสร็จสิ้น เพื่อที่ตัวนางงามจะได้รับรู้ถึงสิ่งที่ต้องทำก่อนและหลังเข้าประกวดและกรณีหลังจากได้รับตำแหน่งด้วย และการให้ตำแหน่งคนที่ได้รับเลือกให้ชนะแบบยุติธรรมนี่ถือเป็นสิ่งสำคัญเพราะในหลายครั้งสร้างความข้องใจให้หลายคนและส่งผลถึงภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อตัวนางงาม ดังนั้นทางกองประกวดควรกล้าที่จะเปิดผลคะแนนรวมไปถึงกรรมการที่กล้าจะพูดถึงจุดบกพร่องหรือความผิดพลาดของนางงาม สิ่งเหล่านี้จะสร้างความชัดเจนได้มากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตามการประกวดนางงามก็เหมือนการแข่งกีฬา แม้จะไม่ได้แข่งกันด้วยพละกำลังแต่แข่งกันด้วยความงามและทัศนคติ ถึงอย่างนั้นการแข่งขันเมื่อจบลงเราก็คงต้องยอมรับผลการตัดสินและรู้แพ้รู้ชนะ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะนิ่งเฉยถ้าเกิดการประกวดนั้นไม่เป็นธรรมเพราะการเรียกร้องสิทธิ์ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ควรทำเช่นกัน แต่สิ่งสำคัญคือต้องคำนึงถึงขอบเขตความเหมาะสมด้วยเช่นกัน และแน่นอนว่าหลักธรรมาภิบาลนั้นสามารถใช้แก้ปัญหาได้ไม่จำเป็นต้องเวทีนางงามอย่างเดียว แต่เราสามารถนำมาปรับใช้ในองค์กรหรือการทำงานได้เช่นกัน
รฐพร ทองนวล
หัวข้อ
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เวทีต้านโกงระดับโลก เขาพูดคุยอะไรกัน
4 ประเด็นน่าสนใจจาก “Summit for Democracy 2023” การประชุมระดับโลกเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา HAND Social Enterprise HANDSocialEnterprise ได้รับเชิญจากรัฐบาลเกาหลีใต้ให้ไปร่วมเสวนาในงาน Summit for Democracy 2023 หัวข้อหลักงานปีนี้คือ “การต่อต้านคอร์รัปชัน” เชื่อมโยงคำอธิบายว่า การคอร์รัปชันบ่อนทำลายประชาธิปไตย ในทางกลับกันประเทศที่ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งจะทำให้คอร์รัปชันสูงขึ้น
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เปิดตัว KRAC ศูนย์ความรู้ต้านโกง
คอร์รัปชันเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนอย่างมาก ถ้าไม่แก้ไขทุกมิติอย่างครอบคลุมผลที่ตามมาอาจกลายเป็นเพิ่มปัญหาให้สังคมได้ จึงต้องใช้วิธีที่มีประสิทธิภาพ หนึ่งในนั้นคือการใช้ความรู้ทางวิชาการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติจึงได้ร่วมมือกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดตั้ง “ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค” (Knowledge hub for Regional Anti-corruption and good governance Collaboration: KRAC) ขึ้น เมื่อ 24 เมษายนที่ผ่านมา
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : สื่อสารต้านโกงอย่างไร ถึงได้ผล
ในหลายๆ ครั้งที่ผมได้มีโอกาสไปบรรยายเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันให้กับผู้ฟังซึ่งเป็นทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ข้อแนะนำหนึ่งที่มักจะได้มาคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสื่อสาร นำเสนอเรื่องราวของผลกระทบจากการคอร์รัปชันที่รุนแรง เพื่อให้สังคมหวาดกลัวการคอร์รัปชันและรังเกียจคนคอร์รัปชัน เป็นการใช้พลังสังคมเพื่อกดดันให้ “คนโกงไม่มีที่ยืนในสังคม”