รู้จัก CPI เพื่อเข้าใจสถานการณ์คอร์รัปชัน

ในปัจจุบัน ดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชัน หรือ Corruption Perceptions Index (CPI) นับว่าเป็นดัชนีที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดจากรัฐบาล ภาควิชาการ และนักลงทุนทั่วโลก ในการวัดประเมินระดับของการคอร์รัปชันในประเทศต่าง ๆ ผ่านมุมมองภาพลักษณ์ที่ครอบคลุมในหลากหลายมิติ ซึ่งการทำความเข้าใจถึงหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดัชนี CPI ใช้ในการประเมินระดับการคอร์รัปชัน จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้สามารถเข้าใจสถานการณ์คอร์รัปชันในประเทศไทยได้อย่างลึกซึ้ง และนำไปสู่การออกแบบวิธีการยกระดับการต่อต้านคอร์รัปชันของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

ในการวัดประเมินระดับของการคอร์รัปชันจากมุมมองภาพลักษณ์ ดัชนีที่สะท้อนมุมมองภาพลักษณ์การคอร์รัปชันที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดในปัจจุบัน คือ ดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชัน หรือ Corruption Perceptions Index (CPI) ที่สำรวจโดยองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ซึ่งเป็นการประเมินวัดระดับการคอร์รัปชันที่ครอบคลุมถึง 180 ประเทศ และเขตปกครองทั่วโลก โดยวิธีการประเมินคำนวณมาจากดัชนีย่อยต่าง ๆ ถึง 13 ดัชนีย่อย ที่มีความครอบคลุมมิติต่าง ๆ ของการคอร์รัปชัน เช่น การให้และรับสินบน การขัดกันระหว่างผลประโยชน์ เป็นต้น รวมทั้งยังได้รับการยอมรับจากรัฐบาลในหลายประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ ภาควิชาการ และนักลงทุนทั่วโลก โดยในเกณฑ์ของระดับค่าคะแนน จะแสดงผลคะแนนในระหว่าง 0 – 100 คะแนน ซึ่งถ้าหากเป็นประเทศที่ได้คะแนนสูง ก็จะสะท้อนให้เห็นได้ว่าเป็นประเทศที่มีสถานการณ์คอร์รัปชันที่ดี แต่หากเป็นประเทศที่มีผลคะแนนน้อยกว่าครึ่งหนึ่ง ก็จะบ่งบอกได้ถึงสถานการณ์คอร์รัปชันในประเทศที่น่าเป็นห่วงและต้องมีการทบทวนแก้ไขโดยเร็ว

สำหรับในประเทศไทย ได้มีการวัดระดับภาพลักษณ์การคอร์รัปชัน ผ่านดัชนีย่อย 9 ดัชนี จาก 13 ดัชนีย่อยที่ใช้ในการประเมิน ได้แก่ (1) Bertelsmann Stiftung’s Transformation Index (BTI) ซึ่งเป็นการศึกษาวิเคราะห์กระบวนการเปลี่ยนแปลง และการพัฒนาประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตย และระบบเศรษฐกิจตลาดด้วยการเปรียบเทียบในระดับนานาชาติ (2) Economist Intelligence Unit Country Risk Service (EIU) ซึ่งเน้นการวิเคราะห์เกี่ยวกับความเสี่ยงของระบบเศรษฐกิจ (3) Global Insights Business Conditions and Risk Indicators (GI) ซึ่งเน้นการวิเคราะห์ความเสี่ยงที่สำคัญเกี่ยวกับการติดสินบนของบริษัท หรือบุคคลเพื่ออำนวยความสะดวกในการได้มาซึ่งผลประโยชน์ (4) IMD World Competitiveness Yearbook ซึ่งเป็นการรายงานประจำปีเกี่ยวกับความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศทั่วโลก เพื่อประเมินความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ (5) Political and Economic Risk Consultancy (PERC) ซึ่งเน้นไปที่การประเมินจากตัวแปรทางสังคมและการเมืองที่สำคัญ เพื่อวิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อนเชิงระบบของแต่ละประเทศในเอเชีย (6) The International Country Risk Guide (ICRG) ซึ่งเป็นการวัดผลเพื่อจัดอันดับความเสี่ยงของประเทศต่าง ๆ ในด้านเศรษฐกิจ การเงิน และการเมือง โดยเฉพาะด้านการใช้อำนาจ หรือการทุจริตในตำแหน่งหน้าที่ทางการเมือง รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างภาคธุรกิจกับการเมือง (7) Varieties of Democracy Project (V-DEM) ซึ่งเป็นการวัดผลในเรื่องความหลากหลายของประชาธิปไตย ทั้งในภาครัฐ ฝ่ายนิติบัญญัติ ผู้บริหารระดับสูง และฝ่ายตุลาการ (8) World Economic Forum Executive Opinion Survey (WEF) ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริหาร (Executive Opinion Survey: EOS) เกี่ยวกับข้อกังวลด้านความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ และ (9) World Justice Project Rule of Law Index (WJP) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดเกี่ยวกับหลักนิติธรรม เพื่อประเมินการยึดมั่นต่อหลักนิติธรรมของแต่ละประเทศ

ทั้งนี้ สำหรับผลการประเมินดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชัน (CPI) ในภาพรวมของประเทศไทยที่ผ่านมา พบว่า ระดับการคอร์รัปชันของไทยอยู่ในระดับที่สูง (คะแนนต่ำ) ต่อเนื่องมาเป็นเวลาหลายปีติดต่อกัน และยังไม่มีแนวโน้มว่าจะปรับตัวไปในทางที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยในการประเมินครั้งล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2565 ประเทศไทยได้รับเพียง 36 คะแนน เท่านั้น โดยได้คะแนนเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาเพียง 1 คะแนน และยังคงได้คะแนนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 43 คะแนน จัดเป็นลำดับที่ 101 จาก 180 ประเทศและเขตปกครองที่เข้ารับการประเมิน ในขณะที่ประเทศและเขตปกครองอื่น ๆ ที่อาจเคยอยู่ในสถานะเดียวกับประเทศไทย หรือเคยแย่กว่า ต่างพัฒนาการแก้ไขปัญหาแซงหน้าไปแล้ว ในขณะที่ประเทศไทยอาจจะยังอยู่กับที่ หรือยังแก้ปัญหาการคอร์รัปชันได้ไม่ดีนัก

ซึ่งในส่วนของข้อเสนอแนะจากองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ได้ให้ข้อแนะนำในการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนมาตรการต่อต้านการคอร์รัปชันสู่การปฏิบัติอย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยมุ่งให้เกิดความรับผิดชอบของผู้นำทางการเมือง การสร้างความโปร่งใส การกำกับดูแล และการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ของภาคประชาสังคม เพื่อนำไปสู่การยกระดับการต่อต้านคอร์รัปชันของประเทศไทยให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

เอกสารอ้างอิง
รูปแบบ APA

ต่อภัสสร์ ยมนาค และสุภัจจา อังค์สุวรรณ. (2566). (ต่อต้าน) คอร์รัปชัน 101 ((Anti) Corruption 101). กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
มีนาคม 2567
ผู้แต่ง
  • ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค

หน่วยงานสนับสนุน
05_โลโก้ KRAC
หัวข้อ
Related Content

แล้วอะไรคือคอร์รัปชัน

การศึกษานิยามของคำว่า “คอร์รัปชัน” มีต้นกำเนิดและความหมายที่ถูกอธิบายผ่านองค์ความรู้ในการมองเรื่องของการคอร์รัปชันที่แตกต่างหลายหลาย แต่จุดร่วมที่สำคัญประการหนึ่งของการให้คำนิยามการคอร์รัปชัน คือ…

หันมองสถาบันและการคอร์รัปชันที่เป็นอยู่

แนวคิดเกี่ยวกับ “สถาบัน” เป็นแนวคิดที่สามารถใช้อธิบายถึงปรากฏการณ์คอร์รัปชันที่มีความซับซ้อน
และเกี่ยวข้องกับมิติทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม …

รู้จัก CPI เพื่อเข้าใจสถานการณ์คอร์รัปชัน

ในปัจจุบัน ดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชัน หรือ Corruption Perceptions Index (CPI) นับว่าเป็นดัชนีที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดจากรัฐบาล ภาควิชาการ และนักลงทุนทั่วโลก …

You might also like...

KRAC Hot News I ไฟฟ้าไทยแพง เพราะภาคพลังงานยังโปร่งใสไม่พอ

เพราะไฟฟ้าได้กลายเป็นปัจจัยที่ 5 ไปแล้ว แต่ที่น่ากังวล คือไฟฟ้ายังคงเป็นปัจจัยเดียวที่ราคาไม่ได้เป็นไปตามกลไกตลาด ที่สำคัญยังเหมือนจะแพงขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย…ทำไมค่าไฟฟ้าของไทยยังแพง และมีบทเรียนจากต่างประเทศอะไรบ้าง

บทความวิจัย : ปัญหาการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจำจังหวัด ในการรวบรวมพยานหลักฐานในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ในองค์การบริหารส่วนตำบล

ความล่าช้าในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด มีปัญหาหลักมาจากการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย และการดำเนินการ

บทความวิจัย : รูปแบบการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนตามแนววิถีพุทธในงานต่อต้านการทุจริต และการสร้างเครือข่ายต่อต้านการทุจริตอย่างยั่งยืน

การพัฒนากิจกรรมสำหรับต่อต้านการทุจริตควรมีการประยุกต์หลักพุทธธรรมและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมกับการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ