ศึกษาความพร้อมของไทยในการเข้าเป็นภาคีตามอนุสัญญาองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ ค.ศ.1997 ว่าด้วยการต่อต้านการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศในการทำธุรกรรมทางธุรกิจระหว่างประเทศ
- ผลการศึกษาการดำเนินการตามพันธกรณีเรื่องการต่อต้านการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศตามกรอบ OECD Convention ทั้งหมด 14 ประเด็น พบว่ามีเพียง 4 ข้อเท่านั้น ที่อาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยมีความพร้อมแล้ว นอกนั้นจำเป็นต้องมีการออกกฎหมาย หรือแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเดิมที่มีอยู่ เพื่อรองรับพันธกรณีดังกล่าว สำหรับข้อที่ประเทศไทยไม่มีความพร้อมเลยในการขอเข้าเป็นภาคีตามเงื่อนไขของ OECD Convention ได้แก่ หนึ่ง ฐานความผิดอาญาว่าด้วยการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศ และ ความรับผิดของนิติบุคคล ซึ่งยังไม่มีกฎหมายกำหนดรองรับเอาไว้ อย่างไรก็ดี ประเทศไทยมีบรรทัดฐานกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทำให้ไม่มีปัญหาในแง่ของหลักกฎหมายที่จะไม่สามารถออกกฎหมายดังกล่าว จึงเหลือเพียงประเด็นเชิงนโยบายที่จะต้องเร่งผลักดันเท่านั้น นอกจากนี้ ในเชิงบรรษัทภิบาลยังขาดความพร้อมของแนวปฏิบัติภาคเอกชน โดยเฉพาะบริษัทขนาดกลางและเล็ก และความไม่พร้อมในเชิงกระบวนการติดตาม และตรวจสอบที่เรียกว่า “peer pressure” ของ OECD
- คณะผู้วิจัย ได้เสนอวิธีการอนุวัติการข้อตกลงระหว่างประเทศตามแนวปฏิบัติของประเทศไทย มี 2 เเนวทาง ดังนี้
- การออกกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ ให้มีการบังคับใช้อนุสัญญาดังกล่าวในประเทศไทย แทนที่จะแก้ไขกฎหมายในฉบับต่าง ๆ ซึ่งต้องมีเวลาตรวจสอบและแก้ไข เพราะเมื่อประเทศไทยมีกฎหมายภายใน เพื่อรองรับพันธกรณีที่เกิดจากข้อตกลงระหว่างประเทศแล้ว การออกกฎหมายในระดับอนุบัญญัติก็สามารถทำได้ทันที
- การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อตอบสนองต่อข้อตกลงระหว่างประเทศ ผลดีของการอนุวัติการประเภทนี้ คือ ทำให้เกิดความชัดเจนแก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฎิบัติ แต่ผลเสีย คือ การแก้ไขกฎหมายในแต่ละฉบับ อาจจะทำให้ระบบของการปฏิบัติการตามข้อตกลงระหว่างประเทศเสียหายได้ หากการแก้ไขกฎหมายภายในไม่เข้าใจเจตนารมณ์อย่างแท้จริงของข้อตกลงดังกล่าว
- คณะผู้วิจัย เสนอว่าการออกกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ ให้มีการบังคับใช้อนุสัญญาดังกล่าวในประเทศไทย เป็นแนวทางที่มีความเหมาะสมกับประเทศไทย เพราะการออกกฎหมายเฉพาะ เพื่อรองรับพันธกรณีจะสามารถทำได้โดยรวดเร็ว และทำให้มีการปฏิบัติได้ในระยะเวลาสั้น นอกจากนี้ เมื่อประเทศไทยมีกฎหมายภายใน เพื่อรองรับพันธกรณีที่เกิดจากข้อตกลงระหว่างประเทศแล้ว การออกกฎหมายในระดับอนุบัญญัติก็สามารถทำได้โดยง่าย เเละจะมีผลดีมากกว่าการแก้ประมวลกฎหมายอาญา หรือการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้องทุกฉบับ ซึ่งแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยในประเทศไทย
- คณะผู้วิจัย เสนอแนวทางการเตรียมความพร้อมของประเทศไทยในการเข้าเป็นภาคีตามอนุสัญญาขององค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ ค.ศ.1997 ว่าด้วยการต่อต้านการให้สินบนแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศในการทำธุรกรรมทางธุรกิจระหว่างประเทศไว้ 5 ประเด็น สรุปได้ ดังนี้
- ฐานความผิดอาญาว่าด้วยการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศ : ควรแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาฯ หรือออกกฎหมายใหม่เป็นกฎหมายเฉพาะ เพื่อเป็นการบัญญัติฐานความผิดแม่บทของประเทศในเรื่องนี้ และแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ระบุให้ฐานความผิดนี้ เป็นความผิดมูลฐาน ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบันที่เสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาฯ โดยมีเนื้อหาแก้ไขเพิ่มเติมฐานความผิดตามมาตรา 143 (เรียกสินบน) และ 144 (ให้สินบน) รวมทั้งบทนิยาม “เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลต่างประเทศ” และ “เจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ
- มาตรฐานความรับผิดของนิติบุคคล : ควรแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายให้มีความชัดเจน ได้เเก่ ความรับผิดของนิติบุคคล (ทั้งทางอาญา แพ่ง และปกครอง) มาตรฐานความรับผิดของนิติบุคคล (ตามแนวปฏิบัติที่ดีของ OECD Convention) และความรับผิดของผู้บริหารนิติบุคคล (ตามบรรทัดฐานกฎหมายไทย)
- บทลงโทษ : OECD ให้ความเห็นว่าโทษปรับเจ้าหน้าที่ของประเทศไทย ยังถือว่าน้อยมาก โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาว่าเป็นการปรับนิติบุคคล ดังนั้น จึงเสนอให้เพิ่มอัตราปรับไม่เกิน 5 ล้านบาทสำหรับบุคคลธรรมดา และไม่เกิน 60 ล้านบาท หรือไม่เกิน 2 เท่าของประโยชน์ที่ได้จากการกระทำความผิดสำหรับนิติบุคคล
- การบังคับใช้กฎหมาย : ปัจจุบันประเทศไทยยังไม่กำหนดฐานความผิดการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศ จึงไม่มีหน่วยงานที่มีอำนาจโดยตรง จึงมีความจำเป็นที่จะต้องกำหนดหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ที่ชัดเจนเพื่อดูแลฐานความผิดการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศ โดยเสนอให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรงดำเนินการ
- มาตรการเสริมห้ามหักค่าใช้จ่ายทางภาษี : ปัจจุบันตามประมวลรัษฎากรยังไม่ได้กำหนดห้ามชัดเจนไม่ให้หักค่าใช้จ่ายทางภาษีแก่รายการที่เป็นการให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศ จึงจำเป็นต้องกำหนดคำนิยามของรายการให้สินบนที่ชัดเจน โดยเฉพาะการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน กับรายการค่ารับรองทั่วไป โดยอาจออกเป็นพระราชกฤษฎีกาตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65ตรี(20) กำหนดไห้ชัดเจน
- ชุมพร ปัจจุสานนท์
- วิสูตร ตุวยานนท์
- ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง
- ณัฐชานนท์ โกมุทพุฒิพงศ์
- พัฒนาพร โกวพัฒนกิจ
- อนิณ อรุณเรืองสวัสดิ์
- กิตติพงษ์ พงษ์พัทธนคุณ
- พาขวัญ นุกูลกิจ
- ณัฐวดี บุญชื่น
หัวข้อ
โครงการสำรวจการรับรู้และความเข้าใจด้านการขัดกันแห่งผลประโยชน์ (Conflict of Interest) ของเจ้าหน้าที่รัฐในองค์การบริหารส่วนจังหวัดของประเทศไทย
ศึกษาและสํารวจข้อมูลระดับการรับรู้ของเจ้าหนาที่รัฐในองค์การบริหารส่วนจังหวัดที่มีต่อความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับความขัดแย้งแห่งผลประโยชน์ (Conflict of Interest) เพื่อลดพฤติกรรมความขัดแย้งแห่งผลประโยชน์ในอนาคต
โครงการศึกษาเรื่องการแสวงหาผลประโยชน์จากการอนุญาต โดยใช้อำนาจรัฐ
ศึกษาการตรวจสอบดุลพินิจของฝ่ายปกครองในการออกใบอนุญาต และศึกษากฎหมายต่างประเทศเพื่อเสนอแนะมาตรการทางกฎหมายในการป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์จากการอนุญาตโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ
โครงการศึกษามาตรการแทรกแซงตลาดข้าวเพื่อป้องกันการทุจริต: การแสวงหาค่าตอบแทนส่วนเกินและเศรษฐศาสตร์การเมืองของโครงการรับจำนำข้าวเปลือก
เพื่อประมาณการต้นทุน รายรับ การขาดทุน ต้นทุนสวัสดิการสังคมของโครงการรับจํานําข้าวเปลือก และประมาณการผลตอบแทนส่วนเกินที่ตกแก่กลุ่มบุคคลต่าง ๆ เพื่อวิเคราะห์การแสวงหาค่าเช่า และศึกษาการทุจริตของผู้ที่เกี่ยวข้อง
โครงการศึกษาฐานข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเพื่อออกแบบยุทธศาสตร์ในการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ
วิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงการทุจริตคอร์รัปชันในโครงการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ โดยใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์จากกรมบัญชีกลาง จำนวน 40,000 โครงการ และนำมาจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อป้องกันปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ