แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เรามีคนโกงเพิ่มขึ้น หรือ เราจับคนโกงได้มากขึ้น

ท่านผู้อ่านเคยสงสัยเหมือนผมบ้างไหมครับ ว่าทำไมทั้ง ๆ ที่เรามีหน่วยงานปราบโกงที่มีอำนาจทางกฎหมายล้นเหลืออยู่หลายหน่วยงาน ทำไมระดับการคอร์รัปชันของไทยยังดูจะแย่ลงเรื่อย ๆ ทั้งจากที่ชี้วัดโดยหน่วยงานในประเทศ และ โดยดัชนีสากล

ที่ผมบอกว่าหลายหน่วยงานนั้น เยอะจริง ๆ นะครับ ทั้งหน่วยงานอิสระที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงอย่าง ป.ป.ช. หน่วยงานรัฐอย่าง ป.ป.ท. หรือหน่วยงานของตำรวจอย่าง กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ แถมยังมีหน่วยงานอื่น ๆ ที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ เช่น สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน

เมื่อสงสัยอย่างนี้ เลยต้องขอไปดูผลงานของหน่วยงานปราบโกงเหล่านี้สักหน่อย ขอพุ่งเป้าไปที่หน่วยงานหลักเลยอย่าง ป.ป.ช. นะครับ โดยเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สำนักงาน ป.ป.ช. ได้ประกาศสถิติผลการดำเนินงานด้านการปราบปรามการทุจริต ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565 (1 ต.ค. 2564 – 30 ก.ย. 2565) พบว่ามีคำกล่าวหาทั้งหมด 9,154 เรื่อง แบ่งเป็นที่ยกมาจากปีก่อน 8,586 เรื่อง และที่รับมาใหม่ปีนี้ 847 เรื่อง สามารถดำเนินการแล้วเสร็จไป 8,307เรื่อง คิดเป็น 90.75% ของคำกล่าวหาทั้งหมด ซึ่งถือว่าเยอะทีเดียว และยังเหลือต้องสะสางต่อเนื่องอีก 847 เรื่อง

วิเคราะห์ดูเร็ว ๆ จากสถิติผลงานนี้แล้ว จะเห็นได้ว่า เรามีกรณีร้องเรียนเรื่องทุจริตเยอะเกือบหมื่นกรณีเลยทีเดียว อย่าลืมนะครับว่านี่คือตัวเลขคำกล่าวหาที่มีผู้ร้องเรียนอย่างเป็นทางการ ส่วนที่เกิดขึ้นแต่ไม่มีคนเห็น หรือ เห็นแต่ไม่กล้าร้องเรียนจะมีอยู่อีกมากแค่ไหน ดังนั้นก็คงต้องยอมรับว่าประเทศไทยยังมีการคอร์รัปชันอยู่เยอะจริง ๆ ในขณะเดียวกันก็จะเห็นด้วยว่า ป.ป.ช. ทำงานใช้ได้เลยทีเดียว ดำเนินการทั้งส่งต่อคดี ดำเนินคดีเอง หรือยุติเรื่องไปได้ถึง 90% ตัวเลขนี้น่าจะพอช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ที่อย่างร้องเรียนการคอร์รัปชันได้บ้างว่าจะได้รับการตอบสนองอย่างรวดเร็ว

ทีนี้ อยากรู้ต่อไปว่า ตัวเลขต่าง ๆ นี้มันเพิ่มขึ้นหรือลดลง ก็เลยเข้าไปค้นหาข้อมูลในเว็ปไซต์ของ ป.ป.ช. เพื่อหาสถิติในอดีต แต่น่าเสียดายพอกดดาวน์โหลดรายงานประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2564 ปรากฏว่าเปิดไม่ได้ครับ (ถ้าเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ท่านไหนอ่านอยู่ ฝากไปช่วยแก้ไขด้วยนะครับ) เลยต้องไปดูรายงานประจำปีงบประมาณก่อนหน้า คือ พ.ศ.2563 เลยพบความน่าสนใจ 2 ประการครับ หนึ่ง คำกล่าวหาที่รับมาใหม่ในแต่ละปีลดลงมาก คือตั้งแต่ปี 2558 – 2563 รับเรื่องใหม่ปีละ 3 – 5 พันเรื่อง เมื่อเทียบกับข้อมูลที่ผมเล่าไปข้างต้นว่าปีนี้รับมาใหม่แค่ 847 เรื่องเท่านั้น สอง จำนวนคำกล่าวหาที่ดำเนินการแล้วเสร็จในแต่ละปีเพิ่มขึ้นมาก จากอัตราโดยเฉลี่ยปีละ 20-35% ของคำกล่าวหาทั้งหมด เพิ่มมาเป็น 90% ในปีล่าสุด

ดังนั้น ถ้าเราดูจากตัวเลขสถิติอย่างเป็นทางการของ ป.ป.ช. แล้ว น่าจะแสดงให้เห็นว่าทั้งทิศทางของจำนวนการคอร์รัปชัน และ การปราบปรามการคอร์รัปชันของไทยกำลังดีขึ้นเรื่อย ๆ ใกล้ถึงจุดที่ไทยสามารถประกาศชัยชนะต่อการคอร์รัปชันได้แล้ว ซึ่งนั่นคงไม่ใช่ความจริง

แน่นอนว่า ป.ป.ช. สมควรได้รับคำชื่นชมในการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเช่นนี้ แต่จะให้ดูที่ตัวเลขจำนวนคำกล่าวหาอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะคดีที่ดำเนินการจนเสร็จสิ้นเหล่านี้อาจจะมีขนาดเล็กมาก เมื่อเทียบกับคำกล่าวหาที่ยังไม่ถูกดำเนินการ หรือ ถูกชี้มูลไปอย่างขัดสายตาประชาชนทั้งประเทศ โดยปราศจากการชี้แจงข้อมูลและเหตุผลอย่างชัดเจน หรือแม้กระทั่งปฏิเสธการเปิดเผยข้อมูลคำชี้มูลและหลักฐานเมื่อมีสื่อสาธารณะขอไป

เพื่อให้ท่านผู้อ่านเห็นภาพผลของการดำเนินคดีขนาดใหญ่ได้ชัดชึ้น ผมขอยกตัวอย่างคดีคอร์รัปชันปฏิบัติการ “ที่ล้างรถ”(Operation Car Wash) ในประเทศบราซิล ซึ่งนำไปสู่การตรวจสอบและจับคุมเครือข่ายการคอร์รัปชันขนาดใหญ่มาก ๆ โยงไปถึงอดีตประธานาธิบดี สมาชิกสภาบนและล่าง ผู้ว่าการรัฐ และนักธุรกิจขนาดใหญ่จำนวนกว่าพันคน

สรุปโดยย่อ คดีคอร์รัปชันอื้อฉาวนี้ เกิดในรัฐวิสาหกิจน้ำมันขนาดใหญ่ของบราซิล ที่มีการเอื้อประโยชน์ให้พรรคพวกได้รับสัญญาโครงการขนาดใหญ่ในราคาที่แพงเกินจริงหลายโครงการมาก และที่เรียกว่าปฏิบัติการที่ล้างรถ ก็เพราะคดีนี้ถูกเปิดเผยครั้งแรกจากเรื่องการฟอกเงินเล็ก ๆ ในที่ล้างรถ หลังจากนั้นเรื่องก็ค่อย ๆ ถูกเปิดเผยมากขึ้นจากการสืบสวนลึกลงไป ทำให้พบความเกี่ยวพันกับนักการเมือง ข้าราชการ นักธุรกิจใหญ่มากมายดังที่พูดถึงข้างต้น เรียกว่าขุดรากถอนโคนเครือข่ายการโกงขนาดใหญ่ชุดหนึ่งไปเลยทีเดียว

พอเรื่องการเปิดเผยการคอร์รัปชันขนาดใหญ่ที่นำไปสู่การดำเนินคดีความกับผู้มีตำแหน่งใหญ่โตในบ้านเมืองแบบนี้เกิดขึ้นมา เราก็นึกว่าระดับการคอร์รัปชันควรจะดีขึ้นใช่ไหมครับ ปรากฏว่าผลไปในทางตรงข้ามเลย โดยตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดเผยคดีอื้นฉาวนี้เป็นต้นมา ระดับคะแนนของดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชัน (Corruption Perception Index) ของบราซิล ดิ่งลงเหวชัน จาก 43 คะแนนในปี 2014 ลงไปจนถึง 35 คะแนนในปี 2019 เลยทีเดียว เหตุผลหนึ่งที่ผู้เชี่ยวชาญพยายามอธิบายก็คือ คนหมดความเชื่อมั่นในรัฐบาลและผู้ใช้อำนาจรัฐ ทำให้เกิดการประท้วงต่อต้านคอร์รัปชันขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่อง

ปรากฏการณ์นี้ นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ในประเทศ มีการออกกฎหมายเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชันในทุกระดับ รวมไปถึงการออกชุดนโยบายต่อต้านคอร์รัปชันอีกหลายมาตรการ เพื่อเรียกคืนความมั่นใจกลับมาจากประชาชน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้นำไปสู่ประสิทธิภาพการต่อต้านคอร์รัปชันที่สูงขึ้นในระยะยาว และดึงคะแนนดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันให้กระเตื้องขึ้นมาได้ตั้งแต่ปี 2019 จนถึงวันนี้ แน่นอนว่า ปัญหาคอร์รัปชันก็ยังไม่หายไปจากบราซิล แต่เหตุการณ์นั้นได้ติดอาวุธแรงให้บราซิลแล้วถึง 2 อย่างด้วยกัน นั่นคือ หนึ่ง กลไกกฎหมายและมาตรการต้านคอร์รัปชันที่เข้มแข็ง และ สอง ประชาชนจำนวนมากที่ทนไม่ได้กับการคอร์รัปชันแล้ว

เรื่องราวอื้อฉาวของบราซิลนี้มีบทเรียนสำหรับไทยอยู่หลายประการครับ ข้อแรก อย่าถูกตัวเลขสถิติลวงตา แน่นอน ป.ป.ช. ควรได้รับคำชื่นชมในการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ถ้าจะมองในภาพใหญ่แล้ว การจัดการอย่างจริงจังกับกรณีที่สังคมให้ความสนใจและเกี่ยวพันกับผู้ที่มีอำนาจในบ้านเมืองมาก อาจจะส่งผลกระทบมากกว่า สอง ตัวเลขดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน เป็นตัวชี้วัด “ภาพลักษณ์” หรือมุมมองของคนต่อสถานการณ์คอร์รัปชัน มันมีประโยชน์ต่อการวิเคราะห์ทิศทางในระยะยาว แต่อาจส่งผลในทางตรงข้ามในระยะสั้นได้ เหมือนอย่างกรณีบราซิล ดังนั้นต้องใช้ความเข้าใจในการวิเคราะห์ จึงจะเกิดประโยชน์ และสาม กุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันอย่างมีประสิทธิผลคือประชาชน เพราะกรณีบราซิลนี้ ที่หน่วยงานสืบสวนสามารถทำงานได้อย่างตรงไปตรงมา เพราะได้รับเสียงสนับสนุนจากประชาชนอย่างล้นหลาม การจับกุมผู้กระทำผิดมาลงโทษได้จริง และการปฏิรูปโครงสร้างการต่อต้านคอร์รัปชันของประเทศก็เกิดขึ้นได้เพราะประชาชนรวมตัวกันแสดงความไม่ทนต่อการคอร์รัปชันอีกต่อไปแล้ว

ดังนั้น กลับมาที่หัวข้อบทความนี้ว่า เรามีคนโกงเพิ่มขึ้น หรือ เราจับคนโกงได้มากขึ้น? คำตอบของผมจากข้อมูลก็คือ ยากมากที่จะหาตัวเลขที่แท้จริง ให้นำมาตอบให้เด็ดขาดไปได้ ด้วยสาเหตุหลายประการตามที่กล่าวมาในบทความนี้ เลยต้องขอนำไปถามผู้มีประสบการณ์มากกว่าอย่างคุณพ่อ ก็ได้คำตอบจากความรู้สึกมาว่า ยุคนี้ นักการเมือง ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกระดับ ที่ซื่อสัตย์มีจำนวนลดน้อยลงมาก นักการเมืองที่มีอำนาจให้คุณให้โทษกับนักธุรกิจก็หาดียาก จึงขอตอบด้วยความรู้สึกจากประสบการณ์ว่า คอร์รัปชัน มีแนวโน้มว่าเพิ่มมากขึ้นกว่าอดีตที่ผ่านมาด้วย

ส่วนอีกข้อหนึ่งที่ทั้งพ่อและผมเห็นตรงกันชัดเจนก็คือ ถ้าเรายังปล่อยให้ผู้มีอำนาจในบ้านเมือง ใช้อำนาจในทางมิชอบ และโกงกินกันได้อย่างชัดเจน โดยไม่มีหน่วยงานใดสามารถจัดการได้ ความหวังในการที่เราจะเห็นระดับคะแนนการคอร์รัปชันดีขึ้น หรือ เกิดการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันอย่างยั่งยืนของเราก็เห็นจะริบหรี่ครับ

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2565
ผู้แต่ง
  • รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค
  • ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค
หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : โอปป้า เพื่อระบบที่ดีสร้างสังคมยั่งยืน

โอปป้าจ๋าช่วยด้วยยยย ! ทำไมคอร์รัปชันยังไม่หมดไปสักที หลาย ๆ คนอาจจะสงสัยว่า ทำไมเราถึงอยากปฏิรูปการศึกษาก็ทำไม่ได้ อยากป้องกันทรัพยากรธรรมชาติก็ทำได้ยากเพราะมีคนแย่งหาผลประโยชน์กันเต็มไปหมด หรือแม้แต่การสร้างสวัสดิการที่ดีให้กับประชาชนก็ดันไม่ถึงมือประชาชนอีก ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากการคอร์รัปชันที่ยังไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปได้นั่นเอง

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เรามีคนโกงเพิ่มขึ้น หรือ เราจับคนโกงได้มากขึ้น

แจ้งไม่เยอะแน่นะวิ ! ปี 65 พบการแจ้งเรื่องทุจริตเกือบ 10,000 เรื่องในไทย เคยสงสัยกันบ้างไหมว่าทั้งๆ ที่มีหน่วยงานปราบโกงที่มีอำนาจทางกฎหมายล้นเหลืออยู่หลายหน่วยงาน ทำไมระดับการคอร์รัปชันของไทยยังดูจะแย่ลงเรื่อยๆ

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เปิดผลดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชันล่าสุด ไทยยังอาการหนัก เหมือนเดิม!

จากการที่องค์กรความโปร่งใสนานาชาติ หรือ Transparency International (TI) ได้เปิดเผยผลดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน หรือ Corruption Perception Index (CPI) ของปี 2023 เมื่อวันที่ 30 มกราคมที่ผ่านมา ผลในปีนี้ไทยได้คะแนน 35 จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน คิดเป็นอันดับที่ 108 จาก 180 ประเทศทั่วโลกที่ได้รับการประเมิน ซึ่งหากเทียบกับผลในปี 2022 ที่ไทยได้ 36 คะแนน และอยู่ในลำดับที่ 101 ก็จะเห็นได้ว่าคะแนน CPI ไม่ดีขึ้นเลย

You might also like...

บทความวิจัย : ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเสริมสร้างความร่วมมือและการควบคุมคอร์รัปชันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเพชรบุรี

เมื่อการกระจายอำนาจกลับกลายเป็นการกระจายการทุจริตสู่ท้องถิ่น เพื่อยับยั้งปัญหาคอร์รัปชันในท้องถิ่น จึงต้องส่งเสริมการปกครองตามหลักธรรมาภิบาล (กรณีศึกษา จังหวัดเพชรบุรี)

KRAC Around เล่าข่าวคอร์รัปชันจากทั่วโลก I UNODC จับมือไนจีเรียจัดทำรายงานการทุจริตในไนจีเรีย ชี้ “การติดสินบนได้รับการยอมรับน้อยลง”

รายงานฉบับนี้มีชื่อว่า “การทุจริตในไนจีเรีย: รูปแบบและทิศทาง (Corruption in Nigeria: Patterns and Trends)” เป็นการสำรวจเกี่ยวกับการรับรู้การทุจริตของประชาชนในประเทศไนจีเรียจากประสบการณ์ของประชาชน นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์แนวโน้มการทุจริต ประสิทธิภาพของกลยุทธ์ และแนวทางการต่อต้านการทุจริตอีกด้วย

คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : โกง (เรื่อง) กิน ฉ่ำๆ หม่ำๆ แบดกาย แบดกายหม่ำๆ

เมื่อวันแม่ที่ผ่านมาหลายๆ ท่านคงพาคุณแม่ไปทานข้าว หรืออาจกลับบ้านไปทานข้าวกับคุณแม่และครอบครัว เพราะสำหรับคนไทยแล้ว “อาหารเป็นเรื่องสำคัญ” ดังนั้นในวันสำคัญการนัดรวมตัวกันกินข้าวจึงเป็นเรื่องจำเป็น