เคยไหมที่เราตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ทำไมบริษัทต้องมีนโยบายแบบนั้น?” “ทำไม HR ต้องมีระเบียบแบบนี้?” “มันเป็นไปตามที่สวัสดิการและสิทธิแรงงานกำหนดไว้จริงหรือ?” จะดีกว่าไหมถ้าการถามคำถามเหล่านี้ไม่ต้องใช้ความกล้า แต่เป็นเรื่องปกติที่ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ทำงานตำแหน่งไหนก็สามารถพูดได้โดยไม่ต้องกลัวว่าจะโดนเขม่นหรือมีผลต่อหน้าที่การงาน
“หลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี” คือทางออกที่จะช่วยให้องค์กรภาคธุรกิจมีระบบโครงสร้างการทำงานที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วม เปิดโอกาสให้ทุกคนมีสิทธิ์ร่วมตรวจสอบอย่างโปร่งใส ลดโอกาสการทุจริตภายในองค์กร ช่วยให้ธุรกิจมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดได้อย่างมีศักยภาพ และสร้างฐานธุรกิจที่ยั่งยืน
การกำกับดูแลกิจการที่ดี (Corporate Governance)ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นสิ่งที่นานาชาติและผู้บริหารธุรกิจรายใหญ่รู้จักกันเป็นอย่างดี องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ(OECD) ให้คำอธิบายไว้ว่าเป็นหลักการที่มุ่งเน้นการสร้างระบบและโครงสร้างการดำเนินธุรกิจที่คำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างกันของทุกฝ่าย ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงไปจนถึงพนักงานระดับปฏิบัติงาน ลูกจ้าง ตลอดจนผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholder) ได้แก่ผู้ถือหุ้น คู่ค้า ลูกค้า หรือแม้แต่ชุมชนโดยรอบ
โดยหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นเสมือนเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถตั้งเป้าหมายได้ชัดเจน มีการวางแผนงานที่คำนึงถึงทุกฝ่าย และช่วยเพิ่มโอกาสสร้างความสำเร็จให้ธุรกิจได้มากขึ้น จากตอนหนึ่งของบทความ “6 Ways Boards Benefit From Good Corporate Governance” โดย Lakshna Rathod (2018) ได้อ้างถึงผลการศึกษาจาก London Business School ที่พบว่ากลุ่มธุรกิจมากมายในสหราชอาณาจักรสามารถดำเนินธุรกิจให้ประสบความสำเร็จได้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีปัจจัยการกำกับดูแลกิจการที่ดี และกลุ่มผู้บริหารหลายคนยังเห็นด้วยว่าการใช้หลักกำกับดูแลกิจการที่ดีช่วยให้พวกเขาได้พัฒนาทักษะการตัดสินใจที่แม่นยำ วางแผนกลยุทธ์ได้ดีมากขึ้น และสามารถทำให้พวกเขามั่นใจในการบริหารควบคุมภายในบริษัทมากขึ้นด้วย
ในประเทศไทย หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ให้ความสำคัญและพยายามผลักดันการสร้างธุรกิจที่ยั่งยืนด้วยการกำกับดูแลกิจการที่ดีเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ศูนย์พัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้กำหนดหลักพื้นฐานสำคัญของการกำกับดูแลกิจการที่ดีไว้ 5 ประการ ได้แก่ ความซื่อสัตย์ (integrity) ความยุติธรรม (fairness) ความโปร่งใส (transparency) ความรับผิดชอบ (responsibility) และ ภาระรับผิดชอบ (accountability) พร้อมทั้งออกหลักปฏิบัติการกำกับดูแลกิจการที่ดีสำหรับธุรกิจจดทะเบียน ในปี พ.ศ. 2560 ที่มุ่งเน้นตั้งแต่กระบวนการคัดเลือกคณะกรรมการ การกำหนดหน้าที่ของคณะกรรมการที่ชัดเจน การตั้งเป้าหมายธุรกิจ ไปจนถึงเรื่องของการดูแลระบบจัดการความเสี่ยง การบริหารบุคลากร การรักษาความน่าเชื่อถือทางการเงิน และการเปิดเผยข้อมูล
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (DBD) มีการจัดประเมินรับรองมาตรฐานธรรมาภิบาลธุรกิจสำหรับผู้ที่สนใจ โดยปัจจุบันมีธุรกิจทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ สนใจเข้าร่วมขอรับการประเมินและผ่านการรับรองแล้วจำนวนกว่าหลายร้อยรายทั่วประเทศ โดยการประเมินดังกล่าวใช้เกณฑ์พิจารณา 6 หลัก ได้แก่ หลักนิติธรรม (the rule of law) หลักคุณธรรม (morality) หลักความโปร่งใส (Transparency) หลักการมีส่วนร่วม (Participation) หลักความรับผิดชอบ (responsibility) และหลักความคุ้มค่า (value) พิจารณาประกอบกับหลักฐานเชิงประจักษ์ อาทิ หลักเกณฑ์/แนวปฏิบัติต่อคู่ค้าที่เป็นลายลักษณ์อักษร หรือ รายงานสรุปผลการติดตามการปรับปรุงพัฒนาการดำเนินงานจากการรับฟังความคิดเห็นของพนักงาน
นอกจากนี้ยังมีรูปแบบการสนับสนุนให้ธุรกิจไทยหันมาใส่ใจการกำกับดูแลกิจการที่ดีด้วยการสร้างแรงจูงใจผ่าน กองทุนธรรมาภิบาลไทย หรือ CG Fund ที่จัดตั้งโดยความร่วมมือของสภาธุรกิจตลาดทุนไทย สมาคมบริษัทจัดการลงทุน องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) มูลนิธิเพื่อคนไทย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และเช้นจ์ เวนเจอร์ โดยกองทุนมีเงื่อนไขพิจารณาลงทุนในบริษัทจดทะเบียนใดๆ ที่ผ่านการรับรองเป็นสมาชิกแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน (CAC) ของสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) และยังแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งมาสนับสนุนโครงการเพื่อเสริมสร้างธรรมาภิบาลและต่อต้านคอร์รัปชันในสังคมด้วย
หลายคนอ่านมาถึงตรงนี้อาจมองว่าการกำกับดูแลกิจการที่ดีเป็นเรื่องยุ่งยาก ธุรกิจเล็กๆ เปิดร้านทำกันเองแบบบ้านๆ จำเป็นต้องสนใจแค่ไหนและจะสามารถทำได้จริงหรือ? จากผลการศึกษาของโครงการวิจัยนวัตกรรมสังคมในวิกฤตการณ์การระบาดใหญ่ของโควิด-19 โดย คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าโครงการนวัตกรรมสังคมที่ร่วมตอบแบบสอบถามและให้สัมภาษณ์ทั้งหมด 34 โครงการ มีความสามารถปรับตัวและใช้ความเชี่ยวชาญของตนมาพัฒนาเป็นโครงการนวัตกรรมสังคมในช่วงเวลาอันรวดเร็วและช่วยเหลือสังคมได้อย่างมีประสิทธิผล ทั้งนี้เป็นเพราะปัจจัยความสำเร็จหนึ่งของการหยิบเอาหลักธรรมาภิบาลหรือการกำกับดูแลกิจการที่ดีบางหลักที่สำคัญและสอดคล้องกับการทำงานมาปรับใช้เป็นสารตั้งต้นในการริเริ่มวางแผนบริหารโครงการฯ ในช่วงวิกฤตนั้นเอง
LoCall อดีตธุรกิจโฮสเทลย่านประตูผี – เสาชิงช้าที่ผันตัวมาทำบริการจัดส่งอาหารอร่อยจากย่านต่างๆ ทั่วกรุงเทพฯ ในช่วงวิกฤตโควิด-19 คือตัวอย่างนวัตกรรมสังคมที่นำหลักธรรมาภิบาลมาปรับใช้และส่งต่อกำไรสู่สังคมได้อย่างประสบความสำเร็จ ด้วยการทำงานที่โปร่งใส ใกล้ชิดและมีส่วนร่วมกับชุมชน โดยร้านอาหารในชุมชนสามารถตรวจสอบขั้นตอนการทำงานหรือรายการออเดอร์อาหารจากศูนย์กระจายอาหารที่ตั้งครอบคลุมอยู่ทั่วทุกย่านในกรุงเทพฯ รวมทั้งโครงการยังมีการตรวจวัดผลการทำงานของแต่ละย่าน เพื่อให้มั่นใจว่าชุมชนมีส่วนร่วมขับเคลื่อนอย่างมีประสิทธิภาพ ปัจจุบัน LoCall ยังคงดำเนินโครงการต่อยอดธุรกิจ ส่งต่อกำไรกลับสู่สังคมและชุมชนโดยเฉพาะร้านอาหารรายย่อยในชุมชนต่างๆ
เช่นกันกับ Local Aroi และ Local A lot นวัตกรรมสังคมที่เริ่มต้นขึ้นจากการปรับตัวทางธุรกิจเพื่อรับมือกับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 โดยบริษัท Local Alike ธุรกิจเพื่อสังคม อาศัยจุดแข็งด้านการทำงานอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชนผู้ที่เป็นทั้งผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และคู่ค้าทางธุรกิจที่มีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ผนวกกับการปรับเปลี่ยนแนวทางธุรกิจเล็กน้อยให้มีความเหมาะสมกับสถานการณ์เว้นระยะห่างทางสังคม จึงกลายเป็นรูปแบบบริการส่งตรงอาหารอร่อยจากท้องถิ่นถึงบ้าน โดยมีพี่ๆวินมอเตอร์ไซค์และนักศึกษาจบใหม่เป็นผู้จัดส่งอาหาร ด้วยแนวทางเช่นนี้นอกจากจะทำให้ Local Alike ผ่านพ้นสถานการณ์วิกฤตไปได้แล้วยังช่วยให้ชุมชนที่ถือเป็นคู่ค้าคนสำคัญสามารถสร้างรายได้ไปพร้อมกันด้วย
การสร้างกำไรไปพร้อมกับการสร้างธุรกิจที่ยั่งยืนอาจเป็นเป้าหมายความสำเร็จที่หลายๆ ธุรกิจคาดฝันไว้ และการจะไปให้ถึงฝันนั้นได้ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงตั้งใจอยากเสนอหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีให้ทุกคนไม่ว่าจะเป็นเจ้าของร้านอาหารเล็กๆ นักธุรกิจ ไปจนถึง CEO บริษัทยักษ์ใหญ่ ได้เห็นถึงผลประโยชน์ที่คุ้มค่าแก่การพิจารณาและทดลองนำไปปรับใช้ได้ตั้งแต่วันนี้ โดยอาจเริ่มต้นง่ายๆ ด้วยการนำเอาบางหลักที่สำคัญและมีความสอดคล้องกับการทำงาน เช่น หลักความคุ้มค่า หลักความโปร่งใส และหลักการมีส่วนร่วม มาปรับใช้คู่กับการดำเนินธุรกิจก็จะช่วยเพิ่มโอกาสนำพาธุรกิจไปสู่ความสำเร็จที่เป็นจริงได้มากยิ่งขึ้น
ท่านผู้อ่านที่สนใจการสร้างธุรกิจที่ยั่งยืน ด้วยการนำหลักการกำกับกิจการที่ดีแบบจับต้องได้ ไปใช้ในองค์กรของท่าน สามารถติดตามข้อมูล และเครื่องมือสนับสนุนท่านได้ที่ เฟซบุ๊ค HAND Social Enterprise (https://www.facebook.com/HANDenterprise) ได้เลยนะคะ
ธิดาภรณ์ แป๊ะสมัน
หัวข้อ
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เวทีต้านโกงระดับโลก เขาพูดคุยอะไรกัน
4 ประเด็นน่าสนใจจาก “Summit for Democracy 2023” การประชุมระดับโลกเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา HAND Social Enterprise HANDSocialEnterprise ได้รับเชิญจากรัฐบาลเกาหลีใต้ให้ไปร่วมเสวนาในงาน Summit for Democracy 2023 หัวข้อหลักงานปีนี้คือ “การต่อต้านคอร์รัปชัน” เชื่อมโยงคำอธิบายว่า การคอร์รัปชันบ่อนทำลายประชาธิปไตย ในทางกลับกันประเทศที่ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งจะทำให้คอร์รัปชันสูงขึ้น
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เปิดตัว KRAC ศูนย์ความรู้ต้านโกง
คอร์รัปชันเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนอย่างมาก ถ้าไม่แก้ไขทุกมิติอย่างครอบคลุมผลที่ตามมาอาจกลายเป็นเพิ่มปัญหาให้สังคมได้ จึงต้องใช้วิธีที่มีประสิทธิภาพ หนึ่งในนั้นคือการใช้ความรู้ทางวิชาการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติจึงได้ร่วมมือกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดตั้ง “ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค” (Knowledge hub for Regional Anti-corruption and good governance Collaboration: KRAC) ขึ้น เมื่อ 24 เมษายนที่ผ่านมา
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : สื่อสารต้านโกงอย่างไร ถึงได้ผล
ในหลายๆ ครั้งที่ผมได้มีโอกาสไปบรรยายเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันให้กับผู้ฟังซึ่งเป็นทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ข้อแนะนำหนึ่งที่มักจะได้มาคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสื่อสาร นำเสนอเรื่องราวของผลกระทบจากการคอร์รัปชันที่รุนแรง เพื่อให้สังคมหวาดกลัวการคอร์รัปชันและรังเกียจคนคอร์รัปชัน เป็นการใช้พลังสังคมเพื่อกดดันให้ “คนโกงไม่มีที่ยืนในสังคม”