“ฉันถูกตำรวจไทยรีดไถ” คำพูดที่เปรียบเหมือนฟ้าผ่าลงกลางใจของประเทศไทย ที่เพิ่งเปิดรับการท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 รวมไปถึงเรื่องฉาวของวงการสีกากีอย่างต่อเนื่องในเรื่องความไม่โปร่งใสที่ถูกโหมกระหน่ำมาตลอดทั้งปี โดยเพจ “หนีห่าวไต้หวัน ฉันมาแล้ว” ได้โพสต์เรื่องราวของดาราสาวชาวไต้หวัน คุณอันยู๋ชิง ที่ได้เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยและโพสต์เกี่ยวกับประสบการณ์ที่ย่ำแย่จนเธอต้องกล่าวออกมาว่า “ฉันจะไม่กลับมาเหยียบประเทศไทยอีก” โดยเธอได้กล่าวว่า เธอถูกตำรวจที่ตั้งด่านในตอนกลางคืนเรียกจอดพร้อมทั้งรีดไถเธอและกลุ่มเพื่อนเป็นจำนวนเงิน 30,000 บาท โดยในช่วงแรกตำรวจแจ้งข้อหาเกี่ยวกับ VISA แต่ในท้ายที่สุดหลังจากทางตำรวจได้ให้สัมภาษณ์เหตุผลกับทางสื่อสังคม ว่าการเรียกปรับนี้มาจากสาเหตุการพกพาบุหรี่ไฟฟ้า เมื่อท่านอ่านมาถึงจุดนี้แล้ว หลายท่านอาจจะยังไม่ทราบว่าบทลงโทษของบุหรี่ไฟฟ้านั้นมีอะไรบ้าง
ผู้เขียนจะขอนำเสนอบทลงโทษในปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้าจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) โดยมีรายละเอียดดังนี้
(1.) ผู้ใดขายหรือให้บริการ มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 600,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
(2.) ผู้นำเข้าบุหรี่ไฟฟ้า มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(3.) ผู้ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ
จะเห็นได้ว่าการนำเข้า จำหน่าย และถือครอง เป็นความผิดตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์เรื่องสินค้าต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักรและคำสั่งของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และ พ.ร.บ. ศุลกากร โดยผู้เขียนตั้งข้อสงสัยในเรื่องการออกกฎหมายลงโทษผู้ถือครองซึ่งมีอัตราโทษการจำคุกสูงกว่าผู้จำหน่าย จึงอาจเป็นที่มาในการสร้างโอกาสให้ประชาชนทั่วไปที่หวาดกลัว หรือไม่มีความรู้ในข้อกฎหมายถูกขู่เข็ญ เอารัดเอาเปรียบ และรีดไถจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ดังเช่นเหตุการณ์ตัวอย่างของคุณ อันยู๋ชิง ที่ทางตำรวจได้กล่าวว่าเป็นความผิดในกรณีถือครองบุหรี่ไฟฟ้า และเป็นที่มาของการปรับเป็นจำนวนเงิน 30,000 บาท เพราะจากที่ผู้เขียนได้ทำการศึกษาราคาบุหรี่ไฟฟ้าในท้องตลาด พบว่าไม่มีราคาสินค้าชนิดไหน ที่จะถูกปรับ 4 เท่า ให้เป็นจำนวนเงินถึง 30,000 บาทได้ เพราะตามรายงานข่าวคุณอันยู๋ชิง เป็นเพียงผู้ถือครองแต่กลับมีโทษปรับสูงกว่าที่ข้อกฎหมายกำหนด
สิ่งที่น่าผิดสังเกตอีกประเด็นเกี่ยวกับความไม่โปร่งใสของการปฏิบัติหน้าที่ โดยขออ้างอิงการนำเสนอข่าวจากสำนักข่าวอมรินทร์ทีวีและพีพีทีวี จากการรายงานข่าวของช่องอมรินทร์ทีวี พบว่ามีร้านจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าอยู่ไม่ห่างจาก สน.ห้วยขวาง ซึ่งเป็นต้นเหตุของคดีคุณอันยู๋ชิง เพียง 100 เมตร หลังจากมีประเด็นร้อน รวมไปถึงภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจสูบบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่ราชการและช่องพีพีทีวีได้มีการนำเสนอข้อมูลแวดวงในจากผู้ค้าบุหรี่ไฟฟ้า โดยพาดพิงว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นเจ้าของหรือมีการรับสินบนเพื่ออนุญาตให้เปิด รวมไปถึงข้อกฎหมายที่มีการจำคุกสูงสำหรับประชาชนผู้ถือครอง นั่นอาจทำให้ประชาชนเกิดความกลัวที่จะติดคุกเป็นเวลานานจนอาจนำไปสู่การใช้กฎหมายเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับตนเองสร้างโอกาสการทำผิดวินัย ทรยศต่อความเชื่อมั่นและศรัทธาของประชาชน ก่อให้เกิดการเรียกรับสินบนและการคอร์รัปชันเป็นวงกว้าง เนื่องด้วยบุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้ามาในราชอาณาจักรและมีฐานการผลิตตัวเครื่องและน้ำยาส่วนใหญ่อยู่ในแถบประเทศมาเลเซีย ซึ่งมีการขนส่งมาทางเรือ แต่เหตุไฉนสินค้าเหล่านี้จึงหลุดเล็ดลอดสายตาของผู้บังคับใช้กฎหมายและระบบคัดกรองจนสามารถมีห้างร้านอยู่ติดถนนทั้งพื้นที่ชุมชนและเขตมหาวิทยาลัย อีกทั้งการค้าขายสินค้าต้องห้ามนี้
ยังคงเฟื่องฟูในโลกออนไลน์ มีร้านลวงมากมายจนแทบจำชื่อไม่ไหวผุดขึ้นมาอยู่ตลอดเวลา ผู้เขียนจึงอดที่จะสงสัยไม่ได้ว่าการแบนบุหรี่ไฟฟ้าคือทางออกที่ดีที่สุดในการปกป้องชีวิตของประชาชนและควบคุมไม่ให้สิ่งเหล่านี้ตกไปสู่มือเยาวชนได้ดีที่สุดแล้วหรือไม่
โดยผู้เขียนได้สืบค้นพบข้อมูลจาก Rocket Media Lab แหล่งข้อมูลติดตามประเด็นสังคม ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพรวบรวม วิจัย และผลิตข้อมูลสาธารณะ ซึ่งได้ทำการค้นคว้าข้อมูลและงานวิจัยที่เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าและพบว่าในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่รัฐบาลประเทศต่างๆ ให้ความสนใจ เนื่องจากมีผู้ใช้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และถูกมองว่าสามารถใช้เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับผู้สูบบุหรี่ที่ต้องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สูบน้อยลง จนนำไปสู่การเลิกบุหรี่ได้ในที่สุด โดยในปัจจุบันมีประเทศที่อนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าได้ภายใต้กฎหมายควบคุมมีถึง 73 ประเทศและมีมาตรการควบคุมที่ชัดเจนในหลายๆ ประเทศ เช่น การกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ซื้อความปลอดภัย ปริมาณความเข้มข้นของนิโคติน การขออนุญาตจำหน่ายรวมไปถึงการจัดเก็บภาษี แม้ในปัจจุบันยังคงมีถกเถียงทางด้านงานวิจัยภายในประเทศและจากองค์กรของรัฐในเรื่องของสุขภาพและความอันตรายของการใช้บุหรี่ไฟฟ้าซึ่งยังคงอยู่ในชั้นกรรมาธิการพิจารณา และแม้จะมีการเปิดประเด็นจากคุณชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของไทย จะให้สัมภาษณ์ในเรื่องการพิจารณาให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายนั้นแต่ก็ยังคงไร้วี่แววการดำเนินการใดๆ ออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรม จนกลายเป็นบ่อเกิดช่องทางการรีดไถของเจ้าหน้าที่รัฐแก่ประชาชนผู้ไม่ทราบกฎหมายให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ขู่เข็ญ ดังเช่นคดีของคุณอันยู๋ชิง อยู่เรื่อยไปในสังคม
ภูรีภัทร วิจิตรธัญญะ
หัวข้อ
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อยากแก้ปัญหาปากท้องก่อน แต่ถ้าไม่ปฏิรูปตำรวจ ก็แก้ยาก !
ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน มืดเทา อาจเป็นคำนิยามวงการตำรวจไทยในปัจจุบัน ? หากเราพูดถึงวงการตำรวจ หลาย ๆ คนคงจะนึกถึงเรื่องที่ตำรวจดันไปเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมกับการทุจริต ไม่ว่าจะเป็นกรณีหมูเถื่อน กำนันนก ทุนจีนสีเทา หรือข่าวอาชญากรรมต่าง ๆ แทนที่จะมองว่า ตำรวจคือผู้ที่รักษาความสงบให้บ้านเมือง และคุ้มครองประชาชนให้รู้สึกปลอดภัย
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : สติ๊กเกอร์ส่วย…แก้ได้ ?
จะแก้ปัญหาอย่างไรให้ชีวิตปลอดภัยจากผลกระทบของสินบน ? ประเด็นร้อนทุจริตเร็ว ๆ นี้คงหนีไม่พ้นเรื่อง “ส่วยสติกเกอร์” หลังว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ออกมาแฉตั้งแต่กลไกไปจนถึงราคาอย่างที่หลายคนคงได้ยินมาบ้างแล้ว แต่ที่สำคัญกว่านั้น รู้หรือไม่ว่าเรื่องของส่วยรถบรรทุกที่ดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว จริง ๆ แล้วใกล้ตัวกว่าที่เราคิด
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : วิจัยพบถ้าตำรวจโกง ต่อต้านคอร์รัปชันพังเลย
การตรวจจับที่ดีกับการเพิ่มโทษทางกฎหมาย คนโกงกลัวอะไรมากกว่ากัน ? นี่เป็นคำถามที่ถกเถียงกันมานานในสังคม แม้กฎหมายการลงโทษที่รุนแรงดูเหมือนจะได้ผลมากกว่า แต่ถ้าหากไม่สามารถตรวจจับคนผิดมาลงโทษได้ การเพิ่มโทษก็คงไร้ความหมาย ในขณะเดียวกัน หลายครั้งกระบวนการตรวจจับก็มีขั้นตอนที่ชักช้า อย่างเช่นคดีคอร์รัปชันบางคดีที่กว่าจะตัดสินได้ก็ใช้เวลานานกว่าสิบปี เราจึงเห็นได้ว่าทั้งสองแนวทางมีข้อดีและข้อเสียที่ต่างกัน