ลงมือสู้โกง : สลากแพง…แก้ได้หรือไม่!!

เมื่อนายทุน ลงสนามแข่งกับประชาชน สลากกินแบ่งรัฐบาลจึงไม่ใช่ทางรอดอีกต่อไป เสียงโอดครวญจากบรรดา ยี่ปั๊ว นายทุนลอตเตอรี่ เมื่อเห็นยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันเพิ่มขึ้น จากการระบาดระลอกใหม่นี้ “สงสัยงวดนี้คงได้ขาย ใบละ 76 บาท เป็นแน่” เนื่องจากผู้ค้ารายย่อยไม่ซื้อสลากฯ ขายเพราะกลัวติดเชื้อโควิด แต่ยี่ปั๊วดันกักตุนสินค้าทั้งตลาดไว้แล้ว ในยุคเศรษฐกิจฝืดเคืองเช่นนี้ วิกฤติต่างๆ ถาโถมเข้ามาอย่างไม่เกรงใจใคร มิหนำซ้ำยังมีความเห็นแก่ตัวของใครบางคน คอยซ้ำเติมความยากลำบากให้ประชาชนที่ดิ้นรนเพื่อหาเลี้ยงปากท้องให้ทุกข์ทรมานมากกว่าเดิม

ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา หลายคนคงได้ยินเรื่อง สินบนนำจับ หากใครพบเห็นการค้าขายสลากฯ เกินราคา ที่รัฐบาลกำหนดให้ขายไม่เกินใบละ 80 บาท สามารถแจ้งกับเจ้าหน้าที่ โดยมีรางวัลให้กับผู้แจ้ง เป็นเงิน 1,000 บาทต่อครั้งต่อคน และให้กับเจ้าหน้าที่อีก 1,000 บาทต่อครั้งต่อคนเช่นกัน ประกาศนี้ ฮือฮาอยู่ได้ไม่เกิน 2 วัน ผู้ขายก็มีกลยุทธ์ทางการขายออกมาป้องกันตัวไม่ซ้ำกัน เช่น ประกาศขายสลากราคาใบละ 80 บาท ค่าบริการ 20 บาท หรือแม้กระทั่งการสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังตำรวจ จัดตั้งกลุ่มไลน์เพื่อแจ้งข่าว ตรงไหนมีสายตรวจ ตรงไหนมีการจับกุมผู้ขายสลากฯ รายย่อย จะได้มีการยุติหรือเปลี่ยนที่ขายได้อย่างทันท่วงที จากการสัมภาษณ์ผู้เดินขายสลากฯ โดยมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน พบว่าผู้เดินขายสลากฯ ส่วนใหญ่ไม่สามารถขายใบละ 80 บาทได้ เนื่องจากต้นทุนที่รับมานั้นสูงเกินกว่าที่จะตั้งราคาขายใบละ 80 บาทได้ ซึ่งนโยบายนี้มีมานานแล้ว แต่จะเป็นกระแส เป็นครั้งเป็นคราวที่ถูกร้องเรียน ต่างวาระกันไป

จากข้อมูลทางการบนเว็บไซต์ของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เส้นทางตลาดสลากฯ ในประเทศไทย เริ่มต้นจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จำนวน 74 ล้านฉบับ ได้จัดสรรให้ผู้ที่ได้รับสิทธิ หรือ ผู้ที่ได้โควตา ในราคาเล่มละ 7,040 บาท หรือเฉลี่ยฉบับละ 70.40 บาท โดยโควตาจะแบ่งเป็น รายย่อยทั่วไป 44% รายย่อยพิการ 6% นิติบุคคล 16% สมาคม/มูลนิธิ/องค์กรการกุศล 34% เมื่อได้สลากฯ มาแล้ว ผู้ที่ได้โควตาส่วนใหญ่ จะส่งขายต่อให้กับนายทุนผู้ค้าสลากฯ ที่ เรียกว่า ยี่ปั๊ว จากนั้นก็จะนำสลากฯ มารวมชุด โดยจัดเป็นเลขชุดจำหน่าย ตั้งแต่ชุด 2 ใบ 5 ใบ 10 ใบ 15 ใบ บางคนสามารถรวมชุดได้จนถึง 50 ใบ แล้วจำหน่ายในราคาเพิ่มขึ้น จากนั้นจะมีผู้ค้ารายย่อย ที่ไม่มีโควตาจากภาครัฐ มารับซื้อต่อ ทำให้ราคาสลากฯ ปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามกลไกการตลาด ก่อนที่จะจำหน่ายให้ประชาชนทั่วไปในราคา ฉบับละ 100 บาท แต่ถ้าหากเป็นเลขรวมชุด ก็จะขายราคาแพงมากกว่าปกติ เช่น ชุด 2 ใบ วันนี้ บางร้านจำหน่ายในราคา 220 เลขชุด 5 ใบ จำหน่ายในราคา 700 บาท ยิ่งเป็นเลขดัง ก็จะยิ่งแพงขึ้นตามความดังของเลขนั้น

ในช่วงปี 2563 เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาหรือที่รู้จักกันในนาม โควิด-19 นั้น ทำให้เศรษฐกิจของโลกทรุดตัวลงอย่างรวดเร็ว ผู้คนโดนผลกระทบ บ้างโดนออกจากงาน บ้างก็ต้องปิดกิจการตัวเองลง หลายคนเริ่มเข้ามาเป็นผู้ขายสลากฯ รายย่อยมากขึ้น เพราะเป็นสินค้าที่ขายง่าย และไม่เน่าเสีย ราคาตลาดของสลากฯเกิดการผันผวนค่อนข้างมาก นายทุนทั้งรายเก่า รายใหม่ กวาดซื้อสลากฯจากคนที่มีโควตาไปหมด และกำหนดราคาเอง จากราคาโควตารัฐบาล ใบละ 70.40 บาท ถูกนายทุนกวาดซื้อในราคา งวดละ 79 – 90 บาท และนำมาขายพ่อค้าแม่ค้ารายย่อย อยู่ที่ 89-98 บาทต่องวด พอคิดกำไรของผู้ค้ารายย่อยจะเห็นว่าบางงวดแทบไม่เพียงพอต่อการดำเนินชีวิต หากจะตั้งคำถามว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น สลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นสินค้าควบคุมโดยรัฐ ราคาต้องเป็นไปตามกลไกที่ภาครัฐจัดสรร ทำไมถึงปล่อยให้ราคาขึ้นลงได้อย่างน่าใจหายเช่นนี้ แม้ว่ารัฐบาลจะออกนโยบายมาแก้ไขปัญหานี้หลายยุคหลายสมัย แต่ปัญหาดังกล่าวก็ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะในกระบวนการแก้ปัญหา เกิดขบวนการเสนอและเรียกจ่ายค่าคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

ทุกๆ วันที่ 5 และวันที่ 20 ของเดือน นายทุนหรือยี่ปั๊ว จะเปิดพื้นที่ขายสลากฯ ให้กับผู้ค้ารายย่อย ไม่ว่าจะเป็นที่คอกวัว สนามบินน้ำ มีการซื้อขายสลากฯ เกินราคากันอย่างโจ่งแจ้ง ในวันนั้นมีเงินสะพัดมากกว่า 50 ล้านบาท จากสถานการณ์การค้าขายดังกล่าวสุ่มเสี่ยงว่าจะมีการเสนอเก็บค่าคุ้มครองเพื่อแลกกับการอำนวยความสะดวกในการซื้อขาย แม้ว่าราคาจะสูงขึ้นกว่าที่รัฐบาลกำหนด และเป็นที่สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนว่ามีการเลือกปฏิบัติในการจับกุมบางรายที่ขายเกินราคาเท่านั้น แต่ประเด็นที่น่าสนใจและอยากชวนผู้อ่านตั้งคำถาม หากในกรณีที่นายทุนเป็นผู้เสนอราคาการคุ้มครองให้กับเจ้าหน้าที่ ซึ่งขึ้นอยู่กับอิทธิพลหรืออำนาจที่ต้องการ การติดสินบนก็จะอยู่ในกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจสั่งการสูง การรับสินบนจะถูกส่งต่อเป็นวัฒนธรรมผ่านระบบอุปถัมภ์ และเส้นสายระดับสูง ลงไปสู่เจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการ เกิดการบีบบังคับให้ผู้ค้ารายย่อยต้องจ่ายสินบนเพื่อยกเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เราจะสามารถทำอะไรบ้าง เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้

ในอีกมุมหนึ่ง นโยบายการให้สินบนนำจับ คือเงินรางวัลที่จะมอบให้กับผู้แจ้งเบาะแสและตำรวจในการจับกุมผู้กระทำผิด โดยเงินค่าปรับกับเงินสินบนนำจับนั้นเป็นคนละส่วนกัน รัฐไม่ได้นำค่าปรับมาจ่ายสินบนนำจับ โดยเงินค่าปรับเมื่อตำรวจปรับจากผู้ค้าสลากเกินราคาแล้ว จะต้องส่งเงินดังกล่าวเข้ากระทรวงการคลัง ส่วนสินบนนำจับนั้นจะเป็นเงินงบประมาณที่สำนักงานสลากจัดสรรไว้ปีละหลายสิบล้านบาท แต่เหมือนว่านโยบายนี้ล้มเหลวโดยสิ้นเชิง แก้ปัญหาไม่ได้แล้ว ยังสุ่มเสี่ยงให้คนมีอำนาจ ขูดรีดจากประชาชนหากโดนจับ มีการเรียกเก็บการคุ้มครองก็จำเป็นต้องจ่าย เดือนละ 500-1,000 บาท ซึ่งเป็นการบีบให้ผู้ค้าต้องจ่าย เพราะไม่มีทางที่จะขายสลากฯ ในราคาใบละ 80 บาทได้ เป็นการเสียน้อยดีกว่าเสียมาก ไม่เพียงแต่เสียเงิน แต่เสียเวลา เสียโอกาสในการขาย และเสี่ยงที่จะต้องแบกรับหากขายสลากไม่หมดภายในเวลา

จากการสัมมนา สลากแพงยุคโควิด…การเปลี่ยนผ่านสู่สลากออนไลน์ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา พูดถึงการแก้ปัญหาสลากแพง โดยการให้สัมปทานเอกชน เป็นการแก้ปัญหาที่ดีกว่าการบีบจับผู้ขายสลากฯ เกินราคา เป็นการยกเหล่านายทุน หรือยี่ปั๊วให้ขึ้นมาอยู่ที่สว่างเกิดความโปร่งใสในการบริหารจัดการ ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ และรายได้ของนายทุนยังสามารถเรียกเก็บภาษี เป็นเงินนำเข้ารัฐได้อีกวิธีหนึ่ง ลดการคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่ การปล่อยให้สลากเปลี่ยนมือยิ่งมากเท่าไหร่ ราคาก็จะแพงมากขึ้นเท่านั้น ผู้ค้ารายย่อย และผู้บริโภคไม่ได้รับประโยชน์จากการขึ้นราคา ส่วนต่างจากการขายสลากแพงกลับกลายเป็นกำไรของนายทุน และผลประโยชน์ต่างตอบแทนของกลุ่มเงามืดในสังคมแทนที่จะเข้ารัฐเพื่อนำมาพัฒนาประเทศ

ในสุดท้ายนี้ ผู้เขียนอยากฝากไปถึงผู้มีอำนาจในการแก้ไข เปลี่ยนแปลง ราคาสลากฯ ต้องเป็นไปตามกลไกที่ภาครัฐจัดสรร อย่าปล่อยให้กลุ่มนายทุนสามารถกำหนดราคาเองได้ ปัญหาที่เกิดจากการขึ้นราคาสลากฯไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อประชาชน แต่เป็นการสูญเสียรายได้ของภาครัฐและค่อยๆ เสื่อมลงของระบบธรรมาภิบาล จึงอยากเชิญชวน ท่านผู้อ่านทุกท่าน หากใครพบเห็นการกระทำหรือสถานการณ์ที่สุ่มเสี่ยงที่ก่อให้เกิดการคอร์รัปชันสามารถแจ้งเบาะแสผ่านช่องทางออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันได้ เช่น เพจ ต้องแฉ เพจหมาเฝ้าบ้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาสลากฯแพง อย่ามัวเพิกเฉย รีบแสดงความจริงใจให้ประชาชนเห็นว่าต้องการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจังเสียที อย่าให้ปัญหาสลากแพงที่ถูกซุกซ่อนใต้พรมมานานนั้น ยังคงขยายตัวไปไกลจนกลายเป็นยุคเฟื่องฟูของนายทุนรายใหญ่และกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่เห็นแก่ตัว จนนำไปสู่การล่มสลายของผู้ค้ารายย่อยและผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบโดยตรง

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2564
ผู้แต่ง

เพียงกมล สุรางค์ไทย

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อยากแก้ปัญหาปากท้องก่อน แต่ถ้าไม่ปฏิรูปตำรวจ ก็แก้ยาก !

ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน มืดเทา อาจเป็นคำนิยามวงการตำรวจไทยในปัจจุบัน ? หากเราพูดถึงวงการตำรวจ หลาย ๆ คนคงจะนึกถึงเรื่องที่ตำรวจดันไปเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมกับการทุจริต ไม่ว่าจะเป็นกรณีหมูเถื่อน กำนันนก ทุนจีนสีเทา หรือข่าวอาชญากรรมต่าง ๆ แทนที่จะมองว่า ตำรวจคือผู้ที่รักษาความสงบให้บ้านเมือง และคุ้มครองประชาชนให้รู้สึกปลอดภัย

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : สติ๊กเกอร์ส่วย…แก้ได้ ?

จะแก้ปัญหาอย่างไรให้ชีวิตปลอดภัยจากผลกระทบของสินบน ? ประเด็นร้อนทุจริตเร็ว ๆ นี้คงหนีไม่พ้นเรื่อง “ส่วยสติกเกอร์” หลังว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ออกมาแฉตั้งแต่กลไกไปจนถึงราคาอย่างที่หลายคนคงได้ยินมาบ้างแล้ว แต่ที่สำคัญกว่านั้น รู้หรือไม่ว่าเรื่องของส่วยรถบรรทุกที่ดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว จริง ๆ แล้วใกล้ตัวกว่าที่เราคิด

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : วิจัยพบถ้าตำรวจโกง ต่อต้านคอร์รัปชันพังเลย

การตรวจจับที่ดีกับการเพิ่มโทษทางกฎหมาย คนโกงกลัวอะไรมากกว่ากัน ? นี่เป็นคำถามที่ถกเถียงกันมานานในสังคม แม้กฎหมายการลงโทษที่รุนแรงดูเหมือนจะได้ผลมากกว่า แต่ถ้าหากไม่สามารถตรวจจับคนผิดมาลงโทษได้ การเพิ่มโทษก็คงไร้ความหมาย ในขณะเดียวกัน หลายครั้งกระบวนการตรวจจับก็มีขั้นตอนที่ชักช้า อย่างเช่นคดีคอร์รัปชันบางคดีที่กว่าจะตัดสินได้ก็ใช้เวลานานกว่าสิบปี เราจึงเห็นได้ว่าทั้งสองแนวทางมีข้อดีและข้อเสียที่ต่างกัน

You might also like...

บทความวิจัย : ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเสริมสร้างความร่วมมือและการควบคุมคอร์รัปชันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเพชรบุรี

เมื่อการกระจายอำนาจกลับกลายเป็นการกระจายการทุจริตสู่ท้องถิ่น เพื่อยับยั้งปัญหาคอร์รัปชันในท้องถิ่น จึงต้องส่งเสริมการปกครองตามหลักธรรมาภิบาล (กรณีศึกษา จังหวัดเพชรบุรี)

KRAC Around เล่าข่าวคอร์รัปชันจากทั่วโลก I UNODC จับมือไนจีเรียจัดทำรายงานการทุจริตในไนจีเรีย ชี้ “การติดสินบนได้รับการยอมรับน้อยลง”

รายงานฉบับนี้มีชื่อว่า “การทุจริตในไนจีเรีย: รูปแบบและทิศทาง (Corruption in Nigeria: Patterns and Trends)” เป็นการสำรวจเกี่ยวกับการรับรู้การทุจริตของประชาชนในประเทศไนจีเรียจากประสบการณ์ของประชาชน นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์แนวโน้มการทุจริต ประสิทธิภาพของกลยุทธ์ และแนวทางการต่อต้านการทุจริตอีกด้วย

คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : โกง (เรื่อง) กิน ฉ่ำๆ หม่ำๆ แบดกาย แบดกายหม่ำๆ

เมื่อวันแม่ที่ผ่านมาหลายๆ ท่านคงพาคุณแม่ไปทานข้าว หรืออาจกลับบ้านไปทานข้าวกับคุณแม่และครอบครัว เพราะสำหรับคนไทยแล้ว “อาหารเป็นเรื่องสำคัญ” ดังนั้นในวันสำคัญการนัดรวมตัวกันกินข้าวจึงเป็นเรื่องจำเป็น