คิดด้วยพลเมือง(See-Think-Cen’) : โปรดแต่งเติมสีสันอันงดงามแห่งการปฏิวัติ

ในโลกยุคศตวรรษที่ 21 ที่เต็มไปด้วยการแสวงหาอำนาจอันยิ่งใหญ่ ประเทศมหาอำนาจทั่วโลกต่างพากันขยายอำนาจไปทั่วโลกผ่านรูปแบบที่แตกต่างกันไป ในอดีตประเทศมหาอำนาจต่างพากันขยายดินแดนผ่านการรุกรานประเทศรอบข้าง แต่ในปัจจุบัน วิธีในการขยายอำนาจได้ขยายรูปแบบเพิ่มมากขึ้น เช่น ความพยายามในการเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ หรือความพยายามที่จะเป็นที่รักและได้มาซึ่งอำนาจและความชอบธรรมผ่านการสร้าง Soft Power อย่างไรก็ตาม ประชาชนในฐานะเจ้าของประเทศสามารถกำหนดชะตา(Self-Determination) และเลือกที่จะอยู่อย่างไรในสถานะไหนบนเวทีระหว่างประเทศที่เต็มไปด้วยการแข่งขันกันอย่างชัดเจนระหว่างมหาอำนาจ

แม้ในเวทีระหว่างประเทศ จะเต็มไปด้วยการแข่งขันเพื่อชิงตำแหน่งอภิมหาอำนาจ (Super Power) ระหว่างจีนและสหรัฐฯ และมีหลายประเทศพยายามที่จะคงสถานะของการเป็นประเทศมหาอำนาจ (Great Power) โดยเฉพาะอย่างสหพันธรัฐรัสเซีย (Russian Federation) ประเทศที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นหนึ่งในอดีตมหาจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่ แม้ในปัจจุบันจะเปลี่ยนสถานะจากอภิมหาอำนาจมาเป็นเพียงมหาอำนาจแล้วก็ตาม แต่จากข่าวการเมืองระหว่างประเทศในปัจจุบันที่รัสเซียได้พยายามเข้าไปแทรกแซงประเทศที่เป็นอดีตสหภาพโซเวียต จนนำมาสู่การรุกรานประเทศยูเครนในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา แต่การขึ้นมาสู่อำนาจของรัสเซียได้พบกับอุปสรรคและความท้าทายมากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งความท้าทายจากการลุกฮือและการประท้วงจากภาคประชาชน

การลุกฮือของประชาชนที่ต่อต้านการขยายอำนาจของรัสเซียในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเป็นส่วนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองในภูมิภาคนี้ ดังนั้น ในบทความนี้ผู้เขียนขอพาผู้อ่านทุกท่านไปรู้จักการปฏิวัติสี (Colour Revolution) ซึ่งเป็นหนึ่งในความท้าทายสำคัญต่อการขยายอำนาจของรัสเซีย อันเป็นการปฏิวัติที่เริ่มต้นจากหนึ่งประเทศในยุโรปและแพร่ขยายไปสู่ประเทศต่างๆ ในภูมิภาคยุโรปและเอเชียกลาง

“จักรวรรดิรัสเซียอันยิ่งใหญ่ในอดีตสู่ความพยายามในการหวนคืนสู่มหาอำนาจ”

จักรวรรดิรัสเซียในอดีตถือว่าเป็นมหาอำนาจอันยิ่งใหญ่ที่ได้ขยายอาณาเขตทางบกไปจนถึงพื้นที่หนึ่งในหกของโลกภายใน ค.ศ. 1990 และเป็นจักรวรรดิที่มีอาณาเขตทางภูมิศาสตร์ครอบคลุมพื้นที่ทั้งสองทวีป ได้แก่ ยุโรปและเอเชีย ซึ่งครอบคลุมถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์เอาไว้หลากหลายมาก การขยายอำนาจในลักษณะนี้ แนวคิดสัจนิยมได้ให้คำอธิบายไว้ว่าเป็น การแสวงหาอำนาจให้อยู่รอดในระบบโลกอันเป็นอนาธิปไตย (Anarchy) ผ่านการรวบอำนาจจากรัฐในบริเวณข้างเคียงเข้าสู่ศูนย์กลางอย่างนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก

แม้จักรวรรดิรัสเซียจะล่มสลายไปเมื่อจบสงครามโลกครั้งที่ 1 แต่รัสเซียยังคงเป็นอภิมหาอำนาจหลังจากนั้นในนามของสหภาพโซเวียต และได้สิ้นสุดการเป็นอภิมหาอำนาจเมื่อสงครามเย็นจบลงใน ค.ศ. 1991 สถานะที่ถูกเปลี่ยนจากอภิมหาอำนาจเป็นมหาอำนาจ เป็นสาเหตุให้ผู้นำรัสเซียในยุคหลังสหภาพโซเวียตตั้งแต่ประธานาธิบดี Boris Yeltsin จนถึงประธานาธิบดี Vladimir Putin (ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีรัสเซียมีประธานาธิบดีเพียงแค่ 3 คนเท่านั้น) มีความพยายามในการขยายอำนาจของรัสเซียเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้านที่เคยเป็นสมาชิกสหภาพโซเวียตเพื่อทำให้สถานะการเป็นอภิมหาอำนาจของรัสเซียกลับมา และทำให้รัสเซียจะสามารถแข่งขันกับสหรัฐหรือจีนในโลกปัจจุบันได้ อย่างไรก็ตามความพยายามในการแทรกแซงเหล่านี้ได้สร้างความไม่พอใจแก่ประชาชนในประเทศที่ถูกรุกรานเป็นอย่างมาก จนนำมาสู่การปฏิวัติสีที่เกิดขึ้นในช่วง ค.ศ. 2003-2005

“Colour Revolution หนึ่งในความท้าทายอันสำคัญต่อการขยายอำนาจของรัสเซีย”

Colour Revolution หรือปฏิวัติสี เป็นคำที่ทางนักรัฐศาสตร์นิยามขึ้นมาภายหลังจากการลุกฮือเพื่อต่อต้านระบอบเก่าในช่วงเวลาที่ใกล้เคียงกันของ 3 ประเทศ โดยมีสีที่เป็นตัวแทนของแต่ละประเทศ ได้แก่ จอร์เจีย (สีของดอกกุหลาบ) ยูเครน (สีส้ม) และคีร์กีซสถาน (สีของดอกทิวลิปหรือสีชมพู) ซึ่งทั้งสามประเทศนั้นมีจุดร่วมกัน 3 ประการ ได้แก่ 1. มีการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบอบประชาธิปไตยในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง 2. มีการต่อต้านการเลือกตั้งทุจริตและการแทรกแซงจากมหาอำนาจอย่างรัสเซียจากฝ่ายค้านในระบบรัฐสภา 3. มีการปลุกระดมพลังประชาชนจากฝ่ายค้านที่เป็นผลสำเร็จและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง

ในระลอกแรกของปฏิวัติที่เกิดขึ้น คือ การปฏิวัติดอกกุหลาบ (Rose Revolution) ที่เกิดขึ้นในจอร์เจียใน ค.ศ. 2003 โดยมีจุดเริ่มมาจากการเลือกตั้งรัฐสภาในช่วงรัฐบาลของประธานาธิบดี Eduard Shevardnadze ซึ่งโดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่ามีการทุจริตและคอร์รัปชัน จนนำมาสู่การลงถนนประท้วงการเลือกตั้ง โดยมีผู้นำฝ่ายค้านอย่างนาย Mikheil Saakashivili เป็นผู้นำขบวนและประชาชนที่ร่วมลงถนนนั้นได้ถือ “ดอกกุหลาบ” เพื่อเป็นสัญลักษณ์ในการแสดงให้เห็นถึงความต้องการในการเปลี่ยนแปลงและความต้องการเลือกตั้งใหม่ จนกระทั่งในท้ายที่สุดจอร์เจียได้มีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้ง และเป็นผลให้นาย Mikheil Saakashvili ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนที่สองของจอร์เจีย

การปฏิวัติดอกกุหลาบนี้ นับเป็นหนึ่งในความท้าทายของรัสเซียที่พยายามต้องการเข้ามาแทรกแซงการปกครองของประเทศที่เคยเป็นอดีตสหภาพโซเวียต เนื่องจากการลุกฮือของภาคประชาสังคมเป็นภาพของการเปลี่ยนแปลงในเชิงความคิดของประชาชนว่า ประชาชนไม่ได้ต้องการการปกครองเผด็จการอย่างที่เคยมีมาในช่วงสงครามเย็น แต่ประชาชนต้องการประชาธิปไตยที่โปร่งใสและเป็นแบบตะวันตก (หรือโลกเสรีนิยมแบบสหรัฐ)

รัสเซียไม่ได้มองว่าการเปลี่ยนแปลงการปกครองของจอร์เจียกระทบต่อการขยายอำนาจของรัสเซียมากนัก เนื่องจากตั้งแต่ที่จอร์เจียได้พ้นสภาพสมาชิกสหภาพโซเวียต จอร์เจียมีนโยบายต่างประเทศที่เข้าหาสหรัฐอย่างชัดเจนและต่อต้านรัสเซียมาตลอด อย่างไรก็ตาม หลังจากการปฏิวัติดอกกุหลาบเกิดขึ้นเพียงหนึ่งปี การลุกฮือของภาคประชาชนก็ได้กลับมาอีกครั้งในภูมิภาคนี้ จนเกิดเป็นการปฏิวัติสีส้มขึ้นในยูเครน

การปฏิวัติสีส้ม (Orange Revolution) ปะทุขึ้นจากความไม่พอใจในการเลือกตั้งรัฐสภาของยูเครนที่ถูกแทรกแซงโดยรัสเซีย จนนำไปสู่การลุกฮือโดยประชาชนและฝ่ายค้านที่ใส่เสื้อสีส้มลงถนน ซึ่งยูเครนถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่เคยเป็นสมาชิกของสหภาพโซเวียตที่รัสเซียยังคงให้ความสำคัญ และต้องการเข้าไปแทรกแซงและครอบครองจนถึงปัจจุบัน (เห็นได้จากกรณีสงครามยูเครน-รัสเซียในช่วง ค.ศ. 2023 – 2024 ที่ผ่านมา) โดยการปฏิวัติสีส้มครั้งนี้เกิดผลกระทบต่อรัสเซียเป็นอย่างมาก เนื่องจากยูเครนเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญของรัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ทางทหารที่ยูเครนได้สร้างฐานทัพในทะเลดำ และใช้พื้นที่บริเวณนี้สำหรับให้ทางกองทัพรัสเซียเช่าจอดเรือรบ อีกทั้ง บริเวณทะเลดำเป็นที่ตั้งฐานทัพกระแสน้ำอุ่นเพียงแห่งเดียวของรัสเซียที่สามารถเดินเรือออกไปยังยุโรปหรือภูมิภาคอื่นๆ ได้ นอกจากนี้ในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ยูเครนยังเป็นพื้นที่ส่งผ่านท่อก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเข้าสู่ประเทศในทวีปยุโรปกว่าร้อยละ 80 ดังนั้น การเข้าไปแทรกแซงในระบบการเลือกตั้งของยูเครนจึงเป็นส่วนหนึ่งของการขยายอำนาจในภูมิภาคยูเรเซียที่รัสเซียให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก

ในช่วงการเลือกตั้ง ค.ศ. 2004 ซึ่งเป็นการแข่งขันระหว่างฝ่ายรัฐบาลเดิมที่ได้รับการสนับสนุนชัดเจนจากรัสเซีย โดยจะเห็นได้จากการมาเยือนยูเครนของประธานาธิบดีรัสเซียกว่า 7 ครั้งในช่วงระหว่างการเลือกตั้ง และการวางยาพิษต่อผู้นำฝ่ายค้านในเวลานั้นอย่างนาย Viktor Yushchenkoในช่วงเวลานั้น และเมื่อผู้นำฝ่ายรัฐบาลเดิมชนะการเลือกตั้ง ประชาชนจึงเกิดความไม่พอใจเป็นอย่างมากจนเกิดเป็นการปฏิวัติสีส้มในที่สุด

แม้จะมีการเลือกตั้งใหม่ในเดือนธันวาคม ค.ศ. 2004 และนาย Viktor Yushchenko จะได้ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีในเวลานั้น การปฏิวัติสีส้มยังคงส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อความสัมพันธ์ระหว่างยูเครนและรัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านเศรษฐกิจ เนื่องจากในช่วงก่อนเลือกตั้ง รัฐบาลเดิมได้มีนโยบายการต่างประเทศที่เข้าหารัสเซีย ทำให้การซื้อขายก๊าซธรรมชาติเป็นไปในราคามิตรภาพ แต่ในช่วงรัฐบาลของนาย Yushchenko ราคาก๊าซธรรมชาติถูกซื้อขายในราคาตามกลไกตลาด ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติในยูเครนสูงขึ้น

ความพยายามของรัสเซียในการเข้าแทรกแซงยูเครนยังคงมีให้เห็นโดยตลอด ตั้งแต่การเข้าครอบครองและผนวกเขตไครเมีย (ที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของยูเครน) ใน ค.ศ. 2014 และการทำสงครามยูเครนในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามหลังจากจบการปฏิวัติสีส้ม กระแสการลุกฮือของภาคประชาชนเพื่อต่อต้านระบอบการปกครองแบบเผด็จการ และต่อต้านการแทรกแซงจากมหาอำนาจได้ลุกลามไปถึงประเทศในเอเชียกลางอย่างคีร์กีซสถานใน ค.ศ. 2005 ผ่านการปฏิวัติดอกทิวลิป (Tulip Revolution) หรือ ปฏิวัติสีชมพู (PinkRevolution) ที่ประชาชนได้ถือผ้าสีชมพูและออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยเพื่อให้หลุดพ้นจากอำนาจของรัฐบาลภายใต้การปกครองของนาย Askar Akayev ที่ทุจริตและโกงการเลือกตั้ง ซึ่งแม้คีร์กีซสถานจะเป็นเพียงรัฐเล็กๆ ที่ไม่ได้มีผลกระทบโดยตรงต่อการขยายอำนาจของรัสเซีย แต่กระแสประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมตะวันตกได้เข้ามาในภูมิภาครอบๆ รัสเซียมากยิ่งขึ้น

“การจุดประกายของปฏิวัติสีและการต่อสู้กับมหาอำนาจ”

การปฏิวัติสีเป็นภาพสะท้อนของอุปสรรคครั้งยิ่งใหญ่ของรัสเซียในช่วงเริ่มแรกของการขึ้นสู่อำนาจของประธานาธิบดี Putin ที่แม้ในบางประเทศจะไม่ได้มีผลกระทบโดยตรงต่อรัสเซีย แต่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมอย่างสหรัฐของประเทศเหล่านี้ ได้สร้างผลกระทบต่อความมั่นคงทางแนวคิดของรัฐบาลรัสเซียที่ยึดมั่นในประชาธิปไตยแบบมีการจัดการ (Sovereignty Democracy) ที่คำนึงถึงองค์อธิปัตย์ (Sovereign)มากกว่าสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และได้กระทบต่อการกลับมาสู่บัลลังก์ในการเป็นอภิมหาอำนาจของรัสเซียในภูมิภาคเช่นเดียวกัน

ท้ายที่สุดนี้ จะเห็นได้ว่า การปฏิวัติสีได้จุดประกายให้คนรุ่นหลังจากนั้นลุกขึ้นมาต่อสู้ และไม่ยอมต่อการขยายอำนาจและการแทรกแซงของประเทศมหาอำนาจ อีกทั้งยังเป็นภาพแสดงให้เห็นถึงการต่อสู้ทางความคิดระหว่างประชาธิปไตยแบบรัสเซียและประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการสร้างพลวัตของการขับเคลื่อนทางสังคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ที่จะสามารถกำหนดอนาคตของตนเองได้ในฐานะพลเมืองของรัฐเพื่อให้รัฐของตนรอดพ้นจากการครอบงำโดยมหาอำนาจ

ปีที่แต่ง (พ.ศ.)
2567
ผู้แต่ง

ศรันย์ชนก ลิมวิสิฐธนกร

หน่วยงานสนับสนุน

หัวข้อ
Related Content

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อัปเดตประชุมวิชาการโลกเรื่องคอร์รัปชัน

เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา ผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค Co-Founder บริษัท HAND Social Enterprise ได้รับเชิญไปบรรยายในงานประชุมทางวิชาการ Cambridge Economic Crime ที่จัดขึ้นเป็นปีที่ 40 แล้ว ซึ่งงานนี้ถือได้ว่าเป็นงานประชุมวิชาการระดับนานาชาติที่เกี่ยวข้องกับเรื่องคอร์รัปชันที่ใหญ่ที่สุดงานหนึ่ง โดยผศ. ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค ได้เข้าร่วมบรรยายเกี่ยวกับผลงานวิจัยเรื่องประสิทธิภาพที่แท้จริงของความโปร่งใสในการต่อต้านคอร์รัปชัน ผ่านการศึกษาผลกระทบจากโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ (Infrastructure Transparency: CoST)

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : อยากแก้ปัญหาปากท้องก่อน แต่ถ้าไม่ปฏิรูปตำรวจ ก็แก้ยาก !

ซับซ้อน ซ่อนเงื่อน มืดเทา อาจเป็นคำนิยามวงการตำรวจไทยในปัจจุบัน ? หากเราพูดถึงวงการตำรวจ หลาย ๆ คนคงจะนึกถึงเรื่องที่ตำรวจดันไปเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมกับการทุจริต ไม่ว่าจะเป็นกรณีหมูเถื่อน กำนันนก ทุนจีนสีเทา หรือข่าวอาชญากรรมต่าง ๆ แทนที่จะมองว่า ตำรวจคือผู้ที่รักษาความสงบให้บ้านเมือง และคุ้มครองประชาชนให้รู้สึกปลอดภัย

แนวหน้าต่อต้านคอร์รัปชัน : สติ๊กเกอร์ส่วย…แก้ได้ ?

จะแก้ปัญหาอย่างไรให้ชีวิตปลอดภัยจากผลกระทบของสินบน ? ประเด็นร้อนทุจริตเร็ว ๆ นี้คงหนีไม่พ้นเรื่อง “ส่วยสติกเกอร์” หลังว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกลวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ออกมาแฉตั้งแต่กลไกไปจนถึงราคาอย่างที่หลายคนคงได้ยินมาบ้างแล้ว แต่ที่สำคัญกว่านั้น รู้หรือไม่ว่าเรื่องของส่วยรถบรรทุกที่ดูเหมือนเป็นเรื่องไกลตัว จริง ๆ แล้วใกล้ตัวกว่าที่เราคิด

You might also like...

บทความวิจัย : นโยบายต่อต้านคอร์รัปชันและการให้สินบน

การศึกษาสาเหตุของปัญหาคอร์รัปชันและการให้สินบน พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหา คือ การปรับทัศนคติของสังคม และโครงสร้างทางอำนาจของรัฐ

บทความวิจัย : การแก้ปัญหาคอรัปชันในยุคดิจิทัลตามแนวพุทธจริยธรรม

หิริโอตตัปปะ ฆราวาสธรรม และทิศ 6 หลักธรรมที่ควรนำมาประยุกต์เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาคอรัปชันในยุคดิจิทัล เพราะการแก้ปัญหาอาจต้องย้อนกลับไปแก้ไขที่รากเหง้า คือ การสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจ

บทความวิจัย : กบฏโพกผ้าเหลือง กับเสถียรภาพทางการเมืองในวรรณกรรมสามก๊ก

“กบฎโพกผ้าเหลือง” สะท้อนให้เห็นว่าการฉ้อราษฎร์บังหลวงในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจนำมาสู่การล่มสลายของราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ดังนั้น เพื่อเสถียรภาพทางการเมือง รัฐจะต้องมีมาตรการป้องกันการทุจริตคอรัปชัน ควบคู่ไปกับการดูแลประชาชนให้อยู่ดีกินดี