“ใครๆ เขาก็ทำกัน” เป็นคำพูดติดปากที่คุ้นเคยของใครหลายๆ คน ที่มักพูดเวลาทำอะไรบางอย่างโดยที่ไม่มั่นใจว่า สิ่งๆ นั้นเป็นการกระทำที่ถูกหรือผิด และไม่ได้คำนึงถึงกฎระเบียบของสังคม แต่รู้ไหมว่าความคุ้นเคยหรือคำพูดที่ว่า “ใครๆ เขาก็ทำกัน” ที่ว่านั้น สามารถสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงในการพัฒนาประเทศได้
ผู้อ่านลองสังเกตได้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยๆในหน่วยงานบริการของรัฐ เช่น การให้ของขวัญกับเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อขอให้ดำเนินการให้เร็วขึ้นหน่อย ยุ่งยากน้อยลงหน่อย หรือ หน่วยงานบางแห่งก็มีคนคืนคอยรับบริการจัดการความยุ่งยากต่างๆ เหล่านี้ให้แทนเลย ซึ่งเราก็ยอมรับและทำกันเป็นเรื่องปกติ นั่นอาจมาจากความคิดว่า ใครๆ ก็ทำกัน ทั้งๆ ที่ในใจลึกๆ ก็รู้อยู่ว่ามันคือการคอร์รัปชันในรูปแบบ “สินบน” ซึ่งผิดกฎหมาย
จากพฤติกรรมดังกล่าว จึงน่าชวนให้ตั้งคำถามว่า ทำไมประชาชนอย่างพวกเราต้องยอมที่จะหลับตาข้างหนึ่ง ทำในสิ่งที่เราก็รู้ว่าผิดและบ่นกับปัญหานี้อยู่ทุกวัน เพื่อให้ได้รับในสิ่งที่ประชาชนก็ควรจะได้อยู่แล้ว หรือจะเป็นเพราะ ความคิดว่าคอร์รัปชันไม่สามารถแก้ไขได้ ใครๆ เขาก็ทำกันมาอย่างยาวนานอยู่แล้ว จึงสิ้นหวังและไม่เชื่อมั่นว่าประชาชนทั่วไปอย่างตนจะสามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้
จริงอยู่ที่ก่อนการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ประชาชนจำนวนมากอาจยังไม่ได้ตระหนักถึงปัญหาความขาดประสิทธิภาพในการทำงานของหน่วยงานรัฐบางหน่วยมากนัก เพราะเคยชินกับระบบโครงสร้างและปัญหาคอร์รัปชันอยู่แล้ว แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2564 ที่ผ่านมา ทำให้คนไทยตระหนักชัดว่า สินบนที่ใครๆ ก็ทำกันนั้น ฆ่าคนได้ ไม่ว่าจะเป็นสินบนที่เปิดให้คนผ่านเข้าเมืองอย่างไม่ถูกกฎหมาย สินบนจากการเปิดบ่อนต่างๆ จนเกิดเป็นคลัสเตอร์ที่แพร่เชื้อลุกลามจนถึงเวลานี้
ติดตามมาด้วยเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานสารเคมีครั้งใหญ่ในกรุงเทพฯ ทำให้อีกหลายคนเห็นภาพชัดๆ ว่าตึกอาคารต่างๆ ที่สร้างมาอย่างไม่มีมาตรฐานหรือตั้งผิดแผนผังเมือง เพราะอาจมีสินบนเกี่ยวข้อง อาจนำไปสู่ความเสียหายร้ายแรงต่อชีวิตคนจำนวนมากได้
จากบทความเรื่อง ปราบโกงอย่างไร สินบนถึงได้งอกงาม : มุมมองจากเศรษฐศาสตร์อุตสาหกรรม ของ คุณฉัตร คำแสง ได้กล่าวถึงกรณีการขอใบอนุญาตภาครัฐในเชิงเศรษฐศาสตร์ว่า สามารถมองการติดต่อระหว่างประชาชน (หรือภาคธุรกิจ) กับภาครัฐเป็นตลาดสินค้าชนิดหนึ่ง คือ “ตลาดใบอนุญาตภาครัฐ” ซึ่งเป็นตลาดผูกขาดรายเดียว เนื่องจากภาครัฐเป็นผู้ผูกขาดด้านกฎระเบียบขณะที่ประชาชนเป็นผู้บริโภคจำนวนหลายราย กล่าวคือ “รัฐเป็นผู้ผูกขาดทางกฎหมาย” ประชาชนไม่สามารถหาใบอนุญาตหรือการยินยอมตามกฎหมายต่างจากผู้อื่นที่ไม่ใช่รัฐ และวิธีการขอใบอนุญาตกับรัฐในบางหน่วยงาน มักจะมีวิธีการโดยใช้ความคุ้นเคยที่ใครๆ ก็ทำกัน บ้างก็เรียกว่าเป็นธรรมเนียมที่ควรปฏิบัติเพื่อขอความเห็นใจ เพื่อให้ได้ในสิ่งที่ขออย่างง่าย และไม่ต้องรอนาน นั่นก็คือ “การติดสินบน” ถ้าเรามีเงินหรือทรัพย์สินตอบแทนก็ไม่มีอะไรต้องกังวลว่าคำขอของเรานั้นจะไม่ผ่านการอนุญาต หรือต้องรอนานกว่าจะได้ใบอนุญาตมาครอบครอง แต่ถ้าเราไม่มีสินน้ำใจให้กับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อช่วยดำเนินการให้เลย อาจจะไม่สามารถวางใจได้ว่าคำขอของเราจะถูกพิจารณาหรือไม่ ต้องใช้เวลานานเท่าไหร่กว่าจะได้รับใบอนุญาตจากหน่วยงานรัฐ และถ้าจำนวนประชาชนที่ต้องการขอใบอนุญาตรัฐมีจำนวนหลายราย ก็เปรียบเสมือนการแข่งขัน ที่จุดมุ่งหมายของผู้เข้าแข่งขันคือใบอนุญาตจากรัฐ ผู้ที่เป็นตัวเต็งในการแข่งขันก็คงหนีไม่พ้นผู้ที่ได้ให้สินบน หรือสินน้ำใจกับเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อตอบแทนน้ำใจที่ช่วยเหลือในการดำเนินเรื่อง
มาถึงในตอนนี้ผู้อ่านคงพอทราบแล้วว่า ช่องโหว่ที่เป็นสาเหตุของการคอร์รัปชัน และกลายเป็นความเคยชินระหว่างประชาชนและหน่วยงานรัฐ คือ การที่ประชาชนไม่สามารถไว้วางใจหน่วยงานรัฐได้โดยปราศจากการให้สินน้ำใจ หรือติดสินบน เพื่อสร้างความมั่นใจว่าอย่างน้อยเจ้าหน้าที่รัฐจะช่วยเหลือได้แน่ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเกิดคอร์รัปชันในประเทศไทย ที่หลายคนต่างคิดเห็นตรงกันว่า ถ้าปัญหานี้ถูกแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศก็จะสามารถพัฒนาไปได้อีกไกล
ผู้เขียนจึงอยากพาผู้อ่านไปลองดูแนวทางจัดการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของประเทศอื่นๆ ที่มีอัตราการเกิดคอร์รัปชันต่ำ ว่าประเทศเหล่านั้นมีการแก้ปัญหาการคอร์รัปชันระหว่างประชาชนและหน่วยงานรัฐอย่างไรบ้าง และมีการไว้วางใจซึ่งกันและกันหรือไม่ ที่น่าสนใจคือกลุ่มประเทศนอร์ดิก เช่น ประเทศเดนมาร์ก ฟินแลนด์ และ สวีเดน ถือเป็นกลุ่มประเทศมีระดับคอร์รัปชันต่ำกว่าไทยมาก จึงน่าสนใจที่จะนำแนวทางการบริหารของประเทศเหล่านี้มาเป็นแนวทางในการพัฒนาการบริหารจัดการกับประเทศไทยจากการศึกษาพบว่ากลุ่มประเทศเหล่านี้มีจุดร่วมในการจัดการกับปัญหาคอร์รัปชัน ที่เรียกว่า “TRUST – The Nordic gold” โดยคำว่า “gold” เป็นการเปรียบเทียบถึงทรัพยากรที่จำเป็นในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันนั้นก็คือ“ความเชื่อมั่นและไว้วางใจทางสังคม” ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกให้ความสำคัญมาเป็นเวลานานในกลุ่มประเทศนอร์ดิก โดยมีแนวทางดังนี้
หนึ่ง กลุ่มประเทศนอร์ดิกมีการจัดตั้งสมาคมภาคประชาสังคมอยู่หลายกลุ่ม คอยทำหน้าที่ในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาล และเป็นพื้นที่ให้กับประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นหรือร้องเรียนผลกระทบที่ได้รับจากการทำงานของรัฐบาล และ
สอง รัฐบาลมีแนวทางที่มุ่งเน้นการสร้างความไว้วางใจในการทำงาน ด้วยทัศนคติที่เปิดกว้าง มีการเจรจาระหว่างสมาคมภาคประชาสังคมกับรัฐบาลอยู่หลายครั้ง ประชาชนและรัฐบาลร่วมกันทำงานเพื่อสร้างความไว้วางใจทางสังคม และยังระบุถึงความไว้วางใจในสังคมที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจอีกด้วยว่า ความเชื่อมั่นและไว้วางใจทางสังคมนั้นสามารถลดต้นทุนในการทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งหมดนี้เป็นผลทำให้กลุ่มประเทศนอร์ดิกเป็นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่มีอัตราการเกิดคอร์รัปชันต่ำมาโดยตลอด (Dagfinn Høybraten, 2017)
จากข้อมูลข้างต้นเราอาจจะพอเห็นทางออกของปัญหาที่พูดถึงกันอยู่นี้ได้ คือ คือ การที่ประชาชนทุกคนสามารถวิพากษ์วิจารณ์และตั้งข้อสงสัยในสิ่งที่ผิดปกติในทำงานของรัฐได้ และรัฐจะต้องสร้างความไว้วางใจโดยการทำงานอย่างเปิดเผย ตรวจสอบ สามารถติดตามได้ และสร้างพื้นที่ให้ประชาชนแสดงความเห็นในการทำงานของหน่วยงานรัฐโดยไม่ผิดกฎหมาย เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกันจากการเจรจาแก้ไขระหว่างรัฐและประชาชน และนำไปสู่ความเชื่อใจซึ่งกันและกัน เพื่อไม่ให้เรื่องคอร์รัปชันเป็นสิ่งที่ควรยอมรับได้หรือเคยชินอีกต่อไป
ประชาชนคนไทยอย่างพวกเราอย่าเพิ่งสิ้นหวัง ขอให้มีความกล้าที่จะร่วมกันเปลี่ยนแปลง เริ่มจากปัจจุบันที่ประเทศไทยเริ่มมีเครื่องมือที่จะช่วยให้เราสามารถมีส่วนร่วมในการส่งเสียงและตรวจสอบการทำงานของรัฐได้อย่างสะดวกขึ้นแล้ว เช่น เว็บไซต์ ACT Ai (https://actai.co) ที่ช่วยให้เราตรวจสอบข้อมูลโครงการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ได้ หรือจะสื่อออนไลน์อย่างเพจเฟซบุ๊ค “ต้องแฉ” ที่ให้ประชาชนอย่างพวกเราทุกคนสามารถส่งเรื่องราวหรือเหตุสงสัยการทุจริตคอร์รัปชัน และร่วมกันหาคำตอบ แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ ดังนั้นอย่าปล่อยให้ความเคยชินและความไม่วางใจ ทำให้เรากลายเป็นส่วนหนึ่งของการคอร์รัปชันที่เป็นโคลนติดล้อจนยากที่จะสลัดออก
ศศิประภา ล่นที
หัวข้อ
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อยากแก้ปัญหาปากท้องก่อน แต่ถ้าไม่ปฏิรูปตำรวจ ก็แก้ยาก !
ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน มืดเทา อาจเป็นคำนิยามวงการตำรวจไทยในปัจจุบัน ? หากเราพูดถึงวงการตำรวจ หลาย ๆ คนคงจะนึกถึงเรื่องที่ตำรวจดันไปเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมกับการทุจริต ไม่ว่าจะเป็นกรณีหมูเถื่อน กำนันนก ทุนจีนสีเทา หรือข่าวอาชญากรรมต่าง ๆ แทนที่จะมองว่า ตำรวจคือผู้ที่รักษาความสงบให้บ้านเมือง และคุ้มครองประชาชนให้รู้สึกปลอดภัย
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : สติ๊กเกอร์ส่วย…แก้ได้ ?
จะแก้ปัญหาอย่างไรให้ชีวิตปลอดภัยจากผลกระทบของสินบน ? ประเด็นร้อนทุจริตเร็ว ๆ นี้คงหนีไม่พ้นเรื่อง “ส่วยสติกเกอร์” หลังว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ออกมาแฉตั้งแต่กลไกไปจนถึงราคาอย่างที่หลายคนคงได้ยินมาบ้างแล้ว แต่ที่สำคัญกว่านั้น รู้หรือไม่ว่าเรื่องของส่วยรถบรรทุกที่ดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว จริง ๆ แล้วใกล้ตัวกว่าที่เราคิด
แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : วิจัยพบถ้าตำรวจโกง ต่อต้านคอร์รัปชันพังเลย
การตรวจจับที่ดีกับการเพิ่มโทษทางกฎหมาย คนโกงกลัวอะไรมากกว่ากัน ? นี่เป็นคำถามที่ถกเถียงกันมานานในสังคม แม้กฎหมายการลงโทษที่รุนแรงดูเหมือนจะได้ผลมากกว่า แต่ถ้าหากไม่สามารถตรวจจับคนผิดมาลงโทษได้ การเพิ่มโทษก็คงไร้ความหมาย ในขณะเดียวกัน หลายครั้งกระบวนการตรวจจับก็มีขั้นตอนที่ชักช้า อย่างเช่นคดีคอร์รัปชันบางคดีที่กว่าจะตัดสินได้ก็ใช้เวลานานกว่าสิบปี เราจึงเห็นได้ว่าทั้งสองแนวทางมีข้อดีและข้อเสียที่ต่างกัน