ลงมือสู้โกง : สวัสดีปีใหม่ ไร้สินน้ำใจ ไร้คอร์รัปชัน

ทุกท่านเคยได้ยินกันไหมคะ ว่าเทศกาลปีใหม่นั้นเป็นสัญลักษณ์แห่ง การเริ่มต้น และ การละทิ้ง ถือเป็นช่วงเวลาดีๆที่จะทบทวนตนเองในปีที่ผ่านมา และปล่อยวางเรื่องไม่สบายใจไว้กับปีเก่า เราจึงมักจะต้อนรับปีใหม่ด้วยความยินดีความหวัง และคำอวยพรมากมายให้กับตนเองและผู้อื่น หลายท่านใช้ช่วงเวลานี้เป็นวินาทีแห่งการระลึกถึงเพื่อส่งต่อมิตรภาพและสานสัมพันธ์ หรือเป็นการให้อภัยและให้โอกาสในการเริ่มต้นใหม่ ดังนั้น คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เทศกาลปีใหม่ถือเป็นสัญลักษณ์แห่งช่วงเวลาสำหรับส่งความรู้สึกต่อกัน และสานสัมพันธ์กับผู้อื่นอีกด้วย

หากเป็นเช่นนั้น ผู้อ่านทุกท่านเคยส่งต่อความรู้สึกในเทศกาลปีใหม่อย่างไรกันบ้างคะ? ผู้เขียนขอเดาเลยว่าคงเป็นการกล่าวทักทาย แสดงความยินดี และอวยพรเพื่อความเป็นสิริมงคล หรืออาจเพิ่มความพิเศษมากขึ้นไปหน่อย ด้วยการมอบ ของขวัญ เพื่อเป็นสิ่งแทนใจในการส่งต่อความรู้สึกที่ดีเป็นแน่

ในสังคมไทยของเรา มีการใช้เทศกาลวันปีใหม่เป็นสัญลักษณ์ของการระลึกถึงและส่งต่อความรู้สึกถึงกันมาอย่างยาวนาน เราสามารถเห็นรูปแบบวิธีมากมายที่ใช้ส่งต่อความรู้สึกถึงกันในวันปีใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับญาติผู้ใหญ่ บุคคลที่เราให้ความสำคัญ หรือบุคคลที่เราให้การเคารพนับถือ ผนวกกับวาทกรรมความมีน้ำใจและความกตัญญูอันเป็นพฤติกรรมพื้นฐานที่ถูกปลูกฝังกันมาช้านานของคนไทย จนถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่พบเห็นได้เสมอ ราวกับว่าเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของสังคม

การให้และรับของขวัญสามารถเกิดขึ้นได้หลากหลายวิธีและบุคคล ของขวัญอาจถูกส่งต่อระหว่างบุคคลถึงบุคคล บุคคลถึงหน่วยงาน หรือหน่วยงานถึงหน่วยงานก็เป็นได้ แม้ว่าการให้และรับของขวัญในวันเทศกาลนี้จะเป็นเจตนาที่ดี แต่อีกแง่หนึ่งก็สามารถเป็นหนึ่งปัจจัยที่เป็นช่องว่างให้เกิดความไม่โปร่งใส และนำมาซึ่งการทุจริตคอร์รัปชั่นได้เช่นกัน

น่าตกใจไหมคะที่ธรรมเนียมดีงามในการส่งต่อความรู้สึกเนื่องในวันเทศกาลของสังคมนั้น สามารถกลับกลายเป็นช่องว่างของการทุจริตไปเสียได้? หากเป็นเช่นนั้นแล้ว ทุกท่านคิดว่า “การให้และรับของขวัญ” ใดบ้างที่สามารถสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดการทุจริตคอร์รัปชันได้?ผู้เขียนขอยกตัวอย่างกลุ่มความสัมพันธ์ที่อาจเกิดแรงจูงใจในการทุจริตจากผลของการให้และรับของขวัญ โดยแบ่งกลุ่มความสัมพันธ์ออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ การให้และรับของขวัญระหว่าง 1) ภาคเอกชน และภาครัฐที่ต้องใช้ใบอนุญาต การอนุมัติ หรือการรับรองต่างๆ เพื่อประกอบธุรกิจ2) หน่วยงานภาครัฐด้วยกันเอง ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการกำกับดูแล ตรวจสอบ และอนุมัติงบประมาณ และ3) บุคคลที่มีความสัมพันธ์ในฐานะเจ้านาย-ลูกน้องซึ่งมีอำนาจในการตัดสินใจเลื่อนขั้น พิจารณาตำแหน่ง หรือโยกย้าย

เนื่องจาก ของขวัญ ถือเป็นของกำนัลพิเศษที่สามารถก่อให้เกิดความรู้สึกประทับใจและสัมพันธไมตรีจึงอาจกลายเป็นเครื่องมือสร้างแรงจูงใจที่เข้าข่ายของ สินบน-สินน้ำใจ ผ่านการให้ทรัพย์สินหรือผลประโยชน์เพื่อมุ่งหวังการเอื้อประโยชน์จากการใช้อำนาจของผู้รับในอนาคต ในด้านของผู้รับเองก็สามารถเกิดความรู้สึกของความปรองดอง ความเป็นพวกพ้อง หรือเป็นการติดหนี้บุญคุณระหว่างกัน ดังนั้นความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากเจตนาที่ดีนี้จึงสามารถนำไปสู่ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หรือที่เราเรียกกันว่า Conflict of Interests ที่นำมาซึ่งความไม่เท่าเทียมในการตัดสินใจ และการเลือกปฏิบัติซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นของความไม่โปร่งใส และการทุจริตคอร์รัปชัน

จากช่องว่างของการให้และรับของขวัญในวันเทศกาล ทำให้องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือที่เรารู้จักกันในนามของ ACT ได้ปลุกระดมกระแสของการงดรับของขวัญในช่วงเทศกาล โดยยกแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการงดรับของขวัญในหน่วยงานภาคเอกชนของต่างประเทศมาประยุกต์ใช้ในบริบทของหน่วยงานไทย และทำการรณรงค์นโยบาย No Gift Policy ขึ้น เมื่อราว 4-5 ปีก่อน พร้อมทั้งขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานเอกชนขนาดใหญ่หลายแห่ง เพื่อร่วมป้องกันความไม่โปร่งใสจากการให้และรับของขวัญในช่วงเทศกาลซึ่งจากแรงขับเคลื่อนและการสนับสนุนจากหลายองค์กรหน่วยงาน ทำให้นโยบาย No Gift Policy ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ และมีแนวทางระบุไว้อย่างชัดเจนในแผนปฏิรูปประเทศฉบับปรับปรุง ปี พ.ศ. 2564

นอกจากนี้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐและบุคลากรภายในองค์กรมีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น  หน่วยงานต่างๆ ได้ยึดแนวปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตราที่ 128 มากำหนดใช้ โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับ การห้ามให้เจ้าหน้าที่รัฐรับของขวัญ ใดๆ ที่สามารถคำนวณเป็นเงินได้จากผู้อื่นหากมีความจำเป็นที่จะต้องรับไว้เพื่อรักษาความสัมพันธ์ ของนั้นก็ต้องเป็นของทั่วไปที่มีมูลค่าไม่เกิน 3,000 บาท โดยผู้รับจะต้องแจ้งรายละเอียดต่อหัวหน้าหน่วยราชการภายใน 30 วัน เพื่อทำการพิจารณาต่อไปว่าเหมาะสมที่จะรับไว้หรือไม่ (ป.ป.ช., 2563)

ทาง HAND Social Enterprise ได้ให้ความสำคัญในประเด็นดังกล่าว จึงได้ทำการสืบค้นและเก็บรวบรวมประกาศจากหน่วยงานภาครัฐระดับกระทรวงในประเทศไทยผ่านช่องทางสื่อต่าง ๆ และศึกษาวิเคราะห์ผลจากการเก็บรวบรวมเครื่องมือ กลไก ต้านการทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย ภายใต้ โครงการมีดีต้องแชร์ร่วมกับคณะกรรมการเสริมสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วม ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ พบว่านโยบาย No Gift Policy ถูกใช้ในหน่วยงานภาครัฐระดับกระทรวงทุกหน่วยงาน รวมทั้งหน่วยงานภายใต้สังกัด รัฐวิสาหกิจ และองค์กรอิสระอีกหลายแห่ง ซึ่งนอกเหนือจากการประกาศใช้นโยบายดังกล่าวเพื่อป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นแล้ว หลายหน่วยงานยังจัดทำสื่อเพื่อประชาสัมพันธ์และให้ความรู้แก่ประชาชนผู้ใช้บริการเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวอีกด้วย

แม้ทิศทางของนโยบาย No Gift Policy จะทำให้เราเห็นภาพความหวังของการทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดจากความขัดแย้งทางผลประโยชน์ซึ่งเป็นผลพวงจากการให้และรับของขวัญที่ลดลง แต่การนำนโยบายนี้มาประกาศใช้ ก็ยังเป็นที่ถกเถียงและถูกตั้งคำถามอีกมากมายถึงความเป็นไปได้และความเหมาะสมในการนำมาปฏิบัติจริง เนื่องจากประเด็นของการให้และรับของขวัญอาจไม่ได้เกิดขึ้นในช่วงวันสำคัญหรือเทศกาลเท่านั้น และนโยบายดังกล่าวถือเป็นการลดทอนคุณค่าทางวัฒนธรรมอันดีงามของสังคมหรือไม่หากธรรมเนียมปฏิบัตินี้จะถูกลด ละ เลิก และค่อยๆ สูญสิ้นจากสังคมไทยไปในวันหนึ่ง

ส่งท้ายปีเก่านี้ผู้เขียนจึงอยากชวนให้ผู้อ่านทุกท่าน ย้อนดูพฤติกรรมการให้และรับของขวัญที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ทุกท่านเคยพบเห็นหรือมีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการส่งต่อความรู้สึกในช่วงเทศกาลนี้บ้างหรือไม่ และท่านมีความคิดเห็นอย่างไรต่อนโยบาย No Gift Policy ร่วมแลกเปลี่ยนกับเราได้ทางเพจเฟซบุ๊ค HAND SocialEnterprise เพราะแม้เรื่องการให้และรับของขวัญในวันเทศกาลนั้นจะดูเป็นเรื่องเล็กที่เรามองข้ามไป แต่การลดช่องว่างของชิ้นส่วนที่อาจก่อให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชันนั้นอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในอนาคต

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2564
ผู้แต่ง

ศุทธิรัตน์ พัชรวุฒิพันธุ์

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อยากแก้ปัญหาปากท้องก่อน แต่ถ้าไม่ปฏิรูปตำรวจ ก็แก้ยาก !

ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน มืดเทา อาจเป็นคำนิยามวงการตำรวจไทยในปัจจุบัน ? หากเราพูดถึงวงการตำรวจ หลาย ๆ คนคงจะนึกถึงเรื่องที่ตำรวจดันไปเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมกับการทุจริต ไม่ว่าจะเป็นกรณีหมูเถื่อน กำนันนก ทุนจีนสีเทา หรือข่าวอาชญากรรมต่าง ๆ แทนที่จะมองว่า ตำรวจคือผู้ที่รักษาความสงบให้บ้านเมือง และคุ้มครองประชาชนให้รู้สึกปลอดภัย

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : สติ๊กเกอร์ส่วย…แก้ได้ ?

จะแก้ปัญหาอย่างไรให้ชีวิตปลอดภัยจากผลกระทบของสินบน ? ประเด็นร้อนทุจริตเร็ว ๆ นี้คงหนีไม่พ้นเรื่อง “ส่วยสติกเกอร์” หลังว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ออกมาแฉตั้งแต่กลไกไปจนถึงราคาอย่างที่หลายคนคงได้ยินมาบ้างแล้ว แต่ที่สำคัญกว่านั้น รู้หรือไม่ว่าเรื่องของส่วยรถบรรทุกที่ดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว จริง ๆ แล้วใกล้ตัวกว่าที่เราคิด

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : วิจัยพบถ้าตำรวจโกง ต่อต้านคอร์รัปชันพังเลย

การตรวจจับที่ดีกับการเพิ่มโทษทางกฎหมาย คนโกงกลัวอะไรมากกว่ากัน ? นี่เป็นคำถามที่ถกเถียงกันมานานในสังคม แม้กฎหมายการลงโทษที่รุนแรงดูเหมือนจะได้ผลมากกว่า แต่ถ้าหากไม่สามารถตรวจจับคนผิดมาลงโทษได้ การเพิ่มโทษก็คงไร้ความหมาย ในขณะเดียวกัน หลายครั้งกระบวนการตรวจจับก็มีขั้นตอนที่ชักช้า อย่างเช่นคดีคอร์รัปชันบางคดีที่กว่าจะตัดสินได้ก็ใช้เวลานานกว่าสิบปี เราจึงเห็นได้ว่าทั้งสองแนวทางมีข้อดีและข้อเสียที่ต่างกัน

You might also like...

KRAC Hot News I ไฟฟ้าไทยแพง เพราะภาคพลังงานยังโปร่งใสไม่พอ

เพราะไฟฟ้าได้กลายเป็นปัจจัยที่ 5 ไปแล้ว แต่ที่น่ากังวล คือไฟฟ้ายังคงเป็นปัจจัยเดียวที่ราคาไม่ได้เป็นไปตามกลไกตลาด ที่สำคัญยังเหมือนจะแพงขึ้นเรื่อย ๆ ด้วย…ทำไมค่าไฟฟ้าของไทยยังแพง และมีบทเรียนจากต่างประเทศอะไรบ้าง

บทความวิจัย : ปัญหาการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติประจำจังหวัด ในการรวบรวมพยานหลักฐานในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ในองค์การบริหารส่วนตำบล

ความล่าช้าในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่สำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัด มีปัญหาหลักมาจากการขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมาย และการดำเนินการ

บทความวิจัย : รูปแบบการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนตามแนววิถีพุทธในงานต่อต้านการทุจริต และการสร้างเครือข่ายต่อต้านการทุจริตอย่างยั่งยืน

การพัฒนากิจกรรมสำหรับต่อต้านการทุจริตควรมีการประยุกต์หลักพุทธธรรมและปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ร่วมกับการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ