ลงมือสู้โกง : ฟื้นฟูจากโควิด และระบบตรวจสอบภาคประชาชน

เป็นเวลากว่า 3 ปี ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 อยู่กับประเทศไทยเรามา นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดในประเทศครั้งแรกเมื่อมกราคม พ.ศ. 2563 ทั่วโลกต่างงัดมาตรการป้องกันและควบคุมมากมายมาปรับใช้เพื่อหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 เราอยู่กับการสวมหน้ากากอนามัย การพกเจลแอลกอฮอล์เป็นวิถีใหม่ และผ่านช่วงการเว้นระยะห่าง (Social Distancing) ไปจนถึงมาตรการปิดเมือง (Lockdown) ที่ส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง ไม่ใช่เพียงวงการสาธารณสุข แต่รวมทั้งสภาพสังคม วิถีชีวิต และเศรษฐกิจของทั้งประเทศไปด้วย จนอาจกล่าวได้ว่าเพื่อป้องกันให้เชื้อหยุดชะงัก เราต่างสูญเสียเวลาแห่งการเติบโตด้านชีวิตและทรัพย์สินมากมายเพื่อแลกมา

วันนี้เชื้อโควิด-19 ได้แปรสภาพและปรับสายพันธุ์ไปในรูปแบบต่างๆ เราเริ่มรับมือ ปรับตัวและอยู่กับมันได้มากขึ้น สิ่งที่ผู้คนหันกลับมาสนใจจึงไม่ใช่เพียงกับดักแห่งวังวนปัญหาสุขภาพ แต่เป็นเรื่องของปากท้อง ความเป็นอยู่ ที่เริ่มสั่นคลอนจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทั้งปัญหาข้าวยากหมากแพง การว่างงาน การเลิกจ้าง รวมถึงการสูญเสียโอกาสและรายได้ในช่องทางต่างๆ จึงเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องรับผิดชอบพร้อมเร่งแก้ไขภาวะจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจนี้ เนื่องจากผลกระทบดังกล่าวอาจกลายเป็นเนื้อร้ายไม่ต่างจากไวรัสที่สามารถส่งผลในระยะยาวต่อการเติบโตของประเทศได้

รัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกวางมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจแตกต่างกันไปตามโครงสร้างและปัจจัยที่ส่งเสริมสภาพเศรษฐกิจในภูมิภาคของตน ตัวอย่างเช่น ในสหภาพยุโรปมีการปล่อยเงินกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำให้แก่ประเทศสมาชิกที่มีแผนกระตุ้นและพัฒนาเศรษฐกิจด้วยนโยบายที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสนับสนุนการพัฒนาด้านดิจิทัล มีการจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือธุรกิจการท่องเที่ยวแบบเฉพาะเจาะจง จัดตั้ง National Tourism Fund เพื่อเข้าซื้อธุรกิจโรงแรมหรือหุ้นในธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพื่อพยุงผลประกอบการจนกว่าการท่องเที่ยวภายในภูมิภาคจะฟื้นตัว

ในสหรัฐอเมริกาประกาศใช้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจ Build Back Better สนับสนุนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการผลิตภายในประเทศ เพิ่มการจ้างงานคนอเมริกัน ลดการพึ่งพาต่างชาติ และเน้นสร้างงานภาคอุตสาหกรรม พร้อมแผนกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจแบบต่อเนื่องด้วย American Rescue Plan (ARP) การแจกเงินสดกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น, American Jobs Plan (AJP) การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระยะยาวกับระบบขนส่งสาธารณะ สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ระบบเครือข่ายอินเตอร์เนต และ American Families Plan (AFP) การยกระดับสวัสดิการทางสังคม ทั้งการรักษาพยาบาล การศึกษา และการคุ้มครองสิทธิแรงงาน

ในประเทศญี่ปุ่นมีการจัดตั้งกองทุนฉุกเฉินพิเศษเพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดและเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคต มีการปล่อยเงินกู้ปลอดดอกเบี้ยและสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันเพื่อเยียวยาสภาพคล่องทางการเงินแก่กลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ พร้อมประกาศใช้มาตรการชดเชยรายได้ ช่วยเหลือโรงพยาบาล และสนับสนุนเงินอุดหนุนอีกจำนวนมากกับพนักงานทั้งแบบประจำและพาร์ตไทม์ รวมทั้งสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อช่วยเหลือและฟื้นฟูด้านอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และการขนส่งในระยะยาว เป็นต้น

มาถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านพอจะทราบ หรือเดาออกหรือไม่ว่าในประเทศไทยมีแผนฟื้นฟูเยียวยา หรือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใดบ้าง จากผลกระทบของการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ?

ในประเทศไทย ครม. มีมติอนุมัติพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2563 ในกรอบวงเงินไม่เกิน 1 ล้านล้านบาท และเพิ่มเติมฉบับที่ 2 ในปี พ.ศ. 2564 อีกจำนวน 5 แสนล้านบาท (รวมเป็นเงินทั้งสิ้นกว่า 1.5 ล้านล้านบาท) ภายใต้วัตถุประสงค์การใช้จ่ายเงิน 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 กลุ่มที่ 2 แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา ชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร กลุ่มเปราะบาง ผู้ประกอบวิชาชีพอิสระ และผู้ประกอบการธุรกิจ และกลุ่มที่ 3 แผนงานหรือโครงการเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งปัจจุบันมียอดการอนุมัติวงเงินรวมทั้ง 2 ฉบับแล้วกว่า 1.35 ล้านล้านบาท และเบิกจ่ายแล้ว กว่า 1.31 ล้านล้านบาท โดยเราอาจคุ้นหูโครงการที่เกี่ยวข้อง เช่น คนละครึ่ง เราชนะ เราเที่ยวด้วยกัน หรือ โคก หนอง นา โมเดล เป็นต้น แต่นอกเหนือจากโครงการที่ครอบคลุมทั่วประเทศแล้ว ภายใต้แผนงานนี้ยังมีโครงการรายจังหวัดอีกมากมาย รวมทั้งสิ้นกว่า 300 โครงการ ที่อนุมัติจัดซื้อจัดจ้างขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาในเฉพาะด้านและเฉพาะกลุ่มอย่างเจาะจง

อย่างไรก็ตามมาตรการแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของรัฐบาลนั้น ถูกวิพากษ์วิจารณ์ค่อนข้างมากถึงความเหมาะสมในการใช้จ่ายเงิน เช่น เงินถึงมือประชาชนจริงไหม? เงินที่ลงทุนไปคุ้มค่าและสามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจได้หรือไม่?ไปจนถึงการตั้งคำถามถึงผลกระทบในระยะยาวของการกู้เงิน ว่าจะตกเป็นภาระถึงประชาชนในภายภาคหน้าหรือเปล่า?

ผศ.ดร.วิษณุ วงศ์สินศิริกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยรังสิต ได้อธิบายประเด็นหนี้สาธารณะที่ก่อโดยรัฐบาลผ่านคอลัมน์สมการความคิด (22 เมษายน 2565) โดยเห็นว่า “ประเด็นสำคัญไม่ใช่อยู่ที่รัฐบาลควรก่อหนี้สาธารณะหรือไม่ หรือมูลค่าหนี้สาธารณะไม่ควรเกินระดับใด แต่อยู่ที่หนี้สาธารณะที่ก่อขึ้นนั้นถูกนำไปใช้อย่างไรมากกว่า” หากเงินนั้นถูกลงทุนไปอย่างยั่งยืนกับโครงการต่างๆ เพื่อยกระดับศักยภาพความเป็นอยู่หรือเพื่อสร้างการเติบโตให้แก่ประเทศ ก็จะถือเป็นการก่อหนี้ที่เกิดประโยชน์ แต่หากเงินนั้นถูกใช้จ่ายไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ หรือเพื่อกระแสในระยะสั้นก็อาจเป็นเพียงการบรรเทาปัญหาและอาจย้อนกลับมาเป็นภาระที่ต้องแบกรับของประชาชนได้

หากเป็นเช่นนั้น เราในฐานะของประชาชนผู้เป็นทั้งผู้รับผลประโยชน์และผู้ที่อาจต้องแบกรับความเสี่ยงด้วยแล้ว จะสามารถตรวจสอบได้อย่างไร?

เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดจากแผนงานและโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินฯ ผู้เขียนจึงอยากเชิญชวนทุกท่าน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการติดตาม ตรวจสอบโครงการจัดซื้อจัดจ้างภายใต้แผนงานดังกล่าว ตั้งแต่กระบวนการยื่นขออนุมัติ ไปจนถึงห้วงระยะดำเนินงานและการเก็บรวบรวมประเมินผล เพื่อให้แผนงานและโครงการภายใต้เงินกู้เหล่านี้ มีการใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ และก่อประโยชน์อันสูงสุดแก่ประชาชนทุกคน ท่านสามารถเข้าสืบค้นรายละเอียดข้อมูลโครงการ ติดตามภาพรวมการใช้จ่าย และเรียกดูเอกสารมติคณะรัฐมนตรีและผลการพิจารณาของคณะกรรมการ พร้อมแสดงความคิดเห็นต่อโครงการภายใต้แผนงานได้จากเว็บไซต์ ThaiME (thaime.nesdc.go.th) ที่จัดทำโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือด้วยระบบจับโกงงบ COVID ด้วย ACT Ai เครื่องมือสู้โกงภาคประชาชน โดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯ ร่วมกับ HAND Social Enterprise และ Punch Up

ระบบจับโกงงบ COVID ด้วย ACT Ai จะช่วยบอกเล่าเรื่องราวที่มาที่ไปของ พ.ร.ก.กู้เงินฯ และนำเสนอข้อมูลโครงการภายใต้กรอบเงินกู้ 1.5 ล้านล้านบาท ประมวลผลวิเคราะห์และแสดงในรูปแบบ Data Visualization พร้อมระบบวิเคราะห์และประเมินความเสี่ยงโครงการที่อาจเกิดการทุจริต (Risk Assessment) ซึ่งจากผลการติดตามข้อมูลโครงการภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินฯ ทั้ง 2 ฉบับ ระบบจับโกงงบ COVID ด้วย ACT Ai ได้ทำการวิเคราะห์ประเมินความเสี่ยงและมีข้อมูลโครงการที่อาจเกิดการทุจริตในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างแล้วกว่า 50 โครงการ ทุกท่านสามารถเข้าใช้งานและมีส่วนร่วมในการติดตาม ตรวจสอบได้ผ่านทาง covid19.actai.co สามารถเลือกสืบค้นจากกลุ่มจังหวัด ประเภทโครงการ งบประมาณ กลุ่มเป้าหมาย หรือเลือกสำรวจโครงการตามความสนใจของท่านก็ได้ โดยหากยังไม่มีโครงการอะไรในใจ ระบบจะช่วยนำทางการตั้งต้นสืบค้นด้วยฟังก์ชั่นแบบทดสอบค้นหาโครงการที่เกี่ยวกับคุณด้วย !

มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการติดตาม ตรวจสอบ พร้อมบอกเล่าแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่มีต่อโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงินฯ ร่วมกับเราผ่าน Facebook Fanpage: HAND Social Enterprise ท่านเคยได้รับการเยียวยาจากโครงการใดบ้าง? ท่านพบเห็น มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการใด? หรือแผนงานไหนที่อยู่ในพื้นที่ละแวกบ้านท่าน? โดยหากท่านเห็นความผิดปกติ หรือเบาะแสที่เกี่ยวข้องกับโครงการใดๆ ก็สามารถร่วมเป็นหูเป็นตา แจ้งเบาะแส แสดงความคิดเห็นพร้อมติดตาม ตรวจสอบไปกับเรา เพียงเท่านี้ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นในการมีส่วนร่วมเพื่อรักษาผลประโยชน์ และเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายเงินของภาครัฐอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพได้

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2565
ผู้แต่ง

ศุทธิรัตน์ พัชรวุฒิพันธุ์

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : โอปป้า เพื่อระบบที่ดีสร้างสังคมยั่งยืน

โอปป้าจ๋าช่วยด้วยยยย ! ทำไมคอร์รัปชันยังไม่หมดไปสักที หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่า ทำไมเราถึงอยากปฏิรูปการศึกษาก็ทำไม่ได้ อยากป้องกันทรัพยากรธรรมชาติก็ทำได้ยากเพราะมีคนแย่งหาผลประโยชน์กันเต็มไปหมด หรือแม้แต่การสร้างสวัสดิการที่ดีให้กับประชาชนก็ดันไม่ถึงมือประชาชนอีก ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากการคอร์รัปชันที่ยังไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปได้นั่นเอง

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เวทีต้านโกงระดับโลก เขาพูดคุยอะไรกัน

4 ประเด็นน่าสนใจจาก “Summit for Democracy 2023” การประชุมระดับโลกเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา HAND Social Enterprise HANDSocialEnterprise ได้รับเชิญจากรัฐบาลเกาหลีใต้ให้ไปร่วมเสวนาในงาน Summit for Democracy 2023 หัวข้อหลักงานปีนี้คือ “การต่อต้านคอร์รัปชัน” เชื่อมโยงคำอธิบายว่า การคอร์รัปชันบ่อนทำลายประชาธิปไตย ในทางกลับกันประเทศที่ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งจะทำให้คอร์รัปชันสูงขึ้น

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เมื่อผมเรียนรู้การต้านคอร์รัปชัน จากร้านซักผ้า

หรือนี่คือช่างเชื่อมตัวจริง ? เมื่ออาจารย์ต่อภัสสร์พาคุณไปเรียนรู้การต่อต้านคอร์รัปชันจากการตามหาร้านซักผ้าในสหรัฐอเมริกา !

You might also like...

บทความวิจัย : ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเสริมสร้างความร่วมมือและการควบคุมคอร์รัปชันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเพชรบุรี

เมื่อการกระจายอำนาจกลับกลายเป็นการกระจายการทุจริตสู่ท้องถิ่น เพื่อยับยั้งปัญหาคอร์รัปชันในท้องถิ่น จึงต้องส่งเสริมการปกครองตามหลักธรรมาภิบาล (กรณีศึกษา จังหวัดเพชรบุรี)

KRAC Around เล่าข่าวคอร์รัปชันจากทั่วโลก I UNODC จับมือไนจีเรียจัดทำรายงานการทุจริตในไนจีเรีย ชี้ “การติดสินบนได้รับการยอมรับน้อยลง”

รายงานฉบับนี้มีชื่อว่า “การทุจริตในไนจีเรีย: รูปแบบและทิศทาง (Corruption in Nigeria: Patterns and Trends)” เป็นการสำรวจเกี่ยวกับการรับรู้การทุจริตของประชาชนในประเทศไนจีเรียจากประสบการณ์ของประชาชน นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์แนวโน้มการทุจริต ประสิทธิภาพของกลยุทธ์ และแนวทางการต่อต้านการทุจริตอีกด้วย

คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : โกง (เรื่อง) กิน ฉ่ำๆ หม่ำๆ แบดกาย แบดกายหม่ำๆ

เมื่อวันแม่ที่ผ่านมาหลายๆ ท่านคงพาคุณแม่ไปทานข้าว หรืออาจกลับบ้านไปทานข้าวกับคุณแม่และครอบครัว เพราะสำหรับคนไทยแล้ว “อาหารเป็นเรื่องสำคัญ” ดังนั้นในวันสำคัญการนัดรวมตัวกันกินข้าวจึงเป็นเรื่องจำเป็น