แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : รีวิวตำรา (ต่อต้าน) คอร์รัปชัน 101

ก่อนอื่นต้องขอบอกว่าผม (ต่อตระกูล) เขียนรีวิว ตำรา (ต่อต้าน) คอร์รัปชัน 101 นี้ไม่ใช่เพราะต่อภัสสร์ เป็นคนเขียน แต่เพราะดีใจมากจริงๆ ที่วงการการต่อต้านการคอร์รัปชันในประเทศไทย ที่ผมร่วมอุทิศเวลาทำงานมาเป็นเวลานาน ได้มีตำราเชิงวิชาการที่อธิบายเรื่องคอร์รัปชันอย่างครอบคลุมและมีการอธิบายในบริบทของประเทศไทยเสียที

ตำราวิชาการนี้ จะเป็นประโยชน์สำหรับนิสิตนักศึกษาที่ได้เรียนอย่างละเอียด และให้บุคคลและองค์กรต่างๆ ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการต่อต้านคอร์รัปชันและเสริมสร้างธรรมาภิบาล ได้ศึกษาให้เข้าใจการคอร์รัปชันในเชิงลึก จากกรณีศึกษาทั้งในและต่างประเทศ และได้ศึกษาหลักการทางทฤษฎีต่างๆ ที่สามารถนำไปประยุกต์เป็นกลไกและเครื่องมือในการต่อต้านคอร์รัปชันได้

ที่สำคัญผมได้ยืนยันความเข้าใจผมว่า คอร์รัปชัน เป็นปรากฏการณ์ที่มีความซับซ้อนมาก ทำให้นักวิชาการทั่วโลกศึกษาเรื่องนี้อย่างลึกซึ้ง จนในบางประเทศมีหลักสูตรปริญญาที่เรียนกันเรื่องนี้กันโดยตรงเลยทีเดียว สะท้อนให้เห็นว่า การจะแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอยู่บนพื้นฐานทางวิชาการ ไม่ใช่อาศัยเพียงความรู้สึกและประสบการณ์เท่านั้น

ข้อสังเกตนี้ยืนยันด้วยการที่ประเทศที่มีการพัฒนาความรู้วิชาการด้านการต่อต้านคอร์รัปชันหลายประเทศ ประสบความสำเร็จในการลดการคอร์รัปชันและเสริมสร้างธรรมาภิบาลให้เข้มแข็งได้จริง นำไปสู่การพัฒนาในด้านต่างๆ ทั้งการศึกษา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม สวัสดิการของประชาชน และอื่นๆ ในขณะที่ประเทศไทยที่พยายามแก้ไขเรื่องนี้กันมานานหลายสิบปีอย่างไม่สำเร็จเท่าที่ควร จึงยังไม่สามารถขยับเขยื้อนการพัฒนาให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักต่างๆ ทั้งทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจ

ผมได้อ่านตำราเรียนเล่มนี้จนจบแล้ว เห็นว่าเป็นตำราที่ผ่านการกลั่นกรองในรูปแบบของการเขียนความเป็นวิชาการ มีการอ้างอิงถึงสิ่งที่ได้นำมารวบรวมลงในตำรานี้ตามมาตรฐานของตำราเรียน (Text Book) อย่างเป็นระบบ โดยได้รับการประเมินคุณภาพ และสนับสนุนทุนในการจัดพิมพ์จากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อ้างอิงจากคำนำของตำราเล่มนี้ มีเนื้อหาทั้งหมด 19 บท โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

  1. ส่วนที่หนึ่ง เข้าใจคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นการอธิบายหลักการและทฤษฎีทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับคอร์รัปชันในภาพรวม เนื่องจากการออกแบบแนวทาง นโยบาย หรือมาตรการต่อต้านคอร์รัปชันที่มีประสิทธิผลจริง ผู้ออกแบบนโยบายมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจการคอร์รัปชันอย่างลึกซึ้ง ด้วยการศึกษาการคอร์รัปชันผ่านแนวคิดทางวิชาการที่บูรณาการมุมมองต่อการคอร์รัปชันของศาสตร์ต่างๆ เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองอย่างรอบด้านที่ส่งผลกระทบให้เกิด หรือสามารถต่อต้านคอร์รัปชันได้ โดยศึกษาผ่านนิยาม ประเภท สาเหตุ และผลกระทบของการคอร์รัปชัน รวมถึงเเนวทางการวัดประเมินสถานการณ์คอร์รัปชันในปัจจุบัน เพื่อให้รู้เท่าทันการคอร์รัปชันรูปแบบต่างๆ และมีความเข้าใจถึงผลกระทบของการคอร์รัปชันที่มีต่อความถดถอยทางเศรษฐกิจในระยะยาว ความขัดแย้งทางสังคม และความไม่มีประสิทธิภาพทางการเมืองอย่างแท้จริง
  2. ส่วนที่สอง เข้าใจการต่อต้านคอร์รัปชันเชิงปฏิบัติ จะอธิบายการศึกษาแนวคิดการแก้ปัญหาในระดับพื้นที่ผ่านงานวิจัยเชิงปฏิบัติการ และการวิเคราะห์เครื่องมือการต่อต้านคอร์รัปชันต่างๆ จากทั่วโลก รวมถึงหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับการปลูกฝังจิตสำนึกให้เยาวชนไม่ยอมรับการคอร์รัปชัน และการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างความโปร่งใส และสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชนจำนวนมากในงานต่อต้านคอร์รัปชัน เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์ประเมินผลว่าแนวคิดใด เครื่องมือใดเหมาะสมต่อการแก้ปัญหาการคอร์รัปชันในบริบทที่แตกต่างกันออกไปอย่างไร
  3. ส่วนที่สาม สถานการณ์คอร์รัปชันและการต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทย จะอธิบายโดยเฉพาะเจาะจงสำหรับสถานการณ์คอร์รัปชัน และการต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทย ผ่านมุมมองเชิงประวัติศาสตร์ ให้เห็นพัฒนาการของปัญหา และความพยายามในการแก้ไขปัญหานี้ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังได้แสดงภาพสถานการณ์ปัจจุบันที่มีองค์กร และกลุ่มบุคคลจำนวนหนึ่งที่พยายามสร้างความร่วมมือเป็นเครือข่ายในการต่อต้านคอร์รัปชันในประเทศไทย เพื่อศึกษาว่า ความสำเร็จและอุปสรรคของงานภาคปฏิบัติจริงนั้นมีอะไรอยู่บ้าง และมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายใดในการเพิ่มประสิทธิภาพการสร้างความร่วมมือกันของเครือข่ายที่ปฏิบัติงานด้านการต่อต้านคอร์รัปชัน

ส่วนที่ผมเห็นว่าเป็นประโยชน์มากที่สุดก็คือ เป็นความรู้พื้นฐานของการวิจัยค้นคว้า เกี่ยวกับการคอร์รัปชันในประเทศไทย ที่ยังต้องมีการศึกษาลงไปในรายละเอียดในแต่ละวงการแต่ละหน่วยงานราชการ เพื่อที่ผู้วิจัยจะได้ไม่ต้องไปใช้เวลาเขียนเกี่ยวกับความรู้พื้นฐานในเรื่องของทฤษฎีและแนวคิดเกี่ยวกับการต่อต้านคอร์รัปชันซ้ำไปซ้ำมาอีกต่อไป โดยสามารถมีเวลาข้ามไปศึกษาลงลึกในส่วนที่เฉพาะด้านของแต่ละวงการได้เลย ซึ่งประเทศไทยจะได้มีความรู้ลึกมากขึ้นและนำมาใช้ประโยชน์สำหรับองค์กรต่างๆ ที่ต้องการจะป้องกันการทุจริตในองค์กรของตัวเองได้นำไปใช้ประโยชน์ได้

ผมเชื่อว่า ถ้าคนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการต่อต้านคอร์รัปชันได้อ่านตำราเล่มนี้ จะสามารถเข้าใจคอร์รัปชันได้ลึกซึ้งมากขึ้น สามารถนำไปพัฒนาเป็นกลไกการแก้ไขปัญหาในรูปแบบที่เหมาะสมกับบริบทได้มากขึ้น นอกจากนี้ นิสิตนักศึกษาที่เรียนในวิชาที่ใช้ตำรานี้สอน ก็จะสามารถนำความรู้ไปประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องได้หรืออาจเกิดเป็นวิชาชีพใหม่ในการต่อต้านคอร์รัปชันเลยก็ได้ จึงขอยินดีกับการมีตำราเล่มใหม่นี้อย่างยิ่งและหวังว่าจะมีการพัฒนาความรู้ที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องต่อไปเรื่อยๆ ครับ

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2566
ผู้แต่ง
  • รศ.ดร.ต่อตระกูล ยมนาค
  • ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค
หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เรามีคนโกงเพิ่มขึ้น หรือ เราจับคนโกงได้มากขึ้น

แจ้งไม่เยอะแน่นะวิ ! ปี 65 พบการแจ้งเรื่องทุจริตเกือบ 10,000 เรื่องในไทย เคยสงสัยกันบ้างไหมว่าทั้งๆ ที่มีหน่วยงานปราบโกงที่มีอำนาจทางกฎหมายล้นเหลืออยู่หลายหน่วยงาน ทำไมระดับการคอร์รัปชันของไทยยังดูจะแย่ลงเรื่อยๆ

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เปิดตัว KRAC ศูนย์ความรู้ต้านโกง

คอร์รัปชันเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนอย่างมาก ถ้าไม่แก้ไขทุกมิติอย่างครอบคลุมผลที่ตามมาอาจกลายเป็นเพิ่มปัญหาให้สังคมได้ จึงต้องใช้วิธีที่มีประสิทธิภาพ หนึ่งในนั้นคือการใช้ความรู้ทางวิชาการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติจึงได้ร่วมมือกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดตั้ง “ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค” (Knowledge hub for Regional Anti-corruption and good governance Collaboration: KRAC) ขึ้น เมื่อ 24 เมษายนที่ผ่านมา

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เดินทางไกลเพื่อเรียนรู้การต้านโกง

สวัสดีจากซานฟรานซิสโก คุณอยู่กับต่อภัสสร์และนี่คือแก้โกงไกลบ้าน…ชวนอ่านว่าในต่างประเทศมีการพัฒนาเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชันอย่างไร ? แล้วการเปิดเผยข้อมูลมีความสำคัญอย่างไร ?

You might also like...

บทความวิจัย : ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเสริมสร้างความร่วมมือและการควบคุมคอร์รัปชันขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเพชรบุรี

เมื่อการกระจายอำนาจกลับกลายเป็นการกระจายการทุจริตสู่ท้องถิ่น เพื่อยับยั้งปัญหาคอร์รัปชันในท้องถิ่น จึงต้องส่งเสริมการปกครองตามหลักธรรมาภิบาล (กรณีศึกษา จังหวัดเพชรบุรี)

KRAC Around เล่าข่าวคอร์รัปชันจากทั่วโลก I UNODC จับมือไนจีเรียจัดทำรายงานการทุจริตในไนจีเรีย ชี้ “การติดสินบนได้รับการยอมรับน้อยลง”

รายงานฉบับนี้มีชื่อว่า “การทุจริตในไนจีเรีย: รูปแบบและทิศทาง (Corruption in Nigeria: Patterns and Trends)” เป็นการสำรวจเกี่ยวกับการรับรู้การทุจริตของประชาชนในประเทศไนจีเรียจากประสบการณ์ของประชาชน นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์แนวโน้มการทุจริต ประสิทธิภาพของกลยุทธ์ และแนวทางการต่อต้านการทุจริตอีกด้วย

คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : โกง (เรื่อง) กิน ฉ่ำๆ หม่ำๆ แบดกาย แบดกายหม่ำๆ

เมื่อวันแม่ที่ผ่านมาหลายๆ ท่านคงพาคุณแม่ไปทานข้าว หรืออาจกลับบ้านไปทานข้าวกับคุณแม่และครอบครัว เพราะสำหรับคนไทยแล้ว “อาหารเป็นเรื่องสำคัญ” ดังนั้นในวันสำคัญการนัดรวมตัวกันกินข้าวจึงเป็นเรื่องจำเป็น