คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : หากถูกเลือกให้เป็นแค่คนปวดหลังก็ขอเป็นคนที่ถูกเลือกให้สมหวังในความรักสักครั้งบ้างได้ไหม?

มนุษย์ทุกคนต้องการเป็นที่รักและมนุษย์ก็คู่ควรที่จะถูกรัก แต่แค่รักกันคงไม่เพียงพออีกต่อไปเงินทอง ความอิ่มท้อง ความปลอดภัย เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อความรักที่ดีของเราเช่นกันบรรยากาศของประเทศที่ไม่เอื้อต่อการที่จะมีความรักและอาจจะทำให้เราไม่สมหวังในความรักได้ด้วยเช่นกัน หลายคนคงรู้สึกว่า ผู้เขียนโยนความผิดและความไม่สมหวังทั้งหมดให้กับประเทศนี้เกินไปจนลืมโทษตัวเอง เพราะถ้าหากเขาจะรักยืนอยู่เฉยๆ เขาก็รัก ผู้เขียนเองไม่ได้โยนความผิดหวังให้กับประเทศนี้เสียทั้งหมดแต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า โครงสร้างทางสังคมในประเทศนี้เป็นจำเลยร่วมในความผิดหวังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

“เพราะเราไม่มีเวลามากพอให้สบตากันเพื่อตกหลุมรัก” 

ชีวิตของมนุษย์วัยทำงานของหลายๆ คนต้องแข่งกับเวลา ทั้งเวลาทำงาน เวลากิน นอน หรือแม้แต่เดินทาง เราต่างเร่งรีบเพื่อให้ทันกับการใช้ชีวิตเป็นแรงงานขับเคลื่อนการเติบโตของประเทศ จนทำให้เราไม่มีเวลาที่จะเดินให้ช้าลงสักนิด กินข้าวมื้อเที่ยงหรือเย็นให้ช้าลงกว่านี้อีกสักหน่อย ซึ่งนั่นอาจจะทำให้เราได้มีโอกาสสบตาและตกหลุมรักใครสักคนก็ได้ฟังดูโรแมนติกเสียเหลือเกิน (ผู้เขียนเองก็รู้สึกว่าโรแมนติกเกินไป) เหตุผลที่เราอาจจะเคยได้ยินมาบ้างและบางคนอาจจะไม่เคยได้ยินมาก่อนสำหรับการที่เราไม่ตกหลุมรักใครสักทีนั่นอาจจะเป็นเพราะโครงสร้างเมืองและโครงสร้างทางสังคมที่ไม่เอื้อให้เราเป็นผู้ที่ถูกเลือกให้สมหวังในความรักก็ได้ โครงสร้างเมืองในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่เมืองหลวงเท่านั้น แต่อาจจะหมายถึงทั่วทั้งประเทศ เราไม่ได้สร้างเมืองเพื่อให้ผู้คนได้มีโอกาสมาพบเจอกันมากมายขนาดนั้น ไม่มีพื้นที่ในการพบปะกัน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่สีเขียว พื้นที่ทางศิลปวัฒนธรรมหรือแม้แต่พื้นที่สำหรับสิ่งบันเทิง (ดนตรี ภาพยนตร์) เรามีสถานที่ในการนัดพบกันอยู่ไม่กี่ที่ ซึ่งสถานที่แรกที่หลายคนนึกออกคงเป็นห้างสรรพสินค้า สิ่งเหล่านี้ยิ่งซ้ำเติมชีวิตของผู้คนที่ต้องทำงาน กลับบ้านกินข้าว นอนและตื่นมาเพื่อทำงานชีวิตวนลูปอยู่เพียงเท่านี้แล้วเราจะมีจังหวะตกหลุมรักได้อย่างไร 

ทำไมโครงสร้างเมืองและโครงสร้างทางสังคมถึงไม่เอื้อให้เราเป็นผู้ที่ถูกเลือกให้สมหวังในความรัก 

ตัวผู้เขียนเองมองว่า โครงสร้างของเมืองก็เป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบหลักในการทำให้ผู้คนผิดหวังไม่ใช่แค่เรื่องของความรัก เรื่องการใช้ชีวิตอย่างที่ชอบหรืออย่างที่ฝัน เราก็ไม่ค่อยจะสมหวังกันสักเท่าไร การใช้ชีวิตในเมืองอาจจะไม่ได้เหมาะกับพวกเราทุกคน แต่ถ้าเราไม่เข้าเมืองเราจะหาเงินเพื่อมีชีวิตอยู่อย่างไร อันที่จริงแล้วก็คงมีหนทางในการหารายได้อีกมากมาย โดยไม่ต้องมาแย่งกันกินแย่งกันใช้แค่ในเมือง แต่เราต้องยอมรับว่าความเจริญและการทำงานมันอยู่แค่ที่นี่จริงๆ ผู้คนจากทั่วทุกภาคของประเทศต่างเดินทางเข้าเมืองเพื่อแสวงหารายได้ หาโอกาสในการทำงาน หรือแม้แต่การจะมีโอกาสได้พบเจอใครสักคนด้วยเช่นกัน สังคมไทยถูกสร้างให้มันผิดแปลกจนทำให้ประชาชนต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวมากขึ้น เหงามากขึ้น ผิดหวังมากขึ้นและไม่สมหวังในชีวิตมากขึ้น เราลองคิดดูว่า ถ้าจะมีความรักทั้งทีก็อยากจะมีความรักที่ดีไปเลย แล้วการมีความรักในประเทศนี้มันต้องมีส่วนประกอบจากสิ่งใดบ้าง การมีหน้าที่การงานที่ดี มีเงินเก็บ มีรถ มีบ้าน มีคอนโด มีเวลาเหลือสำหรับการออกไปเดต หรือไปทำกิจกรรมร่วมกันก็แทบจะเป็นเรื่องยากตั้งแต่คิดจะเริ่มต้นแล้ว การจะมีความรักมันต้องลงทุนทั้งค่าเดินทางเพื่อไปเจอกัน ค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้าหน้าผมต่างๆ ล้วนเป็นค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น แต่พอมาดูเงินเดือนและค่าแรงขั้นต่ำตอนนี้ดูจะสวนทางกับค่าครองชีพมากพอสมควร สาเหตุมีมากมายที่ทำให้คนไทยมีรายจ่ายมากกว่ารายรับ ต้องแบกภาระเรื่องค่าเดินทาง ที่อยู่อาศัย อาหารการกินที่หากคุณต้องการจะมีชีวิตที่ดีก็คงต้องขยับฐานะทางสังคมของตัวเองให้ได้เช่นกัน และพื้นฐานที่ง่ายที่สุดเลย คือ ได้รับการศึกษา หรือบางคนอาจบอกว่าต้องแต่งงานกับคนรวยง่ายกว่า เราลองคิดในความเป็นจริงแล้ว ก็คงจะมีโอกาสเกิดขึ้นได้แต่คงไม่เหมือนในละครที่เราเคยเห็น และก็คงแอบหวังว่ามันคงเกิดขึ้นกับเราบ้างเช่นกัน หรือบางทีเราอาจจะเข้าใกล้โอกาสของการได้พบเจอกันจากการที่เราได้รับการศึกษาอย่างเท่าเทียมกันถ้วนหน้าก็ได้ ไม่เพียงแค่ในการศึกษาภาคบังคับเท่านั้นแต่ในระดับอุดมศึกษาก็ควรเป็นสิ่งที่เราทุกคนสามารถเข้าถึงได้เช่นกัน ไม่ใช่เป็นการตั้งกฎเกณฑ์ กฎระเบียบมากมายจนทำให้หลายคนต้องออกจากระบบการศึกษา ทำให้เขาหมดโอกาสที่จะได้ขยับฐานะทางสังคมให้ตัวเอง หมดโอกาสที่จะได้พบเจอสิ่งที่ดี มีโอกาสในการทำงานที่ดีหรือแม้แต่โอกาสที่จะเจอคนที่เหมาะสมสำหรับการได้รักและถูกรัก 

หากหมดสิ้นความเหลื่อมล้ำ เราคงรักกันง่ายกว่านี้ 

ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมทำให้คนไทยห่างไกลกับคำว่า “สมหวัง” ในชีวิตเหลือเกิน เราเห็นถึงความตั้งใจที่รัฐพยายามลดความเหลื่อมล้ำนี้มาอย่างยาวนาน หลายๆ พรรคมีนโยบายเรื่องนี้เกือบทุกสมัยของการเลือกตั้งแต่เราก็ยังเห็นว่ารัฐเองก็เป็นผู้สร้างความเหลื่อมล้ำให้สังคมนี้เช่นกัน มีเด็กหลายคนถูกผลักออกจากระบบการศึกษาเพราะไม่มีค่าเทอม ไม่มีเงินค่าชุดนักเรียน ไม่มีเงินพอสำหรับไปโรงเรียน พนักงานออฟฟิศ พ่อค้าแม่ค้า ผู้รับเหมาหรือแม้แต่ผู้รับจ้างที่ต้องแบกรับภาระค่าครองชีพอันแสนแพงสวนทางกับรายได้ เกษตรกร ชาวนา ที่ยังต้องขายผลผลิตทั้งที่บางครั้งก็ขาดทุนไม่ได้กำไร หากรัฐสามารถจัดการประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ใส่ใจในทุกด้านของชีวิตประชาชนมากกว่านี้เราคงไม่เห็นเหตุการณ์แบบนี้อยู่ซ้ำๆ หากรัฐทำให้เรากินอิ่ม นอนหลับ มีชีวิตที่ปลอดภัย เข้าถึงสวัสดิการได้อย่างทั่วถึงเราคงมีชีวิตที่ง่ายกว่านี้ ดูเหมือนว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่เกี่ยวข้องอะไรจากเรื่องราวความรักที่ไม่สมหวังเลยสักนิด ผู้เขียนอยากลองชวนผู้อ่านทุกท่านคิดไปพร้อมกันว่าสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นนั้นทำให้เรายังต้องดิ้นรนเพื่อให้ท้องอิ่ม เพื่อให้มีที่อยู่อาศัย เพื่อให้ได้นอนหลับฝันดี และมีชีวิตที่ปลอดภัยอยู่หรือเปล่า เพื่อการมีชีวิตรอดในประเทศนี้ที่เร่งรีบและไม่เคยมีเวลาให้เราได้ค้นหาตัวเองหรือค้นหาใครสักคนเลยหรือเปล่า โครงสร้างสังคมที่บีบให้เราต้องทำงาน ทำงาน ทำงาน เพื่อที่จะมีชีวิตรอดจนเราหมดแรงที่จะฝัน หมดแรงที่จะออกไปค้นหาชีวิต หมดแรงที่จะหยุดสบตาใครสักคนด้วยซ้ำไป เรากลายเป็นฟันเฟืองที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ประเทศแต่อาจจะไม่มีโอกาสขับเคลื่อนชีวิตที่สมหวังในความรักเลยด้วยซ้ำ ท้ายที่สุดนี้ผู้เขียนขอเป็นแค่คนที่ถูกเลือกให้เป็นแค่คนปวดหลังและขอเป็นคนสมหวังในความรักสักครั้งก็พอแล้วค่ะ

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2566
ผู้แต่ง

 กาญจนา มะลิงาม

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เวทีต้านโกงระดับโลก เขาพูดคุยอะไรกัน

4 ประเด็นน่าสนใจจาก “Summit for Democracy 2023” การประชุมระดับโลกเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ผู้ร่วมก่อตั้งและที่ปรึกษา HAND Social Enterprise HANDSocialEnterprise ได้รับเชิญจากรัฐบาลเกาหลีใต้ให้ไปร่วมเสวนาในงาน Summit for Democracy 2023 หัวข้อหลักงานปีนี้คือ “การต่อต้านคอร์รัปชัน” เชื่อมโยงคำอธิบายว่า การคอร์รัปชันบ่อนทำลายประชาธิปไตย ในทางกลับกันประเทศที่ประชาธิปไตยไม่เข้มแข็งจะทำให้คอร์รัปชันสูงขึ้น

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : เปิดตัว KRAC ศูนย์ความรู้ต้านโกง

คอร์รัปชันเป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนอย่างมาก ถ้าไม่แก้ไขทุกมิติอย่างครอบคลุมผลที่ตามมาอาจกลายเป็นเพิ่มปัญหาให้สังคมได้ จึงต้องใช้วิธีที่มีประสิทธิภาพ หนึ่งในนั้นคือการใช้ความรู้ทางวิชาการ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติจึงได้ร่วมมือกับคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดตั้ง “ศูนย์ความรู้เพื่อความร่วมมือในการต่อต้านคอร์รัปชัน และส่งเสริมธรรมาภิบาลในระดับภูมิภาค” (Knowledge hub for Regional Anti-corruption and good governance Collaboration: KRAC) ขึ้น เมื่อ 24 เมษายนที่ผ่านมา

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : สื่อสารต้านโกงอย่างไร ถึงได้ผล

ในหลายๆ ครั้งที่ผมได้มีโอกาสไปบรรยายเรื่องการต่อต้านคอร์รัปชันให้กับผู้ฟังซึ่งเป็นทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ นิสิต นักศึกษา และประชาชนทั่วไป ข้อแนะนำหนึ่งที่มักจะได้มาคือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรสื่อสาร นำเสนอเรื่องราวของผลกระทบจากการคอร์รัปชันที่รุนแรง เพื่อให้สังคมหวาดกลัวการคอร์รัปชันและรังเกียจคนคอร์รัปชัน เป็นการใช้พลังสังคมเพื่อกดดันให้ “คนโกงไม่มีที่ยืนในสังคม”

You might also like...

KRAC คัดสรร เล่างานวิจัยไทย | ไขแนวคิด พิชิตความสำเร็จของหน่วยงานรัฐ ในการสร้างธรรมาภิบาล ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

สร้างความสำเร็จในหน่วยงานด้วย “หลักธรรมาภิบาล” ตามแผน ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยมีตัวอย่าง 6 หน่วยงานรัฐไทยที่ไขแนวคิด พิชิตความสำเร็จในการสร้างธรรมาภิบาล…ปัจจัยความสำเร็จเหล่านี้เป็นอย่างไรบ้าง ? และผลลัพธ์ของการมีธรรมาภิบาลจะเป็นเช่นไร ? มาร่วมหาคำตอบไปพร้อมกัน

KRAC Insight | รู้จัก PEPs เครื่องมือช่วยประชาชนสืบค้นข้อมูลการโกง เชื่อมโยงเครือข่ายคอร์รัปชัน

รู้จัก PEPs เครื่องมือช่วยประชาชนสืบค้นข้อมูลการโกง เชื่อมโยงเครือข่ายคอร์รัปชัน จากทีม Open Data ของเครือข่าย “SEA-ACN”