ลงมือสู้โกง : MOU ก้าวไกล – คอร์รัปชันไทยไม่เหมือนเดิม ?

กว่า 1 สัปดาห์ที่การเลือกตั้งผ่านพ้นไปเราได้เห็นความเคลื่อนไหวของพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนมาเป็นอันดับ 1 คือ พรรคก้าวไกล ในหลายเรื่องทั้งเรื่องการเมือง การรวบรวมเสียง สส.เพื่อจัดตั้งรัฐบาล แม้ว่ากระแสข่าวการเมืองตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาจะมีความร้อนแรง อีกทั้งยังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ตั้งแต่กระแสการถามถึงจุดยืนสมาชิกวุฒิสภาในการลงมติรับรองนายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคที่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้และได้รับคะแนนเสียงจากประชาชนมาเป็นอันดับ 1 ทั้งเรื่องการเชิญพรรคการเมืองบางพรรคเข้าร่วมรัฐบาล จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ของผู้สนับสนุนอย่างหนัก จนทำให้พรรคก้าวไกลต้องเปลี่ยนแปลงท่าทีในเวลาไม่พ้นข้ามคืน แต่ความร้อนแรงของประเด็นทางการเมืองคงจะยังไม่สิ้นสุดลงและจะยังไม่ชัดเจนจนกว่าจะถึงวันที่มีการโหวตเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี

ที่ชัดเจนที่สุดในขณะนี้คงจะเป็นประเด็นเรื่อง การทำ MOU ระหว่างพรรค (ที่คาดว่าจะ) ร่วมรัฐบาลทั้ง 8 พรรค ในการร่วมกันขับเคลื่อน 23 ข้อตกลงและ 5 แนวทาง ซึ่งเมื่อพิจารณาในรายละเอียดแล้ว จะพบประเด็นที่เกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชันอยู่หลายข้อ เช่น

  • ข้อ 3. การปฏิรูปราชการ กองทัพ ตำรวจ ที่เรามักตั้งคำถามถึงความน่าเชื่อถือขององค์กรเหล่านี้ว่ามีความโปร่งใสมากน้อยเพียงใด เพราะเรามักจะคุ้นเคยกับระบบราชการที่ล่าช้า อืดอาด ระเบียบขั้นตอนมีความซับซ้อน จนก่อให้เกิดช่องว่างในการทุจริตและเรียกรับสินบนเพื่อให้ทำงานได้รวดเร็วขึ้น เรามักจะคุ้นเคยกับข่าวการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่ได้มาตรฐานมีราคาแพงและทุจริต เรามักจะคุ้นเคยกับข่าวการตั้งคำถามเรื่องความโปร่งใสที่เกิดขึ้นภายในกองทัพ เช่น การซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ที่มีราคาแพง ปัญหาเรื่องการเบิกจ่ายเบี้ยเลี้ยง การจ่ายสินบนเพื่อทำให้ไม่ต้องเกณฑ์ทหาร เรามักจะคุ้นเคยกับข่าวการเรียกรับสินบน เรียกรับส่วยจากเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อเคลียร์คดี หากการปฏิรูปเกิดขึ้นได้จริง ก็หวังว่าจะสามารถแก้ปัญหาที่ทุกท่านคุ้นเคยและสร้างความเชื่อมั่นว่าองค์กรต่างๆ เหล่านี้จะทำงานอย่าง “โปร่งใสและปราศจากการทุจริต”
  • ข้อ 7. การขจัดคอร์รัปชัน ด้วยการเปิดเผยข้อมูลทุกหน่วยงาน ดังที่เคยนำเสนอไปแล้วหลายครั้งในหลายโอกาส เกี่ยวกับแนวทางในการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐเพื่อส่งเสริมความโปร่งใสและต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชัน เพราะการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ จะช่วยให้ประชาชนมีช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลและข่าวสาร ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการติดตาม ตรวจสอบการทำงานของรัฐและแสดงความคิดเห็นได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยข้อมูลที่ครบถ้วน อีกทั้งเป็นการเพิ่มความรับผิดรับชอบ (Accountability) ของหน่วยงานภาครัฐ ให้เปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้อง มีคุณภาพ และไม่เปิดโอกาสให้มีการปิดบังซ้อนเร้นข้อมูล ซึ่งจะเป็นช่องว่างที่เอื้อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐต้องคำนึงถึงมาตรฐานของข้อมูล คำนึงถึงคุณภาพของข้อมูล คำนึงถึงความสะดวกในการนำไปใช้ต่อของผู้ใช้งานข้อมูล และส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่หน่วยงานภาครัฐเปิดเผย เพราะในปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐอาจจะมีความเข้าใจจำกัดในเรื่องการเปิดเผยข้อมูล จึงทำให้ข้อมูลเปิดภาครัฐหลายชุดข้อมูลไม่มีคุณภาพ ไม่มีโครงสร้างของข้อมูลที่ชัดเจน และไม่สามารถนำไปใช้งานต่อได้จริง ก็ได้แต่หวังว่ารัฐบาลที่กำลังจะเข้ามาใหม่จะให้ความสำคัญกับเรื่องข้อมูลเปิดภาครัฐอย่างจริงจังและดำเนินการด้วยความ “เข้าใจ” อย่างแท้จริง
  • ข้อ 9. การยกเครื่องกฎหมายทำมาหากิน เสริมสภาพคล่องและสนับสนุน SME เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมาขั้นตอนทางกฎหมายมีความซับซ้อน ยุ่งยากและล่าช้า ไม่เอื้อประโยชน์ในการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน การขอใบอนุมัติอนุญาตมักเกิดการเรียกรับสินบนและการสร้างความไม่เชื่อมั่นต่อนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันของประเทศไทย ได้คะแนนไม่เคยเกิน 38 คะแนนตลอดช่วงเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา แท้จริงแล้วนี่ไม่ใช่ข้อเสนอใหม่ แต่เป็นสิ่งที่มีอยู่ในแผนปฏิรูปประเทศ มีการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาและปฏิรูปกฎหมาย ยกเลิกกฎหมายที่ไม่จำเป็น (Regulatory Guillotine) ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2560 ซึ่งได้มีการจัดทำรายงานนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ดำเนินการแล้ว แต่ก็ยังไม่เห็นความคืบหน้าในเรื่องนี้สักเท่าไหร่ในช่วงรัฐบาลที่ผ่านมา หากพรรค (ที่คาดว่าจะ) ร่วมรัฐบาลทั้ง 8 พรรคสามารถเร่งดำเนินการได้จริง นอกจากจะสามารถส่งเสริมให้เกิดการลงทุนและพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศได้แล้ว ก็จะมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้อีกทางหนึ่ง

นอกเหนือจากข้อตกลงในการจัดตั้งรัฐบาลที่จะมีส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว ยังมี 1 ใน 5 แนวทางบริหารประเทศที่สำคัญต่อการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน คือ การกำหนดบรรทัดฐานการทำงานของรัฐบาลโดยความซื่อสัตย์สุจริต หากพบทุจริตคอร์รัปชัน ต้องยุติการดำรงตำแหน่งทันที ถือเป็นบรรทัดฐานที่สำคัญในการทำงานทางการเมืองเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน สร้างความโปร่งใส ในการเมืองไทยการกำหนดบรรทัดฐานในลักษณะนี้ก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่งในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่สิ่งที่ต้องจับตาต่อไปคือบรรทัดฐานที่กำหนดจะถูกนำไปปฏิบัติจริงมากเพียงใด ซึ่งจริงๆ แล้วการทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริตควรเป็นบรรทัดฐานที่ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดไหน พรรคใดก็ควรจะยึดมั่นและทำอย่างจริงจัง

แม้ว่า MOU ที่ได้ประกาศเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาจะมีส่วนสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทย แต่ก็ยังต้องลุ้นว่าพรรคก้าวไกลจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ หากสามารถจัดตั้งรัฐบาลก้าวไกลได้-เราทุกคนในฐานะประชาชนยังต้องติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิดว่าการดำเนินการตาม MOU ที่ได้ประกาศนี้จะ “ก้าว” ได้ “ไกล” แค่ไหน และจะแก้ปัญหาคอร์รัปชันในประเทศไทยให้“ไม่เหมือนเดิม” ได้จริงหรือเปล่า

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2566
ผู้แต่ง

ณัฐภัทร เนียวกุล

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : โอปป้า เพื่อระบบที่ดีสร้างสังคมยั่งยืน

โอปป้าจ๋าช่วยด้วยยยย ! ทำไมคอร์รัปชันยังไม่หมดไปสักที หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่า ทำไมเราถึงอยากปฏิรูปการศึกษาก็ทำไม่ได้ อยากป้องกันทรัพยากรธรรมชาติก็ทำได้ยากเพราะมีคนแย่งหาผลประโยชน์กันเต็มไปหมด หรือแม้แต่การสร้างสวัสดิการที่ดีให้กับประชาชนก็ดันไม่ถึงมือประชาชนอีก ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากการคอร์รัปชันที่ยังไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปได้นั่นเอง

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เวทีต้านโกงระดับโลก เขาพูดคุยอะไรกัน

4 ประเด็นน่าสนใจจาก “Summit for Democracy 2023” การประชุมระดับโลกเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา HAND Social Enterprise HANDSocialEnterprise ได้รับเชิญจากรัฐบาลเกาหลีใต้ให้ไปร่วมเสวนาในงาน Summit for Democracy 2023 หัวข้อหลักงานปีนี้คือ “การต่อต้านคอร์รัปชัน” เชื่อมโยงคำอธิบายว่า การคอร์รัปชันบ่อนทำลายประชาธิปไตย ในทางกลับกันประเทศที่ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งจะทำให้คอร์รัปชันสูงขึ้น

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เมื่อผมเรียนรู้การต้านคอร์รัปชัน จากร้านซักผ้า

หรือนี่คือช่างเชื่อมตัวจริง ? เมื่ออาจารย์ต่อภัสสร์พาคุณไปเรียนรู้การต่อต้านคอร์รัปชันจากการตามหาร้านซักผ้าในสหรัฐอเมริกา !

You might also like...

บทความวิจัย : ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเสริมสร้างความร่วมมือและการควบคุมคอร์รัปชันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเพชรบุรี

เมื่อการกระจายอำนาจกลับกลายเป็นการกระจายการทุจริตสู่ท้องถิ่น เพื่อยับยั้งปัญหาคอร์รัปชันในท้องถิ่น จึงต้องส่งเสริมการปกครองตามหลักธรรมาภิบาล (กรณีศึกษา จังหวัดเพชรบุรี)

KRAC Around เล่าข่าวคอร์รัปชันจากทั่วโลก I UNODC จับมือไนจีเรียจัดทำรายงานการทุจริตในไนจีเรีย ชี้ “การติดสินบนได้รับการยอมรับน้อยลง”

รายงานฉบับนี้มีชื่อว่า “การทุจริตในไนจีเรีย: รูปแบบและทิศทาง (Corruption in Nigeria: Patterns and Trends)” เป็นการสำรวจเกี่ยวกับการรับรู้การทุจริตของประชาชนในประเทศไนจีเรียจากประสบการณ์ของประชาชน นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์แนวโน้มการทุจริต ประสิทธิภาพของกลยุทธ์ และแนวทางการต่อต้านการทุจริตอีกด้วย

คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : โกง (เรื่อง) กิน ฉ่ำๆ หม่ำๆ แบดกาย แบดกายหม่ำๆ

เมื่อวันแม่ที่ผ่านมาหลายๆ ท่านคงพาคุณแม่ไปทานข้าว หรืออาจกลับบ้านไปทานข้าวกับคุณแม่และครอบครัว เพราะสำหรับคนไทยแล้ว “อาหารเป็นเรื่องสำคัญ” ดังนั้นในวันสำคัญการนัดรวมตัวกันกินข้าวจึงเป็นเรื่องจำเป็น